ก่อนวันวาเลนไทน์เมื่อ 26 ปีที่แล้ว โฆษิต จันทรทิพย์ ในวัย 23 แจกการ์ดเชิญงานวิวาห์ของเขากับเจ้าสาวที่ชื่อ Lilly Ovary แก่เพื่อนและญาติมิตร งานจัดขึ้นที่โบสถ์คริสตจักรที่ 1 เชียงใหม่ โบสถ์เก่าแก่คู่เมืองที่คนเชียงใหม่นิยมใช้จัดงานแต่งงานอันศักดิ์สิทธิ์

พิธีการมีขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1994 เพื่อนของโฆษิตต่างตื่นเต้นที่จะได้เห็นหน้าเจ้าสาวคนแรกของรุ่น แต่ทันทีที่พิธีเริ่ม และเจ้าบ่าวควงเจ้าสาวที่เป็นตุ๊กตายางเข้าพิธี เพื่อนหลายคนก็โกรธ ริบของขวัญแต่งงานคืน และมีไม่น้อยที่เลิกคบกับโฆษิตไปเลย ด้วยรู้สึกเหมือนถูกหลอกให้มาร่วมงานแต่งงานปลอมของโฆษิต แม้เขาจะยืนยันว่านี่คือโครงงานศิลปะที่จัดขึ้นเสมือนให้เป็นงานแต่งงานจริงๆโดยมีหลวงพ่อมาทำพิธีให้อย่างจริงจังก็ตาม)

แม้จะเริ่มทำงานศิลปะมาได้สักระยะ หาก Lilly Ovary (1994) ก็เป็นงานสร้างชื่อให้กับโฆษิตอย่างแท้จริง เพราะหลังจากนั้น เรายังได้เห็นศิลปินควงลิลลี่ออกงานตามแกลเลอรี่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงไปร่วมแสดงงานกับเพื่อนศิลปินอย่าง นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล หรือฤกษ์ฤทธิ์ ตรีระวนิช พร้อมไปกับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ประหลาดล้ำและถึงเลือดถึงเนื้ออีกหลายชิ้น (อย่างหลังนี้ไม่ใช่คำเปรียบเปรย เพราะเป็นงานที่ใช้ร่างกายและเลือดของศิลปินตามความหมาย) 

ซึ่งหากใครที่ติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะร่วมสมัยไทยมาบ้าง จะทราบดี เมื่อพูดถึงงานของโฆษิต ประหนึ่งมีแบรนด์ดิ้ง ยากเหลือเกินที่คุณจะไม่คิดถึง ‘ความรัก’

ใช่ งานหลายชิ้นของโฆษิตพูดถึงความรัก แต่ไม่ มันไม่ใช่ความรักเธอกับฉันอันแหววหวาน, คำมั่นสัญญา, ชีวิตครอบครัวอันสุขสม หรืออื่นใดที่พอจะนิยามได้ว่าโรแมนติก

กลับกัน มันคือการเจาะเลือดของตัวเองให้ไหลเข้าไปในสายยางที่ดัดเป็นคำว่า LOVE (Kosit’s Blood in Alphabet of LOVE, 1994) การเพ้นท์ภาพด้วยอสุจิ (Copulate with Love, 1994) การแจกสติกเกอร์ปิดท้ายรถบรรทุกคำว่า ‘ด้วยรักและหลอกฟัน’ (With Love, But Just For Sex, 1995)  การใช้มีดโกนกรีดผิวหนังด้วยคำว่า LOVE อยู่หน้าประติมากรรม LOVE ของโรเบิร์ต อินเดียน่า ในงาน Art Cologne ที่เยอรมนี (Arrival, 1998) การสักบนหนังศีรษะของตัวเองด้วยคำว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” และอีกหลากหลายกิจกรรมทางศิลปะที่เขาทำมาตลอดเกือบสามทศวรรษ เพื่อสำรวจนิยามของคำว่ารัก

