เชื่อว่าในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ คำว่า Circular Economy หรือแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน น่าจะเป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีภาคธุรกิจที่เริ่มหันมาใส่ใจกับหลักการนี้มากขึ้น และแสดงออกถึงความตั้งใจนี้ในรูปแบบการดำเนินงานที่ยึดหลักการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตลอดวงจรการผลิต ต่อเนื่องไปถึงการบริโภค และวนกลับมาที่การนำมาใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้น
ด้วยกระบวนการคิดที่ต้องเริ่มตั้งแต่การวางโครงสร้างพื้นฐานและอาจต้องอาศัยการลงทุนในช่วงเริ่มต้นหรือช่วงปรับเปลี่ยน ทำให้ภาพลักษณ์ของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ผ่านมาถูกผูกโยงอยู่กับองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งมีเงินทุนมากพอที่จะปรับกระบวนการผลิตและจัดการกับทรัพยากร เพื่อให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
หนึ่งในองค์กรใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังสนใจในเรื่องของความร่วมมือกันซึ่งเป็นหัวใจที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องที่จับต้องได้และไม่ใช่แค่แนวคิด ก็คือ SCG ที่เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชนทุกระดับ นักวิชาการ และเอ็นจีโอ ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นกัน เพราะเชื่อว่าความรู้ใหม่ๆ และการนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับงานของแต่ละคนจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น
ภายในงานครั้งนี้จึงเป็นพื้นที่ของการหยิบยกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นมาพูดคุยกัน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น จนทำให้เกิดความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัตถุดิบ หรือปัญหาขยะที่ควรต้องหาโมเดลในการจัดการเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการนำเสนอแนวคิดจากอีกหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมุมมองความคิดจาก น้องลิลลี่ – ด.ญ.ระริน สถิตธนาสาร เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ที่ได้ร่วมพูดคุยในฐานะเยาวชนที่กังวลต่อสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้เพื่อช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความคาดหวังจากภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ปัญหาเหล่านี้
SCG นับเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดขององค์กรที่พร้อมจะขับเคลื่อนให้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นในสังคม แต่ทุกวันนี้ใช่ว่าจะมีแต่องค์กรใหญ่ที่เริ่มขยับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงนี้เท่านั้น เพราะธุรกิจขนาดกลางไปจนถึงขนาดเล็กอีกไม่น้อยเริ่มแสดงให้เห็นว่า การนำ 3 คอนเซ็ปต์หลักอย่าง Reduce หรือการลดการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต, Replace หรือการพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิมด้วยของใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ Reuse หรือ Recycle ที่ทำให้วงจรการหมุนเวียนครบลูปด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ สามารถเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรทุกระดับได้ ทั้งในไทยและต่างประเทศ
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นและยืนยันประโยคก่อนหน้า เราขอชวนคุณไปทำความรู้จักกับสตาร์ทอัพไอเดียเจ๋งของคนไทย บริษัทใหญ่ข้ามชาติที่มีแผนกความยั่งยืนโดยเฉพาะ และบริษัทใหญ่ที่เป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพชีวิตคนไทยมายาวนาน แม้ว่าทั้ง 3 แห่งจะมีสินค้าและบริการแตกต่างกัน แต่ต่างมีจุดร่วมเดียวกันในเรื่องของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
Moreloop
สโลแกนที่ว่า Make Circular Economy a Reality ซึ่ง 2 ผู้ก่อตั้ง Moreloop คิดขึ้นเป็นเหมือนกระบอกเสียงที่ช่วยย้ำว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องที่ทำได้จริง สตาร์ทอัพไทยแท้ที่เป็นการรวมตัวกันของทายาทรุ่นที่ 2 ของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป กับอดีตนักการเงิน สร้างธุรกิจที่เกิดขึ้นจากความรักในธุรกิจสิ่งทอกับความมุ่งมั่นในการรักษาสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของโรงงานรับผ้าคุณภาพดีมือสอง หรือผ้าที่เคยอยู่ในสถานะผ้าเหลือจากหลายโรงงาน มาวางขายบนแพลตฟอร์มใหม่ เพื่อเชื่อว่ายังมีคนที่ต้องการผ้าเหล่านี้ และส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการผ้าในปริมาณไม่มาก
แนวทางของ Moreloop ไม่เพียงแต่ช่วยชุบชีวิตให้กับผ้าส่วนเกินจากการผลิตที่เคยถูกทิ้งอย่างไร้มูลค่า ให้กลายเป็นสินค้าใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรการผลิตเพิ่ม และขายได้ในมูลค่าที่ใกล้เคียงเดิม
IKEA
ความจริงจังของแบรนด์ระดับโกลบอลอย่าง IKEA ยืนยันได้จากการตั้งหน่วยงานภายในที่รับผิดชอบเรื่องความยั่งยืนโดยเฉพาะ เพราะ IKEA เชื่อว่า ชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีสมดุลระหว่างความเจริญเติบโตทางธุรกิจและการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม โดยอยู่บนพื้นฐานของการรักษาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
