เรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ
ใครจะไปเชื่อว่าจะเกิดโรคระบาดที่ทำให้ทั้งโลกชะงักงันได้ในระยะเวลาอันสั้นแบบที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เมื่อยังหาทางแก้โควิด-19 ไม่ได้ และทางออกของเหตุการณ์ที่วุ่นวายก็ดูจะยืดเยื้อออกไปจากที่หลายฝ่ายประเมินเอาไว้
ผลกระทบที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายขนาดใหญ่ให้กับทั้งตลาดทุนและภาคเศรษฐกิจ กระทรวงสาธารณสุขไทยประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 เช่นเดียวกับโรคซาร์สและเมอร์ส เพื่อยกระดับการควบคุม รวมถึงเพิ่มขอบข่ายของการจัดการให้ครอบคลุมได้มากยิ่งขึ้น ตอกย้ำชัดเจนว่า เรื่องนี้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับคำว่าวิกฤต
ช่วงที่ผ่านมา ทางการออกมาตรการต่างๆ เพื่อเยียวยาและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ขณะนี้ยังประเมินตัวเลขความเสียหายไม่ตรงกัน คาดว่าจะสูญเม็ดเงินราว 1-3 แสนล้านบาทในปีนี้ เมื่อ ‘นักท่องเที่ยวจีน’ หายไป และนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ก็ยกเลิกการเดินทาง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย
มองกลับมาที่ประเทศไทย ไม่เพียงห้างร้านจะเงียบเหงาเพราะไร้นักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่คนไทยด้วยกันก็ยังหลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตในที่ที่มีคนพลุกพล่านอย่างห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่ท่องเที่ยว ประกอบกับตัวเลขหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ความไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจในวันข้างหน้าเพิ่มสูงขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผู้คนรัดเข็มขัดไปมากกว่าเดิม ธุรกิจโรงแรมและสายการบินเริ่มประกาศลดจำนวนพนักงาน เช่นเดียวกับภาคค้าปลีกที่เงียบเหงา
สิ่งที่สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงได้ดีคือความเคลื่อนไหวของ ‘บริษัทท่าอากาศยานไทย’ ที่เป็นหน้าด่านสำคัญ ไม่เพียงแต่ประเด็นราคาหุ้นที่ปรับตัวไปตามทิศทางของตลาดเท่านั้น แต่ยังมีบางแง่มุมน่าสนใจที่ The Momentum เลือกหยิบขึ้นมาตั้งคำถามผ่านบทความนี้ด้วย
เงาที่ทาบทับของคิง เพาเวอร์และรายได้ก้อนโตของ AOT จากตลาดนักท่องเที่ยว
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เป็นองค์กรที่ได้รับอานิสงส์มากที่สุดแห่งหนึ่งจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปริมาณผู้โดยสารที่สนามบินนานาชาติโดยเฉพาะที่สุวรรณภูมิและดอนเมืองล้นทะลักจนเกินกว่าศักยภาพที่จะรองรับได้ หุ้นของ AOT เติบโตอย่างร้อนแรงและกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกการลงทุนที่นักลงทุนจะต้องซื้อเก็บเอาไว้ จากเดิมที่ราคาไม่ถึง 40 บาทต่อหุ้นเมื่อต้นปี 2559 ก่อนจะทะยานขึ้นอย่างร้อนแรงในปี 2560 จนใกล้เคียงระดับ 70 บาทต่อหุ้นในช่วงสิ้นปี กลายเป็นเรื่องฮือฮาของวงการตลาดทุน สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
จากข้อมูลงบการเงินที่ AOT รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าปี 2561-2562 มีรายได้กว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีกำไรกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ขึ้นแท่นหุ้นที่เนื้อหอมที่สุดไปโดยปริยาย และเมื่อปิดดีลประมูลดิวตี้ฟรี โดยที่เอกชนรายเดิมอย่าง ‘คิง เพาเวอร์’ เสนอผลตอบแทนสูงเป็นประวัติการณ์ นักลงทุนก็ยิ่งสนใจมากยิ่งขึ้น จนราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์รายได้ล่วงหน้า ซึ่งคิง เพาเวอร์การันตีรายได้ขั้นต่ำปีแรกถึงกว่า 2.3 หมื่นล้านบาทจากสัญญาสัมปทานร้านปลอดภาษีและสิทธิบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ด้วย
ราคาหุ้น AOT ขยับไปแตะจุดสูงสุดที่ 78.25 บาทต่อหุ้นในต้นเดือนตุลาคม 2562 ก่อนที่จะปรับลดลงมาอย่างมีนัยสำคัญจากผลพวงของสงครามการค้าที่เริ่มส่งผลกับตลาดชาวจีนและบรรยากาศเศรษฐกิจที่ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี และเมื่อเจอกับปัจจัยใหม่อย่างโรคโควิด-19 ที่เข้ามาซ้ำเติม ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยว ผู้ใช้บริการ ตลอดจนเที่ยวบินของสายการบิน น่าจะลดลง ทำให้ราคาหุ้น AOT ปรับลดลงมาแตะที่ 63.25 บาทต่อหุ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับทิศทางของตลาดหุ้นไทยที่หลุดระดับ 1,400 จุดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ และราคาหุ้นตัวสำคัญในตลาดก็ตกลงมาอย่างน่าใจหาย
