เมื่อยักษ์ใหญ่ขยับตัว แผ่นดินก็สั่นสะเทือน

เช่นเดียวกับหนึ่งในกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยภายใต้อาณาจักรธุรกิจของ ‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’ เมื่อนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเปิดให้ซื้อขายเป็นการทั่วไป ย่อมต้องถูกจับจ้องจากทุกสายตาในวงการตลาดทุนและโลกธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

บริษัทลูกของ TCC Group ที่ชื่อ บมจ. แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น หรือ AWC เป็นหุ้นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมาและสร้างประวัติศาสตร์ IPO ครั้งใหญ่ในรอบ 14 ปีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระดมทุนได้หลายหมื่นล้านในชั่วพริบตา ด้วยพลังของชื่อเจ้าสัวที่รุกธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ขึ้นแท่นเจ้าบุญทุ่มที่เข้าซื้อกิจการต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก ทำให้นักลงทุนรายใหญ่และรายย่อยต่างลงขันซื้อหุ้น ร่วมรถไฟขบวนใหญ่นี้ไปด้วย

นัยสำคัญของการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ครั้งนี้คืออะไรกันแน่?

เปิดฉากหุ้น AWC เขย่าวงการโรงแรม-ค้าปลีก

การเสนอขายหุ้นสามัญของ AWC ทำสถิติมูลค่าสูงที่สุดครั้งหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยการจัดสรรหุ้น 8 พันล้านหุ้น ระดมทุนได้ 4.8 หมื่นล้านบาท ด้วยมูลค่าดังกล่าวทำให้ AWC ได้รวมอยู่ในกลุ่มหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 50 อันดับหรือ SET50 ไปโดยปริยาย ซึ่งขายให้กับนักลงทุนต่างประเทศ 53% และขายให้นักลงทุนในประเทศ 47% นอกจากนี้ยังถือเป็นการเสนอขายหุ้นครั้งแรกของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาด้วย

AWC เปิดฉากซื้อขายอย่างเป็นทางการวันที่ 10 ตุลาคม 2562 โดยเจ้าสัวเจริญและคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี นำทัพด้วยตัวเองไปที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้กำลังใจลูกสาวคนรอง ‘วัลลภา ไตรโสรัส’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ AWC โดยมีตัวแทนคณะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจำหน่ายที่ชื่อ บรรยง พงษ์พานิช (ธนาคารเกียรตินาคิน) ปรีดี ดาวฉาย (ธนาคารกสิกรไทย) เดชา ตุลานันท์ ( ธนาคารกรุงเทพ) และอาทิตย์ นันทวิทยา (ธนาคารไทยพาณิชย์) เข้าร่วมด้วย

แค่ชื่อสักขีพยานก็การันตีความใหญ่ของหุ้นตัวนี้ได้อย่างไม่มีข้อสงสัย

ธุรกิจในมือของ AWC ผู้มีสิทธิเพียงหนึ่งเดียวในการบริหารจัดการทรัพย์สินของ TCC Group มี 3 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย 1. ธุรกิจโรงแรมและบริการ เป็นที่ทราบดีว่าอาณาจักรธุรกิจของเจ้าสัวเจริญมีทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์มากที่สุดรายหนึ่งของไทย โรงแรมแห่งแล้วแห่งเล่าถูกซื้อกิจการ ปรับปรุงใหม่และให้เชนโรงแรมระดับโลกเข้ามาบริหารจัดการแทน จึงไม่แปลกที่ AWC จะกลายเป็น ‘เจ้าของโรงแรม’ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คาดว่าจำนวนโรงแรมจะเพิ่มเป็น 30 แห่งและมีจำนวนห้องพักเกือบ 1 หมื่นห้องในอีก 5 ปีนับจากนี้ ปัจจุบันมีรายได้คิดเป็นสัดส่วน 60% 

