ราวปลายปี 2017 ไคล์ฟ เดวิส ประธานเจ้าของอาณาจักรเพลงเครือโซนี่จัดงานเลี้ยงก่อนหน้าการประกาศรางวัลแกรมมี่ รางวัลยักษ์ใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมดนตรีของอเมริกา และเชื้อเชิญให้ศิลปิน โปรดิวเซอร์ระดับโลกมาร่วมงานปาร์ตี้ด้วยกัน และมันได้กลายเป็นชนวนแรกของอัลบั้มลำดับที่ 6 ในชีวิตของหญิงสาวเจ้าของเพลงหม่นเศร้าแต่เราก็ยังรักที่จะฟังอย่าง ลาน่า เดล เรย์ ในชื่ออัลบั้มสุดเหวอ Norman Fucking Rockwell
แล้วใครคือนอร์แมน (ฟัคกิ้ง) ร็อกเวลล์คนนี้กัน เขาเกี่ยวข้องอย่างไรกับศิลปินสาวเสียงเศร้า ร็อกเวลล์นั้นเป็นศิลปินชื่อดังที่มักวาดภาพชีวิตอันแสนสามัญของชาวอเมริกัน งานภาพของเขามักสะท้อนถึงวัฒนธรรมกระแสหลักในยุค 40s (โดยเฉพาะ Freedom from Want ที่ถูกหนัง Deadpool 2 เอามาล้อเลียนเป็นโปสเตอร์กวนโอ๊ยแห่งปี) “เพราะว่าเวลาฉันเขียนเพลง ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังระบายความคิดให้ออกมาเป็นสิ่งที่จับต้องมีอยู่จริงให้ได้ เพราะฉันเป็นพวกต้องทำให้เห็นภาพให้ชัด” เดล เรย์อธิบายที่มาของชื่ออัลบั้ม ที่มาพร้อมภาพปกสุดอลังการที่ควบรวมเอาวัฒนธรรมป๊อปอเมริกาให้มาอยู่ด้วยกันในภาพเดียว ไม่ว่าจะการจัดแสงและท่าทางราวกับโปสเตอร์หนังยุคฮอลลีวูดคลาสสิก ธงชาติด้านหลัง ตัวอักษรแบบการ์ตูนคอมิกแสดงชื่ออัลบั้ม แถมชวนดุค นิโคลสัน หลานชายแท้ๆ ของนักแสดงดังอย่าง แจ็ค นิโคลสัน มาขึ้นปกด้วยกันอีกต่างหาก
อาจจะเช่นเดียวกับศิลปินอีกหลายๆ คน ความสำเร็จของอัลบั้ม Lust for Life (2017) ทำให้เดล เรย์ยังหาทางตัวเองไม่ได้ว่าเธออยากทำเพลงแบบไหนในอัลบั้มต่อไป และปล่อยให้ตัวเองเป็นเสมือนภาชนะว่างเปล่าเพื่อรองรับความคิดใหม่ๆ ที่อาจแวบเข้ามาในความคิด และสิ่งใหม่ๆ นั้นปรากฏตัวขึ้นในงานเลี้ยงของเดวิส ในนามของ แจ็ค อันโตนอฟฟ์ หนุ่มแว่นหน้าตาอ่อนโยนผู้ดำรงตำแหน่งฟรอนต์แมน Bleachers วงอินดี้ป๊อป และยังร่วมโปรดิวซ์เพลงให้ศิลปินใหญ่ๆ อีกหลายคนอย่าง ลอร์ด (อัลบั้ม Melodrama) และเทย์เลอร์ สวิฟต์ (อัลบั้ม 1989, reputation)
“แจ็คเดินมาบอกฉันว่า เราน่าจะลองทำเพลงด้วยกันดูนะ” เดล เรย์เล่า “ฉันบอกเขาไปแค่ว่ามีเพลงที่เขียนเสร็จแล้วแค่สองสามเพลงเท่านั้นเองนะคุณ”
นั่นเองที่เป็นปฐมบทของอัลบั้มล่าสุดของเดล เรย์ ที่สร้างแรงสะเทือนอย่างรุนแรงหลังปล่อยซิงเกิลแรก Mariners Apartment Complex เมื่อเดือนกันยายน 2018 กับทำนองเพลงหม่นเศร้าและเสียงร้องกระซิบแผ่วของเธอ เรื่องเบื้องหลังของตัวเพลงนั้นทั้งโรแมนติกและชวนฝัน เดล เรย์เขียนเพลงนี้หลังเธอออกเดินคู่กับชายหนุ่มในคืนเงียบเชียบคืนหนึ่ง “เราหยุดเดิน แล้วเขาก็ยกมือโอบรอบบ่าฉัน บอกว่า ‘ผมว่าเราไปกันได้ดีเพราะเรามีบางอย่างเหมือนกัน เราทั้งคู่ต่างพังทลาย’ และฉันคิดว่านั่นน่ะเป็นสิ่งที่น่าเศร้าที่สุดที่ฉันเคยได้ยินมาเลย ฉันตอบเขาไปว่า ‘แต่ฉันไม่ได้เศร้านี่ ฉันไม่รู้ว่าทำไมคุณถึงคิดว่าฉันเหมือนกับคนในแง่นั้น ฉันว่าฉันสบายดีออกนะตอนนี้น่ะ'” ประโยคนั้นทำให้ชายหนุ่มอารมณ์เสีย ตัวเดล เรย์เองกลับบ้านมาเขียนเพลงที่หม่นเศร้า ทว่าก็ให้ความหวังและแสงสว่างเรื่อเรืองบางอย่าง You lose your way, just take my hand. You’re lost at sea, then I’ll command your boat to me again กับจังหวะดนตรีบัลลาดช้าเชือน กล่อมด้วยเสียงเปียโนและกีตาร์โปร่งเบาบาง
