กลายเป็นประเด็นร้อนของโลก กับวาทะของเกรตา ธันเบิร์ก เด็กหญิงวัย 16 ปี นักกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เริ่มต้นจากการหยุดเรียนประท้วงเมื่อปีที่แล้ว กับการขึ้นพูดในงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสภาพภูมิอากาศที่จัดขึ้น ณ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ที่ 23 กันยายน ต่อหน้าผู้นำหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะประโยคที่เธอพูดว่า
“นี่มันผิดมากๆ ฉันไม่ควรอยู่ตรงนี้ ฉันควรได้กลับไปเรียนหนังสือ พวกคุณพรากความฝันและวัยเยาว์ของฉันไป ด้วยลมปากเปล่าของพวกคุณ ผู้คนกำลังเดือดร้อน กำลังจะตาย และระบบนิเวศของเรากำลังพังทลายลง เราอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ แต่สิ่งที่พวกคุณเอาแต่คุยกันมีแต่เรื่องเงิน นิยายเพ้อฝันว่าด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจ พวกคุณทำได้ยังไงกัน”
ประโยคนี้ ภาพข่าวทั้งแบบภาพนิ่งหรือวิดีโอ พร้อมเสียงในขณะที่เธอพูดที่เห็นถึงแววตา น้ำเสียง ความโกรธขึ้ง ดุดัน ถูกนำเสนอเผยแพร่ไปทั่วโลก ขณะเดียวกันมันก็นำไปสู่การถกเถียงกันของคนทั่วโลก และเป็นการถกเถียงที่มากกว่าเมื่อครั้งที่เกรตารณรงค์เรื่องโลกร้อนเสียอีก ในระดับผู้นำประเทศ นอกจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วยด้วยความประหลาดใจเพราะก่อนหน้านี้เขาแจ้งว่าจะไม่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ได้ทวีตถึงเกรตา ธันเบิร์ก ว่า
“เธอดูเหมือนเด็กผู้หญิงที่มีความสุขมากคนหนึ่งซึ่งกำลังเฝ้ารออนาคตที่เบิกบานและสดใส ดีใจที่ได้เจอเธอ!” ซึ่งเกรตาก็หยิบเอาข้อความนี้ไปใส่ใน Bio ของทวิตเตอร์ของเธอทันที
ทรัมป์ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นในการประชุม ประเด็นที่เกรตาพูด และสิ่งที่เขากล่าวบรรยายถึงเกรตานั้นก็ขัดแย้งกันกับภาพข่าวและคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ไปทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ก็มีการนำเสนอคลิปวิดีโอในช่วงเวลาที่ทรัมป์เดินผ่านหน้าเกรตาไป ที่ผู้คนในโซเชียลมีเดียวิพากษ์วิจารณ์และตีความกันไปอย่างหลากหลาย
หลังจากการพูดของเกรตา ยังไม่มีผู้นำประเทศใดออกมากล่าวถึงเกรตาหรือสิ่งที่เธอพูด แต่หลังจากที่มีข่าวว่าเธอและเด็กอีก 15 คนจากทั่วโลกยื่นฟ้องต่อองค์การสหประชาชาติว่า ประเทศอาร์เจนตินา บราซิล ฝรั่งเศส เยอรมนี และตุรกี ละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กจากการที่ไม่ลงมือทำอะไรกับปัญหาสภาวะโลกร้อน เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกฟ้อง ก็ออกมากล่าวว่า เกรตา ธันเบิร์กจะทำให้สังคมเป็นศัตรู มาครงให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า จุดยืนของธันเบิร์กสุดโต่งมากๆ และดูเหมือนจะทำให้สังคมเป็นตัวร้าย
สอดคล้องกับอีกกระแสเสียงที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้ ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายฝ่าย หลายความคิดเห็น ทั้งการสนับสนุน เห็นด้วยในสิ่งที่เธอทำและพูด การสนับสนุนและเห็นด้วยในเรื่องการลดภาวะโลกร้อนแต่ติติงในเรื่องท่าทีที่แข็งกร้าวและดุดันของเกรตา หรือแม้กระทั่งการกล่าวว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่เป็นไปตาม ‘ธรรมชาติ’ อยู่แล้ว การถกเถียงในประเด็นเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงแค่ในต่างประเทศ แต่ยังรวมไปถึงประเทศไทยอีกด้วย
