ประเทศสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับปัญหาผู้อพยพโดยตลอด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอย่างแรงดึงดูดทางด้านเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางการศึกษา สวัสดิการอันครอบคลุม ตลอดจนผลของสมครามที่พวกเขามีส่วนในการก่อขึ้น อย่าง สงครามในซีเรีย

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อยู่ในตำแหน่ง สหรัฐฯ มีท่าทีที่ค่อนข้างชัดเจนต่อปัญหาผู้อพยพว่า ไม่ต้องการรับผู้อพยพไม่ว่าจากที่ใดก็ตาม เห็นได้อย่างชัดเจนจากการลงทุนสร้างกำแพงตลอดแนวชายแดนกับเม็กซิโก ซึ่งสังคมสหรัฐฯ ก็ดูค่อนข้างจะเห็นชอบกับการตัดสินใจครั้งนี้ สะท้อนจากเสียงประชาชนจำนวนมากที่ลงคะแนนเลือกเขาเข้ามา ตลอดจนความเกลียดกลัว มองผู้อพยพเป็นอื่นที่ปกคลุมอยู่ทั่วทุกมุมของสหรัฐฯ

แต่ท่ามกลางความหวาดกลัวผู้อพยพในสังคมสหรัฐฯ ‘ชาวไมโครนีเซีย’ ยังคงเดินทางเข้ามาในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เพราะพวกเขาถือครองสัญญาบางประการที่มอบสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการเดินทาง พักอาศัย และทำงานในสหรัฐฯ โดยไม่ต้องขอวีซ่า สิ่งที่ต้องมีเพียงแค่ตั๋วเครืองบิน 

จึงน่าสนใจว่าทำไมประเทศอย่างสหรัฐฯ จึงยอมทำสัญญาดังกล่าวกับชาวเกาะในแถบตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก พวกเขาต้องแลกอะไรมาบ้างกับสัญญาฉบับนั้น แล้วการเดินทางมาอาศัยในสหรัฐฯ กลายเป็นฝันดีหรือฝันร้ายกันแน่

(รูปจาก www.mdpi.com/2414-6366/3/1/34)

ภายหลังที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง องค์การสหประชาชาติได้ร่างสนธิสัญญาดินแดนภาวะพึ่งพิงของสหประชาชาติ (Trust Territory of the Pacific Islands) ริบคืนพื้นที่ราวสองล้านไมล์ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงหมู่เกาะกว่า 2,000 เกาะจากญี่ปุ่น ส่งมอบให้อยู่ใต้ความดูแลของสหรัฐฯ

ต่อมาในปี 1986 สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นสัญญาความสัมพันธ์เสรีภายใต้ชื่อ COFA – Compact of Free Association  ซึ่งประกอบไปด้วย สหพันธรัฐไมโครนีเซีย สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชล และสาธารณรัฐปาเลา ภายในสัญญาระบุให้สหรัฐฯ มีสิทธิในการตั้งฐานทัพและวางยุทธศาสตร์เหนือพื้นที่ของประเทศ COFA แลกกับเงินช่วยเหลือราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และสิทธิพิเศษสำหรับประชาชนในกลุ่ม COFA สามารถเดินทางเข้ามาในสหรัฐฯ ได้โดยไม่มีข้อเรียกร้องอื่นใดนอกจากตั๋วเครื่องบิน

แต่ฉากหลังของสิทธิพิเศษดังกล่าว มีเรื่องราวสลับซับซ้อนมากกว่านั้น…

(ภาพจาก www.motherjones.com/politics/2016/12/hawaii-micronesia-migration-homeless-climate-change/)

ในเดือนธันวาคมปี 1945 ไม่นานหลังจากความร้อนแรงของสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และหมอกเย็นของสงครามทางอุดมการณ์ที่เริ่มเข้ามาแทนที่ ประธานาธิบดีแฮร์รี่ เอส ทรูแมน (Harry S. Truman) ได้ตัดสินใจเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขนานใหญ่ ทั้งเพื่อยกระดับกองทัพ และประกาศความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ ให้ทั่วโลกได้รับรู้ โดยเฉพาะประเทศคู่ตรงข้ามทางอุดมการณ์อย่าง สหภาพโซเวียต

สามเดือนต่อมา ในรุ่งเช้าของวันขอบคุณพระเจ้า พลเรือจัตวาเบน เอช ไวแอตต์ (Ben H. Wyatt) ทูตทหารประจำหมู่เกาะมาร์แชล เดินทางมาถึงหมู่เกาะบิกินี่ หนึ่งในแนวเกาะที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่หมู่เกาะมาร์แชล และเข้าพูดคุยกับชาวเกาะถึงความสำคัญของการทดลองอาวุธนิวเคลียร์เพื่อ ‘ยุติสงครามทั้งมวล อันนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดของมวลมนุษย์ชาติ’ และขอให้ชาวเกาะย้ายออกไปอาศัยอยู่ที่อื่นเป็นการชั่วคราว 