และไม่กี่วันถัดจากนั้น เดล เรย์ก็ช็อกคนฟังกัน (หู) ตาตั้งอีกครั้งด้วย Venice Bitch ที่มีความยาว 9 นาทีครึ่ง (!!) ที่เดล เรย์ยังคงแนวโฟล์กของเธอไว้เหมือนเดิม แล้วค่อยบิดไปสู่โลกของไซคีเดลิกป๊อปอันน่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งนับเป็นการเดินทางอันกล้าหาญของตัวเธอเองในฐานะศิลปิน ในการจะกรุยหนทางดนตรีใหม่ๆ โดยยังไม่ละทิ้งกลิ่นอายความเป็นตัวเองแบบเดิมไป แน่นอนว่าด้วยความยาวเกือบสิบนาทีของมันไม่วายทำให้สตูดิโอและทีมงานขวัญผวาว่าแล้วใครจะมานั่งฟังกันล่ะ! “พวกเขาบอกฉันว่า ‘สิบนาทีเนี่ยนะ ล้อกันเล่นหรือเปล่าเนี่ย ช่วยไปทำให้มันเหลือสักสามนาทีแบบเพลงป๊อปทั่วไปไม่ได้รึไง’ ฉันก็เลยต้องบอกไปว่า ‘เอาน่ะ พอฤดูร้อนสิ้นสุดลง คนเขาก็อยากขับรถเล่นไปพลางฟังเพลงยาวสิบนาทีที่มีเสียงกีตาร์ไฟฟ้าไปพลางแหละน่า'”
และหากว่าซิงเกิลที่สองทำสถิติเพลงที่มีความยาวที่สุดในชีวิตของเดล เรย์ ซิงเกิลถัดมาที่เธอปล่อยก็ทำลายสถิติชื่อเพลงที่ยาวที่สุดด้วยชื่อ (ที่ถูกแซวอยู่เนืองๆ ว่านี่ชื่อเพลงหรือเนื้อเพลงทั้งท่อนกันคะพี่) hope is a dangerous thing for a woman like me to have – but i have it ที่เป็นแทร็กปิดท้ายอัลบั้ม โดยเธอใช้เสียงเปียโนเป็นเครื่องดนตรีหลักของเพลง และเนื้อเพลงเปราะบางดิ่งไปในห้วงอารมณ์ราวกับเป็นบทกวีชิ้นสำคัญของเดล เรย์ กับบางท่อนอย่าง I’ve been tearing around in my fucking nightgown 24/7 Sylvia Plath ที่เล่าถึงความรู้สึกอันแตกสลายของการถูกรักและการไม่ถูกรัก อาการติดแอลกอฮอล์ ตลอดจนชื่อเสียงที่ถาโถมเข้าใส่เธอจนตั้งตัวแทบไม่ติดในหลายปีให้หลัง รวมทั้งอ้างอิงถึง ซิลเวีย แพลธ กวีหญิงคนสำคัญจากยุค 50s ผู้จากโลกนี้ไปด้วยการฆ่าตัวตาย
และดูเหมือนว่าชื่อเสียง ความรักและความเปราะบางของเธอในช่วงชีวิตที่ผ่านมาจะเป็นธีมหลักของอัลบั้มนี้ เพราะมันยังเป็นเนื้อหาสำคัญในเพลง Fuck it, I love you ที่เธอเล่าถึงการใช้ชีวิตท่ามกลางชื่อเสียงและสายตาของสื่อมวลชนที่บีบเค้นให้เธอมีรูปแบบชีวิตต่างไปจากคนธรรมดา จนใครต่อใครที่อยู่ใกล้ตัวเธอทนไม่ไหว บางคนเงียบหาย บางคนเลือกจะหนีหาย เดล เรย์เล่าผ่านเนื้อเพลงชวนเศร้าทว่าก็เซ็กซี่เป็นบ้าอย่าง And if I wasn’t so fucked up, I think I’d fuck you all the time (กรี๊ด) หากแต่สิ่งที่นักวิจารณ์พากันยกป้ายโหวตเพลงนี้โดยพร้อมเพรียงกันคือบรรยากาศล่องลอยเพ้อคลั่ง หากก็ชวนหลงใหลของเมืองใหญ่อย่างแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นสถานที่หลักในเนื้อเพลง ตามมาด้วย The Greatest ที่ราวกับเป็นภาคต่อของแทร็กก่อนหน้า (แถมเธอยังทำมิวสิกวิดีโอของสองแทร็กนี้ต่อกันจนเป็นเอ็มวีเรื่องเดียว กับความยาว 9 นาที 19 วินาที) เพราะเธอเล่าถึงความรักหนหลังที่หอมหวานแต่ก็จากไปอย่างไม่อาจหวนคืน ทั้งยังย้ำชัดให้เห็นถึงวิถีชีวิตในเมืองใหญ่อย่างลอสแอนเจลิสว่าสำหรับเธอนั้นมันอาจไม่ใช่สถานที่ที่หย่อนใจได้นัก (LA’s in flames, it’s getting hot) จนอดสงสัยไม่ได้ว่า ที่ผ่านมานั้นเธอเผชิญหน้ากับด้านมืดของชื่อเสียงมากเพียงใดกัน
“ฉันเคยถูกแฟนเพลงขโมยรถด้วยนะ” เดล เรย์เล่าประสบการณ์หลอนอย่างขมขื่น “แถมยังมีเรื่องบ้าๆ อีกตั้งมากตั้งมาย เคยโดนคนบุกรุกเข้าบ้าน -ทั้งที่ก็ล็อคประตูแล้วนะ- แล้วก็ไม่รู้ว่าพวกเขาแม่งอยู่ตรงไหนแน่ จนฉันต้องเรียกตำรวจน่ะ
“การมีชื่อเสียงบางทีมันทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวด้วยซ้ำไป” เธอว่าอย่างตรงไปตรงมา “การเป็นคนเดียวในห้องที่ใครต่อมิใครก็จำหน้าได้น่ะน่าอึดอัดจะตายไป ช่วงสองสามปีหลังที่ผ่านมานี้ ฉันออกเดินทางเยอะมาก ไปคลับ ไปบาร์ ขึ้นโชว์ตามงานแสดง สถานที่เงียบๆ ที่ฉันพอจะมีได้คือหลังประตูสักบาน ยืนเฉยๆ แล้วไม่บอกใครว่าฉันมาถึงแล้ว และอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะรู้สึกผ่อนคลายค่อยเข้าไปข้างใน ไม่ต้องมีใครมาทำอะไรพิเศษๆ ให้ด้วยนะ ฉันอยากนั่งตรงไหนฉันก็จะนั่งเองแหละ มันรู้สึกเหมือนได้กลับไปเป็นตัวเองอีกครั้ง สักเล็กน้อยก็ยังดี”
อย่างไรก็ดี แคลิฟอร์เนียและลอสแอนเจลิสดูจะเป็นตัวละครหลักใน Norman Fucking Rockwell เพราะเธออุทิศแทร็กลำดับที่ 9 ของอัลบั้มให้เมืองนี้ล้วนๆ ด้วยเพลง California เนื้อเพลงปลอบประโลมหัวใจแต่ก็ยังคงน้ำเสียงหม่นเศร้าอันเป็นเอกลักษณ์ และอาจจะเป็นภาพแทนที่เธอมองดูความสำเร็จแของตัวเองในอดีตและอนาคตด้วยก็เป็นได้ (You’re scared to win, scared to lose. I’ve heard the war was over if you really choose)
เพลงก่อนสุดท้ายคือ Happiness is a butterfly ที่ยังคงอวลกลิ่นหม่นเศร้าล่องลอย Happiness is a butterfly. Try to catch it, like, every night. It escapes from my hands into moonlight ที่ยังคงเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันเปราะบางของเธอกับคนรักในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปยังงานเลี้ยงของเดวิส หากเขาได้ฟัง Norman Fucking Rockwell ของเดล เรย์แล้วคงพึงใจไม่น้อยทีเดียว ที่งานปาร์ตี้ที่เขาจัดเมื่อปลายปีนั้นได้กลายเป็นต้นกำเนิดบทเพลงชิ้นสำคัญอีกชิ้นของเดล เรย์ การได้ร่วมงานกับอันโตนอฟฟ์ -ที่พิสูจน์ตัวเองอีกครั้งว่าเขานั้นมักจะบิดพลิ้วและปรับแต่งไปตามศิลปินที่ร่วมงานด้วยอย่างยอดเยี่ยมเสมอ- คือการเปิดประตูบานสำคัญที่ทำให้โลกได้เห็นว่า เดล เรย์คือศิลปินหญิงคนสำคัญของยุคนี้อย่างแท้จริง ไม่ว่าเธอจะหยิบจับเพลงแนวไหน กลิ่นอายความเป็นตัวเธอก็ยังอวลและชัดเจนเสมอ นั่นคือทั้งงดงาม สง่าและเศร้าสร้อยไปพร้อมๆ กัน
Tags: Lana Del Rey, Norman Fucking Rockwell