เปิดตัว 10 ผลงานการประกวดสิ่งประดิษฐ์ ‘สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน’ ที่จัดโดยบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ซึ่งชวนให้นำความคิดสร้างสรรค์ มาพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมทั้งสอนการวางแผนทำการตลาดให้ไปต่อได้
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ให้เห็นว่า คนในท้องถิ่นทั่วประเทศล้วนมีทักษะด้านนวัตกรรมและกระบวนการคิดเชิงออกแบบที่มีศักยภาพ สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนได้
ด้วยจำนวนผลงานหลายชิ้นที่ส่งเข้าประกวด มีพื้นฐานมาจากการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรมซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ในท้องถิ่น และต่อไปนี้ คือผลงานจากทั้ง 10 ทีม
เครื่องเจาะดินนิวบอร์น, เรือรดน้ำอัตโนมัติ, จักรยานปีนต้นมะพร้าว, เครื่องอูดยุง, รถไถนั่งขับอีลุย, ตะบันน้ำถังแก๊ส, กาลักน้ำประปาภูเขา, เครื่องตัดหญ้าโซลาร์เซลล์, เครื่องบดผสมปุ๋ยหมักและดินปลูก และของเล่นไม้กลไกเคลื่อนไหว
สว่านเจาะดินนิวบอร์น โดย ปรีชา บุญส่งศรี
เริ่มต้นจากความต้องการปลูกกล้วยนับพันต้น แต่พบว่าการขุดหลุมปลูกทีละต้นทั้งเหนื่อยและใช้เวลามาก เครื่องเจาะดินที่หาซื้อได้ก็ไม่ทนทาน ใช้งานยาก เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จึงพยายามคิดค้นเครื่องขุดดินตั้งแต่เสียมขนาดใหญ่ที่ทนทานและมีที่เหยียบสำหรับเพิ่ิมแรงในการขุด มาเป็นสว่านเจาะดินมือหมุน แล้วพัฒนาต่อยอดมาเป็นเครื่องเจาะดินแบบรถเข็นล้อเดี่ยวที่เหมาะกับการลากเคลื่อนย้ายในพื้นที่ขรุขระ และช่วยควบคุมทิศทางการเจาะดิน เป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้สะดวก ราคาไม่แพง เกษตรกรเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุนแรงงานในการก่อสร้างขนาดเล็กในพื้นที่เกษตรกรรม เช่น การสร้างโรงเรือนเพาะเห็ด เสาค้างสำหรับพืชเถาเลื้อย ฯลฯ
รถไถนั่งขับ อีลุย โดย วิมล สุวรรณ
จากประสบการณ์รับจ้างไถปรับหน้าดินด้วยรถไถเดินตามมาอย่างยาวนาน ซึ่งทั้งเมื่อยล้า และเสี่ยงจะประสบอุบัติเหตุ เป็นจุดเริ่มต้นให้คิดค้นวิธีที่จะทำให้รถไถเดินตามใช้งานได้ง่ายขึ้น แม้มีไอเดียและขาดแคลนทุนทรัพย์ จึงอาศัยเรียนรู้จากกลไกของรถไถขนาดใหญ่ แล้วหาอะไหล่มือสองมาดัดแปลงรถไถเดินตามคู่ใจ จนกลายเป็น ‘อีลุย’ รถไถนั่งขับที่สามารถทำงานได้ไม่แพ้รถไถราคาแพงขนาดใหญ่
อีลุย ใช้ชุดดัดแปลงรถไถเดินตามที่เกษตรกรมีกันอยู่ทุกบ้านให้กลายเป็นรถไถนั่งขับได้ในราคาไม่แพง พร้อมติดตั้งระบบต่อพ่วงอุปกรณ์เกรดหน้าดิน ผานไถ พ่วงลาก ฯลฯ ตามความต้องการของผู้ใช้ โดยเฉพาะเกษตรกรสูงวัย ให้สามารถทำงานในพื้นที่เกษตรกรรมได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น
ตอนนี้ รถไถเดินตามที่ดัดแปลงมานี้ มีแฟนเพจของตัวเองแล้ว ชื่อว่า อีลุยไทยแลนด์ หรือ Fanpage “Eluithailand”
จักรยานปีนต้นมะพร้าว โดย ณรงค์ หงส์วิชุลดา
เพราะสมัยนี้หาคนปีนต้นมะพร้าวได้ยาก เนื่องจากเป็นงานอันตราย จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้คิดประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ทำให้การเก็บลูกมะพร้าว ลูกตาล ลูกหมาก และการตัดแต่งกิ่งไม้บนต้นไม้สูง เป็นงานที่เป็นไปได้สำหรับหลายๆ คน
จักรยานปีนต้นมะพร้าวจึงถูกสร้างขึ้นมา โดยออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการปีนต้นไม้แต่ละชนิดได้ เพื่อลดการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของเกษตรกร ทำให้สามารถอยู่บนต้นไม้ได้เป็นระยะเวลายาวนาน โดยไม่เมื่อยล้ามากนัก เช่นเดียวกัน อุปกรณ์นี้มีใช้จริงแล้ว วางขายแล้วผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยลูกค้าที่สั่งซื้อส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้
