ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองแบบนี้ ผู้เขียนอดไม่ได้ที่อ่าน Christmas Carol อีกครั้ง นิยายขนาดกระทัดรัดแสนคลาสสิกที่ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และละครเวทีมานับครั้งไม่ถ้วน หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1843 เขียนโดย ชาลส์ ดิกเคนส์ (Charles Dickens) นักเขียนนามกระเดื่องแห่งโลกตะวันตก โดยมีเนื้อเรื่องที่แสนเรียบง่ายไม่ต่างจากนิทานก่อนนอน

ท่ามกลางบรรยากาศหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมที่คนงานในภาคเกษตรจากชนบทต่างเข้ามาแสวงหาความมั่งคั่งในเมืองใหญ่ บ้างก็กลายเป็นผู้ร่ำรวยจากธุรกิจ แต่หลายต่อหลายคนต้องล้มเหลวกลายเป็นคนจรในกรุงลอนดอน เรื่องดำเนินโดยมี เอเบเนเซอร์ สครูจ (Ebenezer Scrooge) นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแต่ตระหนี่ถี่เหนียวเป็นตัวเอก ในคืนใกล้วันคริสต์มาส จาคอบ มาร์ลีย์ (Jacob Marley) เพื่อนนักธุรกิจคู่หูซึ่งเสียชีวิตไปแล้วได้มาเยี่ยมเยือนและเตือนให้สกรูจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมก่อนจะสายเกินไป

หลังจากนั้นแต่ละคืน สกรูจต้องเผชิญกับวิญญาณที่พาเขาท่องไปในอดีต ในปัจจุบัน และคืนที่ยังไม่มาถึง โดยฉากแรกสะท้อนตัวตนของสกรูจในอดีตที่ใสซื่อและได้รับความอุปถัมภ์อย่างดียิ่งจากนายจ้างคนเก่า ความสัมพันธ์ของเขากับพี่สาว และความห่างเหินของเขากับอดีตคนรักที่ตัดสินใจทิ้งเขาไปเนื่องจากเห็นว่าเขารักเงินมากกว่า 

ฉากที่สอง คือการไปเยี่ยมเยือนการเฉลิมฉลองของแต่ละบ้าน โดยมีหัวใจหลักคือฉากค่ำคืนวันคริสต์มาสที่บ้านของบ็อบ แครตชิต (Bob Cratchit) เสมียนในร้านของสกรูจที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และทิมน้อย (Tiny Tim) ลูกชายที่แสนร่าเริงแต่ป่วยหนักของบ็อบ วิญญาณของคริสต์มาสในปัจจุบันบอกให้สกรูจฟังว่าทิมน้อยจะเสียชีวิตในภายหลัง

ฉากที่สาม เป็นฉากงานศพของสกรูจที่เงียบเหงา มีเพียงคนเข้าร่วมกลุ่มเล็กๆ เนื่องจากมีอาหารแจกฟรี สุดท้ายหลุมศพของเขาก็ร้างไร้ผู้ระลึกถึง นิมิตดังกล่าวทำให้เขาสัญญากับวิญญาณว่าจะเปลี่ยนวิถีชีวิต หลังจากสามคืนมหัศจรรย์ สกรูจก็พลิกชีวิตตัวเองโดยเปลี่ยนจากนายทุนไร้หัวใจสู่ผู้มั่งคั่งน้ำใจงาม โดยร่วมเฉลิมฉลองคริสต์มาสกับญาติสนิท ส่งของขวัญให้บ็อบรวมทั้งขึ้นเงินเดือนทำให้เขามีเงินเพียงพอที่จะรักษาชีวิตของทิมน้อยไว้ได้