สิ้นเสียงของไวแอตต์ ความสับสนวุ่นวายและคัดค้านดังระงมขึ้นในกลุ่มชาวเกาะ แต่ท้ายที่สุดผู้นำของชาวบิกินี่ ‘ราชาจูดา (King Juda)’ ก็ตัดสินใจยอมรับข้อเสนอของสหรัฐฯ อพยพออกจากบ้านเกิดและวางชีวิตของชาวบิกินี่ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า

 หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน การทดลองนิวเคลียร์ของกองทัพสหรัฐฯ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับระยะเวลาตั้งแต่ปี 1946-1958 กองทัพสหรัฐฯ ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ในพื้นที่ดังกล่าวมากถึง 67 ครั้ง และหลายครั้งมีพลังทำลายล้างอย่างที่ ‘ลิตเติ้ลบอย’ เทียบราคาไม่ได้เลย

นับระยะเวลาตั้งแต่ปี 1946-1958 กองทัพสหรัฐฯ ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ในพื้นที่ดังกล่าวมากถึง 67 ครั้ง และหลายครั้งมีพลังทำลายล้างอย่างที่ ‘ลิตเติ้ลบอย’ เทียบราคาไม่ได้เลย

การทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าของสหรัฐฯ ทำให้ผืนดิน มหาสมุทร ตลอดจนพืชพันธุ์ สิ่งมีชีวิตปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี ชาวไมโครนีเซียประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร ที่อยู่อาศัย ปัญหาโรคร้าย รวมถึงแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ สวัสดิการ และโอกาสของชีวิต ก็ล้วนเป็นปัจจัยที่ทั้งเชื้อเชิญแกมบังคับให้พวกเขารอนแรมเข้าสู่สหรัฐฯ จนว่ากันว่าประชากรราวหนึ่งในสามของสหพันธรัฐไมโครนีเซียและสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลอาศัยอยู่ในอาณาเขตของประเทศสหรัฐอเมริกา และยังมีอีกมากที่วางแผนจะอพยพเข้ามาในอนาคต

ซึ่งเกาะกวมและฮาวายได้กลายเป็นหมุดหมายหลักที่ต้องแบกรับจำนวนผู้อพยพสูงสุด เนื่องจากความใกล้เคียงทางสภาพภูมิศาสตร์ ดินฟ้าอากาศ รวมถึงระยะทาง

และมันคือจุดเริ่มต้นของปัญหาที่เกิดขึ้นต่อมาในปัจจุบัน

ทุกปีรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จัดสรรงบประมาณ 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ฮาวาย และ 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่เกาะกวม เพื่อเป็นเงินสำหรับจัดสวัสดิการให้ผู้อพยพกลุ่มนี้ ภายใต้ชื่อ Compact-Impact Aid 

แต่จากข้อมูลในปี 2014 รัฐบาลท้องถิ่นฮาวายกลับต้องใช้เงินกว่า 163 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการสังคม สาธารณสุข รวมถึงการศึกษาสำหรับผู้อพยพกลุ่มนี้ หรือมากกว่า 10 เท่าตัวของงบประมาณจากรัฐบาลกลาง

อย่างไรก็ตาม สวัสดิการเหล่านั้นดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยให้ชาวไมโครนีเซียที่อพยพมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่หวังเท่าไรนัก เมื่อตลอดสองข้างทางของคลองคาปาลามาและในสวนสาธารณะย่านดาวน์ทาวน์ในโฮโนลูลู กลายเป็นวิวทิวทัศน์ที่เต็มไปด้วยเต็นท์เรียงยาว และบ้างก็นำผ้าใบมาผูกคลุมเต๊นท์หลายหลังเข้าไว้ด้วยกันราวกับบ้านหลังใหญ่

(ภาพจาก www.motherjones.com/politics/2016/12/hawaii-micronesia-migration-homeless-climate-change/)

สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะคนไมโครนีเซีย มีวิถีชีวิตที่แตกต่างและผิดแผกไปจากวิถีชีวิตในสังคมทุนนิยมของฮาวาย อนึ่ง พวกเขาส่วนมากไม่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมและพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ทักษะติดตัวที่พวกเขามี เช่น การดูดาว เดินเรือ ประมงพื้นบ้าน จึงไม่สอดรับกับสังคมทุนนิยม 