ล่าสุด AOT ประกาศแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของ AOT หกแห่ง เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา โดยให้เลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนในกิจการรอบเดือน กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2563 ออกไปหกเดือน ปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่รายเดือนลง 20% ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถึงมีนาคม 2564 รวม 14 เดือน หลังจากนั้นจะพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ สิ่งที่สังคมจับตาคือ เงินก้อนใหญ่ที่อาจหายไปจากการปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละ และการ ‘ยกเว้น’ การเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ โดยเรียกเก็บเฉพาะส่วนที่คิดเป็นร้อยละ ซึ่งกำหนดกรอบเวลาของความช่วยเหลือตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2563 ถึง มีนาคม 2565 คิดเป็นระยะเวลาถึง 26 เดือนหรือกว่า 2 ปี
อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ AOT จะกำหนดรายได้ขั้นต่ำที่จะต้องได้รับแต่ละเดือนเอาไว้จำนวนหนึ่ง ไม่ว่าธุรกิจที่ได้รับสัมปทานจะขายของดีหรือไม่ ก็จะต้องจ่ายเงินให้กับ AOT ตามที่ตกลง โดยมีค่าผลตอบแทนที่คิดจากยอดขายเป็นร้อยละพิจารณาประกอบกัน หากเงินก้อนที่คิดเป็นร้อยละได้น้อยกว่ารายได้ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ เอกชนก็จะต้องจ่ายเงินส่วนต่างเพิ่มให้กับ AOT แต่ถ้ายอดขายในเดือนนั้นดีมากจนค่าผลตอบแทนที่คิดเป็นร้อยละมากกว่ารายได้ขั้นต่ำที่กำหนด ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มแต่อย่างใด โจทย์ที่สำคัญคือ เอกชนจะต้องจ่าย ‘ค่าผลตอบแทนก้อนที่มากกว่า’ ให้กับ AOT เสมอ
จากแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ นั่นคือ ถ้าสถานการณ์คลี่คลายเร็ว สินค้ากลับมาขายดี อย่างไรเสีย ค่าตอบแทนที่คิดเป็นร้อยละก็จะมากกว่ารายได้ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าสถานการณ์ลากยาว AOT อาจจะไม่ได้รับรายได้ขั้นต่ำที่สมควรจะได้รับต่อเดือน เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายส่วนต่างของค่าผลตอบแทนหากขายของไม่ดีในช่วง 26 เดือนดังกล่าว
แม้แนวทางดังกล่าวจะเปิดช่องเอาไว้โดยระบุว่า AOT สามารถแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกความช่วยเหลือข้างต้นได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์และผลกระทบจากโรคโควิด-19 ก็ตามที แต่ก็ถือเป็นความใจป้ำของ AOT ที่จัดแพ็คเกจช่วยเหลือเอกชนมากขนาดนี้ ซึ่งรายได้ที่หายไปของ AOT ก็คือรายได้ที่จะถูกจัดเก็บเป็นรายได้ของแผ่นดิน นั่นคือการนำเงินส่วนรวมไปช่วยเหลือคนบางกลุ่มที่เดือดร้อน
คำถามคือ ใครบ้างที่เดือดร้อนและจำเป็นกันมากน้อยแค่ไหนกัน
ขณะนี้ภาครัฐเองก็ยังอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ โดยยังคาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในช่วงกลางปีและกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวจะกลับมาในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 อย่างเลวร้ายที่สุดก็อาจจะซึมยาวตลอดปี 2563 เท่านั้น คิดเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบทั้งปีที่ 11 เดือน (กุมภาพันธ์ – ธันวาคม) แต่ AOT พิจารณาให้ความช่วยเหลือเอกชนนานถึง 26 เดือน จึงน่าคิดว่าเพราะเหตุใดจึงมอบ ‘ซูเปอร์ดีล’ ที่การันตีความสบายใจให้กับภาคธุรกิจมากอย่างเหลือพอดีขนาดนี้
