เทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ หลายคนคงกำลังวางแผนเดินทางไกล ทั้งเดินทางกลับบ้านหรือพักผ่อนในต่างจังหวัด แต่เรื่องน่าเศร้าของบรรยากาศสุขสันต์นี้ก็คือ แต่ละปี ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนมาก และนั่นเป็นที่มา ที่ทำให้ทีมงาน ‘โอเพ่นดรีม’ (opendream) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตนวัตกรรมเพื่อสังคม คิดริเริ่มโปรเจ็กต์ ‘ยักษ์ดาต้า’ (Yak Data Project) มาให้ผู้สัญจรได้ลองใช้งานกัน

ยักษ์ดาต้า คือโครงการแผนที่รายงานจุดเกิดอุบัติเหตุบ่อย ที่จะช่วยเตือนผู้สัญจร ให้ระวังการเดินทางในเส้นทางเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลอย่างวันหยุดยาวปีใหม่ เพิ่งเปิดตัวหมาดๆ ให้ใช้งานกันในสิ้นปี 2019 นี้เอง โดยยักษ์ดาต้ารวบรวมสถิติอุบัติเหคุจากฐานข้อมูลของ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด (RSC) และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (ITIC) จุดไหนที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย ก็นำมาใส่เตือนในแผนที่ พร้อมเล่นกับสัญลักษณ์ ‘ยักษ์’ เส้นทางไหนที่มียักษ์ แปลว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ

ข้อมูลที่ได้มา นำมาใช้งานร่วมกับ Google street view ให้ผู้สัญจรใช้งานผ่านทางเว็บไซต์ และเพิ่มช่องทาง Line Chatbot ที่คอยเตือนให้ผู้ใช้งานระมัดระวังเส้นทางการสัญจร 

นี่ไม่ใช่โครงการแรกที่โอเพ่นดรีมนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาแก้ปัญหาสังคม ก่อนหน้านี้ ก็เคยทำโครงการรายงานโรคระบาดให้สัตว์ปีกที่รวมเบาะแสเกี่ยวกับโรคระบาด เพื่อให้เกษตรกรใช้งานและสัตวบาลในท้องถิ่นเร่งเข้าไปตรวจสอบปัญหา นวัตกรรมส่วนใหญ่มีหัวใจที่การเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนหรือผู้ใช้งานทั่วไปมีส่วนร่วมรายงานปัญหาได้ บนความเชื่อที่ว่า การแก้ปัญหาโดยการร่วมมือกับคนที่ใกล้ชิดกับปัญหา น่าจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพที่สุด 

“ถ้าจะแก้ปัญหาอะไร ควรจะลองคิดถึงหน่วยที่เล็กสุดที่จะแก้ปัญหาก่อน การแก้ปัญหาที่น่าจะมีประสิทธิภาพที่สุดคือแก้ไขปัญหาโดยคนที่คลุกคลีอยู่กับปัญหา อยู่ใกล้ปัญหา หรือเป็นผู้ประสบปัญหาโดยตรง ตามมาด้วยการสร้างความร่วมมือให้แก้ไขปัญหาร่วมกัน” เก่ง ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ก่อตั้งโอเพ่นดรีมกล่าว ซึ่งงานลักษณะนี้จำเป็นต้องมีข้อมูล (Data) สนับสนุน เพื่อที่จะได้นำมาวิเคราะห์ถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ 

ส่วนประโยคที่ว่า “ที่ใดมียักษ์ ที่นั่นมีทุกข์”  เป็นการสร้างลูกเล่นของโปรเจกต์นี้ที่นำข้อมูลตัวเลขมาสร้างเป็นสัญลักษณ์จำลองเพื่อแสดงจุดที่เกิดอุบัติเหตุผ่านแผนที่ โดยใช้ข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุของปี 2561 จาก ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด (RSC) และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (ITIC) ซึ่งจะรวมจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุไว้ และเเยกย่อยประเภทของการเกิดอุบัติเหตุว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยยานพาหนะชนิดใด และเเสดงจุดเกิดอุบัติเหตุผ่านรูปแบบของจุดสีเหลืองบนแผนที่แทนการเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง และสัญลักษณ์ยักษ์ คือจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