เมื่อสังคมฮาวายพัฒนาสู่ระบบทุนนิยมเสรีแบบเต็มตัว ทักษะเหล่านั้นย่อมยากที่จะนำมาใช้ประโยชน์ ทำให้ผู้อพยพเหล่านี้ถูกผลักให้ตกลงสู่ส่วนล่างของพีระมิดทางสังคม ส่วนใหญ่ไม่มีงานทำ และที่มีก็อยู่ในหมวดแรงงานระดับปฏิบัติการ เป็นคนขับรถ พนักงานล้างจาน หรือพนักงานร้านสะดวกซื้อ ซึ่งหลายครั้งก็ไม่พอจุนเจือค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของตนเองและครอบครัว และไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งแพงระยับขึ้นตามพื้นที่อันน้อยแสนน้อย

เมื่อการอพยพเข้ามาไม่ช่วยพัฒนาเมือง แถมเป็นภาระของสังคมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ความโกรธในสังคมจึงสะสมและปะทุขึ้น นำไปสู่การรังเกียจผู้อพยพและเหยียดเชื้อชาติอย่างรุนแรง

คนบางกลุ่มที่มองว่าชาวไมโครนีเซียเหล่านี้กำลังเอารัดเอาเปรียบตนอยู่ จึงนำพวกเขาไปเปรียบว่าเป็น ‘แมลงสาบ (cockroach)’ หรือในปี 2013 เกิดเหตุการณ์ที่ผู้ไม่หวังดีนำสเปรย์พ่นข้อความหน้าร้านสะดวกซื้อของชาวไมโครนีเซียว่า ‘เอาภาษีกูคืนมา (Return my tax dollars)’ ในโลกออนไลน์ ความรุนแรงและการเหยียดเชื้อชาติยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่องคอมเมนต์ที่บางครั้งมีการยกแนวคิดที่น่าหวาดหวั่นอย่างการ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธ์’ มาพูดถึง

คนบางกลุ่มที่มองว่าชาวไมโครนีเซียเหล่านี้กำลังเอารัดเอาเปรียบตนอยู่ จึงนำพวกเขาไปเปรียบว่าเป็น ‘แมลงสาบ (cockroach)’  ในโลกออนไลน์ ความรุนแรงและการเหยียดเชื้อชาติยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้น โดยบางครั้งมีการยกแนวคิดที่น่าหวาดหวั่นอย่างการ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ (Ethic Cleansing – Purge) มาพูดถึง

การกีดกันและความรุนแรงทางเชื้อชาติที่เกิดขึ้นทำให้วัยรุ่นชาวไมโครนีเซียมักจะรวมกลุ่มกันเองในรูปแบบของแก๊ง มีสัญลักษณ์ประจำแก๊ง นิยมแต่งตัวที่คล้ายคนผิวสีในสหรัฐฯ ชื่นชอบดนตรีฮิปฮอป รวมถึงการแสดงออกต่างๆ ก็คล้ายคลึงกับคนผิวสีในสหรัฐฯ จนน่าตกใจ ราวกับคนทั้งสองกลุ่มพบกับประสบการณ์ที่คล้ายกันและเลือกสะท้อนออกมาในรูปแบบที่เหมือนกัน

 

แจ็กกี้ นารูห์ (Jackie Narruhm) หนึ่งในชาวไมโครนีเซีย และเป็นผู้จัดงานปาร์ตี้รวบรวมชาวไมโครนีเซีย บอกกับเราว่า พวกเธอจัดงานนี้ขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสกลับมาพบกันเพื่อเป็นกำลังใจและตักเตือนกันถึงความรุนแรงที่แฝงอยู่ในชุมชนของพวกเธอ และรายได้จากการจัดงานครั้งนี้จะถูกนำไปช่วยเหลือครอบครัวของเด็กหนุ่มวัย 16 ปีที่เพิ่งเสียชีวิตไป 

เธอพูดกับเราว่า “พวกเราต้องกอดกันไว้ให้แน่น เพื่อดึงกันและกันขึ้นมา และที่สำคัญเพื่อคอยตักเตือนกัน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กหนุ่ม ให้พวกเขารู้ว่าพวกเขาสามารถมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้”  

เธอยอมรับว่ามันมีปัญหามากมายภายในกลุ่มของพวกเธอ แต่เธออยากให้คนภายนอกเข้าใจว่าไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบไปหมด พวกเธอเองก็มาที่นี่เพื่อความหวังถึงชีวิตที่ดีกว่าเหมือนคนอื่นๆ

(แจ็กกี้ นารูห์ Jackie Narruhm คือคนผมทอง)