เกิดที่เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในศิลปินผู้ก่อการโครงการศิลปะสาธารณะเชียงใหม่จัดวางสังคม (Chiang Mai Social Installation) ในยุคต้นทศวรรษ 90s และเป็นเช่นเดียวกับโครงการ ผลงานของโฆษิตลื่นไหลต่อการจำกัดความด้านเทคนิค รวมถึงความหมายของงานศิลปะ เขาจบคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และไปเรียนต่ออนุปริญญาสาขา Audiovisual Media ที่ Academy of Media Arts, Cologne และปริญญาโทสาขา Media Art and Photography (Meisterschüler) ที่ Academy of Visual Arts, Leipzig ประเทศเยอรมนี ก่อนจะกลับมาสอนหนังสือที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  

นอกจากประเด็นเรื่องความรัก เซ็กส์ และตุ๊กตายางแล้ว ‘เลือด’ ยังเป็นอีกสื่อที่เราได้เห็นในงานของเขาบ่อยๆ นิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดของเขา Allergic Realities ที่จัดแสดงเมื่อปี 2016 ที่หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (Bangkok University Gallery) เขาใช้เลือดหยดแทนเม็ดสีเพื่อจำลองพิกเซลนับล้านเป็นรูปภาพสงครามและโศกนาฏกรรมทั่วโลก และล่าสุดไปกว่านั้น ในวันวาเลนไทน์ปี 2020 นี้ เขากำลังจะมีนิทรรศการเดี่ยวครั้งใหม่ที่ Mai Space เชียงใหม่

HAPPY NEW LOVE YEAR คือชื่อของนิทรรศการที่ว่า ที่ซึ่งเขาได้สร้างสรรค์งานใหม่ทั้งหมด โฆษิตบอกว่างานนี้ไม่มีเลือด แต่แน่นอน เขายังคงพูดถึงความรัก และเกี่ยวโยงอย่างมีนัยสำคัญกับโครงการศิลปะ Where There is Love There is Suffering เมื่อปี 1997 ที่มาของวลี “ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์” ที่เขาสักไว้บนท้ายทอย

วันวาเลนไทน์นี้ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เขาเปิดนิทรรศการ HAPPY NEW LOVE YEAR 1997 ของโฆษิต ผมถือโอกาสฉลองครบรอบวันแต่งงานครบ 26 ปีกับตุ๊กตายางของเขา ด้วยการสนทนาเรื่องความรัก

มองย้อนกลับไป นับตั้งแต่งานชุดตุ๊กตายาง งานอีกหลายชิ้นต่อมาของคุณก็ยังคงพูดถึงเรื่องความรัก จนหลายคนมองว่าคุณเป็น Love Guru นี่คือสิ่งที่คุณตั้งใจไว้หรือไม่ 

ไม่เลย ผมมีปัญหากับมันต่างหาก และจนป่านนี้ก็ยังไม่เข้าใจมันถ่องแท้นัก เราต่างคนต่างอยากรู้ว่ารักคืออะไร ผมเป็นศิลปิน ผมก็ใช้วิธีการทางศิลปะในการหาคำจำกัดความ อย่างงาน Lilly Ovary มันก็เกิดมาง่ายๆ จากการที่ผมอกหัก และตั้งคำถามขึ้นมาว่ารักแท้มีจริงหรือ ซึ่งก็ประสาวัยรุ่นในตอนนั้น งั้นใช้ชีวิตคู่กับตุ๊กตายางเสียเลย

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นด้วยหรือเปล่าที่พองานชิ้นต่อๆ มาคุณก็พูดถึงความรักด้วยความกราดเกรี้ยว

อาจเป็นเพราะวัยด้วยส่วนหนึ่ง แต่ในเชิงการทำงานศิลปะ ผมไม่ได้พูดถึงความรักหรือแสดงออกอย่างกราดเกรี้ยวเพียงมุมเดียว ผมคิดเล่นๆ ว่าแนวทางการทำงานของตัวเองเหมือนตัวละคร Two Faces ในเรื่องแบทแมน ใบหน้าซีกหนึ่งมันคือใบหน้าที่ซีเรียส ไม่ประนีประนอมในเนื้อหา เทคนิค หรือวัสดุในการสื่อสาร ส่วนอีกใบหน้าหนึ่งมันต่างออกไป มันมีความเป็นชาวบ้านๆ ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะตอนผมเรียนศิลปะ ผมพบว่าศิลปะมันถูกให้คุณค่าเสียสูงส่งมาก จึงพยายามจะสลายต้นทุนตรงนี้

