เวลามหาอำนาจรบกัน ไม่ยากที่ประเทศเล็กจะพลัดเข้าสู่สงคราม บ้างเพราะถูกดูดดึงแกมบังคับ บ้างเพราะถือหางฝ่ายที่มีลุ้นในชัยชนะ ในกรณีไม่ใช่เพราะจำยอม แต่จงใจเลือกข้าง ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเผชิญคำถามใหญ่เข้าสักวัน นั่นคือ ระหว่างอเมริกากับจีน แทงม้าตัวไหนปลอดภัยกว่า

ท่ามกลางมหาสงคราม ซึ่งก่อขึ้นโดยรัฐมหาอำนาจใหม่ที่ต้องการรื้อโละระเบียบโลกเดิม ไม่ง่ายที่ประเทศเล็กจะดำรงความเป็นกลางไว้ได้ แต่ถ้าจะกระโจนเข้าสู่สมรภูมิใหญ่ด้วยความสมัครใจ ประเทศเล็กย่อมต้องดีดลูกคิดคาดคำนึงถึงผลได้-ผลเสีย ก่อนที่จะเลือกฝักฝ่าย

โจทย์ยากของประเทศเล็กอยู่ตรงการคำนวณที่ว่านี้ คำนวณผิด ชีวิตประเทศเปลี่ยน ต้องตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ดังนั้น การเลือกพันธมิตรจึงต้องตั้งบนคำถามว่า ระหว่างมหาอำนาจสองข้าง ข้างไหนจะให้ประโยชน์ได้มากกว่า ข้างไหนจะเชื่อใจได้มากกว่า

คำถามในเชิงภาพลักษณ์ที่ว่า ใครน่าคบกว่ากัน แบบนี้ เกิดขึ้นตลอดเวลาในหมู่ผู้กำหนดนโยบายของรัฐเล็ก และคำตอบที่อยู่ในใจก็มีความสำคัญ เพราะนั่นจะกำหนดแนวโน้มของสถานการณ์เมื่อวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศอุบัติขึ้น

เวลานี้ ในแวดวงนโยบายของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองอเมริกากับจีนด้วยสายตาอย่างไร สถาบันวิจัยแห่งหนึ่งในสิงคโปร์สำรวจพบว่า อเมริกาเสื่อมอิทธิพลแล้ว จีนกำลังจะเข้าแทนที่ ช้างสารทั้งสองจะประสานงากัน แต่ประเทศที่น่าไว้วางใจที่สุด คือ ญี่ปุ่น

ภาพลักษณ์ (perceptions) เหล่านี้ อาจบ่งชี้ให้เห็นทิศทางได้ว่า ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะตัดสินใจอย่างไรเมื่อจีนรบอเมริกา และใครมีศักยภาพที่จะเข้ามาเป็น ‘ตาอยู่’

อเมริกาเสื่อมอำนาจ

ศูนย์อาเซียนศึกษา ในสังกัด ISEAS-Yusof Ishak Institute ออกรายงานผลสำรวจทัศนคติของผู้คนในแวดวงนโยบายรัฐบาล มีทั้งผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาค ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบาย นักวิจัย สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม ในทั้งสิบประเทศอาเซียน

รายงานผลสำรวจประจำปี 2019 ชื่อ ภาวการณ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (State of Southeast Asia) ฉบับนี้ เก็บข้อมูลด้วยการทอดแบบสอบถามเมื่อช่วงวันที่ 12 พฤศจิกายนถึง 1 ธันวาคม โดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่าง มีผู้ตอบรวม 1,308 คน

ในประเด็นอำนาจและอิทธิพลของสหรัฐฯ ในระดับโลก ผู้ตอบส่วนใหญ่ คือ เกือบ 60% มองว่า น้ำหนักของสหรัฐฯ ในเวทีโลกถดถอยลง มีเพียงส่วนน้อย คือไม่ถึง 20% ที่มองว่าเพิ่มขึ้น และเมื่อถามเจาะจงในยุครัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ คำตอบยิ่งชัดว่า ส่วนใหญ่ คือ 68% มองว่า ลดลง

แล้วสหรัฐฯ จะเป็นมิตรที่พึ่งได้ในยามยากหรือเปล่า คำถามข้อนี้ถามถึงความมั่นใจต่อมิตรประเทศ คนส่วนใหญ่ (68.1%) ตอบว่า ไม่แน่ใจว่าสหรัฐฯ จะเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเป็นหลักค้ำยันความมั่นคงในภูมิภาคหรือไม่ มีเพียงส่วนน้อย (26.9%) ที่ตอบว่า มั่นใจในสหรัฐฯ

จีนหมายปองอุษาคเนย์

จีนปรารถนาที่จะเบียดขับสหรัฐฯ แล้วเข้าครองอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือเปล่า คนส่วนใหญ่ (45.4%) ตอบว่า เชื่อเช่นนั้น และส่วนใหญ่ (35.3%) ยังมองด้วยว่า ถ้าสหรัฐฯ ถอยออกไปจากภูมิภาค จีนจะเข้าเสียบแทน

