รถตู้เคลื่อนผ่านเขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ทิ้งเงาโค้งของดอยสุดเทพให้หายไปจากขอบฟ้า ถนนตัดผ่านป่าสนที่ยืนยืดกิ่งแห้งเรียว เข้าสู่เขตถนนคดโค้งวนรอบภูเขา ลาดชันลงไปขวามือแม่น้ำสีอิฐไหลบ่าลงมาจากยอดเขา เร่งรุดหน้าไปตามนัดหมายเพื่อรวมเป็นหนึ่งกับแม่น้ำสายอื่นๆ ก่อนรวมตัวเป็นแม่น้ำปิง และเจ้าพระยาในที่สุด
ด้วยระยะทางกว่า 200 กิโลเมตรจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไม่นับเส้นทางคดโค้งชวนคลื่นไส้ คงไม่ต้องสงสัยว่าเหตุใด ‘อมก๋อย’ จึงเป็นอำเภอที่มักได้ยินเพียงแต่ชื่อตามโฆษณาธนาคาร หรือซีเอสอาร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่
จากคำบอกเล่าของชาวอำเภออมก๋อย เพิ่งเมื่อปี 2560 นี่เองที่เส้นสายสีดำระโยงระยางนำพาแสงสว่าง ปัดเป่าความมืดให้หายไปจากทุกหมู่บ้านในเขตอมก๋อย
แสงสว่างจุดคบเพลิงแห่งความเจริญ นำพาถนนลาดยาง ร้านสะดวกซื้อติดแอร์ และแผนขุดเหมืองถ่านหินอมก๋อย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติเปิดเผยแผนพัฒนากำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทยประจำปี (Power Development Programe: PDP) 2561-2580 มุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าให้กับทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นผลักดันพลังงานหมุนเวียน เพิ่มศักยภาพพลังงานชีวมวล รวมไปถึงเพิ่มการผลิตพลังงานจากถ่านหิน
ขณะที่ประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังทยอยลดปริมาณการใช้ถ่านหิน มุ่งหน้าสู่พลังงานสะอาดอย่างเต็มตัว ประเทศในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างจีน อินเดีย และอินโดเนเซียกลับเข้าเกียร์เดินหน้าเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอย่างเต็มกำลัง
ย้อนมองดูบ้านเมืองเรา คำถามที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยต้องการเหมืองถ่านหินอยู่ไหม หรือเราควรลงทุนและเดินหน้าสู่พลังงานสะอาดอย่างเต็มตัว?
สถานการณ์เหมืองถ่านหินอมก๋อย
สูงขึ้นไปจากตัวอำเภออมก๋อย ผ่านถนนยางมะตอยสลับถนนดินแดงขรุขระ พ้นทางลาดชันขึ้นยอดเขา เราก็เดินทางมาถึง หมู่บ้านชาวไทย-กะเหรี่ยงแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘กะเบอะดิน’ ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในอำเภออมก๋อยเกินกว่าครึ่งก็เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอยู่แล้ว เนื่องจากเดินเท้าข้ามเพียงไม่กี่ก้าวก็คือ พม่า
คนในกะเบอะดินส่วนใหญ่ยังชีพด้วยการเกษตรกรรม โดยมากปลูกข้าว พริก กะหล่ำปลี และกาแฟ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อุดมด้วยดินดี น้ำไหลตลอดปี และมีอากาศบริสุทธิ์ ผลิตภัณฑ์จากอมก๋อย จึงล้วนมีคุณภาพและสร้างรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตพวกเขาได้ไม่ขาดเหลือ
น้ำสะอาดบริสุทธิ์ที่พวกเขาใช้หล่อเลี้ยงไร่นา หรือให้วัวควายกิน ไหลลงมาจากตาน้ำผุดที่อยู่ลึกเข้าไปในป่าใหญ่ซึ่งต้องอาศัยการเดินเท้ากว่า 2 ชั่วโมงจากหมู่บ้าน ตาน้ำผุดดังกล่าวเป็นต้นกำเนิดของลำห้วย ซึ่งไหลเข้าสู่แม่น้ำสบเมย ก่อนบรรจบกับแม่น้ำสายอื่นที่แม่น้ำปิง
