หลังเปิดศักราชปี 2017 ดูเหมือนว่าสิ่งที่รบกวนใจประชาชนคนไทยทุกคนยังหนีไม่พ้นเรื่องเงินทองและปากท้อง ตั้งแต่คนในภาคเกษตรกรรม พ่อค้าแม่ค้าทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์ ไปจนถึงบัณฑิตหน้าใหม่ที่เฝ้ารองานและเงินเดือน จนหลายคนต้องยอมทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษาของตัวเอง
สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยว่า จำนวนคนว่างงานในเดือนมกราคม 2017 เพิ่มขึ้นกว่า 100,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2016 (จาก 3.47 คน ในเดือนมกราคม 2016 เป็น 4.49 แสนคน ในเดือนมกราคม 2017) และเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2016 ราว 146,000 คน สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจการแรงงาน ที่เปิดเผยว่า มีคนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในเดือนมกราคม 2016 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2016 จำนวน 19,271 คน
ในกลุ่มคนว่างงานเป็นคนที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามากที่สุด ขณะที่ภาคอีสานคือภูมิภาคที่มีจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นสูงที่สุด และภาคเกษตรกรรมคือภาคที่มีจำนวนคนทำงานลดลงมากที่สุด
The Momentum ได้พูดคุยกับ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ถึงปัญหาการว่างงาน และการทำงานไม่ตรงกับวุฒิการศึกษาที่จบมา
รวมถึงคำถามสำคัญที่ว่า ประเทศไทยควรเตรียมตัวและรับมือกับตลาดแรงงานในโลกอนาคตอย่างไร
การว่างงานจะชัดเจนมาก คือหมายถึงคนที่หางานทำแล้วหางานไม่ได้ภายใน 3 อาทิตย์
แต่ในสังคมเกษตรอย่างบ้านเราคนไม่ได้มีอาชีพเดียว และก็เกิดเป็นคำถามว่าตัวเลข 100,000 คนนั้น
หมายถึงคนที่พยายามหางานทำแต่ไม่มีงานทำหรือเปล่า
หรือบางส่วนอาจจะไม่ได้หางานทำ เพราะทำงานอิสระ หรือรับจ้างหลายงาน
จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นหนึ่งแสนคน สะท้อนว่าคนหางานไม่ได้?
ในปี 2017 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน 37.94 ล้านคน ซึ่งเป็นคนมีงานทำ 37.21 ล้านคน เป็นผู้ว่างงาน 4.49 แสนคน จำนวนที่เหลือคือผู้ที่รอฤดูกาล ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมปี 2016 ประมาณ 102,000 คน ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ยอมรับว่า ตัวเลขคนว่างงานที่เพิ่มขึ้นราว 100,000 คนนั้นอาจจะสะท้อนความจริงว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้ขยายตัวมากดังเช่นที่ผ่านมา
แต่ ดร.วรากรณ์ ชี้ว่า อัตราการว่างงานที่สูงขึ้นนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่สะท้อนแน่ชัดว่า ความรุนแรงของปัญหาว่างงานนั้นมากน้อยแค่ไหน เพราะความหมายของคำว่า ‘ว่างงาน’ ในแต่ละประเทศสังคมอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมนั้นแตกต่างกัน
“อย่างในสังคมเกษตรกรรมคนไม่ได้ทำงานทั้งปี มันมีการเปลี่ยนรอฤดูกาล หรือไม่ก็ทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ดังนั้นคำว่าว่างงานในประเทศเกษตรกรรมไม่เหมือนกับประเทศอุตสาหกรรมที่การว่างงานจะชัดเจนมาก คือหมายถึงคนที่หางานทำแล้วหางานไม่ได้ภายใน 3 อาทิตย์ แต่ในสังคมเกษตรอย่างบ้านเราคนไม่ได้มีอาชีพเดียว และก็เกิดเป็นคำถามว่าตัวเลข 100,000 คนนั้นหมายถึงคนที่พยายามหางานทำแต่ไม่มีงานทำหรือเปล่า หรือบางส่วนอาจจะไม่ได้หางานทำ เพราะทำงานอิสระ หรือรับจ้างหลายงาน และตัวเลข 100,000 คนอาจยังไม่ได้ชี้ชัดรุนแรงมากนักว่า ประเทศไทยประสบปัญหาคนหางานทำไม่ได้”