หนึ่งในประเด็นที่มีการพูดถึงในช่วงแรกหลังจากที่คลิปวิดีโอการพูดของเกรตาออกมาก็คือ ท่าทีที่แข็งกร้าว ดุดันของเธอนั้นเป็นผลมาจากพฤติกรรมของเธอที่เคยถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น (Attention-deficit Hyperactivity Disorder: ADHD) รวมไปถึงอาการของแอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome) ซึ่งอยู่ในการวินิจฉัยเดียวกับออทิสติก แต่ความแตกต่างคือ เด็กแอสเพอร์เกอร์อาจจะมีระดับสติปัญญาสูงกว่าปกติ แต่มีพฤติกรรมซ้ำๆ หมกมุ่นในเรื่องบางเรื่อง และมีปัญหาในการเข้าสังคม จนบางครั้งอาจจะแสดงความก้าวร้าวออกมา
ทั้งเรื่องท่าทีที่ดุดัน แข็งกร้าว ไม่ประนีประนอม ที่ถูกโยงกับความเป็นเด็ก และถูกโยงไปกับ ‘ความเป็นห่วง’ ว่าท่าทีเช่นนี้จะเป็นการกีดกันผู้อื่นในการมีส่วนร่วมรณรงค์ปัญหาภาวะโลกร้อน หรือแม้กระทั่งการชี้ประเด็นเช่นเดียวกับ เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่บอกว่าเกรตานั้นสุดโต่งและทำให้สังคมกลายเป็นผู้ร้าย ถูกจุดประเด็นขึ้นมาและพุ่งเป้าไปที่ตัวบุคคลนั่นก็คือเกรตา ธันเบิร์ก ไม่ว่าจะด้วยความหวังดีที่พยายามจะอธิบายท่าทีที่เกิดขึ้นของเธอในการพูดครั้งนี้มีเหตุปัจจัยมาจากการภาวะที่เกิดจากการเป็นโรคและอาการความผิดปกติ การเป็นห่วงเป็นใยว่าจะไม่มีใครร่วมมือกับเธอด้วยท่าทีเช่นนี้ หรือแม้กระทั่งการมองว่าท่าทีเช่นนี้เป็นท่าทีที่ไม่น่าไม่สนับสนุนไม่ว่าท่าทีนี้จะเกิดด้วยเหตุปัจจัยใดก็ตาม
แต่ในขณะเดียวกันก็มีกระแสต้านกลับในประเด็นนี้ว่า การหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาทั้งเรื่องท่าที และเรื่องท่าทีที่เป็นผลพวงมาจากการเป็นโรคของเกรตาไม่ว่าจะด้วยความหวังดีหรือไม่หวังดีก็ตาม เป็นการลดทอนคุณค่าและลดทอนพลังในสิ่งที่เด็กผู้หญิงคนนี้ต้องการขับเคลื่อน ลดทอนทั้งตัวสารและประเด็นด้วยการเบี่ยงเบนไปสู่เรื่อง ‘พฤติกรรม’ มากกว่าจะมุ่งเน้นไปสู่การพิจารณาประเด็นหลักว่า เรื่องภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ และองค์กรระดับชาติ รัฐบาลในแต่ละประเทศได้กระทำอย่างสุดความสามารถในการแก้ปัญหานี้แล้วหรือยัง ตามคำกล่าวอ้างของเกรตา ธันเบิร์ก ที่โกรธขึ้งเพราะเธอและเยาวชนทั่วโลกว่า 1.4 ล้านคนที่ออกมารณรงค์เรื่องนี้มองว่า สิ่งที่รัฐบาลแต่ละประเทศทำนั้นยังไม่เพียงพอ และไม่เร่งด่วนพอ
การหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา … เป็นการลดทอนคุณค่าและลดทอนพลังในสิ่งที่เด็กผู้หญิงคนนี้ต้องการขับเคลื่อน ลดทอนทั้งตัวสารและประเด็นด้วยการเบี่ยงเบนไปสู่เรื่อง ‘พฤติกรรม’ มากกว่าจะมุ่งเน้นไปสู่การพิจารณาประเด็นหลักว่า เรื่องภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนหรือไม่
อีกทั้งยังมีการมองว่าการเบี่ยงประเด็นในครั้งนี้ ท่าทีและวิธีการของเกรตา ธันเบิร์ก ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นเพราะมันไม่ได้เป็นไปตามระบบระเบียบในแบบ ‘โลกการเมืองของผู้ใหญ่’ เพราะเธอไม่ได้เข้ามารณรงค์เรื่องโลกร้อนเพื่อนำไปต่อรองเรื่องกำแพงภาษี ไม่ได้เข้ามาทำงานตรงนี้เพื่อสร้างฐานการเมืองหรือรอรับรางวัล ไม่ได้ขึ้นมากล่าวด้วยถ้อยคำที่สวยงามหอมหวานแต่แล้วคนก็ลืม ไม่ใช้ใช้ระบบการเมือง การต่อรองแบบเดิมตามโลกทรรศน์ของผู้ใหญ่ แต่เธอแค่ต้องการเปลี่ยนโลกนี้ให้ทันท่วงทีก่อนที่มันจะสายเกินไป และนั่นจึงกลายเป็นจุดที่ทำให้เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใหญ่ ไม่ว่าในประเด็นเรื่องท่าที หรือการโต้แย้งว่าเกรตาสุดโต่งจนเกินไป