เรือรดน้ำอัตโนมัติ โดย สายธาร ม่วงโพธิ์เงิน
สวนหลายแห่งมีระบบสปริงเกอร์รดน้ำอัตโนมัติ แต่ก็ถือว่าเป็นระบบที่ต้นทุนสูง ‘เรือรดน้ำอัตโนมัติ’ แตกต่างตรงที่เป็นเหมือนโรบอท ที่แค่กดปุ่มแล้วก็ปล่อยให้มันทำงานไป โดยใช้อุปกรณ์ง่ายๆ อย่างเครื่องยนต์เบนซินสองจังหวะ มอเตอร์ โฟม เหล็ก ท่อพีวีซี และกล่องควบคุมที่เขียนโปรแกรมให้กับไมโครคอนโทรลเลอร์เพื่อควบคุมความเร็วของมอเตอร์ให้คงที่ เมื่อติดเครื่องแล้ว สามารถปล่อยให้รดไปรอบๆ สวนได้เอง ช่วยลดการใช้แรงงานในการรดน้ำพืชไร่พืชสวน ทำให้ประหยัดต้นทุนในการทำการเกษตร
เครื่องตัดหญ้าโซลาร์เซลล์ โดย กฤษณะ สิทธิหาญ
ไหนๆ ก็ต้องอยู่กลางแดดอยู่แล้ว ไอเดียเครื่องตัดหญ้าที่ติดแผงโซลาร์เซลล์ไปในตัว จึงช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้เครื่องตัดหญ้าโดยไม่ต้องเปลืองน้ำมัน เครื่องนี้ทำงานด้วยมอเตอร์กำลังสูงที่สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องทั้งวัน แผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กยังสามารถชาร์จกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง หรือแม้จะเป็นวันที่ไม่มีแสงอาทิตย์ก็สามารถใช้งานได้ด้วยแบตเตอรี่สำรอง นอกจากนี้ การออกแบบมือจับแบบพิเศษยังช่วยเพิ่มองศาจากจุดหมุนเพื่อตัดหญ้าได้กว้างกว่ามือจับแบบทั่วไป ตัวเครื่องมีน้ำหนักเบาและกะทัดรัด
ตอนนี้ เครื่องตัดหญ้าโซลาร์เซลล์มีขายแล้วทางเฟซบุ๊ก “ไร่ช่างเอก สับปะรดวิถีอินทรีย์” และอยู่ระหว่างจดอนุสิทธิบัตร
ตะบันน้ำถังแก๊ส โดย อุดม อุทะเสน
ด้วยสภาพพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล จะทำอย่างไรที่จะนำน้ำที่ไหลมาจากป่าต้นน้ำเพื่อให้ชาวบ้านในหมู่บ้านได้มีน้ำบริโภคและใช้ในการเกษตร ด้วยทักษะช่างเครื่องยนต์เล็ก และความรับผิดชอบในฐานะผู้ใหญ่บ้านแห่งบ้านทุ่งเทิง ต. โป่ง อ. ด่านซ้าย จ. เลย ทำให้ อุดม อุทะเสน สร้าง ‘ตะบันน้ำ’ ขึ้นมา โดยเริ่มแรก ใช้ท่อพลาสติกพีวีซี แล้วเปลี่ยนมาเป็นท่อเหล็ก ต่อมาเป็นถังน้ำยาแอร์ และท้ายที่สุด หันมาใช้ถังแก๊สมือสองที่ทนทานและมีขนาดที่เหมาะสม
ตะบันน้ำนี้ช่วยให้ครัวเรือนและเกษตรกรเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด สร้างสุขภาวะที่ดีสำหรับครัวเรือนในชนบท และการชลประทานเกษตรที่ช่วยเพิ่มรายได้ และยังส่งเสริมการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ โดยตะบันน้ำจะยังคงทำงานได้อย่างต่อเนื่องก็ต่อเมื่อมีน้ำไหลลงมาตามลำธารอย่างต่อเนื่อง
ของเล่นไม้กลไกเคลื่อนไหว โดย โรงเล่นและพิพิธภัณฑ์เล่นได้
จากของเล่นพื้นบ้าน ตอนนี้ได้รับการอัปเกรดและเสริมกลไกทำให้เคลื่อนไหวได้ โดยกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ช่างไม้นักทำของเล่นกว่า 20 คน ที่ช่วยกันต่อยอดของเล่นพื้นบ้าน โดยใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นมาเป็นวัตถุดิบ สร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยเครื่องมือช่างพื้นบ้าน ทำให้ของเล่นเหล่านี้มีการพัฒนารูปแบบและกลไก เพิ่มเติมด้วยจินตนาการของผู้ใหญ่ที่อยากให้ลูกหลานได้เรียนรู้และจินตนาการไปไกลกว่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และส่งต่อความรู้ไปยังเด็กรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง
ตอนนี้ ของเล่นไม้กลไกเคลื่อนไหว มีจำหน่ายผ่านเฟซบุ๊ก “โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้” และจัดจำหน่ายผ่านโรงเรียนการศึกษาทางเลือกทั่วประเทศ