ซึ่งอย่างที่เห็น ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ผมใช้เลือดหรือสลักรอยแผลเพื่อสร้างงาน อีกใบหน้าหนึ่ง งานก็กลับมีความคลิเช่ (cliché) อยู่ ทั้งการหยิบใช้พลาสติกราคาถูก หรือการเปลี่ยนตัวถังของรถสิบล้อให้เป็นแกลเลอรี่ ชวนพี่สำเริงที่เป็นคนขับรถบรรทุกมาเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ ทำสติกเกอร์ที่เรามักเห็นมันไปปิดอยู่ท้ายรถบรรทุกแจกเป็นของที่ระลึก (With Love, But Just For Sex, 1995 – ผู้เรียบเรียง) หรือการสร้างวัดเทียมขึ้นมา อุปโลกน์ตัวเองเป็นเจ้าอาวาส และชวนใครก็ได้เข้ามาเล่าเรื่องความรัก ความสุข ความทุกข์ของตัวเองในงาน Where There is Love There is Suffering (ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ – 1997) แล้วก็ทำเครื่องรางแจก ผมทำงานในรูปแบบไม่ซีเรียสเหล่านี้พร้อมกันมาตลอด อย่างงานล่าสุดที่กำลังจัด ก็เป็นงานของผมในฝั่งนี้

แต่ไม่ว่าจะฝั่งไหนคุณก็ยังพูดถึงความรักอยู่ดี

ผมคิดว่าฝั่งที่เป็นคลิเช่มันมีเป้าประสงค์ที่ต่างออกไป มันเป็นความพยายามยั่วล้อหรือเสียดเย้ยค่านิยมในสังคมมากกว่า อย่างที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์” ผมก็ทำเพราะนั่นเป็นยุคก่อนต้มยำกุ้งไม่นาน กระแสพระเครื่องกำลังถึงจุดสูงสุด ผมก็เกิดสงสัยถึงความหมายของการบูชาพระเครื่องที่เปลี่ยนไป เลยออกแบบตัวอักษร ‘ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์’ ทำเป็นประติมากรรม ทำเป็นเครื่องราง เสื้อยืด สติกเกอร์ ให้ผู้ร่วมชมผลงานได้บูชาเสมือนบูชาพระเครื่อง ใจความสำคัญคือการอยากเผยแพร่สารตรงนี้ ต่อมาก็มีโปรเจกต์สักแทททูตัวอักษรเดียวกัน ตอนแรกก็สักให้คนอื่นก่อน ไม่คิดว่าจะมีคนมาให้เราสักจริงๆ ต่อมาผมก็คิดว่าเฮ้ยไม่ได้แล้ว ไปสักคนอื่น แต่ผมไม่ทำอะไรได้ยังไง ก็เลยตัดสกินเฮดและสักลายนี้ไว้ที่ท้ายทอยด้วยเลย

คำว่า “ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์” คือสิ่งที่คุณค้นพบระหว่างใช้ศิลปะสำรวจนิยามของคำว่ารักในวัยหนุ่มด้วยรึเปล่า  

มันเป็นสัจธรรมน่ะ ผมชอบคำนี้เพราะมันมีความย้อนแย้งที่สวยงามอยู่ เวลาเราพูดถึงความรัก เราต้องนึกถึงความสุขใช่ไหม แต่มันก็มาพร้อมกับความยึดติดที่ทำให้เกิดความทุกข์ ผมแปลคำว่ารักคือการยึดมั่นถือมั่น ไม่ปล่อย ไม่ผ่อนคลาย การที่เรารักใคร คือการที่เราเอาความรู้สึกของเราไปผูกติดกับคนนั้นไว้ การครอบครองเครื่องรางของขลัง หรือการสักแทททูมันก็เป็นการเอาบางสิ่งบางอย่างมายึดติดกับร่างกายเรา ผมจึงคิดว่าหากเราจะยึดติดอะไรแล้ว ก็น่าจะยึดติดสัจธรรมที่ว่า “ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์” มากกว่า