อ่านเผินๆ นิยายขนาดสั้นเล่มนี้ก็ไม่ต่างจากนิยายสอนใจทั่วๆ ไปที่บอกกับเราว่าอย่าเห็นแก่ตัว แต่ในบริบทที่นิยายดังกล่าวตีพิมพ์ ชาลส์ ดิกเคนส์ ถือเป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับศาสตร์ที่เพิ่งถือกำเนิดใหม่นั่นคือเศรษฐกิจการเมือง (Political Economy) ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน โดย Christmas Carol จงใจจิกกัดนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญที่โด่งดังในช่วงเวลาดังกล่าวคืออดัม สมิธ (Adam Smith) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งระบอบทุนนิยม และทอมัส มัลทัส (Thomas Malthus) ผู้ทำนายว่าโลกจะล่มสลายเนื่องจาก ‘ประชากรส่วนเกิน’

สกรูจ – ต้นแบบของเศรษฐมนุษย์ในอุดมคติ

เศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิกตั้งสมมติฐานว่ามนุษย์คือเศรษฐมนุษย์ (homo economicus) หรือมนุษย์ที่มีเหตุมีผลที่จะแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุดหากเป็นผู้บริโภค และแสวงหากำไรสูงสุดหากเป็นผู้ผลิต เป็นการฉายภาพมนุษย์แบบสรุปรวบยอดจากหนังสือเศรษฐศาสตร์ขึ้นหิ้งอย่างความมั่งคั่งแห่งชาติ (Wealth of Nations) โดยอดัม สมิธ ที่เขียนไว้อย่างค่อนช้างชัดเจนว่าเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความเห็นแก่ตัวนั้นจะนำไปสู่ประสิทธิภาพและความมั่งคั่งในท้ายที่สุด

สกรูจในนิยาย Christmas Carol หากปิดตาไม่มองเรื่องพฤติกรรมส่วนบุคคล เขาเป็นเพียงนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งที่สะสมความมั่งคั่งอย่างถูกกฎหมาย เมื่อเขาได้รับการร้องขอให้บริจาคแก่ผู้ยากไร้ คำตอบของเขาก็มีเหตุมีผลอย่างยิ่ง (และอาจถูกใจใครหลายคน) คือเขาเสียภาษีอย่างถูกต้องเพื่อให้รัฐบาลนำเงินไปช่วยเหลือคนจน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคุกตาราง หรือสถานสงเคราะห์คนอนาถา (Workhouse) ซึ่งเป็นสถานพักอาศัยสำหรับคนที่ไม่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ โดยสกรูจกล่าวอย่างชัดเจนว่าเขาไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายเงินให้พวกนั่งว่างๆ มีความสุข

การดำเนินชีวิตของสกรูจนั้นไม่ผิด เพียงแต่ไม่น่ารักตามบรรทัดฐานทางสังคม

ดิกเคนส์จงใจวาดภาพให้สกรูจเป็นนายทุนไร้หัวใจรวมทั้งตั้งคำถามต่อสภาวะตื่นทองของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่บางคนร่ำรวยล้นฟ้าแต่ปัญหาที่ตามมาคือคนจำนวนมากที่ ‘วิ่งตามไม่ทัน’ การเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องทนทุกข์ ใช้ชีวิตระหกระเหินเพื่อแสวงหางานค่าแรงต่ำ ชั่วโมงทำงานยาวนานเพื่อยังชีพ แน่นอนว่าระบบดังกล่าวย่อมนำพามาซึ่งความมั่งคั่งแห่งชาติ แต่ดิกเคนส์ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่าระบบใหม่ที่ขาดแคลนตาข่ายสังคมและพร้อมจะทิ้งคนอื่นไว้ข้างหลังคือโลกที่น่าปรารถนาจริงหรือเปล่า