2.ธุรกิจค้าปลีก มีเอเชียทีคเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ตั้งตระหง่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งแบรนด์เกตเวย์และพันธุ์ทิพย์พลาซ่าด้วย รายได้คิดเป็นสัดส่วน 18% และ 3. ธุรกิจพื้นที่เชิงพาณิชย์ บริหารจัดการพื้นที่ออฟฟิศ สำนักงานให้เช่าในพื้นที่ศักยภาพใจกลางเมือง ซึ่งมีรายได้คิดเป็นสัดส่วน 22%

ที่มา : บมจ. แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น

วัลลภาให้ข้อมูลว่าจะนำเงินที่ระดมทุนได้จากการเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) จะนำไปต่อยอดกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ กับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งเป็นโครงการใหม่ๆ ที่จะเข้าซื้อกิจการในปี 2562 รวมทั้งนำไปลงทุนพัฒนาและปรับปรุงทรัพย์สินของบริษัทที่มีอยู่และจะนำเงินบางส่วนใช้ในการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน เพื่อประโยชน์ในการบริหารเงินของบริษัท ขณะเดียวกันยังประกาศนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 40 % ของกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติตามงบการเงินรวมของบริษัทหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินสำรองต่างๆ ด้วย

แม้อัตราส่วนราคาต่อกำไรของหุ้น (Price-Earnings Ratio : P/E) ของ AWC ในช่วง IPO จะสูงถึง 286 เท่า ทาง AWC พยายามให้เหตุผลว่าตัวเลขดังกล่าวไม่อาจสะท้อนความสามารถในการทำกำไรในอนาคตได้เนื่องจากมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาอยู่พอสมควร กระนั้น นักวิเคราะห์หลายฝ่ายประเมินว่ากำไรอาจจะไม่ได้หวือหวามากนักและธุรกิจของ AWC จะต้องเติบโตเป็นเท่าตัวต่อเนื่องกันหลายปี จึงจะทำให้ P/E ลดลงมาได้อย่างมีนัยสำคัญ แม้ราคาหุ้นช่วง IPO ที่ 6 บาทต่อหุ้นจะถูกบางส่วนวิจารณ์ว่า ‘ราคาแพง’ แต่บรรดานักลงทุนต่างก็อยากได้หุ้นตัวนี้มาอยู่ในมือให้ได้ 

ดูเหมือนชื่อของเจ้าสัวเจริญยังมีพลังมหาศาลสำหรับโลกธุรกิจและการลงทุน

คำถามสำหรับบางคนที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยกับกลไกของตลาดทุน คือในเมื่อเจ้าสัวเจริญมีเงินเยอะมากขนาดนี้ ทำไมจึงยังต้องเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อีก?

เรื่องนี้มีคำตอบที่ชัดเจนในตัวมันเอง

AWC มองไกลกว่าแค่ประเทศไทย บริบทใหม่ของยุคเปลี่ยนผ่านกลุ่มทุน  

รศ.ดร. พสุ เดชะรินทร์ อดีตคณบดีและอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเชิงกลยุทธ์และนโยบายธุรกิจ ให้ข้อมูลกับ The Momentum โดยวิเคราะห์ในมุมมองส่วนตัวว่าเป็นเรื่องปกติที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่เลือกที่จะขยายธุรกิจด้วยเงินที่ได้จากการระดมทุนหรือกู้ยืมสถาบันการเงิน ซึ่งมี ‘ต้นทุน’ ต่ำกว่าการนำเงินของตนเองที่มีมาใช้เอง เนื่องจากการใช้ทุนของธุรกิจเอง (ส่วนของผู้ถือหุ้น) จะมีผลต่อกำไรของผู้ถือหุ้นและต้องแบกความคาดหวัง แรงกดดันจาก ‘ผู้ร่วมลงขัน’ รายใหญ่ทั้งหลายของธุรกิจด้วย