ความรักคือการยึดติด

ผมคิดอย่างนั้น ความรักมันคือความเห็นแก่ตัวในระดับหนึ่งเหมือนกัน มีใครบ้างที่แต่งงานเพราะความเมตตา ที่แต่งงานกันก็เพราะมึงอยากปี้กันทั้งนั้น อยากมีลูก อยากสร้างครอบครัว อยากเป็นเจ้าของ อยากยึดติดกับคนนี้ มันไม่ใช่ความเมตตาเลย แต่เป็นความเห็นแก่ตัวที่รับได้ ซึ่งโอเค ตอนนี้ฉันรักเธอ อีกสิบปีค่อยว่ากัน หากจะหมดรักกัน จะเลิกหรือจะหย่ากัน ไม่มีใครรู้ ตอบไม่ได้ แต่วินาทีนั้นมันใช่เลย เธอคือคนเดียวที่ฉันอยากยึดติดด้วย ทำนองนี้ 

คุณนำคำว่า “ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์” มาใช้ตั้งแต่ปี 1997 ตอนนี้ผ่านมา 23 ปีแล้ว คุณมองความหมายนี้เปลี่ยนไปบ้างไหม

ไม่เลย ถ้าจะเปลี่ยนก็อาจเปลี่ยนเพราะบริบท ตอนนั้นผมเป็นวัยรุ่น ผมมองความรักคือเรื่องของความสัมพันธ์ของหนุ่มสาว เราอายุยี่สิบกว่าๆ เวลารักใคร แล้วเขาไปมีคนอื่น เราก็โกรธ เสียใจ ยอมรับไม่ได้ แต่พอแก่ขึ้น ผมเริ่มพบว่าความรักมันแชร์กันได้ จะรักกันสามคนสี่คน ถ้าคุณจัดการได้ก็โอเค นั่นเรื่องของคุณ หรือความยึดมั่นถือมั่นมันอาจไม่ได้อยู่กับคนรักแล้ว มันอาจเปลี่ยนไปเป็นความห่วงใยในครอบครัวของคุณ เป็นห่วงลูกหรือแม่ของคุณ หรือกระทั่งกับสิ่งของที่ครอบครอง

อีกอย่างคือทุกวันนี้นิยามของความรักมันกว้างขวางและลื่นไหลมาก เฉพาะแค่กับความรักในเชิงหนุ่มสาว มันก็ไม่ใช่เรื่องของผู้ชายและผู้หญิงแบบเดิมๆ อีกต่อไป มันเป็นเรื่องของ LGBTQ หรือเทคโนโลยีการกำเนิดของมนุษย์ที่หลากหลายกว่าเดิม คุณอาจจะเกิดมาจากหลอดแก้ว โตมาเป็นเกย์ สามปีต่อมาไปแปลงเพศ สักพักกลับมาเป็นผู้ชายแบบเดิมแต่งงานมีลูก หรือท้ายที่สุดในอนาคตคุณอาจได้แต่งงานกับคนที่เกิดจากหลอดแก้วเหมือนคุณ นี่คืออนาคตที่ลูกหลานเราจะได้เจอแน่ๆ ซึ่ง Lilly Ovary พยายามตอบคำถามเหล่านี้ ความรักต้องการความจริงแท้อยู่ไหม แล้วอะไรคือความจริงแท้ 

ขอคุยเรื่องยึดติดอีกนิด ถ้าคิดอย่างนั้น การไม่มีความรักเลยน่าจะเป็นทางออกของการพ้นทุกข์หรือเปล่า