เคนาดย์ นารูห์ (K-nard Narruhm) นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยฮาวาย และญาติของแจ็กกี้เล่าให้เราฟังถึงเรื่องลุงของเขาที่เสียชีวิตจากการทะเลาะกับนักฟุตบอลคนหนึ่ง ก่อนศาลตัดสินจำคุกนักฟุตบอลคนนั้นเพียงแค่ 30 วัน โดยให้เหตุผลว่านักฟุตบอลคนนั้นกำลังจะเรียนจบไฮสคูล  

เขาระบายความอึดอัดออกมาว่า “พวกเราเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมฮาวาย มันจึงยากที่จะทำให้ใครมองเห็นหรือสนใจความเป็นอยู่ของพวกเรา สื่อก็ไม่เคยให้ความสำคัญ ตัวแทนทางการเมืองของเราก็ไม่มี คนภายนอกก็มักมองพวกเราแบบเหมารวมว่าเป็นคนไม่ดี ทั้งที่พวกเราหลายคนทำงานหนักและเสียภาษีให้รัฐ เราต่างพยายามที่จะมีชีวิตรอดให้ได้เท่านั้นเอง”

เขายอมรับว่ากำแพงภาษายังคงเป็นปัญหาที่สำคัญในกลุ่มพวกเขา โดยเฉพาะในการหางาน รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมฮาวายก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับพวกเขาอยู่เช่นกัน

(เคนาดย์ นารูห์ – K-nard Narruhm)

“พวกเขาไม่รู้ว่าชีวิตที่ฮาวายกับที่บ้านเกิดพวกเรามันแตกต่างกันมาก แล้วพวกเขาก็เอาแต่ดูถูกและเหมารวมพวกเรา ซึ่งมันทำให้อะไรๆ ยากมากขึ้นไปอีก พวกเราส่วนใหญ่มาที่นี่เพราะต้องการระบบสุขภาพที่ดี เพราะที่บ้านพวกเรามันแย่มาก เราอยากมีการศึกษา อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น เราต้องการแค่โอกาส” เขาทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนปัญหาต่างๆ ของชาวไมโครนีเซียยังไม่มีทีท่าว่าจะถูกแก้ไขได้ง่ายๆ เพราะแม้ว่าพวกเขามีสิทธิที่จะอพยพและเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ ได้อย่างถูกกฎหมาย แต่พวกเขาส่วนใหญ่ยังไม่มีสิทธิที่จะออกเสียงเลือกตัวแทนทางการเมืองจนกว่าพวกเขาจะได้รับกรีนการ์ด (Green Card) ยืนยันสิทธิความเป็นพลเมืองสหรัฐฯ เสียก่อน ซึ่งบัตรดังกล่าวเรียกร้องให้พวกเขาต้องมีหน้าที่การงานมั่นคงเป็นลำดับแรก 

รวมถึงแนวคิดต่อต้านผู้อพยพของประธานิธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็มีส่วนอย่างมากต่ออาการต่อต้านผู้อพยพของชาวสหรัฐฯ ซึ่งมันทั้งทำให้ชาวไมโครนีเซียหางานยากขึ้น รวมถึงการเข้าถึงการอุปโภคบริโภคต่างๆ ก็เต็มไปด้วยอุปสรรค 

นอกจากนี้ การที่เราได้พูดคุยกับคนหลายๆ คน ดูเหมือนว่า ชาวสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าผู้อพยพจากประเทศ COFA ได้รับสิทธิพิเศษในการเดินทางมาสหรัฐฯ ได้อย่างไร รวมถึงตั้งคำถามถึงเหตุผลที่พวกเขาต้องอพยพมา ดังนั้น จึงเป็นการบ้านอีกชิ้นของภาครัฐและภาคประชาสังคมที่ต้องให้ความรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจและลดอคติในสังคม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ดูพัวพันยุ่งเหยิงไปหมดอาจจะไม่สามารถแก้ได้ในคนชั่วอายุเดียว และชาวไมโครนีเซียอาจต้องฝากความหวังไปยังลูกหลานซึ่งเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมเดียวกับเด็กคนอื่นในฮาวายว่าจะสามารถช่วยลดความเป็นอื่นและเป็น ‘สะพานเชื่อม’ สมานความโกรธเกลียดในสังคมปัจจุบันได้หรือไม่ 

 

อ้างอิง:

https://www.civilbeat.org/2015/10/an-untold-story-of-american-immigration/

https://www.civilbeat.org/2015/10/a-journey-that-has-no-ending/

https://www.civilbeat.org/2018/09/why-talking-about-anti-micronesian-hate-is-important/

Tags: , , ,