ซานอ่วย อภิรักษ์คณาศาล เกษตรกรหมู่บ้านกะเบอะดิน เล่าให้เราฟังเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า ครอบครัวเธออาศัยอยู่ในหุบเขาลูกนี้มาตั้งแต่รุ่นปู่-ย่า ทุกคนในครอบครัวเธอล้วนพึ่งพาอาศัยลำห้วยสายนี้ เมื่อถึงหน้าข้าวก็ลงกล้าข้าว พ้นไปก็ยังมีมะเขือ หรือกะหล่ำปลีให้ปลูก พอถึงฤดูฝนโรยเธอก็เข้าป่าเก็บเห็ด หรือหน่อไม้ สำหรับเธอต้นไม้และผืนดินควรค่าแก่ความเคารพ เพราะมันดำรงอยู่มาก่อนเรานานนม
เช่นเดียวกับ ดวงใจ วงศธร ที่เล่าให้เราฟังว่า เส้นทางน้ำสายนี้หล่อเลี้ยงคนในหมู่บ้านของพวกเธอ นอกจากการเกษตรกรรมแล้ว มันยังมอบสัตว์น้ำหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง หอย ปู หรือปลาหลากชนิด
แต่ความรุ่มรวยทางธรรมชาติเหล่านั้น กำลังจะหายไปเพราะ ‘โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย’
ย้อนกลับไปปี 2543-2544 คนกลุ่มหนึ่งได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินจากชาวหมู่บ้านกะเบอะดิน โดยมิได้กล่าวอะไรชัดเจนว่าจะนำไปทำอะไร หลังจากนั้นเรื่องราวก็เงียบหายไปกับสายลม กระทั่งเดือนพฤษภาคมของปี 2562 ชาวบ้านส่วนใหญ่ถึงค่อยเริ่มตระหนักจากโลกโซเชียลมีเดีย และคำบอกเล่าปากต่อปากว่าจะมีการสร้างเหมืองถ่านหินขึ้นบนยอดดอยแห่งนี้
กระแสเหมืองถ่านหินทำให้ชาวอมก๋อยกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันภายใต้ชื่อ ‘เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย’ โดยพยายามแบ่งปันข้อมูลผลกระทบของการสร้างเหมืองถ่านหินให้แก่ชาวบ้านคนอื่นๆ และยื่นหนังสือถึงภาครัฐให้ทบทวนแผนการสร้างเหมืองถ่านหินและผลกระทบต่อธรรมชาติในระยะยาว และตั้งข้อสังเกตต่อรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment Report EIA) ว่าไม่ได้มาตรฐาน อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงมีความไม่โปร่งใส เช่น ไม่มีการชี้แจงข้อมูลให้ชาวบ้านรับทราบ มีการอ้างถึงรายชื่อของชาวบ้านหลายคนทั้งที่ไม่ได้เข้าร่วมประชาคม มีการใช้ชื่อซ้ำ มีรายชื่อของคนนอกพื้นที่ และมีรายชื่อของเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะรวมอยู่ด้วย
เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย ชี้ด้วยว่า ขณะที่รายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการสร้างเหมืองถ่านหินอมก๋อยได้จัดทำขึ้นเมื่อปี 2543 บอกว่าพื้นที่ดังกล่าว มีลักษณะเป็นป่าเสื่อมโทรม แต่ที่จริงแล้ว เป็นต้นน้ำผุดเสียด้วยซ้ำ
คบเพลิงแห่งความรู้ที่เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อยจุดขึ้น ค่อยๆ ถูกส่งต่อเป็นทอดไปทั่วทั้งหุบเขา จนกระทั่งมีผู้สนใจเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นจากกรมอุตสาหกรรม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2562 มากกว่า 200 คน จนล้นออกมานอกสถานที่จัดงาน ทำให้ต้องเลื่อนเวทีดังกล่าวออกไป เพื่อหาสถานที่ใหม่ที่เหมาะสมกว่า
การเพิ่มการผลิตไฟฟ้าย่อมสำคัญแน่ แต่วิธีการเป็นเรื่องที่น่าคิด ผลกำไรที่เราจะได้รับจากการทำเหมืองถ่านหินคุ้มค่าไหม หากต้องแลกกับป่าเขาเก่าแก่ ต้นน้ำสำคัญ อากาศบริสุทธิ์ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพและวิถีชีวิตของชาวบ้านทั้งอำเภอ
ในเมื่อปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยีและศักยภาพเพียงพอที่จะเดินหน้าเข้าสู่การผลิตพลังงานสะอาดอย่างเต็มตัว ทำไมเราถึงยังอยากตกค้างอยู่ในโลกเก่า รื้อค้นเศษซากอารยธรรมที่เมื่อบวกลบคูณหารในมือเล่นๆ กลับพบว่าอาจสร้างความสูญเสียมากกว่าผลประโยชน์ให้สังคม
เหมืองถ่านหินความเจริญจากยุคก่อน
