คุณก็หลบหนีเหมือนกับคนอื่นๆ ในยุคสมัยของการกวาดล้าง มีตำรวจทุกมุมถนนคอยตรวจบัตร และส่งพวกคุณไปที่อื่น พวกคนอพยพ พวกคนขัดขวางอำนาจรัฐ คุณได้รับการไหว้วานจากเพื่อนให้เอาจดหมายไปส่งให้นักเขียนคนหนึ่ง มันเป็นคำรับรองของสถานกงสุลเม็กซิโกให้ลี้ภัยกับอีกชิ้นเป็นจดหมายลาจากคนรัก แต่พอคุณไปถึงเขาก็ไม่อยู่แล้ว ทิ้งไว้เพียงต้นฉบับในโรงแรม คุณถือวิสาสะแกะจดหมายจากภรรยาของเขาอ่าน ซาบซึ้งไปกับภาษาแม่ของคุณที่คุณเคยได้ยิน คุณหลบหนีไปด้วยรถไฟ หอบคนเจ็บไปด้วยแต่มาเสียท่าโดนไล่ล่า ถึงที่สุดคุณไปถึงเมืองนั้น เหนื่อยล้าและโดดเดี่ยว เช่าโรงแรมถูกๆ นอนหวาดระแวงว่าจะโดนจับ
ในเมืองนั้นผู้หญิงวิ่งมาแตะไหล่คุณ แล้วก็ตกใจเมื่อคุณหันไป ไม่ใช่คนที่เธอตามหา คุณพบเธออีกหลายครั้ง อาจจะตกหลุมรักเธอก็ว่าได้ คุณผูกสัมพันธ์กับลูกชายของมิตรสหายที่ตายไประหว่างทาง ศพถูกโยนเหมือนชิ้นส่วนข้าวของ คุณพยายามเอาต้นฉบับไปส่งสถานกงสุลเม็กซิโก แต่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนเขียน คุณเลยสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่เพื่อไปจากที่นี่ ตำรวจไล่ตรวจทีละห้อง มีคนโดนจับ พวกคุณยืนมอง โล่งใจที่ไม่ใช่ตัวเอง อับอายที่จะมองกันและกันและพบว่าต่างก็รู้กันว่าดีใจแค่ไหนที่คนที่โดนลากไปกับพื้นไม่ใช่ตัวเอง คุณติดต่อกับสถานทูตสหรัฐฯ หาทางไปจากที่นี่
คุณพบเธออีกหลายครั้ง ที่สถานกงสุล และตามถนนคุณพบว่าเธออยู่กับหมอคนหนึ่งที่เป็นคนดีเหมือนกัน เขาอยากไปจากที่นี่แต่ไม่อยากทิ้งเธอ เธอไปได้แต่ไม่ยอมไป รอใครบางคนอยู่ คุณอาจจะช่วยเธอ คุณสวมรอยตัวตนของคนอื่น เริ่มมีตัวตนขึ้นมาจริงๆ เริ่มมีตัวตน เริ่มมีความรัก และความรักทำลายตัวตนของคุณ
Christian Petzold เป็นคนทำหนังชาวเยอรมันร่วมสมัยที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งของโลก เขาเคยเป็นลูกศิษย์ปรมาจารย์หนังทดลองผู้ล่วงลับอย่าง Harun Farocki เขาเริ่มทำหนังในปี 2000 จนถึงปี 2018 เขาทำหนังไปแล้วแปดเรื่อง หนังทุกเรื่องของเขาอาจจะเรียกได้ว่ามีมวลอารมณ์ของความเป็นทริลเลอร์ เป็นหนังที่เต็มไปด้วยภาวะอันตราย การรักษาความลับ และการพยายามประคองตัวเองเพื่อไปให้พ้นจากสถาณการณ์หมิ่นเหม่