อย่างไรก็ดี คนจำนวนหนึ่ง (25.7%) บอกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินเจตนาของจีน ขณะที่บางส่วน (22.5%) มองว่า จีนจะรักษาสถานะเดิมและธำรงระเบียบที่สหรัฐฯ มีบทบาทหลักในภูมิภาคนี้ไว้ต่อไป ส่วนคนที่มองว่า จีนจะเป็นมหาอำนาจที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยและเป็นพี่ใหญ่ใจดี มีเพียงส่วนน้อย (8.9%)

ทุนจีนยืนหนึ่ง

เมื่อถามว่า ในภูมิภาคนี้ ใครครองอิทธิพลสูงสุดในทางเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่ (73.3%) บอกว่า จีน มีน้อยคน (7.9%) ที่ตอบว่า สหรัฐฯ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะเหตุว่าจีนขึ้นแท่นอันดับหนึ่งในฐานะคู่ค้าของอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2009 ด้วยมูลค่าการค้าทวิภาคีทะลุเกิน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2017

ส่วนในด้านการเมืองและยุทธศาสตร์ น่าสังเกตว่า คนส่วนใหญ่ (45.2%) มองว่า จีนครองอิทธิพลสูงสุด พวกที่ตอบว่า สหรัฐฯ มีน้อยกว่า (30.5%) ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า จีนเป็นพระเอกด้านเศรษฐกิจ อเมริกาเป็นพระเอกด้านการเมือง-ยุทธศาสตร์ เห็นทีจะต้องทบทวนใหม่

ใครจะแทนที่อเมริกา

จากที่เคยเป็นเสาหลักค้ำประกันความมั่นคงในภูมิภาคเมื่อครั้งสงครามเย็น สหรัฐฯ ได้ลดบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงเป็นลำดับ ในขณะที่จีนกำลังขยายบทบาทจากมิติเศรษฐกิจสู่มิติการเมืองเพิ่มขึ้นทุกทีๆ คำถามมีอยู่ว่า ถ้าอเมริกาถอยออกไป มหาอำนาจชาติไหนจะเข้ามาแทน

ระหว่างตัวเลือก 6 ตัว คือ จีน สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น รัสเซีย หรือ “ไม่ใช่ประเทศใดใน 5 ประเทศนี้” ผู้ตอบส่วนใหญ่ (74.1%) ตอบว่า จีน

มีคำกล่าวว่า จีนกับสหรัฐฯ ต่างมองอีกฝ่ายเป็นคู่แข่ง ในอนาคต จีนจะงัดข้อกับสหรัฐฯ บนวิถีทางของการผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจโลก ในประเด็นนี้ คนส่วนใหญ่ (68.4%) มองว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมให้จีนช่วงชิงความเป็นเจ้าอย่างแน่นอน ฉะนั้น ฝ่ายท้าชิงเข็มขัดแชมป์ กับฝ่ายป้องกันเข็มขัดแชมป์ คงเปิดศึกเข้าสักวัน

เป็นที่คาดการณ์กันด้วยว่า สมรภูมิของการประลองพลังหมัดจะอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถามว่าประเด็นนี้น่าวิตกกังวลไหม ส่วนใหญ่ (62%) ตอบว่า ใช่

เชื่อใจใครดี

ในบรรดาประเทศพี่เบิ้ม ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจแก่ประเทศไหนมากที่สุด และไม่ไว้วางใจประเทศไหนมากที่สุด คำตอบที่สำรวจพบต่อไปนี้ สะท้อนถึงภาพลักษณ์ของแต่ละชาติมหาอำนาจ

เมื่อไล่เรียงถามความเห็นที่มีต่อจีน สหรัฐฯ อียู ญี่ปุ่น และอินเดีย ปรากฏว่า มหาอำนาจที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจสูงที่สุด (65.9%) คือ ญี่ปุ่น และต่ำที่สุด (19.6%) คือจีน ขณะที่ผู้ตอบจำนวนหนึ่ง (27.3%) เลือกสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน ผู้สำรวจกลับคำถามเป็นอีกแบบหนึ่ง โดยถามใหม่ว่า มหาอำนาจไหนไม่น่าไว้วางใจ ปรากฏว่า ทั้งจีนและสหรัฐฯ นำโด่งเข้าป้ายทั้งคู่ ส่วนใหญ่ (51.5%) ตอบว่า จีน และใกล้เคียงกัน (50.6%) ตอบว่า สหรัฐฯ ขณะที่มีคนตอบว่า ญี่ปุ่น น้อยที่สุด (17%)

รายงานฉบับนี้คงทำให้ชาติมหาอำนาจต้องปรับปรุงภาพลักษณ์ของตัวเองในภูมิภาคนี้ จีนคงต้องถามตัวเองว่า ทำไมเพื่อนบ้านจึงหวาดระแวง สหรัฐฯ คงต้องถามตัวเองว่า ทำไมมิตรประเทศจึงเลิกคิดฝากผีฝากไข้

ส่วนชาติอุษาคเนย์คงต้องประเมินเจตนาและขีดความสามารถของมหาอำนาจแต่ละฝ่ายให้แน่ชัด เมื่อสถานการณ์จวนตัว การตัดสินใจเลือกข้างจะได้ไม่ผิดพลาด ถึงแม้ไม่มีประเทศไหนอยากตกเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ถูกบีบให้เลือกก็ตาม.

 

อ้างอิง :

The State of Southeast Asia : 2019 Survey Report

Tags: , , , , ,