เป้าหมายสำคัญของ AWC คือการระดมทุนผ่านกลไกของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ต่อยอดและพัฒนาบางธุรกิจที่ยังไม่แข็งแรง รวมทั้งธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งรศ.ดร. พสุเชื่อว่าไม่ใช่ทุกธุรกิจของเจ้าสัวเจริญที่เหมาะสมในการเข้าระดมทุนในตลาดฯ แต่ละความเคลื่อนไหวย่อมมีเหตุผลที่มีน้ำหนักรองรับเสมอ นอกจากนี้สถานะของการเป็นบริษัทในตลาดหุ้นยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน เนื่องจากหุ้นที่อยู่ในการกำกับดูแลของตลาดทุนนี้ จะต้องดำเนินการภายใต้ตัวชี้วัดด้านธรรมาภิบาล รวมทั้งระบบและการตรวจสอบที่มีมาตรฐาน บริหารธุรกิจแบบเป็นมืออาชีพ ซึ่ง AWC จะเป็นแม่เหล็กอีกแรงที่ดึงดูดเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งเชนโรงแรมและแบรนด์ทรงอิทธิพลทั้งหลายเข้ามาช่วยบริหารอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าสัวเจริญที่ขยายไปทั่วโลก 

ทำไมชื่อ ‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’ จึงยังศักดิ์สิทธิ์?

คงเพราะชื่อนี้การันตีเรื่อง ‘ความชัวร์’ ได้ในสายตานักลงทุน เห็นได้จากการกระโดดจากธุรกิจเดิมไปสู่ธุรกิจใหม่ที่ไม่ค่อยพลาดนักในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการซื้อ ริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC  ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ในปี 2544 ด้วยเงินลงทุนกว่า 5.5 พันล้านบาท จน BJC มีธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้นด้วยสินทรัพย์หลายหมื่นล้านบาท จากนั้นก็เปิดเกมต่อด้วยการเข้าซื้อ เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ หรือ F&N ในปี 2556 ด้วยดีลมหึมาขนาด 2 แสนล้านบาท เพื่อ ‘ตรึงกำลัง’ พื้นที่ธุรกิจเบียร์ของตนในภูมิภาค ตัดหน้าเบียร์ไฮเนเก้นที่จ่อเข้าซื้อ F&N ในเวลานั้น ซึ่งมีธุรกิจ ‘ไทเกอร์ เบียร์’ ในมือ รวมทั้งตอกย้ำการขยายพอร์ต ‘นอนแอลกอฮอล์’ เพื่อสร้างเครื่องยนต์ปั๊มเงินใหม่ที่จะพาชื่อ ‘ThaiBev’ ให้ไกลจากภาพ ‘เหล้า-เบียร์’ ออกไป

เจ้าสัวทุกคนก็เคยเป็นเถ้าแก่มาก่อน เปิดเกมเร็วเก่ง ไม่เคยรอช้ากับโอกาสทางธุรกิจ

ในปี 2559 เจ้าสัวเจริญเดินเกมรุกอีกครั้งด้วยการเข้าซื้อกิจการของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือห้างบิ๊กซี ผ่าน BJC ด้วยเงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อต่อจิ๊กซอว์ห่วงโซ่อุปทานในมือให้ครบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผลิตเอง ขายเอง ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของ BJC กระโดดขึ้นเป็นกว่า 3 แสนล้านบาทจนถึงปัจจุบัน ซึ่งรายได้ปี 2561 ของ BJC สูงถึงกว่า 1.7 แสนล้านบาท มีกำไรกว่า 6.6 พันล้านบาท ซึ่ง P/E ของ BJC ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 31.8 เท่า ถือว่าไม่สูงนักและยังสะท้อนความสามารถในการทำกำไรได้ดีพอควร

การเคลื่อนหมากแต่ละตัวของเจ้าสัวเจริญจึงเป็นการสร้างเครดิตให้ตัวเขาเอง รุกฆาตและปิดเกมเสมอ

มองกลับมาที่ AWC เอง มีรายได้หลักจากธุรกิจโรงแรม แม้จะถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องโอกาสของการขยายตัวของนักท่องเที่ยวที่อาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีบทสรุปจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมทั้งระดับราคาของห้องพักในประเทศไทยก็ยังถือว่าต่ำกว่าราคาของห้องพักในภูมิภาค โอกาสที่จะกวาดเม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดก็มีไม่มากนัก   