หนังของ Petzold มีความระทึกขวัญแบบหนังของ Hitchcock หรือ Claud Chabrol แต่ด้วยท่าที่สงบนิ่งกว่า เร้าอารมณ์น้อยกว่า บางครั้งถึงกับปิดกั้นการแสดงอารมณ์ หนังของเขาจึงเป็นเหมือนไฟไร้เปลวที่ลุกในจิตใจผู้ชมและตัวละคร เขาเคยทำหนังไตรภาคผี (Wolfberg, Gespenster, Yella) หนังที่มีตัวละครหลักอยู่ในสถานะของผี ไม่มีตัวตนจริงๆ หรือเป็นเพียงตัวตนปลอมๆ ของคนอื่น ผีในหนังยุคต้นของเขากลายเป็นสัญญะของความขัดแย้งทางชนชั้นที่ทั้งคมคายและเจ็บปวดเศร้าสร้อย
หนังสามเรื่องหลังสุดของเขาไม่อาจนับเป็นไตรภาค แต่ก็มีความเชื่อมโยงถึงกันอย่างน่าสนใจยิ่ง เขายังคงพูดถึงตัวตนของปัจเจกบุคคลที่ถูกทำให้ไร้ตัวตนและความพยายามมีตัวตน แต่คราวนี้เขาลงลึกไปในโลกอีกแบบ Barbara (2012) พาผู้ชมกลับไปยุคเบอร์ลินตะวันออก ติดตามคุณหมอบาร์บาร่าที่ต้องเสแสร้งเป็นพลเมืองดีเอาใจทหารที่คอยสอดส่อง โดยหลังจากเธอกำลังสมคบคิดกับชู้รักวางแผนหนีไปจากเยอรมันตะวันออก จนวันหนึ่งเธอพบเด็กสาวเสียสติที่ถูกส่งมารักษาในโรงพยาบาล เด็กสาวที่เป็นความหวังถึงวันพรุ่งนี้ของเธอที่กำลังมอดดับลงไปเมื่อคุณหมอร่วมสถาบันสนใจอยากได้เธอมาเป็นคู่ และชีวิตก็โดนจับจ้องไม่รู้จบ
Phoenix (2014) เล่าเรื่องของเนลลี่ นักร้องชาวยิวในเบอร์ลินที่ถูกจับไปตอนสงคราม หลังสงครามเธอกลับมาในสภาพยับเยินใบหน้าแหลกละเอียด เธอเข้ารับการศัลยกรรมใบหน้าใหม่ ใบหน้าที่แค่คล้ายคลึงแต่ไม่ใช่ใบหน้าเดิม หลังจากฟื้นตัวเพื่อนสาวตั้งใจจะพาเธอกลับไปอยู่อิสราเอล แต่เธอกลับไม่ต้องการ ที่เธอต้องการคือใบหน้าเดิมและโลกเดิมของเธอ โลกที่เธอเป็นนักร้องและมีสามีเป็นนักเปียโน เธอออกไปตามหาสามีของเธอ และพบเขาเป็นบริกรในบาร์เล็กๆ ชื่อฟีนิกซ์ เขาไม่อาจจดจำใบหน้าของเธอได้ แค่รู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าหญิงคนนี้ช่างคล้ายภรรยาของเขา เขาจึงบอกให้เธอร่วมวางแผนกับเขาโดยให้เธอเล่นเป็นภรรยาของเขาเพื่อให้เธอไปกับเขา ทำทีเป็นกลับมาจากแคมป์และทวงคืนมรดกของตัวเธอเอง เธอรักเขาอย่างไม่อาจถอนตัว เธอตัดสินใจเป็นอย่างที่เขาอยากให้เป็น เป็นตัวแทนของตัวเธอเอง เรียนรู้ตัวเองจากตัวเขา รอวันที่เขาจะหันมาเห็นเธอจริงๆ แม้เพื่อนของเธอจะบอกว่าสามีของเธออาจจะเป็นคนที่แจ้งจับเธอและส่งเธอไปค่ายกักกันแต่แรกก็ตาม
Transit เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่เชื่อมหนังสองเรื่องนี้เข้าด้วยกัน เปลี่ยนฉากหลังจากสงครามโลก และสงครามเย็น ไปเป็นสงครามกับผู้อพยพและผู้ก่อการร้ายซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีอยู่จริงก็ได้ หนังเชื่อมเอาความพยายามไปจากที่ที่สิ้นหวังของ Barbara เข้ากับการสร้างตัวตนขึ้นใหม่จากตัวตนของคนอื่นแบบด้านกลับของ Phoenix ในขณะที่เนลลี่ต้องเลียนแบบตัวเองในอดีตเพื่อให้ตัวตนใหม่เป็นที่รัก เกออร์ก เด็กหนุ่มนำสารก็สร้างตัวตนของตนขึ้นมาจากตัวตนของนักเขียนที่ตายไปแล้ว เขาอาจสวมทับได้ แต่ก็เหมือนใบหน้าของเนลลี่ ตัวตนของเขาคลาดเคลื่อนออกไปเล็กน้อย แม้เขาจะรักผู้หญิงคนเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน และอาจมีความเข้าใจในวรรณกรรมไม่ต่างกัน แต่ไม่ประสงค์แทนที่กัน ลึกๆ เราใช้ตัวตนของคนอื่นเพื่อสร้างตัวตนของเราทั้งสิ้น ไม่ว่าจะลอกเลียนหรือต่อต้านก็ตามที
เกออร์กเริ่มจากความไร้ตัวตน หนังไม่ยอมอธิบายโลกที่ดำเนินไป เราอาจอนุมานได้ว่าเขาเป็นคนอพยพ หรือเป็นผู้ก่อการร้าย หรือเป็นนักต่อต้าน หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ (สถานะที่ไม่ต่างอะไรกับประชาชนคิดต่างในเบอร์ลินตะวันออกยุคคอมมิวนิสต์ หรือผีคนยิวที่รอดจากค่ายกักกัน) เขาไม่มีตัวตน มีไม่ได้เพราะรัฐไม่ยอมรับ และมีไม่ได้เพราะตัวตนนั้นเป็นภาระรุงรังที่เขาต้องแบกหาม เขาเป็นเพียงคนส่งสารไร้นาม หนีให้รอดและไปจากที่นี่ให้ได้ จนเมื่อเขาผูกพันกับเด็กชายคนหนึ่ง ลูกชายของมิตรสหายที่เขาต้องนำมาส่งแต่มาไม่ถึง เขาเริ่มตระหนักรู้ถึงตัวตนจากคนอื่นๆ แต่เขาก็ยังพร้อมจะละทิ้งไป เขาตระหนักรู้ถึงรากเหง้าของตนผ่านวรรณกรรมที่เขาอ่านเพลงที่เขาบังเอิญได้ฟังจากวิทยุ เพลงของการมุ่งหน้ากลับบ้านของเหล่าสัตว์และผู้คนขณะที่เขาไม่มีบ้านใดให้กลับไป
จนเมื่อเขาได้เจอมารี เด็กสาวที่ทักเขาผิด คนที่อยู่กับผู้ชายคนหนึ่งโดยคิดถึงผู้ชายอีกคนตลอดเวลา เขาตกหลุมรักเธอ แม้ไม่เคยรู้จักเธอ แม้เพียงแค่เธอแตะไหล่เขาสองสามครั้งด้วยการทักคนผิด เขามีตัวตนขึ้นมาก็เพราะการตกหลุมรักเช่นนี้ เช่นเดียวกับที่บาร์บาร่ามองเห็นตัวตนของเธอในตัวตนของเด็กสาว หรือเนลลี่สร้างตัวตนใหม่เลียนแบบตัวตนเดิมเพื่อให้ถูกรัก ตัวตนของเรางอกงามออกมาจากสิ่งเหล่านั้น
แต่การไร้ตัวตนคือการไร้ภาระทางใจ การมีตัวตนคือความหรูหราฟุ่มเฟือย คืออภิสิทธิ์ที่บางคนไม่มี การมีตัวตน การปรารถนาจะแยกออกมาจากฝูง การปรารถนาจะถูกจดจำในฐานะตัวฉันไม่ใช่คนอื่น ไม่ใช่ใบหน้าไร้ชื่อของคนอพยพ ของประชากร ของนักต้มตุ๋น การมีตัวตนแลกมาด้วยการประกาศตัวตนที่ไม่ได้ตรงกับความคาดหวังทั้งจากคนที่เรารักและรัฐ การมีตัวตน หรือการเป็นปัจเจกชนที่ไม่ยอมถูกควบคุม โดยมากมันจึงแว้งกลับมาทำร้ายเจ้าของตัวตน
