ผลเจรจายกแรกในสงครามการค้า สหรัฐฯ ดูจะเป็นฝ่ายรามือ แม้จีนรับปากที่จะซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น เพื่อถมดุลการค้าที่อเมริกาเสียเปรียบ ทว่าข้อตกลงเฟสแรกยังไม่ได้สนองรับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้จีนปรับเปลี่ยนนโยบายที่ก่อให้เกิดโครงสร้างการค้าที่ไม่เป็นธรรม

สหรัฐฯ กับจีนประกาศข่าวการบรรลุข้อตกลงด้านการค้าเมื่อวันศุกร์ (13 ธ.ค.) ทั้งสองฝ่ายกำหนดลงนามเอกสารความยาว 89 หน้าฉบับนี้ในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม ปี 2020

นักสังเกตการณ์ตั้งคำถามว่า หลังจากรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ทำสงครามการค้าเป็นเวลาเกือบ 2 ปี เมื่อเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายไปในศึกขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กับจีนแล้ว สหรัฐฯ ได้รับผลลัพธ์ในจุดที่สมประโยชน์หรือเปล่า คำตอบดูจะเป็นว่า วอชิงตันยังไปไม่ถึงจุดนั้น

สหรัฐฯ ยอมถอย

ท่าทียอมอ่อนข้อให้กับปักกิ่งในประการแรก ปรากฏให้เห็นในรูปของการเห็นพ้องที่จะแบ่งการเจรจาจัดทำข้อตกลงแบบเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งๆ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยประกาศขึงขังที่จะกดดันให้จีนตอบสนองข้อเรียกร้องแบบม้วนเดียวจบ

การพักรบกับจีนในรอบนี้ จึงเรียกกันว่า ข้อตกลงการค้าระยะที่หนึ่ง (‘phase one’ trade deal)

ประการที่สอง รัฐบาลทรัมป์ยอมลดราวาศอกในแง่ของอัตราภาษีนำเข้า การถอยในเรื่องนี้มี 2 ส่วนในขณะที่อีก 1 ส่วนยังคงเก็บไว้ใช้เป็นเครื่องมือต่อรองกับจีนในการเจรจารอบต่อไป

ส่วนแรกที่สหรัฐฯ ยอมถอยก็คือ ยกเลิกแผนการขึ้นภาษีนำเข้าเป็น 15% สำหรับสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป รวมถึงของเล่นและเสื้อผ้า ซึ่งเดิมกำหนดจะเริ่มเก็บอัตราใหม่นี้เมื่อวันอาทิตย์ (15 ธ.ค.)

สำหรับในส่วนนี้ จีนตอบแทนสหรัฐฯ ด้วยการยกเลิกแผนขึ้นภาษีตอบโต้สำหรับยานยนต์ที่ผลิตในสหรัฐฯ ในอัตรา 25% ซึ่งเดิมจะมีผลในวันเดียวกัน

ส่วนที่สองที่ทรัมป์ยอมผ่อนปรน คือ ลดภาษีนำเข้าสินค้าจีน มูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์ฯ ลงครึ่งหนึ่ง คือจากอัตรา 15% ลงมาอยู่ที่ 7.5% ซึ่งมาตรการในส่วนนี้เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน

อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ จะยังคงอัตราภาษีนำเข้า 25% สำหรับสินค้าจีนมูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์เอาไว้ก่อน เพื่อกดดันจีนให้ตอบสนองข้อเรียกร้องในเรื่องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการค้าที่สหรัฐฯ วิจารณ์ว่า “ไม่เป็นธรรม ไม่มีเหตุผล และบิดเบือนกลไกตลาด”

จีนสนองปม ‘ดุลการค้า’

ด้วยเหตุที่ข้อพิพาทการค้าในเชิงโครงสร้างเป็นประเด็นที่ยังหาจุดลงตัวร่วมกันได้ยาก ในข้อตกลงระยะที่หนึ่ง ปักกิ่งจึงตอบแทนการประนีประนอมของคู่เจรจาด้วยการปรับดุลการค้า โดยรับปากที่จะนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

สิ่งที่จะนำเข้าเพิ่มขึ้นนี้ มีทั้งสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร พลังงาน และบริการ รวมมูลค่าอย่างน้อย 200,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในช่วงเวลา 2 ปีข้างหน้า เพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งเสียดุลกับจีนอยู่ปีละ 419,000 ล้านดอลลาร์ฯ

ตามสถิติเมื่อปี 2017 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าสงครามการค้า จีนซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 130,000 ล้านดอลลาร์ฯ และบริการมูลค่า 56,000 ล้านดอลลาร์ฯ

