ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดข่าวเกี่ยวกับแฮชแท็กอันโด่งดังในทวิตเตอร์ (Twitter) ทั้ง #แบนเมเจอร์ และ #ขบวนสเด็จ ซึ่งล้วนมีสำเนียงไปในทางเดียวกัน รวมถึงหากย้อนไปช่วงเลือกตั้งที่กระแสการเมืองคุกรุ่น ระบบ ‘เทรนดิ้ง’ ผ่านแฮชแท็กในทวิตเตอร์ ก็เคยสร้างปรากฏการณ์ทางสังคมให้เกิดความตื่นตัวได้หลายต่อหลายครั้ง
สำหรับบางคน ทวิตเตอร์คือดินแดนลี้ลับที่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร แต่กับอีกหลายคน โดยเฉพาะเจเนอเรชันมิลเลนเนียลที่ครองสัดส่วนการใ้ช้ทวิตเตอร์สูงสุดทั่วโลก พื้นที่นี่คือดินแดนเสรีภาพ เป็นโลกที่เต็มไปด้วยข่าวสารความบันเทิง มีเรื่องเฉดสีเทาไปจนถึงมืดดำ ในแบบที่โซเชียลมีเดียอื่นๆ ทั้งเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมให้ไม่ได้
ปัจจุบัน มีคนใช้ทวิตเตอร์ต่อเดือนประมาณ 330 ล้านทั่วโลก ช่วงวัยสูงสุดคือกลุ่ม 18-24 ปีที่มีถึง 31% รองลงมาคือ 25-34 ปี ที่มีจำนวน 27.3% ส่วนในประเทศไทย ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อัตราการใช้งานทวิตเตอร์เติบโตขึ้นราว 35% ซึ่งถือว่าเติบโตมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยช่วงวัยของคนไทยที่ใช้งานทวิตเตอร์มากที่สุด ได้แก่ อายุ 16-24 ปี (40%) อายุ 25-34 ปี (26%) อายุ 35-44 ปี (19%) อายุ 45-54 ปี (11%) และอายุ 55-64 ปี (4%)
การเติบโตของทวิตเตอร์เริ่มมาจากกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียล (และอายุที่น้อยกว่านั้น) ที่หนี ‘ผู้ปกครอง’ หรือคนรู้จักผ่านสายสัมพันธ์อื่นที่สิงสถิตอยู่ในโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยเฉพาะ ‘เฟซบุ๊ก’ ที่ทำให้เห็น Mutual Friend หรือ ‘เพื่อนร่วมกัน’ หรือมีระบบแนะนำ ‘เพื่อน’ ที่คัดกรองจากความสัมพันธ์แบบเครือญาติ เพื่อนเก่าวัยประถม มัธยม อุดมศึกษา หรือที่ทำงาน และด้วยเหตุนี้เอง ความพยายามหลีกเลี่ยงการขอ ‘แอดเฟรนด์’ จากผู้ปกครองจึงทำได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อเฟซบุ๊กเปลี่ยนระบบให้ระบุตัวตนด้วยชื่อสกุลจริงเวลาลงทะเบียนใช้งาน
‘ผู้ปกครอง’ ในโซเชียลมีเดีย นอกจากจะหมายถึง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติผู้ใหญ่แล้ว ยังหมายถึง ‘ระบบ’ ของโซเชียลมีเดียเอง เช่นเฟซบุ๊กมีกึ่งบังคับให้ลงทะเบียนชื่อจริงเพื่อระบุตัวตนของผู้ใช้ หรือมี Real Name Policy ให้ผู้ใช้ (ที่ถูกรีพอร์ต) ต้องเปลี่ยนชื่อบัญชีมาเป็นชื่อสกุลจริง รวมไปถึงกฎเกณฑ์อื่นๆ ภายใต้นโยบายของโซเชียลมีเดียนั้นๆ
ที่สำคัญ มาตรการเหล่านั้นก็มีแนวโน้มที่อาจจะเชื่อมโยงไปสู่ระบบการตรวจสอบของรัฐได้
ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ
ในแง่นี้ ทวิตเตอร์แตกต่างจากเฟซบุ๊ก เพราะทวิตเตอร์สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน ชื่อแอคเคานต์ไม่ต้องเชื่อมโยงถึงชื่อสกุลจริง การไม่จำเป็นต้องใช้ ‘ตัวตนจริง’ ไม่ต้องใส่ประวัติว่าเป็นลูกหลานใคร เพื่อนใคร เรียนหรือทำงานที่ไหน ปราศจากการยึดโยงจากระบบระเบียบของสังคมทั้งในแง่กฎหมายหรือวัฒนธรรม จึงส่งผลอย่างมากต่อการใช้งาน สถานะที่ผู้ใช้ราวกับเป็นผู้ ‘หลบหนี’ ออกจากโลกที่ยังคงยึดโยงไปด้วยระบบบางอย่าง และมันแสดงให้เห็นแล้วจากกรณีการเกิดขึ้นของ ‘แอคเค่อ’ หรือ ‘แอคหลุม’ ทั้งหลาย
แม้ทวิตเตอร์จะมีระบบให้ยืนยันตัวตนผ่านอีเมลหรือเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งอาจเชื่อมโยงตรวจสอบกลับไปหาผู้ใช้งานได้ แต่หากเปรียบเทียบกับโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างเฟซบุ๊กที่มีผู้ใช้จำนวนมาก ทวิตเตอร์ไม่มีกฎเกณฑ์ที่รัดแน่นเท่ากับเฟซบุ๊ก รวมไปถึงการตรวจสอบ สืบค้น ซึ่งนั่นเองที่ทำให้เกิดพื้นที่สีเทาไปจนถึงดำมืดหลากหลายแบบในทวิตเตอร์เช่นเดียวกัน
ทวิตเตอร์เปิดพื้นที่ให้กับเรื่องสังคมมากกว่าส่วนตัว
อีกแง่มุมที่ทำให้ทวิตเตอร์พิเศษแตกต่าง และเป็นพื้นที่จุดประเด็นสังคมการเมืองอยู่บ่อยครั้ง เพราะระบบของพื้นที่นี้ ไม่ได้อยู่บนฐานความผูกพันในรูปแบบเครือญาติ เพื่อนฝูง แต่สิ่งที่เชื่อมโยงผู้คนไว้คือสิ่งที่คนสนใจร่วมกัน หรือ ‘ประเด็น’ ของเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจ
ผู้ใช้ทวิตเตอร์ไม่ได้อยู่ภายใต้ ‘สตอรี่’ ของเฟรนด์ลิสต์ แต่เกาะเกี่ยวอยู่กับความสนใจ หรือเรื่องราวที่มากับแอคเคานต์ที่ฟอลโลว์ กระแสที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทวิตเตอร์ก็ผ่านการประมวลผลจากแฮชแท็กที่นำมาสู่เทรนดิ้ง นอกจากนั้น ทวิตเตอร์ยังกลายเป็นพื้นที่หลักในการสื่อสารทางการของบุคคลสำคัญหรือองค์กรระดับประเทศและระดับโลก ทั้งนักการเมือง สำนักข่าว ดารา นักร้อง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ ทำให้พื้นที่ทวิตเตอร์มีเรื่องของ ‘สังคม’ มากกว่าเรื่องส่วนตัว
และด้วยพื้นที่ที่ถูกถือครองโดยกลุ่มมิลเลนเนียลและกลุ่มที่อายุน้อยกว่านั้น ก็ยิ่งทำให้พื้นที่นี้มีความพิเศษแตกต่างมากไปอีก เพราะคนเจเนอเรชั่นนี้เติบโตมาด้วยอุดมการณ์ของสังคมคนละแบบกับเจเนอเรชั่นก่อนๆ หล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมคนละแบบ ใช้ชีวิตท่ามกลางข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ต อันเป็นมหาสมุทรแห่งข้อมูลที่ไม่ได้มีเพียงความจริงหนึ่งเดียวเท่านั้น
กล้าคิด กล้าค้น กล้าถาม ถ้าไม่ต้องเปิดเผยตัวตน
หากกล่าวเจาะจงลงไปในกรณีของเยาวชนไทยซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้งานหลักของทวิตเตอร์ ก็จะเห็นว่า นอกจากคนกลุ่มนี้จะเติบโตขึ้นมาภายใต้อุดมการณ์ของสังคมการเมืองที่แตกต่างจากรุ่นก่อน ไม่ได้เป็นผลพวงของสังคมโฆษณาชวนเชื่อ อันเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคกลัวคอมมิวนิสต์และแนวคิดชาตินิยม คนรุ่นใหม่ยังเติบโตมาพร้อมกับโลกอินเทอร์เน็ตที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่อาจจะถูกปิดกั้น หรือเปิดเผยแค่ในวงแคบๆ ที่ไหลบ่าเข้าสู่อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย
สภาพแวดล้อมแบบใหม่นี้กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถาม ศึกษาค้นคว้า บนความหลากหลายของอุดมคติและความเชื่อในสังคม และอาจส่งผลสะเทือนต่อระบบความเชื่อ และอุดมคติของสังคมที่ยึดมั่นกันในอดีต
ทั้งกลุ่มผู้ใช้รุ่นใหม่ การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร ประกอบกับความพิเศษของแพลตฟอร์ม จึงกลายเป็นเครื่องมือที่เปิดเปลือยความคิดให้เกิดการตั้งคำถามและแสดงความเห็นที่ซ่อนอยู่ในใจให้ออกมาได้โดยไม่ถูกปิดกั้น ทั้งจากกฎหมาย ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง (พ่อแม่ เพื่อน ที่ทำงาน) หรือขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ถึงแม้ว่าบางเรื่องที่เหล่า ‘แอคหลุม’ แสดงความคิดเห็นออกมา จะสุ่มเสี่ยง ล่อแหลม ก็ตาม
แม้ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่า การใช้งานทวิตเตอร์จะสร้างผลกระทบที่แปรเปลี่ยนไปแค่ไหนในอนาคต แต่การเลือกที่จะไม่แสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียอื่นๆ แต่หันมาใช้ทวิตเตอร์ ก็เพื่อหลีกหนีการจับตามองของ ‘อำนาจ’ บางอย่างของผู้ปกครอง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ระบบความสัมพันธ์ของสังคม หรือแม้กระทั่งรัฐหรือกฎหมาย
และหากทวิตเตอร์หนีไม่พ้นเงื้อมมือที่มองไม่เห็นเหล่านั้น บางทีก็คงต้อง ‘อพยพ’ กันอีกครั้ง แม้จะยังไม่รู้ว่าต้องอพยพไปที่ใดก็ตาม
Tags: เสรีภาพในการแสดงออก, แฮชแท็ก, ขบวนเสด็จ, แบนเมเจอร์, มิลเลนเนียล, ทวิตเตอร์, คนรุ่นใหม่