แต่เรามีชีวิตเพื่อยึดติดกับอะไรบางอย่าง เหมือนที่ผมยึดติดกับศิลปะ เราปฏิเสธมันไม่ได้ คุณอาจไม่มีความรักในเชิงชู้สาว แต่ทุกคนย่อมมีความรักในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ปฏิจจสมุปบาท เป็นพระธรรมที่บอกถึงต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลาย ผมเพิ่งรู้ว่า คำว่า ‘มรณา’ ไม่ได้แปลว่าตายอย่างเดียว แต่มันหมายถึงว่าเมื่อเราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา มันก่อให้เกิดทุกข์ เช่นที่เรายึดมั่นว่าชีวิตเป็นของเรา และหากเรากำลังจะเสียมันไป เราก็จะเกิดความทุกข์ ผมคิดว่าใครก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความรัก ซึ่งก็คือความยึดมั่นถือมั่น และความทุกข์ได้ เช่นนั้นการมีสติตระหนักรู้ต่างหาก ที่จะช่วยให้เราได้มีโอกาสที่จะมองเห็นทางออกของการพ้นทุกข์ ตระหนักรู้ว่าร่างกายเป็นของเรา เราต้องดูแลมันให้ดี และต้องรักคนอื่นๆ ด้วย คำว่า ‘สติ’ จึงเป็นเท็กซ์ที่ผมใช้ประกอบในผลงานในโครงการชุดใหม่นี้ไปด้วย เป็นคอนเซปต์ของ HAPPY NEW LOVE YEAR ไปพร้อมกัน

คุณบอกว่างานชุดใหม่นี้มันมีความเกี่ยวเนื่องกับงาน “ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์” อยากรู้ว่ามันเกี่ยวอย่างไร 

งานชุดที่ใดมีรักฯ ผมสร้างวัดเทียมขึ้นมา ชวนคนมาเล่าเรื่องชีวิตรัก และแจกเครื่องราง งานชิ้นนี้มีลักษณะคล้ายๆ กันคือผมจะเปลี่ยนอาคารแกลเลอรี่เป็นวัด แต่รอบนี้ผมไม่เป็นเจ้าอาวาสแล้ว อาคารส่วนจัดแสดงงานมี 3 ชั้น ผมแบ่งคร่าวๆ คล้าย นรก โลก สวรรค์ ชั้นล่างเป็นห้องกระจก ผมก็ชวนเพื่อนศิลปินและลูกศิษย์มาทำงาน performance ให้คนที่ผ่านมาชมแล้วรู้สึกเหมือนอยู่ในสวนสัตว์กลางคืน ชั้นต่อมาที่เป็น main gallery จัดแสดงงานกราฟิตี้เหมือนจิตรกรรมฝาผนังในวัด แต่รอบนี้จะไม่มี discussion เรื่องชีวิตเหมือนเดิมแล้ว แต่เป็นดีเจเปิดเพลงเทคโน ผมตั้งคอนเซปต์ว่าเป็น techno temple ส่วนข้างบนดาดฟ้าเป็นบาร์ ก็มีปาร์ตี้ ทำหน้าที่เหมือนสวรรค์ ให้มันย้อนมันแย้งตัวของมันเอง 

ส่วนเครื่องราง จากที่มันเป็นพระเครื่องจำลอง หรือเสื้อยืด ผมก็เอาไปต่อยอดด้วยแบรนด์ดิ้ง ให้กลายเป็นสินค้ามากขึ้น ลดทอนชื่อเดิมให้เหลือเพียงคำว่า ‘ที่ใด’ เป็นแบรนด์ Where Products ทำกางเกงยีนส์ เสื้อยืด คราฟท์เบียร์ รวมทั้งหมูยอ นี่คือผลิตภัณฑ์ที่จัดแสดงและจำหน่ายอยู่ในแกลเลอรี่