ฉากที่งดงามมากคือตัวตนของการเป็นนักเขียนการเมืองอาจช่วยให้เกออร์กรอดการถูกจับ แต่เมื่อเขาคุยกับคนของกงสุลที่ขอให้เขาเขียนงานการเมือง เขากลับตอบว่ามันเหมือนกับการไปเที่ยววันหยุด ที่ทุกคนถูกสั่งให้กลับมาเขียนเรียงความว่า วันหยุดของฉันเป็นอย่างไร วันหยุดลดรูปเหลือเพียงแหล่งกำเนิดของเรียงความ การต้องหนีตาย การต้องอพยพก็เช่นกัน เขาเอียนเหลือทนที่นักเขียนจะใช้มันเป็นเพียงแหล่งกำเนิดของเรียงความหรือเรื่องเล่า ชีวิตของเขาอยู่หนอื่น อาจอยู่ในการเตะบอลฟีบๆ กับเด็กลูกครึ่งแอฟริกัน หรือการตกหลุมรักสาวเสื้อแดงสักคนจนต้องแลกกันด้วยชีวิต
หนังอาจเหมือน Casablanca ในแง่ของการรักคนที่ไม่อาจครอบครองและทุ่มชีวิตเพื่อช่วย แต่ความงามของหนังที่แท้คือการที่ทุกคนผูกถ่วงกันไว้ด้วยคนอื่นๆ ในชีวิต ตัวตน ศักดิ์ศรี และความรักผูกให้ผู้คนไม่อาจจากกันไปได้โดยง่าย ทำให้ไพล่นึกไปถึงผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวนมากในโลกนี้ ที่ต้องพลัดไปจากบ้านเคยอยู่อู่เคยนอน เพราะถูกไล่ล่าทำลายล้าง หนังค่อยๆ คลี่เผย ความเจ็บปวดของพวกเขา ที่ไม่ได้เป็นเพียงไม่รักแผ่นดินนี้ก็ไปจากแผ่นดินนี้เสีย
มันจึงงดงามมากๆ ที่หนังกำลังลิงโลดใจว่าทุกอย่างจะจบสวยทุกคนจะไปจากที่นี่ แต่สำหรับผู้คน การรู้จักว่าตัวเองคือใครและต้องการเป็นตนเองอย่างดื้อรั้นนั้นสำคัญกว่ามาก การไม่ไปของมารี การไม่ไปของหมอ และของเกออร์กยืนอยู่บนหลักการเดียวกันนี้ ยืนอยู่บนความผูกพันของฉันกับคนอีกคนที่เป็นความผูกพันเฉพาะบุคคล วิญญาณของฉันและเธอเท่านั้นที่เข้าใจ
การเปลี่ยนผ่าน (transit) จึงไม่ใช่เพียงท่าเรือ สถานกงสุลหรือด่านตรวจคนเข้าเมือง แต่ยังหมายถึงท่าเรือและชานชาลาข้างในจิตใจของปัจเจกชนคนหนึ่ง คนที่รัฐอาจจะปฏิบัติให้เป็นเพียงประชาชนไร้ใบหน้า หรือก้อนเนื้อมะเร็งของผู้อพยพที่กัดกินความเป็นชาติ มันง่ายขึ้นที่จะควบคุม บังคับ บีบคั้น หรือทำลายล้างคนอื่นเพราะเขาไม่มีใบหน้าอันจำเพาะเจาะจง แต่นี่คือการจ้องลึกลงไปในความสากลของผู้คนเหล่านั้น ความรักและศักดิ์ศรีของปัจเจกชน ที่ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านกันไปได้ง่ายอย่างที่ออกปากไล่
หนังมีฉากจบที่งดงามและย้อนกลับไปสู่ความเป็นผีของตัวละคร ผีที่ไม่มี ‘ตัวตน’ แต่กลับปรากฏตัวแจ่มชัดในสภาวะ ‘ภาพหลอน’ ของความทรงจำ การเปลี่ยนผ่านจากการไร้ตัวตนถึงที่สุดกลายเป็น ‘ตัวตน’ ที่สำคัญยิ่ง ในฐานะมวลรวมอาจเรียกว่าประวัติศาสตร์ และในฐานะปัจเจก ก็อาจเรียกว่า ‘ความทรงจำ’
Tags: Transit