พี่ที่สำนักงานหายหน้าไป 2 สัปดาห์ ผมนึกว่าแกอู้งานไปไหน ถามไถ่ถึงได้รู้ว่าเขาป่วยเป็น ‘นิ่วในท่อไต’ จนต้องเข้าออกโรงพยาบาล คำถามที่นึกขึ้นมาในใจและตรงกับเพื่อนหมออีกคนหนึ่งเลยก็คือ “พี่เขาดื่มน้ำน้อยรึเปล่า?”

‘นิ่ว’ เหมือนก้อนกรวด

เวลามีใครพูดถึง ‘นิ่ว’ เฉยๆ ก็อาจต้องถามเขาให้แน่ใจก่อนว่า “เป็นนิ่วที่ไหน?” เพราะจะมี ‘นิ่วในถุงน้ำดี’ อีกแห่งหนึ่งที่คนมักเป็นกัน แต่อยู่ในระบบทางเดินอาหารตรงท้องด้านขวาบน ส่วนท่อไตเป็นส่วนหนึ่งของระบบทางเดินปัสสาวะ เริ่มจากไต ตรงบั้นเอว 2 ข้างต่อลงมาเป็นท่อไต ถัดลงมาอีกเป็นกระเพาะปัสสาวะ และสุดท้าย ท่อปัสสาวะ เรียกรวมกันว่า ‘นิ่วในทางเดินปัสสาวะ’

หน้าตาของนิ่วเหมือนก้อนกรวดเล็กๆ หรือทราย ในแม่น้ำ แต่เกิดจากความอิ่มตัวของเกลือแร่และสารบางชนิดในน้ำปัสสาวะ เช่น แคลเซียม, ออกซาเลต, แมกนีเซียม เป็นต้น อยากให้นึกถึงการทดลองเรื่องการตกผลึกของสารส้ม เราแกว่งสารส้มในแก้วให้ละลายจนก้อนสารส้มไม่ละลายต่ออีกแล้ว (เข้มข้นมากจนอิ่มตัว) พอตั้งทิ้งไว้เราก็จะเริ่มเห็นผลึกของสารส้มที่ก้นแก้วขึ้นมา การเกิดนิ่วก็มีกลไกคล้ายกันนี้

นิ่วในท่อไตมักจะปวดบั้นเอว

พอปัสสาวะเกิดการตกผลึกนานๆ เข้า นิ่วก็มีขนาดใหญ่ขึ้นๆ จนอุดตันเส้นทางของปัสสาวะ (เหมือนท่อน้ำตัน) ท่อไตก็จะพยายามบีบตัวให้ก้อนนิ่วหลุดออกมา เราก็จะรู้สึกปวดขึ้นมาตรงตำแหน่งของนิ่ว เช่น นิ่วที่ไตหรือท่อไตส่วนบนจะปวดบั้นเอว, นิ่วที่ท่อไตส่วนล่างจะปวดร้าวไปขาหนีบหรือลงอัณฑะ โดยมักจะปวดแบบบีบ-คลายเป็นจังหวะและอาจปวดรุนแรงมาก ส่วนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะจะมีอาการปัสสาวะขัด

“เดี๋ยวเก็บปัสสาวะให้หมอตรวจหน่อยนะครับ”

เมื่อนั้นหมอก็จะให้เก็บปัสสาวะส่งตรวจ เพราะจะต้องแยกอาการ ‘ปัสสาวะขัด’ จากโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งถ้าเป็นนิ่วก็จะตรวจพบเม็ดเลือดแดงจำนวนมากในปัสสาวะ (เหมือนเวลาผิวหนังครูดกับก้อนหินก็จะมีเลือดออก) ส่วนการติดเชื้อจะเจอเม็ดเลือดขาวมากกว่า หรือบางคนก็อาจเห็นปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อตั้งแต่ในกระปุกเก็บตัวอย่างเลยก็ได้

นิ่วขนาดเล็กจะหลุดออกได้เอง

การรักษานิ่วในเบื้องต้น หมอจะจ่ายยาแก้ปวดให้ (แต่ถ้าปวดมากจะขอหมอฉีดยาแก้ปวดก็ได้) เพราะก้อนนิ่วที่มีขนาดเล็ก (น้อยกว่า 4 มม.) มีโอกาสหลุดออกได้เอง ร่วมกับแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน โดยแบ่งดื่มเป็นระยะๆ ตลอดทั้งวัน เพื่อเจือจางความเข้มข้นของปัสสาวะ และทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น ซึ่งก็ต้องไม่กลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานด้วย

“ใช่ค่ะ รู้สึกว่าจะมีก้อนนิ่วหลุดออกมาด้วย” คนไข้บางคนสังเกตได้เอง บางครั้งหลุดออกมาแล้วก็หายป่วยเลย แต่บางครั้งยังมีอาการปัสสาวะแสบขัดอยู่เลยมาให้แพทย์ตรวจที่โรงพยาบาล นั่นก็เพราะโรคนิ่วมักเป็นคู่กับการติดเชื้อ ซึ่งสามารถรักษาด้วยการกินยาฆ่าเชื้ออย่างน้อย 3 วัน (ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็ไม่จำเป็นต้องกินนานกว่านี้) หรือนิ่วบางชนิดก็มีสาเหตุจากการติดเชื้อบ่อยๆ นำมาก่อนก็ได้

แต่ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ (มากกว่า 7 มม.) ให้ยาแก้ปวดแล้วยังไม่หายปวด หรือมีการอุดตันของท่อไตเป็นเวลานานจนกระทั่งกรวยไตเกิดการโป่งออก (นึกภาพลูกโป่งใส่น้ำเข้าไปเรื่อยๆ) และเกิดภาวะไตวายตามมา อย่างนี้ก็ควรได้รับการตรวจรักษากับศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ เพราะจะต้องอาศัยเครื่องมือในการกำจัดนิ่วออกไป เช่น การสลายนิ่วด้วยคลื่นเสียง หรือการส่องกล้องเข้าไปสลายนิ่ว

ควรกินหลีกเลี่ยงอาหารที่มีออกซาเลตสูง

เนื่องจากนิ่วชนิดที่พบบ่อยสุดคือ ‘แคลเซียมออกซาเลต’ ซึ่งก็ตรงตัวตามชื่อว่า ‘แคลเซียม’ กับ ‘ออกซาเลต’ มักจะชอบจับคู่กันแล้วตกตะกอน ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มี ‘ออกซาเลตสูง’ เช่น ผักโขม ผักแพว ใบชะพลู ในขณะที่การกินผักผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย ส้ม คะน้า ฟักทอง ก็จะลดการขับออกซาเลตออกมาในปัสสาวะ ส่วนอาหารที่มี ‘แคลเซียม’ ควรกินในปริมาณปกติคือไม่เกิน 800-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะถ้ากินน้อยไปจะทำให้ออกซาเลตถูกดูดซึมง่ายขึ้น (เพราะไม่มีแคลเซียมไปจับแล้วขับออกทางอุจจาระไปเลย)

“พี่เขาดื่มน้ำน้อยรึเปล่า?” คำถามที่ผมนึกขึ้นมาในใจ ถึงแม้ภาวะขาดน้ำจนทำให้ปัสสาวะเข้มข้น จะไม่ใช่สาเหตุเดียวของการเกิดโรคนิ่ว แต่ก็เป็นสาเหตุที่แก้ไขได้ และนอกจากจะเป็นวิธีการรักษาหลังจากเกิดโรคแล้ว ก็ยังเป็นวิธีป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคอีกด้วย

ว่าแล้วก็เดินไปหยิบน้ำมาดื่มกันครับ

Tags: ,