เมื่อคำว่า ‘ว่างงาน’ นั้นอาจครอบคลุมถึงคนที่ไม่ได้ทำงานประจำ จึงอาจไม่ได้สะท้อนปัญหาการว่างงานได้อย่างชัดเจน แต่เมื่อมาดูข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจการแรงงาน ที่สำรวจจำนวนคนว่างงานจากจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม โดยพบว่าในเดือนมกราคม 2017 มีคนขอรับประโยชน์จากการว่างงาน 133,421 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 114,150 คนในเดือนเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว หรือเมื่อเดือนมกราคม 2016 ซึ่ง ดร.วรากรณ์ ก็ยังชี้ว่า ตัวเลขนี้ยังไม่สามารถสะท้อนได้ 100% ว่าแท้จริงแล้วอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นหรือลดลง
“ผมคิดว่าเรายังมีการว่างงานที่เป็นในลักษณะที่รู้เห็นเป็นใจกัน ถ้าเอาตัวเลขเกี่ยวกับการประกันตนมา มันก็ยังไม่สะท้อนปัญหาการว่างงานเต็มที่ มันอาจจะบ่งบอกก็ได้ว่าคนเริ่มมีความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของตัวเองมากขึ้น หรือมันก็อาจจะยังมีคนว่างงานอีกหลายคนที่ไม่ได้ขอประโยชน์จากตรงนี้ ดังนั้นมันไม่สามารถบอกได้ชัดว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นหรือลดลง”
บางคนอาจจะปลูกข้าวที่ร้อยเอ็ด แล้วก็มาขับแท็กซี่ในเมืองเพื่อเอาเงินสดกลับไปบ้าน
ส่วนภรรยาก็ดูแลลูกและปลูกพืชอยู่บ้าน
ดังนั้นเวลาพูดถึงตัวเลขว่างงานในประเทศไทยต้องระวังให้ดี
คนทำงานหนีภาคเกษตรกรรม และจำนวนคนว่างงานในภาคอีสานเพิ่มขึ้นสูงที่สุด
รายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในเดือนมกราคม 2017 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 47,000 คน ซึ่งถือว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ภาคกลางเพิ่มขึ้นประมาณ 28,000 คน ภาคใต้ประมาณ 20,000 คน และภาคเหนือเพิ่มขึ้น 8,000 คน โดยมีเพียงกรุงเทพมหานครเท่านั้น ที่จำนวนคนว่างงานลดลง 1,000 คน ดร.วรากรณ์ มองว่า สิ่งนี้ก็อาจจะสอดคล้องกับสังคมเกษตรกรรมของประเทศไทยที่คนไม่ได้มีอาชีพเดียว โดยเฉพาะคนอีสานที่ทั้งทำงานเป็นเกษตรกรในพื้นที่ และเดินทางมาทำงานในกรุงเทพฯ ด้วย “อย่างเช่นบางคนอาจจะปลูกข้าวที่ร้อยเอ็ด แล้วก็มาขับแท็กซี่ในเมืองเพื่อเอาเงินสดกลับไปบ้าน ส่วนภรรยาก็ดูแลลูกและปลูกพืชอยู่บ้าน ดังนั้นเวลาพูดถึงตัวเลขว่างงานในประเทศไทยต้องระวังให้ดี”
และเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2016 พบว่า ในภาคเกษตรกรรมมีจำนวนผู้ทำงานลดลงประมาณ 190,000 คน ซึ่งถือว่ามากที่สุด รองลงมาคือภาคผลิตและการก่อสร้าง ขณะที่ภาคธุรกิจที่มีคนเข้าไปทำงานเพิ่มขึ้นคือธุรกิจขายส่งและขายปลีก รวมถึงธุรกิจด้านโรงแรมและอาหาร ดร.วรากรณ์ มองว่า ตัวเลขนี้ยังไม่ได้เป็นสัญญาณชัดว่า จะส่งผลกระทบให้คนไทยมีสินค้าเกษตรบริโภคน้อยลง และยังมีโอกาสที่คนรุ่นใหม่จะหันไปทำสินค้าเกษตรที่เพิ่มมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
