การทดลองปฏิบัติการของ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับปรุงคุณภาพอากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับแนวทางของภาครัฐจีนที่กำลังมองหาวิธีการแก้ปัญหาฝุ่นละอองที่เป็นปัญหาเรื้อรัง
หอคอยนี้มีความสูงมากกว่า 100 เมตร (328 ฟุต) ตั้งอยู่ที่เมืองซีอาน มณฑลส่านซี ทางตอนเหนือของจีน เป็นการทดลองของนักวิจัยจากสถาบันสิ่งแวดล้อมโลกแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน
เฉา จุนจี้ หัวหน้านักวิจัยระบุว่าทีมงานได้ตรวจสอบคุณภาพอากาศในระยะ 10 ตารางกิโลเมตร ในช่วงหลายเดือน และพบว่าหอคอยสามารถผลิตอากาศสะอาดได้มากกว่าวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันนับแต่มันเริ่มทำงาน เฉายังระบุเพิ่มเติมว่าหอคอยยังสามารถลดระดับฝุ่นละอองในวันที่สถานการณ์ฝุ่นละอองมีความรุนแรงให้ลดลงมาใกล้เคียงกับปานกลางอีกด้วย
ระบบฟอกอากาศของหอคอยทำงานโดยการดูดอากาศเข้าไปในห้องเรือนกระจกที่มีขนาดราวครึ่งสนามฟุตบอลบริเวณฐานของหอคอยก่อนอากาศจะถูกทำให้ร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ อากาศที่ร้อนจะไหลขึ้นสู่ด้านบนหอคอย และไหลผ่านตัวกรองอากาศหลายชั้น ระบบยังสามารถทำงานได้แม้ในเดือนที่อากาศหนาวเย็น เนื่องจากสารที่เคลือบผิวของห้องเรือนกระจกทำให้กระจกสามารถดูดซับแสงอาทิตย์ได้มากขึ้น โดยเมืองซีอานต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศขั้นเลวร้ายในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากระบบทำความร้อนส่วนใหญ่ของเมืองใช้พลังงานจากถ่านหิน
ทีมงานของเฉาได้จัดตั้งสถานีตรวจวัดมลพิษมากกว่า 12 แห่ง เพื่อตรวจวัดประสิทธิภาพของหอคอย และพบว่ามันสามารถลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ถึงร้อยละ 15 ในช่วงที่ปัญหามลพิษมีความรุนแรง
โครงการหอคอยฟอกอากาศซีอานเริ่มต้นในปี 2015 และการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปีที่แล้วในเขตพื้นที่พัฒนาในอำเภอฉางอัน วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อหาวิธีที่ถูกและมีประสิทธิภาพในการลดมลพิษในอากาศ อย่างไรก็ดี มูลค่าของโครงการยังไม่เป็นที่เปิดเผย
ประชาชนจำนวนมากในซีอานที่อยู่ไม่ไกลจากหอคอยกล่าวกับสำนักข่าว South China Morning Post ว่าพวกเขาได้รู้สึกถึงความแตกต่างของอากาศหลังจากหอคอยเริ่มทำงาน อย่างไรก็ดีครูที่โรงเรียนอนุบาล Meilun Tiancheng ที่ตั้งอยู่ตรงขอบพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตรของเครื่องกลับกล่าวว่าไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงใดๆ
อ้างอิง
ภาพ : Damir Sagolj/REUTERS
Tags: PM 2.5, เครื่องกรองอากาศ, มลภาวะทางอากาศ, จีน