เยาวชนและประชาชนทั่วโลกนัดกันจัดกิจกรรมการประท้วงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศพร้อมกันทั่วโลก เพื่อแสดงพลังเรียกร้องให้ผู้บริหารในแต่ละประเทศมีนโยบาย มาตรการ ที่เด็ดขาดเข้มงวดในการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการนัดรวมตัวกันที่สวนลุมพินี และได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘ล้มตาย’ กลางสนามเป็นเวลาสิบนาที เพื่อแทนภาพของอนาคตเด็กและเยาวชนหากไม่มีการลงมือทำเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘ล้มตาย’ นี้เป็นกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องกันมาทั่วโลกตลอดทั้งปี ในขณะที่ในประเทศไทย การประท้วงครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่สี่แล้ว
โดยภายหลังจากจากการทำกิจกรรมล้มตายกลางสนาม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันอย่างสงบ ซึ่งทางกลุ่มผู้ประท้วงมีการส่งตัวแทนเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหลังจากนั้นทุกคนก็ได้รับอนุญาตให้ออกไปจากพื้นที่สวนลุมฯ อย่างปลอดภัย
นอกจากในประเทศไทยในแล้ว เยาชนคนรุ่นใหม่และประชาชนอีกจำนวนมากในเมืองซานตาโมนิกา ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีการจัดการชุมนุมประท้วงพร้อมทั้งทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘ล้มตาย’ เช่นเดียวกัน ในช่วงวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวัน Black Friday โดยมีกลุ่มกิจกรรมหลายกลุ่มถือเอาวัน Black Friday เป็นวันจัดประท้วงมากมาย กระจายกันไปในหลายพื้นที่ทั่วโลก
เช่นเดียวกันในวันที่ 29 พฤศจิกายน ก็มีการจัดการประท้วงและทำกิจกรรมล้มตายกลางถนนในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เพิ่งจะจัดประท้วงด้วยรูปแบบเดียวกันไปในเดือนตุลาคม และเดือนกันยายน เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการรณรงค์และทำกิจกรรมเรื่องโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง
กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ก็มีการจัดกิจกรรมนี้เช่นเดียวกันในวันที่ 21 กันยายน และ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่วนในกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี จัดการชุมนุมประท้วงและกิจจกรรมล้มตายวันที่ 20 กันยายน ในนิวยอร์กมีการจัดกิจกรรมนี้ในวันที่ 25 เมษายนและ 15 มีนาคมด้านหน้าสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ รวมไปถึงล่าสุดในวันที่ 29 พฤศจิกายน วัน Black Friday ก็มีการรวมตัวกันประท้วงด้วยการยืนจับมือกันบนถนนด้านหน้าห้องสมุดสาธารณะเมืองนิวยอร์ก
โดยในปีนี้ตลอดทั้งปีมีการจัดชุมนุมประท้วงรอบโลกทั้งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา อินเดีย โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ ไทย เกาหลีใต้ อิตาลี ออสเตรีย ออสเตรเลีย สเปน สวีเดน เวียดนาม ชิลี บราซิล เวเนซูเอลา เอกวาดอร์ โมร็อกโก ฯลฯ และคาดว่าจะไม่หยุดเพียงเท่านี้
ภาพ : Climate Strike Thailand, Mark Ralston, Johannes EISELE, Jung Yeon-je/AFP, Anushree Fadnavis, Heo Ran, Bernadett Szabo/REUTERS
Tags: สภาวะโลกร้อน, ปรากฏการณ์เรือนกระจก, ประท้วงโลกร้อน