รศ.ดร. พสุ ประเมินว่ารายได้ของธุรกิจโรงแรมไทยไม่ได้พึ่งพิงแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น ยังมีสัดส่วนรายได้ที่สำคัญจากนักท่องเที่ยวชาวไทย การอบรมสัมมนาและการจัดกิจกรรมที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีที่จะช่วยเติมเม็ดเงินเข้ามาได้ และธุรกิจโรงแรมก็มีความเชื่อมโยงถึงกันอยู่แล้ว การขยายธุรกิจของ AWC อาจจะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับคู่แข่งอย่างเครือโรงแรมเซ็นทาราของกลุ่มเซ็นทรัลและคู่แข่งอื่น และอาจกระทบเป็นระยะสั้น สิ่งที่สำคัญกว่าคือคนระดับเจ้าสัวเจริญไม่ได้มองเส้นทางของ AWC แค่ภายในประเทศไทยเท่านั้น แต่น่าจะเป็นสะพานเชื่อมสำคัญในการระดมทุนเพื่อขยายกิจการออกไปในต่างประเทศต่างหาก

ขณะนี้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ของไทยทุกกลุ่ม ทั้งไทยเบฟเวอเรจ หรือ ThaiBev ของเจ้าสัวเจริญ เครือเจริญโภคภัณฑ์ของ ‘ธนินทร์ เจียรวนนท์’ หรือเจ้าสัวซีพี ธุรกิจกระทิงแดง (Red Bull) ของตระกูลอยู่วิทยา หรือเจ้าตลาดค้าปลีกอย่างกลุ่มเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์ ต่างหันไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากธุรกิจในประเทศไทยนั้นเดินหน้าไปถึงจุดที่ใกล้เคียงกับระดับอิ่มตัวเต็มที การเจริญเติบโตทางธุรกิจอาจจะต่ำกว่า 10% และน้อยลงเรื่อยๆ ในอนาคต สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจและโครงสร้างประชากร

สร้างธุรกิจใหม่ๆ หารายได้จากหลายแหล่ง เป็นการกระจายความเสี่ยงที่ใครก็ทำกัน

รวมทั้งตระกูลมหาเศรษฐีของไทยทั้งหลาย

เหมือนกับทุกครอบครัว ตระกูลสิริวัฒนภักดีเองก็จัดสรรปันส่วนธุรกิจออกไปให้ลูกๆ แต่ละคนดูแล สำหรับกลุ่มธุรกิจการเงินและประกัน  ‘อาคเนย์’ เจ้าสัวเจริญให้ลูกสาวคนโต ‘อาทินันท์’ และลูกเขย ‘โชติพัฒน์ พีชานนท์’ บริหาร ส่วนธุรกิจสำคัญอย่าง ThaiBev ให้ลูกชายคนโต ‘ฐาปน สิริวัฒนภักดี’ เป็นแม่ทัพใหญ่ในการคุมธุรกิจ ซึ่งฐาปนถือว่าโดดเด่นที่สุดกว่าลูกๆ ทุกคนของเจ้าสัวเจริญและยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล ช่วยผลักดันนโยบาย ‘ประชารัฐ’ รวมถึงเชื่อมกับทุกกลุ่มการเมืองด้วย

ขณะที่ ‘ฐาปนี’ ลูกสาวคนเล็กและลูกเขย ‘อัศวิน เตชะเจริญวิกุล’ จะดูแลธุรกิจของ BJC ซึ่งครอบคลุมสินค้าอุปโภคบริโภคไปจนถึงช่องทางการจัดจำหน่ายกลยุทธ์อย่างห้างบิ๊กซี และลูกชายคนเล็ก ‘ปณต สิริวัฒนภักดี’ เป็นผู้ดูแลกิจการของ Golden Land ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบและเชิงพาณิชย์ ที่เจ้าสัวเจริญเข้าซื้อกิจการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงถึงเวลาของลูกสาวคนรอง ‘วัลลภา’และลูกเขย ‘โสมพัฒน์ ไตรโสรัจ’ ซึ่งเจ้าสัวเจริญไว้ใจให้บริหารอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ของ TCC Group ออกมาอยู่ฉากหน้า พาบริษัทลูกอย่าง AWC เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปีนี้  