“ผมว่ามีโอกาสที่คนรุ่นใหม่จะหันไปทำการเกษตร แต่คงไม่ใช่สินค้าแบบเดิม หรือปลูกข้าวแบบเดิม อาจจะยังมีคนส่วนหนึ่งที่ทำอยู่เพราะถือว่าเป็นสินค้าเกษตรกรรมหลัก แต่คนรุ่นใหม่ในภาคอีสานและภาคกลางคงทำสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ไม้ประดับ หรือพืชมงคล และข้อตกลงกับจีนที่งดภาษีผักและผลไม้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกษตรกรปลูกพืชสวนเยอะขึ้น”
พวกเขามีงานทำ แต่ไม่ได้ทำในฐานะของคนที่จบปริญญาตรี แต่ทำในฐานะของคนที่จบระดับมัธยมศึกษา แต่ต้องยอมเพราะไม่มีงานทำ
การทำงานที่ต่ำกว่าระดับการศึกษาคือปัญหาที่น่ากังวล
ในจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด (ประมาณ 449,000 คน) ในเดือนมกราคม 2017 เป็นคนที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามากที่สุด (ประมาณ 160,000 คน) และรองลงมาตามระดับวุฒิการศึกษา ดร.วรากรณ์ ชี้ว่า คนจำนวนมากจำเป็นต้องทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษาที่ตัวเองจบมาเพราะไม่มีทางเลือก
“คนที่จบปริญญาตรีที่ทำงานในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะได้เงินเดือนประมาณ 12,000-15,000 บาท แต่ในต่างจังหวัดคนจบปริญญาตรีได้เงินเดือน 8,000-9,000 บาท คือพวกเขามีงานทำ แต่ไม่ได้ทำในฐานะของคนที่จบปริญญาตรี แต่ทำในฐานะของคนที่จบระดับมัธยมศึกษา แต่ต้องยอมเพราะไม่มีงานทำ คือคนว่างงานบางส่วนที่จบระดับอุดมศึกษาไม่ได้ว่างงานในลักษณะที่ไม่มีงานทำ แต่ว่างในลักษณะที่ไม่ได้ทำงานตรงตามที่ตัวเองได้รับปริญญา”
ปัจจุบันต้นทุนการศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรีเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 400,000 บาทต่อคน จึงเกิดเป็นคำถามว่าการลงทุนนี้คุ้มค่าหรือไม่ และจะส่งผลอะไรบ้าง หากคนที่มีทักษะและความรู้ทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษาต่อไปเรื่อยๆ ดร.วรากรณ์ คาดการณ์ว่า “สิ่งนี้มันจะกลายเป็นปัญหาในระยะยาว เพราะบัณฑิตเหล่านี้กลับไม่มีลักษณะที่ตรงความต้องการของตลาด เพราะตลาดไม่ได้ต้องการจ่ายเงินสูงขนาดนั้น แต่ก็ยังรับเข้ามาทำงานและให้เงินเดือนที่ต่ำกว่าระดับการศึกษา ซึ่งสองฝ่ายยินยอม แต่ในเวลาต่อไปที่สังคมต้องการคนที่มีทักษะสูงกว่านี้ ที่ต้องใช้คนที่มีการศึกษา ทักษะการคิดและการเขียน หรือใช้ความรู้ในระดับที่คนปริญญาตรีต้องใช้ จะกลายเป็นว่าคนเหล่านี้จะมีปัญหา เพราะพวกเขาจะต้องปรับทักษะใหม่ ถ้าทิ้งให้พวกเขาทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษาไปนานๆ ถึง 5-6 ปี ผมว่าจะเป็นปัญหาแน่นอน”
ประเทศที่ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนช้าแบบบ้านเรา คนจะถูกผลิตออกมาเพื่อรองรับตลาดในอดีต
สถาบันการศึกษาต้องเตรียมพร้อมสร้างแรงงานให้ทันโลกอนาคต
สถาบันการศึกษาคือสถาบันหลักที่ทำหน้าที่ผลิตทรัพยากรมนุษย์มาให้ตรงความต้องการของตลาด ดังนั้นหลักสูตรการเรียนการสอนของทุกประเทศจะถูกร่างขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ดร.วรากรณ์ สะท้อนว่า การศึกษาของประเทศไทยปรับหลักสูตรช้ากว่าประเทศอื่น
