“ไม่ได้ถูกกำจัดหมดไปจากโลกแล้วเหรอ”

หลายคนที่อ่านข่าว ‘กาฬโรค’ ในประเทศจีนน่าจะสงสัยทำนองนี้อยู่เหมือนกัน ผมเองในฐานะแพทย์ก็ไม่เคยวินิจฉัยหรือแม้แต่จะนึกถึงว่าอาการป่วยของคนไข้อาจเกิดจากเชื้อ ‘กาฬโรค’ มาก่อนเลย เพราะในประเทศไทยไม่มีรายงานกาฬโรคมาเกือบ 70 ปีแล้ว แต่สำหรับต่างประเทศยังมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้อยู่ และเกิดการระบาดครั้งล่าสุดบนเกาะมาดากัสการ์ เมื่อปี 2017

กาฬโรคปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์มานานตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ในศตวรรษที่ 14-17 ประชากรยุโรปเสียชีวิตจากกาฬโรคไปถึงหนึ่งในสาม แต่กว่าที่มนุษย์จะรู้จักเชื้อที่ทำให้เกิดโรคนี้ก็ในระหว่างการระบาดใหญ่ครั้งที่สาม ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ลามมาทางตะวันออกถึงฮ่องกง (ที่นี่ Alexandre Yersin แพทย์ชาวฝรั่งเศสได้ค้นพบแบคทีเรียก่อโรคในปี 1894 และต่อมาได้รับการตั้งชื่อตามเขาว่า Yersinia pestis)

ก่อนจะบานปลายผ่านเส้นทางการเดินเรือไปยังอินเดีย แอฟริกา และยุโรป รวมถึงไทย และกว่าจะค้นพบยารักษาโรคก็ในอีก 40 ปีต่อมา ใช่แล้วครับ! ในปัจจุบันกาฬโรคมียารักษา และกรณีเชื้อดื้อยาก็ยังไม่เคยมีการระบาด

แผนผังการติดต่อกาฬโรคจากสัตว์สู่คน และจากคนสู่คน

วงจรในธรรมชาติ และการเกิดโรคในมนุษย์

ในธรรมชาติเชื้อกาฬโรคมีวงจรชีวิตอยู่ในหมัดหนู (flea) กับสัตว์ฟันแทะที่หมัดอาศัยอยู่ เช่น หนู กระรอก แพรรีด็อก (prairie dog) มาร์มอร์ต (marmot) และอาจทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น เช่น แมว กระต่าย ติดเชื้อได้ จนกระทั่งคนโดนหมัดกัด หรือโดนสัตว์ที่ป่วยข่วน หรือแม้แต่กินเนื้อสัตว์ป่วยแบบดิบๆ ก็จะทำให้ติดเชื้อกาฬโรคได้ ซึ่งใช้เวลาเพียง 2-3 วันก็จะเริ่มมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ก่อนคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว

จากนั้นจะมีต่อมน้ำเหลืองใกล้กับบริเวณที่โดนกัดบวมโต เรียกว่า ‘กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง’ หรือ Bubonic plague (bubo เป็นภาษากรีกแปลว่า ‘ขาหนีบ’ เพราะมักโดนหมัดกัดบริเวณขา แต่ถ้าติดจากแมวข่วนก็อาจเป็นต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้) ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา เชื้อก็จะเข้าสู่กระแสเลือดเป็น ‘กาฬโรคชนิดโลหิตเป็นพิษ’ (septicemic plague) ระยะนี้จะเกิดภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ส่งผลให้ปลายนิ้วมือหรือนิ้วเท้ากลายเป็น ‘สีดำ’ จากการขาดเลือดไปเลี้ยง อวัยวะภายในล้มเหลวและเสียชีวิต

ส่วน ‘กาฬโรคปอด’ (pneumonic plague) เป็นภาวะปอดอักเสบติดเชื้อกาฬโรค เกิดได้จาก 2 ทาง คือ 1. เริ่มจากเป็นกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองก่อน แล้วลุกลามไปยังปอด หรือ 2. สูดหายใจเอาเชื้อเข้าไปในปอดโดยตรง มักเป็นละอองฝอยจากการไอจามของผู้ป่วยคนก่อนหน้า หรือผงอาวุธชีวภาพ (ถ้ามี) ดังนั้นหากเกิดการระบาดของกาฬโรคขึ้นมาจะต้องมีการป้องกันทั้งระมัดระวังไม่ให้หมัดกัด ไม่สัมผัสเลือดของสัตว์หรือผู้ป่วย และสวมหน้ากากอนามัยด้วย

ในอดีตผู้ป่วยกาฬโรคที่ไม่ได้รับการรักษามีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก 60-100% ส่วนในปัจจุบัน ขอยกตัวอย่างที่อเมริกาซึ่งมีรายงานผู้ป่วยกาฬโรคทุกปีจากพื้นที่ชนบทฝั่งตะวันตก (เพราะเป็นพื้นที่ป่าและทุ่งหญ้าที่มีสัตว์ฟันแทะหลายชนิดอาศัยอยู่) โดยตั้งแต่ปี 2000-2017 พบผู้ป่วยทั้งหมด 105 ราย ส่วนใหญ่เป็นกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง เสียชีวิต 12 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย 11% ตัวเลขนี้ลดลงถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับสถิติในช่วง 1977-1998 (ประมาณ 20 ปีก่อนหน้า)