นอกจากข้อมูลจุดเกิดอุบัติเหตุบ่อยที่ได้รับจากหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องแล้ว โครงการยักษ์ดาต้ายังมีข้อมูลสาธารณะที่ได้จากชุมชนหรือคนที่ประสบปัญหาด้วย 

“เราหวังว่าจะได้รับข้อมูลจุดที่เกิดอุบัติเหตุจากคนในชุมชน และเปิดช่องทางให้ร่วมกันหาสาเหตุว่า ทำไมมันถึงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง มันเป็นเพราะถนนหรือสิ่งกีดขวาง และจะทำอย่างไรให้คนในชุมชนช่วยกันแก้ปัญหาในจุดๆ นั้นได้ ” ดวงกมล ตั้งจิตต์พิชย Design Partner ของยักษ์ดาต้ากล่าว 

โดยนอกจากจะใช้งานตรวจสอบจุดระวังอุบัติเหตุผ่านเว็บไซต์ yakdata.opendream.co.th แล้ว สำหรับช่วงเทศกาลปีใหม่กับสงกรานต์ในปีหน้านี้ ยังเพิ่ม event ย่อยออกมาเพื่อแจ้งเตือนให้ระวังเพิ่มขึ้น เพราะทั้งสองช่วงเวลานี้ มีการเดินทางและเสี่ยงต่ออุบัติเหตุมาก ทางยักษ์ดาต้าจึงเพิ่มช่องทางในการใช้งานและโต้ตอบผ่าน Line Chatbot โดยเริ่มใช้งานด้วยการเพิ่มเพื่อน หรือ add friend ในช่องค้นหาคำว่า @Yakdata ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ว่า จากจุดเริ่มต้นที่เราอยู่นั้น จะเดินทางไปยังจุดหมาย จะต้องผ่านเส้นทางใดที่เป็นจุดเสี่ยงบ้าง ซึ่งสามารถเปิดนำทางเชื่อมไปยัง Google Street view ได้ 

นอกจากนั้น ยังสามารถแจ้งกับทาง Line Chatbot ถึงอุบัติเหตุหรือสิ่งกีดขวางการจราจร ยักษ์ก็จะขึ้นข้อมูล ผู้ใช้งานก็จะสามารถรับรู้ได้แบบ Real time ซี่งนอกจากจะมีการแจ้งอุบัติเหตุแล้ว ยังมีการแยกย่อยลักษณะให้เลือกใช้งานสามอย่างคือ 1. ค้นยักษ์ คือการหาเส้นทางที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ  2. พบยักษ์ คือการที่ผู้ใช้งานร่วมแจ้งข้อมูลว่ามียักษ์ ไม่ว่าเป็นการพบเจออุบัติเหตุ ทางมืด ต้นไม้ล้ม หรืออื่นๆ และ 3. หลบยักษ์ คือการที่ผู้เดินทางต้องการมองหาจุดพัก ไม่ว่าจะหาห้องน้ำ ของกิน โดยการเชื่อมกับตำแหน่ง ณ จุดนั้น ว่าห่างไกลจากจุดพักรถเท่าไร โดยอย่างที่ 3 ผู้เดินทางต้องประเมินสภาพของตนเองว่าอยู่ในสภาพ ที่ง่วง หิว หรือต้องการเข้าห้องน้ำ เป็นต้น

โดยจุดประสงค์ของ YAK Data Project ไม่ใช่เพียงต้องการให้ตัวเลขของการเกิดอุบัติเหตุลดลงเพียงเท่านั้น แต่คาดหวังให้มีชุมชนหรือมหาวิทยาลัยนำร่องเข้ามาร่วมมือ ผ่านการให้ทุกฝ่ายร่วมให้ข้อมูล จากนั้นก็เผยแพร่กลับไปสู่ชุมชนอีกครั้ง เพื่อร่วมแก้ปัญหากันอย่างตรงจุด 

Fact Box

YAK Data เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง TIJ Thailand Institute of Justice หหรือสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน), RoLD - TIJ Executive Program The Rule of Law & Development, Change Fusion และโอเพ่นดรีม

ผู้ที่สนใจใช้งานผ่านทาง Line สามารถกดขอเพิ่มเป็นเพื่อนผ่าน QR Code นี้

 

Tags: , , ,