“หลักสูตรของสถาบันการศึกษาทั่วโลกส่วนใหญ่ถูกร่างขึ้นมาเพื่อรองรับตลาดเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่มีบางแห่งที่ปรับหลักสูตรการศึกษาไปเมื่อปีที่แล้ว แต่ประเทศที่ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนช้าแบบบ้านเรา คนจะถูกผลิตออกมาเพื่อรองรับตลาดในอดีต แต่ตอนนี้งานในตลาดต้องการทักษะใหม่ๆ ดังนั้นคนที่จบออกมาจะรู้ตัวว่า ทักษะและความรู้ที่ตัวเองมีไม่สามารถนำไปใช้กับงานในยุคใหม่ได้ และตรงนี้แหละครับที่เป็นโจทย์ที่สำคัญมากที่สุดในระบบการศึกษาไทยว่า จะทำอย่างไรให้บัณฑิตมีความคล่องตัว มีทัศนคติที่จะปรับตัวเอง” โดย ดร. วรากรณ์แนะว่า ทั้งบัณฑิตและคนที่ทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษาที่ตัวเองจบมานั้น ควรจะขวนขวายเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นภาษา หรือการอบรมด้านต่างๆ ในระยะสั้น เพื่อสามารถปรับตัวได้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง “ประเทศไทยต้องคิดว่าเราจะเอาคนที่จบไปแล้ว แต่ทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษาที่จบมามาดัดแปลง (retool) ทักษะของพวกเขาอย่างไร”
ประเทศพัฒนาแล้วเขาจะตื่นตัวในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเขาให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด
แต่ประเทศเรานิ่งนอนใจ ไม่คิดว่าความเปลี่ยนแปลงจะมากระทบตัวเอง
ปัญหาว่างงานคือระเบิดเวลาของสังคม
ดร.วรากรณ์ มองว่า แม้ปัญหาว่างงานในประเทศไทยจะยังไม่ใช่ลักษณะที่รุนแรง ที่ส่วนใหญ่หางานทำไม่ได้ เพราะตลาดแรงงานไทยยังสามารถรับคนเข้าไปทำงานได้อยู่ แต่ปัญหาที่ไม่รุนแรงนี้เกิดจากการที่หลายคนยอมทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษาของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้ไม่ควรเป็นสิ่งที่ประเทศไทยนิ่งนอนใจ
“เพราะสาเหตุนี้มันก็เลยทำให้ตลาดยังดูดซับแรงงานเหล่านี้เข้ามาทำงานได้ทุกปี แต่คำถามคือ เราจะปล่อยให้เศรษฐกิจของเราเป็นอย่างนี้ต่อไปเหรอ โดยหวังว่าจะดูดซับคนที่จบมหาวิทยาลัย 300,000 คนต่อปีไปได้ตลอด อันนี้คือคำถามที่น่ากังวล ซึ่งปัญหาการว่างงานและทำงานต่ำกว่าระดับเป็นระเบิดเวลาที่สำคัญมาก ถ้าเราไม่ให้ความสนใจตั้งแต่แรก ถ้าต่อไปเมื่อคนอยากทำงานแต่ไม่มีงานให้ทำจะกลายเป็นปัญหาใหญ่”
ดร.วรากรณ์ จึงเสนอแนวทางการรับมือที่ประเทศไทยควรทำ คือ 1. สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ต้องช่วยกันปรับทักษะแรงงานไทยทั้งหมดให้มีความสามารถและความรู้ เพื่อตอบรับความผันผวนของตลาด 2. เราต้องเพิ่มแรงงานที่จำเป็นต่อตลาดบ้านเรา เพื่อให้คนของเรามีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น ในภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ และอุตสาหกรรมอาหาร ที่ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก
“แรงงานบ้านเราขาดแคลนแต่ก็เหลือเฟือ โดยเฉพาะในบางภาคส่วนแรงงานที่เราเอาหุ่นยนต์มาทำงานแทนมนุษย์ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าแรงงานที่ถูกทดแทนไปจะมีปัญหา เพราะมันก็ยังมีหลายภาคส่วนที่ขาดแคลนแรงงาน อย่างประเทศพัฒนาแล้วเขาจะตื่นตัวในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเขาให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด แต่ประเทศเรานิ่งนอนใจ ไม่คิดว่าความเปลี่ยนแปลงจะมากระทบตัวเอง”
ภาพประกอบ: Karin Foxx, Infographic: Nisakorn Rittapai
อ้างอิง:
- service.nso.go.th/nso/nsopublish/themes/files/lfs60/reportJan.pdf
- warning.mol.go.th/upload/1.NewlabourEcoJAN2017.pdfThumbnails_2017-02-21_14-22-13.pdf