ธุรกิจจากสวีเดนมองว่าการเป็นผู้นำในธุรกิจของตัวเองเป็นประตูที่นำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความยั่งยืนที่เป็นจริงได้ การทำธุรกิจด้วยแนวคิดที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเศรษฐกิจหมุนเวียนของ IKEA จึงไม่เพียงแต่เป็นนโยบายภาพรวมเท่านั้น แต่ยังลงลึกถึงรายละเอียดและพยายามที่จะสร้างความยั่งยืนให้เกิดในทุกส่วน
เห็นได้จากคอลเล็กชัน Doi Tung ของ IKEA ที่ทำงานร่วมกับโครงการพัฒนาดอยตุงของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งดีไซเนอร์ของแบรนด์ได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางไปเที่ยวเชียงราย และนำมาคิดต่อจนกลายเป็นโปรเจ็กต์ที่เป็นความร่วมมือกันข้ามประเทศ เพื่อผลิตสินค้าสำหรับวางขายใน IKEA ทั่วโลกผ่านกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนและเป็นผลดีต่อชุมชน เพราะ IKEA มองว่า การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือกันจากหลายส่วน เพื่อนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์แบบไม่ทำร้ายโลก
SCG
SCG เป็นตัวอย่างขององค์กรขนาดใหญ่ที่มองเรื่องแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปไกลกว่าแค่การผลิตในบริษัท
จากแนวคิด Reduce, Replace และ Reuse ที่เป็นหลักการพื้นฐานของเศรษฐกิจหมุนเวียน SCG เปลี่ยนแนวคิดให้เป็นรูปธรรมด้วยหลากหลายโปรเจ็กต์ที่แบ่งออกเป็นความร่วมมือเพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน ความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาขยะในทะเล ความร่วมมือเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น และความร่วมมือเพื่อบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม
โดยในส่วนของความร่วมมือเพื่อธุรกิจที่ยั่งยืนนั้น SCG ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายกับองค์กรระดับโลกและระดับประเทศ เพื่อนำแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมาปรับใช้ และได้ผลออกมาเป็นโครงการที่น่าสนใจอย่างการร่วมกับกลุ่ม Circular Economy in Cement Industry ที่ SCG เป็นองค์กรผู้ร่วมก่อตั้งกับ 14 องค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การผลิต การติดตั้ง จนถึงการนำของเสียที่เหลือกลับมาหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้ได้ร่วมกับลูกค้าแก้ปัญหาการเกิดขยะ เพื่อเป้าหมายที่จะไม่มีขยะเกิดขึ้นจากการทำโครงการในอนาคต, การทำโปรเจ็กต์ร่วมกับ Bill & Melinda Gates Foundation เพื่อทำต้นแบบระบบสุขาปลอดเชื้อที่สามารถนำกากของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ในลักษณะสารปรับปรุงดินได้ หรือการจับมือกับ IKEA ในการสร้างศูนย์รีไซเคิล โดยช่วยออกแบบวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อประกอบการใช้งานในศูนย์
ด้านความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาขยะในทะเล มีทั้งความร่วมมือระดับประเทศและระดับโลก ซึ่ง SCG เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง Alliance to End Plastic Waste เครือข่าย 30 บริษัทชั้นนำระดับโลก ที่นำความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ รวมถึงทรัพยากรของบริษัทมาพัฒนาและสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยลดและจัดการปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะขยะพลาสติกในทะเล ขณะที่ในด้านความร่วมมือเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ทาง SCG ได้ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่มประมงพื้นบ้าน ดำเนินโครงการบ้านปลา เปลี่ยนท่อ PE100 ที่เหลือจากกระบวนการทดสอบขึ้นรูป และขยะพลาสติกให้เป็นบ้านปลา ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณและความหลากหลายของสัตว์น้ำในทะเลชายฝั่ง ขยายต่อไปถึงการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับกลุ่มประมงพื้นบ้านด้วย
ในเรื่องของความร่วมมือเพื่อบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม SCG ยังร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการ Eco World Class with Circular Economy Concept มุ่งกำจัดมลพิษจากวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น และแอช เมลติ้ง (Gasification with Ash Melting) จากญี่ปุ่น เป็นแห่งแรกในอาเซียน ซึ่งพร้อมใช้ภายในสิ้นปี 2562
การที่ธุรกิจต่างๆ มีจุดร่วมเดียวกันในเรื่องนี้ คือก้าวแรกของความร่วมมือกันที่จะเป็นกุญแจในการผลักดันให้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้ในองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ หรือแม้แต่ความเข้าใจจากผู้บริโภคเอง เพราะแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่สามารถเกิดขึ้นด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือคนเพียงไม่กี่คน
และหากคำว่า เทรนด์ หมายถึงเรื่องใดๆ ที่เป็นที่นิยมในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่แฝงอยู่ในหลายธุรกิจทุกวันนี้และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ น่าจะเป็นตัวแปรที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ใช่แค่เทรนด์ที่ผ่านมาผ่านไปอย่างรวดเร็ว และความทุ่มเทของคนหลายกลุ่มในหลายองค์กรเป็นบทพิสูจน์ว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ใช่แค่ไอเดียสวยหรู แต่เป็นแนวปฏิบัติที่สามารถทำได้จริงเมื่อมีส่วนผสมของทั้งความตั้งใจและความเข้าใจ
Tags: IKEA, Circular Economy, SCG, เอสซีจี, SD Symposium 10 Years, Moreloop