ขายหมูยอในแกลเลอรี่

ใช่ คอนเซปต์ของงานคือความพยายามจะให้ผู้คนได้เสพทั้งรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ขณะเดียวกันก็ทำแบรนด์สินค้าที่มันสามารถส่งสารของผมไปยังวงกว้างได้ด้วย ผมขายกางเกงยีนส์มาสองล็อตแล้ว ส่วนหมูยอก็ทำแม่พิมพ์เสร็จแล้ว อย่างคุณมาเที่ยววัด แล้วคุณเกิดศรัทธา คุณก็อยากเช่าพระกลับไปใช่ไหม มาที่วัดผมก็เหมือนกัน มีของให้ซื้อหากลับไปเป็นที่ระลึก

ของที่ระลึกที่เป็นศิลปะ

ผมไม่ได้ใส่ใจว่าใครจะมองแบบไหน บางคนซื้อยีนส์เพราะเห็นว่ามันสวยและอยากใส่ แต่บางคนก็คิดว่ามันเป็นงานศิลปะ คุณจะมองเป็นอะไรก็ได้ ที่ผมสนใจจริงๆ คือการส่งเมสเสจคำว่า “ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์” ออกไปมากกว่า ผมทำหมูยอ แล้วมีคนซื้อไปกิน เขาก็จะได้เห็นคำนี้ ระหว่างที่แบ่งกับเพื่อนกิน เขาอาจตระหนักถึงความหมายของคำที่กำลังเคี้ยวอยู่ก็ได้ ผมไม่ได้พูดเล่นๆ นะ คิดถึงขนาดจะขยายให้เป็นร้านค้าจริงจังในอนาคตเลย

ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วมีคนมาบอกว่าคุณไม่ได้ทำงานศิลปะ แต่คุณทำของขายล่ะ

นี่คือความกำกวมที่ผมต้องการ อย่างที่ผมบอก ทุกคนสามารถซื้อมันไปในฐานะสิ่งของหรืองานศิลปะก็ได้ แล้วแต่คุณจะให้คุณค่า ผมอยากให้ผลิตภัณฑ์มันกลมกลืนอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน ให้เมสเสจมันแพร่ออกไป คิดไม่ต่างจากการทำธุรกิจ เพียงแต่โมเดลธุรกิจต้องการเงิน แต่ผมต้องการส่งเมสเสจ 

สมัยที่ผมทำงานชุด Lilly Ovary ผมเคยหอบแฟ้มผลงาน นั่งรถลงกรุงเทพฯ ไปสำนักงานนิตยสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก คุณนึกออกไหมนิตยสารที่ชอบลงรูปคู่ของดาราน่ะ ผมไปแนะนำตัวกับบรรณาธิการว่าผมเป็นศิลปิน เอาผลงานมาให้เขาดูว่าทำอะไรบ้าง สักพัก บ.ก. เขาก็ถามว่าผมต้องการอะไร ผมก็ยื่นรูป Lilly Ovary ให้เขาดู บอกว่าผมอยากถ่ายรูปในชุดเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวตุ๊กตายางเพื่อลงปกนิตยสารฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พอพูดออกไปเท่านั้น เขาก็ไล่ตะเพิดผมให้ออกไปจากออฟฟิศเขาทันที ไล่อย่างหมูอย่างหมา เขาคงคิดว่าผมบ้า (หัวเราะ)

เป็นใครก็คิดว่าคุณบ้าจริงๆ แหละ

นี่คือความฝันของผมเลยนะ ได้ลงปกนิตยสารแนวความรักกับลิลลี่ ศิลปะมันควรพาเราไปถึงตรงนั้น มันคือการส่งเมสเสจ ออกไปผ่านสินค้า หรือทำให้เป็นแบรนด์ขึ้นมานี่ไง

ในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานที่คุณยั่วล้อการวาง motto ของจอห์น เลนนอน และโยโกะ โอโนะ (War is Over! If You Want It) คุณต้องการจะบอกอะไร