นำทีมโดยลูกชายเก่ง เสริมทีมด้วยลูกเขยแกร่ง และผลักดันลูกสาวให้โดดเด่นขึ้นตามมา 

เป็นหลักที่ครอบครัวผู้สืบเชื้อสายจีนทำกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

เมื่อมองภาพใหญ่ของบทบาทกลุ่มทุนและภาคธุรกิจไทย เราเห็นเครือซีพีซื้อห้างแมคโคร ตามด้วยกลุ่มไทยเบฟซื้อห้างบิ๊กซี เราเห็นเครือซีพีซื้อกิจการ Dean & Deluca ไม่นานจากนั้นข่าวกลุ่มไทยเบฟซื้อ Starbucks ในไทย เราเห็นเครือซีพีมี CP Land และ Magnolia ในภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่นกัน เราก็เห็นกลุ่มไทยเบฟมี TCC Group และ Golden Land ด้วย มีความเคลื่อนไหวระหว่างตระกูล ระหว่างกลุ่มทุนให้ติดตามอยู่เสมอ และยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจเหล่านี้ก็มีบทบาทกับเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ

รศ.ดร. พสุวิเคราะห์ว่ากลุ่มทุนขนาดใหญ่ของไทยในปัจจุบันมีหลายสิบกลุ่ม แต่เชื่อว่าในอนาคตจะเกิดการควบรวม ขยายอาณาจักร จนเหลือไม่เกิน 10 กลุ่มเท่านั้น และในจำนวนนี้จะมีผู้เล่นรายสำคัญเพียง 3-4 ราย ซึ่งคงจะหนีไม่พ้นกลุ่มธุรกิจอาหาร ค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ไปได้ สิ่งที่ท้าทายที่สุด ท้าทายมากกว่าปัจจัยเศรษฐกิจของ ‘เจ้าสัว’ ทุกคนในตอนนี้คือ การส่งผ่านอำนาจหรือการสืบทอดกิจการไปสู่ทายาทหรือบรรดา ‘เจ้าสัวน้อย’ ทั้งหลาย ซึ่งเติบโตภายใต้ร่มเงาความสำเร็จของผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็นคนก่อตั้งและสร้างความยิ่งใหญ่ให้ธุรกิจ บทบาทของเจ้าสัวจึงไม่ใช่แค่การบริหารองค์กรเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจของทุกคนด้วย หากถึงยุคผลัดใบจริงๆ ก็ถือเป็นการบ้านข้อใหญ่ของผู้นำรุ่นถัดไปในการขับเคลื่อนมรดกตกทอดนี้ไปข้างหน้าด้วยแรงกดดันสูงสุด

“บารมีให้กันไม่ได้ มันต้องสร้าง” รศ.ดร. พสุ กล่าวทิ้งท้าย

การเข้าตลาดหุ้นของ AWC จึงเป็นอีกก้าวในเส้นทางที่ยาวไกลของเจ้าสัวเจริญ ไม่เพียงแต่การก้าวข้ามภาพลักษณ์เรื่อง ‘เหล้า-เบียร์’ ไปสู่เส้นทางของอาณาจักรธุรกิจใหม่ในต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนเสาอีกต้นที่ช่วยค้ำยัน เสริมแรงให้บ้านยังแข็งแกร่งต่อไปในวันข้างหน้า เพื่อคนข้างหน้าด้วย  

เพราะเถ้าแก่กับลูกเถ้าแก่ เป็นคนละคนกัน

Tags: ,