ประเทศสวีเดนถูกจัดให้เป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับ LGBT หรือกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ด้วยสิทธิทางกฎหมายที่ครอบคลุมมากที่สุด ขณะที่ประเทศไนจีเรียถูกจัดให้เป็นประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับ LGBT โดยมีการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์ที่คนรักเพศเดียวกันต้องรับโทษตั้งแต่จำคุกจนถึงประหารชีวิต .
สำนักวิจัย Asher & Lyric โดยคู่รักแอชเชอร์และลิริค เฟอร์กุสสัน จัดทำ LGBT Travel Index โดยศึกษาสิทธิและข้อกฎหมายของประเทศที่มีคนเดินทางไปเยือนมากที่สุดจำนวน 150 ประเทศ ก่อนจะจัดอันดับความปลอดภัยตั้งแต่ A (ปลอดภัยที่สุด) ไปจนถึง F (อันตรายที่สุด)
การจัดอันดับพิจารณาจากประเด็นต่างๆ ได้แก่ 1. กฎหมายรองรับการแต่งงานในเพศเดียวกัน 2. กฎหมายคุ้มครองแรงงานเรื่องเพศวิถีและเพศสภาพ 3. กฎหมายที่คุ้มครองเรื่องการดูหมิ่นเหยียดหยาม 4. อัตราการเกิดความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ 5. สามารถรับเลี้ยงดูบุตรได้ 6. สามารถอยู่อาศัยได้อย่างสุขสบาย (อ้างอิงจาก Gallup’s poll) 7. มีข้อห้ามเกี่ยวกับความสัมพันธ์เพศเดียวกันหรือไม่ และ 8. มีกฎหมายด้านศีลธรรมหรือการโฆษณาชวนเชื่อที่ต่อต้านการรักเพศเดียวกันหรือไม่
ประเทศที่ได้ระดับ A มีจำนวน 5 ประเทศด้วยกันได้แก่ สวีเดน แคนาดา นอร์เวย์ โปรตุเกส และเบลเยียม ขณะที่รองลงมาได้ระดับ A+ มี 7 ประเทศได้แก่สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ สเปน มอลตา และนิวซีแลนด์ โดยอันดับที่ต่างกันนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของข้อกฎหมายว่ามีความครอบคลุมครบถ้วนมากน้อยอย่างไรบ้าง จนถึงคะแนนเล็กๆ น้อยๆ จากระดับความรุนแรงที่เกิดกับผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นต้น
ส่วนประเทศที่อันตรายที่สุดคือระดับ F มีอยู่กว่า 44 ประเทศ อันดับต้นๆ เป็นประเทศที่ใช้กฎหมายชารีอะห์ ไล่มาตั้งแต่ไนจีเรีย กาตาร์ เยเมน ซาอุดิอาระเบีย แทนซาเนีย (คนรักเพศเดียวกันใน 5 ประเทศแรกนี้มีโทษถึงประหารชีวิต) ต่อมาที่ อิหร่าน ซูดาน บาร์บาโดส มาเลเซีย และมาลาวี ในประเทศเหล่านี้มีโทษสำหรับคนรักเพศเดียวกันตั้งแต่การเฆี่ยนตีไปจนถึงจำคุก
แอชเชอร์และลิริค เฟอร์กุสสัส ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า ในบางประเทศแม้ว่าการเป็น LGBT จะไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็แสดงถึงทัศนคติของรัฐที่ไม่ดีต่อ LGBT เช่นในประเทศจีนหรืออินโดนีเซียที่มีการเซนเซอร์เนื้อหาเกี่ยวกับ LGBT ในสื่อต่างๆ ประเทศเหล่านี้ได้ระดับ F
ขณะที่ประเทศไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมิตรต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศถึงขั้นเคยถูกนำไปโปรโมตในแคมเปญท่องเที่ยว เมื่อพิจารณากันตามสิทธิทางกฎหมาย เรากลับได้ระดับ D+ หรือปลอดภัยเป็นอันดับที่ 68 โดยยังไม่มีกฎหมายที่รองรับสิทธิของ LGBT เลยสักข้อ จึงน่าสนใจว่าในบางประเทศที่มีความเป็นมิตรสำหรับนักท่องเที่ยว LGBT แต่อาจไม่ใช่สำหรับพลเมืองในประเทศนั้นๆ ส่วนประเทศที่มีอันดับใกล้เคียงกับไทยได้แก่ สปป.ลาว อินเดีย ปานามา ลัตเวีย โดมินิกัน และ ญี่ปุ่น
อ่านผลวิจัยอย่างละเอียดได้ที่: https://www.asherfergusson.com/lgbtq-travel-safety/