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘ถ่านหินสะอาด’ ผ่านหูตามาอยู่บ้าง วลีนี้พ่วงมาด้วยคำอธิบายทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับนวัตกรรมดักจับและกักเก็บสารพิษ (Carbon Capture Storage: CCS) ซึ่งลดปริมาณสารพิษเกิดขึ้นจากกระบวนการเผาถ่านหิน อาทิ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ฝุ่น และปรอท ตลอดจนสารโลหะหนักชนิดอื่นๆ
คำดังกล่าวเกิดขึ้นจากการโฆษณาของบริษัท Peabody บริษัทเหมืองถ่านหินยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสุดท้ายถูกศาลอังกฤษตัดสินห้ามไม่ให้ใช้คำที่ชวนเข้าใจผิดอย่าง ‘ถ่านหินสะอาด’ หรือคำในเชิง ‘สะอาด’ หรือ ‘ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่’ ในการโฆษณาถ่านหินอีกต่อไป
กระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน เฟื่องฟูอย่างมากนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 อย่างไรก็ตาม กระบวนการนำถ่านหินไปใช้ประโยชน์แลกมาซึ่งกระบวนการสร้างสารพิษอย่างครบวงจร ตั้งแต่การขุดเจาะ การเผาไหม้ ตลอดจนการขนส่ง ซึ่งเมื่อสารพิษดังกล่าวปนเปื้อนอยู่ในธรรมชาติ ย่อมสามารถเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้อย่างไม่รู้ตัว อีกทั้งการกำจัดยังเป็นสิ่งที่ยากเย็นและใช้เวลานานแสนนาน
ข้อความสั้นข้างต้น คัดลอกอีกทีจากนิตยสารสารคดี ปีที่ 31 ฉบับที่ 361 ปี 2558 สะท้อนถึงผลกระทบของเหมืองถ่านหินแม่เมาะต่อธรรมชาติ
ต้องยอมรับในข้อหนึ่งว่า เหมือนถ่านหินแม่เมาะ เป็นความสำเร็จสูงสุดอย่างหนึ่งของการพัฒนาทางพลังงานในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย ชาวบ้านนับพันคนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงเหมืองถ่านหินแม่เมาะเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ระบบประสาท โรคหัวใจ และบางรายร้ายแรงถึงขั้น ‘ปอดดำ หรือมะเร็งปอด’
“ถ้าไม่กิน เราอาจจะอยู่ได้ถึง 30 วัน ถ้าไม่ดื่มน้ำ เราอาจจะอยู่ได้ถึง 7 วัน แต่ถ้าเราไม่หายใจ เราจะอยู่ได้นานแค่ไหน” จิตรกร อุทยานานนท์ คนกรุงเทพฯ โดยกำเนิดที่มาอาศัยอยู่ในอมก๋อยกว่าสิบปี กล่าวกับเรา ตอนนี้เขาเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่คอยให้ข้อมูลเพื่อนชาวอมก๋อยถึงข้อดี-เสีย ของการสร้างเหมืองถ่านหิน
ในแง่ของความคุ้มค่า จากการสำรวจของ EIA ถ่านหินในเหมืองอมก๋อยมีปริมาณทั้งหมด 720,000 ตัน หากใช้อัตราการผลิตที่ปีละ 120,000 ตัน และรวมระยะเวลาการเตรียมการความพร้อมของเหมืองแล้ว เหมืองถ่านหินอมก๋อยจะสามารถอยู่ได้ประมาณสิบปี ก่อนปิดตัวลงไป
ซึ่งหากเราลองคำนวณความคุ้มค่าของเหมืองถ่านหินดังกล่าว เราจะพบว่าเหมืองถ่านหินอมก๋อยจะมีมูลค่าเพียงแค่ 2,088 ล้านบาทเท่านั้น (คิดจากราคาถ่านหินที่กิโลกรัมละ 2,900 บาท) ซึ่งนับว่าน้อยมากหากเทียบกับเหมืองแม่เมาะ หรือเหมืองถ่านหิน 2 แห่งของอินโดนีเซีย ซึ่งให้มูลค่ามากกว่า 25,000 ล้านบาท
วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (Mekong Energy and Ecology Network: MEE – Net) ให้ความเห็นต่อการสร้างเหมืองถ่านหินไว้ว่า ถ่านหินในไทยมีคุณภาพต่ำ ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน อีกทั้งปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญความท้าทายด้านภาวะโลกร้อนอย่างรุนแรง โดยมีถ่านหินเป็นหนึ่งในศัตรูหลัก เนื่องจากสารพิษจากเหมืองถ่านหินมีมากกว่าการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยแหล่งพลังงานอื่นกว่า 20 เท่า และมากกว่าการผลิตด้วยแก๊ส 2 เท่า
ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีที่สามารถลดความเป็นพิษของถ่านหิน หรือเพิ่มศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าของถ่านหินให้มากขึ้นก็ตาม วิฑูรย์ยังเชื่อว่า หากเราจะนำงบประมาณไปลงทุนกับเทคโนโลยีถ่านหินมากขนาดนั้น เราสู้มาลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อโลกมากกว่าไม่ดีหรือ ก่อนเขาจะทิ้งท้ายเรื่องนี้ว่า “ต่อให้เทคโนโลยีในปัจจุบันพัฒนาไปมากขนาดไหน อุจจาระก็ยังเป็นอุจจาระ”
ความมั่นคงทางพลังงานในมือรัฐ
ความมั่นคงทางพลังงานเป็นสิ่งสำคัญแน่นอนในโลกศตวรรษที่ 21 แม้กระทั่ง สหรัฐอเมริกา ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยังยกให้ความมั่นคงทางพลังงานเป็นแนวนโยบายหลักของรัฐบาล
แน่นอนว่า ภาครัฐควรจะเป็นหัวเรือหลักในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้หมายความว่าภาครัฐต้องเป็นหนึ่งเดียวที่ผูกขาดการผลิตพลังงานทั้งหมดของประเทศเอาไว้
ความมั่นคงทางพลังงานอาจหมายถึง ทุกคนสามารถผลิตพลังงาน และเข้าถึงพลังงานได้อย่างเท่าเทียมกัน ถ้าหากประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าขึ้นมาใช้ภายในครัวเรือนได้เอง นอกจากจะเป็นการลดภาระหน้าที่ของภาครัฐแล้ว ยังเป็นการกระจายความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืนกว่าอีกด้วย
เมื่อผู้เขียนได้ลองเปิด แผนพัฒนากำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทยประจำปี 2561-2580 แล้ว พบว่ามีข้อสังเกตที่น่าขบคิดอยู่ 3 ประเด็น
ประเด็นแรก กฟผ. ประเมินการเติบโตของ GDP ของประเทศไทยระหว่างปี 2561 – 2580 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ต่อปี ซึ่งคลาดเคลื่อนกับความเป็นจริงที่มีการเติบโตเพียงร้อยละ 2.6 ต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้ เว็บ Trading Economics ยังชี้ว่า GDP ของประเทศไทยเติบโตเพียงร้อยละ 2.3 เท่านั้นในไตรมาสที่สองของปีนี้ ซึ่งต่ำที่สุดในรอบเกือบ 5 ปี ซึ่งค่า GDP ดังกล่าวเป็นปัจจัยหนึ่งที่ กฟผ. นำมาพิจารณาคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้า และการเดินหน้าในเรื่องความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต
ประเด็นที่สอง สถานภาพการผลิตไฟฟ้ารวม 3 ระบบของประเทศไทย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ 42,299 เมกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของปี 2561 อยู่ที่ 29,969 เมกะวัตต์ ดังนั้น ขณะนี้ประเทศไทยผลิตพลังไฟฟ้าเกินกว่าที่ใช้ปกติราว 40 เปอร์เซ็นต์
ประเด็นที่สาม ระยะเวลา 20 ปีนับจากนี้ ภาครัฐจะดำเนินนโยบาย ‘โซลาร์ภาคประชาชน’ โดยจะรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากภาคประชาชนปีละ 100 เมกะวัตต์ ตลอดจน โครงการชุมชนนำร่องของรัฐบาลที่ต้องการสร้างชุมชนที่สามารถผลิตไฟฟ้าขึ้นมาใช้ภายในชุมชน
วิฑูรย์มองว่า การคำนวณด้วยตัวเลข GDP ที่สวนทางกับความเป็นจริง อาจจะทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าสูงล้นเกินความเป็นจริงมากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ซึ่งการตั้งกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไว้สูง ยิ่งทำให้รัฐขาดทุน เนื่องจากกำลังไฟฟ้าสำรองเป็นทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (non-performing assets)