กาลักน้ำประปาภูเขา โดย กลุ่มช่างชุมชนเมืองจัง
จากปัญหาการสิ้นเปลืองงบประมาณในการสูบน้ำเพื่อประโยชน์ด้านการชลประทานภายในหมู่บ้าน จึงพัฒนาเครื่องสูบน้ำแบบกาลักน้ำที่อาศัยหลักทางวิทยาศาสตร์ โดยไม่ต้องใช้พลังงานจากภายนอก เพื่อสูบน้ำจากแหล่งกักเก็บไปยังลำรางส่งน้ำของหมู่บ้าน ช่วยลดต้นทุนในการสูบน้ำเพื่อสาธารณูปโภคและการเกษตรภายในหมู่บ้าน และทำให้คนในชุมชนเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด ทำให้มีสุขภาพดี และยังช่วยเพิ่มรายได้จากการเกษตรที่เข้าถึงระบบชลประทานด้วย
ตอนนี้ กาลักน้ำนี้ใช้งานจริง โดยสามารถส่งน้ำประปาให้กับ 35 ครอบครัว และครอบคลุมพื้นที่กว่า 800 ไร่ในจังหวัดน่าน และกำลังจะสร้างระบบเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถจ่ายน้ำให้กับครัวเรือนในชนบทได้มากยิ่งขึ้น
เครื่องอูดยุง โดย สุริยา คำคนซื่อ
จากปัญหาเครื่องพ่นยุงแบบสะพายหลังดั้งเดิมที่มีขนาดใหญ่ เสียงดัง สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และมีราคาแพง ทำให้มีจำนวนเครื่องไม่เพียงพอกับการใช้งานครอบคลุม 80 หมู่บ้านของตำบลท่าลาด จึงสร้างเครื่องพ่นสารกำจัดยุงขนาดเล็กที่ใช้ ใช้กลไลให้ความร้อนผ่านขดลวดทองแดง ที่ตัวแทน อสม. แต่ละหมู่บ้านสามารถพกพาและใช้งานได้ง่าย อีกทั้งยังมีราคาถูก และยังช่วยให้การฉีดกำจัดยุงทำได้อย่างรวดเร็ว
เครื่องบดผสมปุ๋ยหมักและดินปลูก โดย สุรเดช ภูมิชัย
เพื่อแก้ปัญหาการเผาใบไม้และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และช่วยลดปัญหาควันจากการเผา จึงแปลงเศษใบไม้ที่ได้ในแต่ละวันให้เป็นดินพร้อมปลูก เกษตรกรชาวสวนลำไยและสวนมะม่วงจึงรวบรวมใบไม้มาผลิตเป็นปุ๋ยหมัก โดยใช้เครื่องบดอเนกประสงค์ที่ดัดแปลงมาจากถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ซึ่งสามารถผลิตปุ๋ยหมักและดินพร้อมปลูกบรรจุถุงคุณภาพสูงได้มากถึง 4 ตันต่อวัน
เครื่องบดปุ๋ยหมักและดินพร้อมปลูกนี้ ใช้งานจริงแล้ว และช่วยให้เกษตรกรกว่า 32 ครัวเรือนลดการเผาใบไม้ในสวน และทำให้มีผลิตภัณฑ์ปุ๋ยหมักและดินปลูกจากใบลำไยและใบมะม่วงจำหน่ายให้กับชุมชนใกล้เคียงและภายในจังหวัดลำพูน
Fact Box
โครงการส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น (Change Fusion) ภายใต้มูลนิธิบูรณชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนานวัตกรรม และยกระดับทักษะช่างชุมชนผ่านโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์ที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาชุมชนท้องถิ่น
โครงการฯ นี้เริ่มจากการเปิดรับสมัครช่างชุมชนที่มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ ให้ส่งผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมเข้าประกวดชิงทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ มูลค่ารวมกว่า 600,000 บาท แล้วเตรียมยกระดับการทำงานสู่การเป็น 'นวัตกรช่างชุมชน'
เจ้าของผลงานที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก 10 ทีมจะได้รับทุนสนับสนุนสำหรับการพัฒนาผลงานในเบื้องต้น พร้อมเข้าร่วมกิจกรรมอบรมด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ก่อนจะคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุด 3 ชิ้นเพื่อเข้ารอบสุดท้าย ซึ่งจะได้รับรางวัลเป็นทุนสนับสนุนสำหรับการพัฒนาอีกรางวัลละ 100,000 บาท พร้อมได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาเทคนิควิศวกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการจัดการธุรกิจนวัตกรรม เพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลงานให้เป็นเลิศ