ตามกฎหมาย เด็กเกือบทุกคนที่เกิดในสหรัฐอเมริกาจะได้รับสัญชาติอเมริกันโดยอัตโนมัติ ทำให้มีผู้ใช้ประโยชน์จากกฎนี้เป็นช่องทางเข้ามาตั้งรกราก จนเกิดสิ่งที่เรียกว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อคลอดบุตร (birth tourism)
ทำเนียบขาวประกาศเมื่อวันที่ 23 มกราคมว่า ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2020 กระทรวงต่างประเทศจะไม่ออกวีซ่าชั่วคราว (B-1/B-2) แก่ชาวต่างชาติที่หาทางเข้าสหรัฐอเมริกาผ่านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อคลอดบุตร ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ยื่นขอวีซ่าสหรัฐฯ ต้องพิสูจน์ว่า มีเหตุผลอื่นในการเดินทาง และแสดงว่าไม่ได้ตั้งใจจะไปคลอดที่แผ่นดินสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่กงสุลสามารถปฏิเสธคำขอวีซ่าของบุคคลที่เอกสารแสดงให้เห็นว่า เป้าหมายหลักในการเดินทางคือ เพื่อไปคลอดที่นั่น
กระทรวงต่างประเทศให้เหตุผลว่า กฎใหม่นี้เพื่อแก้ปัญหาความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติและการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อคลอดบุตร (birth tourism)
นอกจากนี้ยังเพิ่มความเข้มงวดแก่การออกวีซ่าสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศเพื่อรับการรักษาทางการแพทย์ ผู้ยื่นขอวีซ่าต้องพิสูจน์ว่า ตนเองมีวิธีและเจตนาที่จะจ่ายค่ารักษา โดยแสดงหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่กงสุลว่า ตนเองได้นัดหมายกับแพทย์ที่จะให้การรักษาแล้ว
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่กงสุลไม่สามารถถามผู้ยื่นขอวีซ่าตรงๆ ว่าตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ แม้จะดูเหมือนตั้งครรภ์อยู่ก็ตาม นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ขอเอกสารตรวจว่าตั้งครรภ์หรือไม่จากผู้ยื่นขอวีซ่าด้วย
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์พยายามจำกัดผู้อพยพเข้าเมืองมาตลอด ก่อนหน้านี้เขาเพิ่งตั้งคำถามต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ให้สถานะพลเมืองแก่บุคคลที่เกิดในสหรัฐอเมริกา ส่วนกลุ่มอนุรักษนิยมก็ต้องการแก้กฎหมายนี้มานาน เพราะมองว่าเปิดโอกาสให้พ่อแม่ที่หาทางอพยพมาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา
จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ หรือ CDC ปี 2017 พบว่า มีทารก 10,000 คนคลอดโดยแม่ที่เป็นชาวต่างชาติ ขณะที่ข้อมูลของศูนย์ศึกษาผู้อพยพเข้าเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เรียกร้องให้มีกฎหมายคนเข้าเมืองที่เข้มงวดขึ้นระบุว่า ระหว่างครึ่งปีหลังของปี 2016 ถึงครึ่งปีแรกของปี 2017 มีเด็กประมาณ 33,000 คนที่เกิดจากแม่ที่ใช้วีซ่าท่องเที่ยวมาคลอดลูกในประเทศ
ที่มา:
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-51213186
https://apnews.com/d4c42c5311ba8a6661855cadd12f0fed
ที่มารูป: TIM SLOAN / AFP