การระบาดบนเกาะมาดากัสการ์ เมื่อปี 2017

บางคนน่าจะเคยได้ยินข่าวแล้วก็ลืมไปแล้ว (ผมก็เป็นคนหนึ่ง) ว่ามีการระบาดของกาฬโรคบนเกาะมาดากัสการ์เป็นระยะ โดยล่าสุดเมื่อ 2 ปีก่อน ในเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2017 พบผู้ป่วยมากกว่า 2,300 ราย เสียชีวิต 200 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย 9% ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขในอเมริกา แต่ทว่าส่วนใหญ่เกือบ 80% เป็นกาฬโรคปอด และน่าชื่นชมว่าไม่มีการระบาดข้ามทะเลไปยังประเทศใกล้เคียง ทั้งที่ไม่ได้มีการปิดเส้นทางการคมนาคมแต่อย่างใด

ทั้งนี้กาฬโรคกลายเป็นโรคประจำถิ่นบนเกาะมาดากัสการ์มาตั้งแต่การระบาดใหญ่ครั้งที่ 3 จากเรือสินค้าอินเดีย ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วย 250-500 ราย และสัมพันธ์กับฤดูฝน เพราะหนูเพิ่มจำนวนขึ้น (คล้ายไข้เลือดออกในบ้านเรา) สำหรับมาตรการที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคอียู (ECDC) เคยแนะนำนักท่องเที่ยว ได้แก่ การทายากันยุง (กันหมัดได้) การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ป่วยโดยตรง รวมถึงสถานที่มีคนหนาแน่นในพื้นที่ที่มีรายงานของกาฬโรคปอด

สถานการณ์ และถิ่นของกาฬโรคในประเทศจีน

จีนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีผู้ป่วยกาฬโรคเป็นระยะ โดยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนมีรายงานผู้ป่วยมากกว่า 1,000 คน เสียชีวิต 183 ราย ส่วนใหญ่เป็นเมืองทางตอนเหนือ พื้นที่ห่างไกลทางตะวันตก และเมืองทางตอนใต้ (ที่ถ้าพูดชื่อก็คุ้นหูเป็นอย่างดี) เท่าที่ผมสามารถสืบค้นข่าวผู้ป่วยกาฬโรคย้อนหลัง 10 ปีได้คือ มณฑลชิงไห่ (ปี 2009), มณฑลกานซู่ (ปี 2014) และมณฑลยูนนาน (ปี 2016 ซึ่งมีการระบาดก่อนหน้านี้ในปี 2000-2002)

ส่วนล่าสุดในข่าวเป็นผู้ป่วยจากมณฑลมองโกเลียใน (Inner Mongolia) 3 ราย โดย 2 รายแรกเป็นสองสามีภรรยา คนหนึ่งเป็นกาฬโรคปอด อีกคนเป็นกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (รายงานเมื่อ 12 พ.ย.) ในขณะที่รายที่ 3 เป็นกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองหลังจากล่ากระต่ายป่า (รายงานเมื่อ 16 พ.ย.) แต่ยังไม่พบความเชื่อมโยงกัน ซึ่งจากภาพแผนที่แสดงการกระจายของจุดกาฬโรค (plague foci) ในธรรมชาติพบว่ามณฑลนี้เป็นถิ่นประจำของเชื้ออยู่แล้ว ตั้งแต่ราวปี 1950

แผนที่จุดกาฬโรคในธรรมชาติ แบ่งสีตามความแตกต่างของสารพันธุกรรมทั้งหมด 15 จุด ซึ่งพื้นที่ของมณฑลมองโกเลียในคือสีเขียวอ่อน (H) สีเหลืองอ่อน (I) และสีแดง (L) (ที่มา: Li Y, Dai E, Cui Y, et al., 2008)

ความเสี่ยงของกาฬโรคในประเทศไทย

เนื่องจากสัตว์ฟันแทะที่เป็นแหล่งรังโรค เช่น หนูท้องขาว และหมัดหนูชนิดที่นำโรคสามารถพบได้ในประเทศไทย และจากการศึกษาพาหะนำโรคในบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ (ปี 2007) และดอนเมือง (ปี 2014) และท่าเรือกรุงเทพ ก็พบทั้งหนูและหมัดหนูที่ว่าเช่นกัน แต่ดัชนีหมัดหนู (Flea index) ไม่เกิน 1 ทำให้โอกาสในการแพร่ระบาดของกาฬโรคต่ำ และเมื่อนำตัวอย่างหนูไปตรวจทางห้องปฏิบัติการก็ไม่พบเชื้อกาฬโรค

ทว่ากาฬโรคก็สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านทางเดินหายใจ ดังนั้นถ้าหากมีการระบาดรุนแรงในต่างประเทศ ก็จะต้องมีการเฝ้าระวังโรคในนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง

อย่างไรก็ตามกาฬโรคเป็น 1 ใน 13 โรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ค.ศ.2015 ที่ถ้าพบผู้ป่วยจะต้องรายงานกรมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง จากนั้นผู้ป่วยจะถูกแยกกัก (case isolation) เพื่อรักษาและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดจะถูกกักกัน (contact quarantine) เพื่อสังเกตว่ามีอาการป่วยหรือไม่ จนครบระยะฟักตัวที่นานที่สุด (กรณีของกาฬโรคคือ 6 วัน) สำหรับในขณะนี้ความเสี่ยงจึงยังเป็นสีเขียว (ความเสี่ยงต่ำ)

แต่ควรติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดไปก่อนครับ

Tags: , , ,