และในขณะเดียวกันการที่เกรตา ธันเบิร์ก กล่าวโจมตีตรงไปยังผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้คนในเจเนอเรชั่นรุ่นพ่อรุ่นแม่ ผู้ที่มีอำนาจออกนโยบายในแต่ละประเทศ ก็ทำให้ ‘ผู้ใหญ่’ เป็นเดือดเป็นร้อน และมีการโจมตีกลับ ไม่ว่าจะเป็นการชี้เป้าไปที่ท่าทีของเธอ การพยายามอธิบายว่าการเผาผลาญทรัพยากรเป็นธรรมชาติอันปกติของมนุษย์ นี่ไม่ใช่เรื่องโลกร้อนแต่มันคือความเป็นไปของโลกที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ หรือมนุษย์ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวสักหน่อยที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แม้กระทั่งการกล่าวอ้างว่าเยาวชนเจเนอเรชั่นของเกรตามีสิทธิ์อันใดที่จะได้โลกอันสมบูรณ์แบบ มนุษย์แต่ละรุ่นจำต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสังคมที่คนรุ่นก่อนทิ้งไว้ให้และต้องแก้ปัญหาเท่าที่พอจะทำได้ในเงื่อนไขนั้น การลุกขึ้นมากล่าวโทษคนเจเนอเรชั่นก่อนของเกรตาจึงไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องมากนัก
มีการวิเคราะห์ว่า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากผู้ใหญ่ คือการป้องกันตัวจากการถูกโจมตีและการกล่าวหาจากเด็กว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกเลวร้ายลงจากภาวะโลกร้อน และที่สำคัญคือยังไม่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วนอีกด้วย มันเป็นการสั่นคลอนภาวะความเป็นผู้ใหญ่ ที่เป็นผู้กำหนดความเป็นไปของสังคมอยู่ในขณะนี้ บทบาทของผู้ใหญ่ที่สังคมมักกำหนดให้เป็นผู้นำและเด็กต้องเดินตาม ว่าผู้ใหญ่เริ่มต้นเดินผิดทางและยังไม่พยายามที่จะแก้ไขให้ทันท่วงทีแต่ยังคงเดินต่อไป ในขณะที่เด็กนั้นพยายามทักท้วงและไม่อยากจะเดินตาม โดยเฉพาะในระดับผู้นำประเทศ การชี้เป้าเช่นนี้เท่ากับเป็นการบ่งบอกว่าผู้บริหารประเทศหรือผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายนั้นล้มเหลวในการทำงาน แก้ไข อีกทั้งยังไม่เห็นว่าทำไมเด็กๆ ถึงคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญที่สุดของโลก ที่ควรจะได้รับการขับเคลื่อนอย่างเร่วด่วน ทันท่วงที
มันเป็นการสั่นคลอนภาวะความเป็นผู้ใหญ่ ที่เป็นผู้กำหนดความเป็นไปของสังคมอยู่ในขณะนี้
ที่สำคัญการตอบโต้นั้นก็เป็นการตอบโต้ในแบบผู้ใหญ่ ที่ไม่ได้มุ่งตรงไปยังประเด็นสำคัญของเรื่อง แต่กลับมุ่งตรงไปยัง ‘เด็ก’ หรือตัวบุคคล โดยใช้ทั้งเรื่องท่าที ความเป็นเด็ก ความไม่รู้เรื่องนโยบายการบริหารประเทศ การขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ก่อนจะโยนไปสู่บทสรุปที่ว่าเด็กมีแต่ความต้องการ แต่ไม่รู้วิธีการและเงื่อนไขต่างๆ ที่จะนำไปสู่การบรรลุผลตามความต้องการนั้น และนั่นเป็นเรื่องของ ‘ผู้ใหญ่’ ที่ไม่ใช่ไม่ทำ ไม่เห็นถึงความสำคัญ แต่ความที่เป็นเรื่องของ ‘ผู้ใหญ่’ มันจึงมีกระบวนการที่เด็กไม่รู้ แง่มุมที่เด็กไม่รู้ หรือแม้กระทั่ง แนวคิด องค์ความรู้ที่เด็กไม่รู้และไม่ได้นึกถึงว่าเรื่องโลกร้อน ไม่ใช่แค่โลกร้อนแล้วต้องทำให้ไม่ร้อนเพียงอย่างเดียว
ที่สุดแล้ว การถกเถียงในประเด็นร้อนของโลกในตอนนี้ จึงกลับกลายมาเป็นการถกเถียงกันในเรื่องของเกรตา ธันเบิร์ก ในนามของเด็กวัย 16 ปีที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ มากกว่าจะกลับไปเถียงกันที่ประเด็นเรื่องโลกร้อน อันเป็นหลักใหญ่ใจความที่สำคัญที่สุดที่เธอนำเสนอ และของโลกใบนี้ในตอนนี้ เรื่องที่ควรจะเป็นประเด็นในการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน จึงกลายเป็นเรื่องประเด็นทางการเมืองที่ซับซ้อนไปด้วยการเล่นแง่ มากกว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติและการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
ก็คงเหมือนอย่างที่เกรตา ธันเบิร์กได้พูดไปว่า How Dare You “พวกคุณกล้าดียังไง” นั่นแหละ
ภาพ: NICHOLAS KAMM / AFP
Tags: โลกร้อน, เกรตา ธันเบิร์ก