ประชากรส่วนเกิน คำทำนายที่ไร้หัวใจของมัลธัส

ในช่วงเวลาเดียวกัน ทอมัส มัลทัส (Thomas Malthus) นักวิชาการชาวอังกฤษนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอีกหนึ่งคน ทำนายว่าในอนาคตไม่ช้าก็เร็ว ประชากรโลกจะต้องเผชิญกับความอดอยากแร้นแค้น กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นไม่ทันอัตราการเติบโตของประชากรโลกนำไปสู่ภัยพิบัติมัลทัส (Malthusian Catastrophe) คือสงครามแก่งแย่งอาหาร และโรคระบาดครั้งมโหฬารที่จะกวาดล้างมนุษยชาติ 

ส่วนทางรอดโดยนัยของการพยากรณ์ดังกล่าวคือการหาทางขจัดประชากรส่วนเกิน (Surplus Population) เพื่อให้มนุษยชาติอยู่รอด กล่าวคือยอมเสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนรวม ดิกเคนส์จับคำพูดข้างต้นมาใส่ปากสกรูจเมื่อเขาถูกขอให้รับบริจาคแก่คนยากไร้โดยกล่าวว่าหากคนจนเหล่านั้นจะตายเสียได้ก็ดี เพื่อจะได้ลดจำนวนประชากรส่วนเกิน

แต่สิ่งที่ทำให้สกรูจเปลี่ยนใจคือ ‘ใบหน้า’ ของผู้ตายที่วิญญาณแสดงให้เห็นนั่นคือทิมน้อยผู้ร่าเริงแต่ป่วยไข้ ลูกชายของบ็อบที่กำลังจะเสียชีวิตในอนาคต ภาพดังกล่าวทำให้สกรูจตระหนักว่าความคิดของตนน่ารังเกียจเพียงใด

ฉากดังกล่าวนั้นจับใจอย่างยิ่ง ดิกเคนส์ถ่ายทอดความอึดอัดใจจากประสบการณ์ที่เขาได้สัมผัสเด็กๆ ซึ่งเกิดในครอบครัวผู้ยากไร้ในช่วงเวลาดังกล่าว เด็กบางคนต้องทำงานในเหมืองถ่านหินวันละ 14 ชั่วโมงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ สภาพที่เขาพบเจอชวนให้ตั้งคำถามว่าเป็นความผิดของเด็กเหล่านั้นหรือไม่ที่เกิดมาในครอบครัวยากจนซึ่งวิ่งไม่ทันกระแสปฏิวัติอุตสาหกรรม และเราควรตีค่าเขาว่าเป็นประชากรส่วนเกินหรือไม่

อย่างไรก็ดี เศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันได้พัฒนาไปไกลมากจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อคัดง้างกับสมมติฐานว่าด้วยเศรษฐมนุษย์ โดยนำเสนอว่ามนุษย์นั้นไม่ได้มีเหตุมีผลตามแบบจำลองของสำนักนีโอคลาสสิก อาทิ ข้อค้นพบที่ว่ามนุษย์นั้นเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนอย่างมีขอบเขต (Bounded self-interest) โดยเราต่างเลือกประพฤติตนโดยอิงจากบรรทัดฐานทางสังคมและสำนึกคิดว่าด้วยความยุติธรรม รวมทั้งการทำนายของมัลธัสที่ไม่เป็นความจริง เนื่องจากมนุษยชาติสามารถเพิ่มผลิตภาพได้ทันกับการเติบโตของประชากร

อย่างไรก็ดี Christmas Carol ก็ยังเป็นหนังสือคลาสสิกที่น่าอ่าน ยิ่งในยุคที่เทรนด์บิ๊กดาต้ากำลังมาแรง นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลต่างก็พยายามบีบอัดสกัดข้อมูลเพื่อสร้างแบบจำลองในการพยากรณ์พฤติกรรมมนุษย์อย่างแข็งขัน จนบางครั้งเราอาจลืมว่าตัวเลขในไฟล์ข้อมูลนั้นคือคนที่มีลมหายใจคนหนึ่ง และแบบจำลองไร้หัวใจอาจกำลังลดทอนความเป็นมนุษย์ของพวกเขาให้เหลือเพียงข้อมูลหนึ่งชุด