หมวดสินค้าเกษตรเป็นข้อเรียกร้องที่ทรัมป์เน้นมาก ตามข้อตกลงนี้ จีนให้คำมั่นว่าจะซื้อสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 32,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว หรือเพิ่มขึ้นปีละ 16,000 ล้านดอลลาร์ฯ จากระดับการนำเข้าเมื่อปี 2017 ซึ่งอยู่ที่ 24,000 ล้านดอลลาร์ฯ

ถ้าจีนทำเท่าที่รับปากนี้ นั่นแปลว่า จีนจะซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ปีละ 40,000 ล้านดอลลาร์ฯ แต่ทรัมป์เรียกร้องมาโดยตลอด ขอให้จีนซื้อสินค้าเกษตรปีละ 50,000 ล้านดอลลาร์ฯ ดังนั้น ในข้อตกลงรอบแรกนี้ จีนจึงบอกว่าจะใช้ความพยายามเป็นพิเศษที่จะซื้อให้มากกว่านั้นอีก 5,000 ดอลลาร์ฯ ต่อปี เพื่อให้ใกล้เคียงกับจุดที่ทรัมป์ต้องการ

อีกประเด็นสำคัญที่จีนสนองข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ คือ กลไกบังคับใช้ข้อตกลง ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า หากเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับการปฏิบัติตามในสิ่งที่ลงนามกันไว้ คู่สัญญาจะระงับข้อพิพาทด้วยการปรึกษาหารือ โดยเริ่มจากกลไกระดับผู้ปฏิบัติจนขึ้นไปถึงระดับนโยบาย ถ้าจบเรื่องด้วยการหารือไม่ได้ ก็มีช่องทางนำไปสู่การขึ้นภาษี หรือมาตรการลงโทษอื่นๆ

เหล่านี้เป็นข้อสรุปของข้อตกลงการค้าระยะที่หนึ่ง ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกบางประเด็น เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา บริการทางการเงิน แต่ขืนเล่าหมดคงยืดยาว จึงขอยกไว้ก่อน

‘ศึกเลือกตั้ง’ เค้นผลงาน ‘ทรัมป์’

ประเมินภาพรวมแล้ว สหรัฐฯ กับจีนต่างพยายามสนองประโยชน์แก่กันและกัน อย่างไรก็ดี นักสังเกตการณ์ชี้ว่า สหรัฐฯ ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้แต่แรก นั่นคือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการค้าของจีน ทั้งๆ ที่ลงแรงทำสงครามการค้าอย่างครึกโครม ซึ่งส่งผลฉุดเศรษฐกิจของทุกฝ่าย

อย่างที่เคยเล่าไว้ สหรัฐฯ กล่าวหาจีนว่า ทำจารกรรมทางเศรษฐกิจ บังคับเอกชนอเมริกันให้ถ่ายทอดเทคโนโลยี ทุ่มตลาดจีนด้วยสินค้าที่มีราคาถูกด้วยเงินอุดหนุนจากภาครัฐ การปฏิบัติเหล่านี้เป็นการเอาเปรียบคู่ค้า ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการให้จีนแก้ไข

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงระยะที่หนึ่งยังไปไม่ถึงเป้าหมายดังกล่าว นั่นเป็นเพราะความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจ สหรัฐฯ ใช้ระบบทุนนิยมเสรี จีนใช้ระบบทุนนิยมในความควบคุมของรัฐ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ โรเบิร์ต ไลไธเซอร์ ยอมรับว่า ประเด็นเหล่านี้เจรจายากมาก ทั้งสองฝ่ายมีระบบไม่เหมือนกัน จึงต้องหาทางหลอมรวมความต่างให้ไปถึงจุดที่สนองผลประโยชน์ของอเมริกันให้มากกว่าที่ผ่านมา

ความยากอย่างที่ว่าดูจะเป็นเหตุหนึ่งที่ผลักดันให้ทรัมป์ยอมรับข้อตกลงเท่าที่เจรจาได้ในยกนี้ โดยหวังว่าจะหยิบยกประเด็นเชิงโครงสร้างขึ้นเจรจาในรอบต่อๆ ไป

อีกเหตุหนึ่งที่ทรัมป์ตัดสินใจ “เอาเท่าที่ได้” ก็คือ เจ้าตัวกำลังจะต้องกรำศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า จึงจำเป็นต้องมีผลงานไว้หาเสียง ขณะเดียวกัน สงครามการค้าทำให้การส่งออกของภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมอเมริกันลดลงอย่างมาก ถ้าไม่พักรบก็จะกระทบต่อฐานเสียง โดยเฉพาะในหลายมลรัฐแถบมิดเวสต์.

อ้างอิง:

Reuters, 13 December 2019

Reuters, 14 December 2019

Kyodo News, 15 December 2019

ภาพ: cybrain/ Getty Images

Tags: , , , ,