หากพิจารณางบประมาณประจำปี 2562 ที่ AOT รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่ารายได้ส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (Non Aeronautical revenue) สูงถึง 44% หรือกว่า 2.77 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ (Concession Revenue) เป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดเกือบ 1.75 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 63% ของรายได้ส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการบิน และคิดเป็น 27.82% ของรายได้ทั้งหมดของ AOT สูงสุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากค่าบริการผู้โดยสารขาออกที่มีมูลค่า 2.67 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็น 42.6% ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น
ค่อนข้างชัดเจนว่า ระดับรายได้ของภาคเอกชนที่มีสัมปทานและส่งมอบรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์นั้นมีนัยสำคัญอย่างมากกับรายได้ของ AOT และธุรกิจที่ครองอาณาจักรจนแทบจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของสนามบินประเทศไทยที่ทุกคนนึกถึงคือ คิง เพาเวอร์ ซึ่งได้รับสัมปทานแต่เพียงผู้เดียวในการบริหารจัดการร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินตลอดช่วงที่ผ่านมา และยังชนะประมูลดีลสนามบินสุวรรณภูมิและอีก 3 สนามบินสำคัญต่อเนื่องไปอีก 10 ปี 6 เดือน พร้อมๆ กับสิทธิการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ล่าสุด คิง เพาเวอร์ ยังคว้าสิทธิบริหารเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอาการสนามบินสุวรรณภูมิอีก 10 ปีแบบไม่เหนือความคาดหมายด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า คิง เพาเวอร์คือเอกชนรายใหญ่ที่สุดที่เกี่ยวข้องแทบจะทุกตารางนิ้วของพื้นที่ที่สร้างรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินของ AOT และรายได้ของคิง เพาเวอร์ก็มีนัยสำคัญต่อรายได้ของ AOT ด้วยเช่นกัน จึงไม่แปลกที่เรามักจะเห็นภาพของธุรกิจยักษ์ใหญ่ซอยรางน้ำที่ซ้อนทับบนโลโก้ของ AOT ทั้งที่เป็นองค์กรสำคัญของประเทศและมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นถึง 70% อีกทั้งความเชื่อมโยงของ ‘ซูเปอร์คอนเนกชั่น’ ระหว่างเอกชนรายนี้กับกลุ่มการเมืองที่มีบทบาทสำคัญก็ยิ่งตอกย้ำให้สาธารณชนเห็นว่าอะไรเป็นอะไรได้พอสมควร
ขณะที่ ‘สายการบิน’ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของท่าอากาศยาน กลับมีเสียงสะท้อนต่อแนวทางการช่วยเหลือของ AOT ในมุมที่ต่างออกไป โดยมีกระแสข่าวเรื่องความข้องใจที่ธุรกิจสายการบินไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการตามที่ประกาศออกไป และยังเรียกร้องการลดค่าธรรมเนียมการจอดเครื่องบิน ค่าธรรมเนียมการขึ้นลงเครื่องบิน ไปจนถึงค่าเช่าต่างๆ ที่เป็นต้นทุนของสายการบินครอบคลุมทุกเส้นทางการบิน ไม่ใช่แค่เส้นทางไปประเทศจีนเท่านั้น โดยขอให้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือให้ทันท่วงทีอย่างน้อยอีก 3-4 เดือนหรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
สายการบินร้องขอความช่วยเหลือ 3-4 เดือน
ขณะที่ AOT เยียวยาผู้ประกอบการในสนามบินก่อน โดยช่วยนานสูงสุดถึง 26 เดือน
ผู้บริหารของ AOT ให้ข้อมูลว่าวิกฤตโควิด-19 นี้จะทำให้จำนวนผู้โดยสารในไตรมาสแรกของปีนี้หดตัว 15-20% และตัวเลขทั้งปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562 – ก.ย. 2563) ตัวเลขนักท่องเที่ยวน่าจะหายไปถึง 14 ล้านคนหรือหดตัวราว 10% กระทบกับรายได้ทั้งปีที่อาจติดลบถึง 10% หรือราว 6.5 พันล้านบาท โดยตัวเลขข้างต้นยังไม่นับรวมรายได้ที่จะหายไปจากแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการในสนามบินที่คาดว่าจะฉุดรายได้อีกอย่างน้อย 3 พันล้านบาท หรือราว 6% จึงยากที่จะประเมินว่าธุรกิจของ AOT จะติดลบเท่าไหร่ก้นแน่
ล่าสุด ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ก็ออกโรงมาเน้นย้ำเรื่องการจัดเก็บและส่งรายได้เข้าภาครัฐให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ โดยยอมรับว่ามาตรการของ AOT จะส่งผลต่อผลประกอบการและกำไรที่กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่จะได้รับ กรณีที่ตัวเลขดังกล่าวสูงมากจนเกินไปก็จะประสานงานให้ทาง AOT เข้ามาชี้แจงและหาแนวทางในการหารายได้เข้ามาชดเชยแทน โดยตั้งคำถามเรื่องความจำเป็นของแนวทางดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม สคร. ยืนยันว่า จะไม่เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของ AOT แต่อย่างใด
อย่างนี้หุ้น AOT จะยังน่าลงทุนอยู่หรือไม่?
ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด ให้ข้อมูลกับ The Momentum เกี่ยวกับหุ้น AOT โดยคาดว่า ผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในสนามบินจะส่งผลต่อกำไรของ AOT อย่างแน่นอน โดยคาดว่ากำไรในปี 2563 จะหายไป 8% และกำไรในปี 2564 จะหายไปมากกว่า 10% แต่เนื่องจาก AOT เป็นผู้ประกอบการสนามบินเพียงรายเดียวในประเทศไทย ไม่ได้มีคู่แข่ง จึงยังถือว่ามีความมั่นคงทางธุรกิจถ้าสถานการณ์กลับมาเป็นปกติแล้ว เชื่อว่าราคาหุ้นน่าจะดีดกลับขึ้นมาที่ระดับใกล้เคียงกับก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรหรือ P/E อยู่ที่ 34.5 เท่า ซึ่งประกิตมองว่ายังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง และสถานการณ์ของโควิด-19 ยังไม่ชัดเจน แม้จะเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าซื้อหุ้นเก็บไว้แต่ก็มีความเสี่ยง จึงควรทยอยซื้อเป็นระยะเพื่อถัวเฉลี่ยราคาหุ้นจะดีกว่า ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการก็อาจจะปรับเปลี่ยนได้ภายหลังตามความเหมาะสมหากเหตุการณ์ดีขึ้นแล้ว กำไรของ AOT ก็อาจจะไม่ได้ลดลงอย่างที่กังวลกัน ประกิตเชื่อว่าจะมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวออกมาเพิ่มเติม ซึ่ง AOT จะได้รับประโยชน์ก่อนเป็นกลุ่มธุรกิจแรกๆ เมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มการท่องเที่ยวและค้าปลีกที่จะต้องใช้ระยะเวลากว่าที่ตลาดจะกลับมาฟื้นตัว
คำตอบชัดเจนในตัวของมัน
ธุรกิจที่ไร้คู่แข่งย่อมจะได้เปรียบกว่าเสมอ ใครๆ ก็อยากจะเป็นผู้ขายรายเดียวหรือผู้ซื้อรายเดียวกันทั้งนั้น ดังเช่น AOT ที่ทำธุรกิจอากาศยานเพียงผู้เดียวในประเทศไทย เช่นเดียวกับคิง เพาเวอร์ที่เป็นผู้ดำเนินการธุรกิจสินค้าปลอดภาษีเพียงรายเดียวในสนามบินของ AOT และสังคมก็รับรู้สายสัมพันธ์ระหว่างอดีตเจ้าสัวผู้ล่วงลับ ‘วิชัย ศรีวัฒนประภา’ แห่งคิง เพาเวอร์กับเครือข่ายของผู้กว้างขวางอย่าง ‘เนวิน ชิดชอบ’ ที่มีน้องชายชื่อศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กระทรวงที่มีรัฐวิสาหกิจในสังกัดที่ชื่อบริษัทท่าอากาศยานไทยเป็นอย่างดีและ AOT ยังมีประธานบอร์ดที่ชื่อ ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลังซึ่งมีพี่ชายชื่อ ทวีศักดิ์ พูนธเนศ ผู้เคยทำงานให้คิง เพาเวอร์ในตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการร้านค้าท่าอากาศยานภูมิภาค และตัวประสงค์เองก็เป็นกรรมการของ AOT มาตั้งแต่ปี 2552 อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในทีมที่พิจารณาต่ออายุสัมปทานให้คิง เพาเวอร์เพิ่มอีก 2 ปีในรอบที่ผ่านมาด้วย
กระทรวงคมนาคม AOT และคิง เพาเวอร์จึงเหมือนสายใยที่เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ
ทุกคนได้แต่หวังว่า ความรุนแรงจากผลกระทบของไวรัสป่วนโลกอย่างโควิด-19 จะเบาบางจนสงบลง และเศรษฐกิจโลกจะกลับมาเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น เพื่อรับมือกับโจทย์ท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าอย่างมหากาพย์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เมื่อนั้นมาตรการระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจอาจจะจำเป็นน้อยลง ถึงเวลาดังกล่าว สังคมก็คงจะหันกลับไปมอง AOT ว่าจะยังคงมอบซูเปอร์ดีลนี้ให้กับคิง เพาเวอร์ต่อเนื่องยาวตามกำหนดเดิมในปี 2565 อยู่หรือไม่หรือจะปรับเปลี่ยนในภายหลังเพื่อลดทอนแรงกดดันจากนักลงทุนผู้ถือหุ้น
จริงอย่างที่เพลงฝรั่งว่าไว้
“The winner takes it all. The loser standing small.”
Tags: คิงพาวเวอร์, โควิด-19, บริษัทท่าอากาศยานไทย (AOT)