นอกจากนี้ เราต้องไม่ลืมว่า ไฟฟ้าทุกเมกะวัตต์ที่ประเทศของเราผลิตขึ้น มันต้องแลกมาด้วยมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจที่ชาวบ้านต้องแบกรับ ไม่ว่าจะเป็น การเวนคืนที่ดิน การตัดไม้ทำลายป่า มลพิษ ตลอดจนการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำ
วิฑูรย์ เสนอให้ กฟผ. ควรชะลอการผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกินให้เหลืออยู่ที่ 15% ตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2547 และนำงบประมาณที่แต่เดิมจะใช้สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ มาพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานและสะอาด และเพิ่มศักยภาพการใช้พลังงานที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การปรับปรุงโรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว หรือการเพิ่มศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานหลักของประเทศไทย
เขาเชื่อมั่นว่า การลงทุนกับพลังงานหมุนเวียน และการพัฒนาเทคโนโลยีทางพลังงานให้คุ้มค่ามากขึ้น เป็นวิธีที่จะสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน และคุ้มค่ามากกว่าการสร้างเหมืองถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
เขาให้ความเห็นในประเด็นโซลาเซลล์ว่า โซลาเซลล์มีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้ามาทดแทนการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวัน แต่ภาครัฐยังไม่ให้การสนับสนุนที่เพียงพอและไม่แสดงถึงความจริงใจต่อการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายที่ไม่เปิดกว้างให้ครัวเรือนผลิตไฟฟ้าเกินกว่า 1 เมกะวัตต์ ถ้าหากผลิตเกินต้องขอใบอนุญาตจดทะเบียนเป็นโรงงาน ซึ่งกฎหมายข้อดังกล่าวก็เคยส่งผลกระทบกับการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาแล้ว
เขาสนับสนุนให้ ภาคเอกชนและประชาชนสามารถขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐ เพื่อลดภาระและค่าใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเขาเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนพลังงานรับซื้อพลังงานจากภาคเอกชนและประชาชนโดยตรง นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีการส่งเสริมความรู้ และออกนโยบายกระตุ้นการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น ให้ราคาพิเศษกับการรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์
วิฑูรย์ทิ้งท้ายว่า กฟผ. ควรจะเปลี่ยนวิสัยทัศน์ให้สอดรับกับโลกยุคใหม่ เทคโนโลยีที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว และวางตำแหน่งในอนาคตขององค์กรให้สอดรับกับบริบทในภายภาคหน้า เทคโนโลยีที่เติบโตกำลังทำให้ความมั่นคงทางพลังงานแบบรวมศูนย์ถูกท้าทาย กฟผ. ควรจะมุ่งสร้างธรรมาภิบาลที่ดีให้กับโลกพลังงาน สร้างพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และแบ่งอำนาจที่เคยอยู่ในมือให้กับประชาชน
อ้างอิง:
https://greennews.agency/?p=10418
https://www.greenpeace.org/archive-thailand/news/blog1/blog/52033/
https://greennews.agency/?p=14187
https://themomentum.co/coal-policy-2-worlds/
*แก้ไขล่าสุดเมื่อ 17.28 น. 31 ตุลาคม 2562
Tags: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, โลกร้อน, เหมืองถ่านหินอมก๋อย, ความมั่นคงทางพลังงาน, โซลาเซลล์