HAPPY NEW LOVE YEAR คือชื่อเดิมของนิทรรศการในปี 1997 ที่ผมพา Lilly Ovary นั่งแท็กซี่แกลเลอรี่ของนาวิน (ลาวัลย์ชัยกุล) และถ่ายรูปทำปฏิทินแจกคนทั่วไป ผมชอบชื่อนี้และมันสื่อสารให้คนรักกันได้ตรงๆ ดี คำว่า MINDFUL EVERY MOMENT คือการมีสติทุกขณะ อย่างที่บอกว่าสติคือคอนเซปต์ในงานผม ยิ่งทุกวันนี้สถานการณ์ทั้งในบ้านเราและในโลกเรียกร้องให้เรามีสติ ทั้งในการใช้ชีวิตและการพิจารณาในการรับข่าวสารเป็นอย่างมาก

ส่วนรูปแบบที่ผมเลียนมาจากโปสเตอร์ของเลนนอน ผมก็ยั่วล้อด้วยการโปรยคำบรรทัดสุดท้ายว่า War is not Over, Peace is Simulated (สงครามไม่เคยจบ ความสงบไม่มีจริง) เราต่างปรารถนาให้สังคม ให้โลก มีสันติ มีความสงบสุข แต่ในความจริงความรุนแรงกลับเป็นเรื่องที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะสถานการณ์ระดับไหนตั้งแต่ปัจเจก ไปจนกระทั่งสังคมใหญ่ สันติภาพต่างๆ ก็ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อการเมืองและอำนาจ เราไม่อาจจะฝันถึงสันติภาพได้ นอกจากลงมือกระทำอย่างที่จอห์นบอกว่า If You Want It ข้อความในโปสเตอร์ของผมจึงเป็นคล้ายการเสนอทางเลือกที่เหมาะสมกับเงื่อนไขหรือบริบทในยุคสมัยปัจจุบันของเรา

ประเด็นก็คือโลกจะไม่มีทางสงบสุข แต่เราต้องมีสติ

ใช่ เราต้องมีสติ และสิ่งสำคัญคือเราต้องรักกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เคารพเหตุผลของปัจเจก ถ้าเรารักกัน สงครามก็ไม่เกิด ไม่มีอะไรมาทำร้ายเราได้ ผมจึงตั้งชื่อ HAPPY NEW LOVE YEAR โดยตัดปีลงท้ายออก เพราะเราไม่ควรรักกันแค่ปีใดปีหนึ่ง เราต้องรักกัน ทุกปี ทุกวัน ทุกวินาที และทุกลมหายใจที่เข้าและออก

ถ้ามองย้อนกลับไป คุณพบว่าตัวเองมีความสุขหรือทุกข์จากความรักมากกว่ากัน 

ผมมีความหวัง ผมตอบอย่างนี้ มีความหวังแบบที่จอห์น เลนนอน หวัง สุขและทุกข์มันปนๆ กันไป แต่ผมพบว่าตัวเองมีความหวังที่จะอยู่และสร้างงานต่อไป อยู่อย่างมีคุณค่า อยู่เพื่อคุณค่าของตนเองและอยู่เพื่อคุณค่าของผู้อื่น 

.

ภาพถ่ายบนภาพปก: Happy New Love Year 1997
Lily Ovary and Kosit Juntararip
in collaboration with Rirkrit Tiravanija and Navin Gallery Bangkok

Fact Box

  • นิทรรศการ HAPPY NEW LOVE YEAR จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2020 ถึงวันเดียวกันในปี 2021 ซึ่งเป็นนิทรรศการเปิดของโครงการศิลปะ Love Story ของ Mai Space โครงการแสดงงานศิลปะและวัตถุเกี่ยวกับความรักตลอดหนึ่งปี ซึ่งจะมีนิทรรศการย่อยที่มาเติมผลงานจัดแสดงทุกเดือนจนครบหนึ่งปี  
  • Mai Space คือแกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัย ตั้งอยู่ชั้นบนของร้านอาหารญี่ปุ่น บุญปั๋น ซารุ & ด้ง ถนนเจริญประเทศ ติดตามความเคลื่อนไหวของแกลเลอรี่ได้ที่ https://www.facebook.com/maispacecnx/
  • ปัจจุบัน โฆษิต จันทราทิพย์ เป็นอาจารย์สาขาวิชาสหศาสตร์ศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังคงทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง