ข่าวคราวเกี่ยวกับคลื่นความร้อนในปีนี้ยังมีมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์กำลังเฝ้าติดตามคลื่นความร้อนทางทะเล (marine heat wave) ที่เกิดขึ้นทางชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา เพราะหวั่นเกรงว่าจะทำลายระบบนิเวศ เช่นเดียวกับเมื่อห้าปีก่อนที่มีการแผ่ขยายของน้ำอุ่นในมหาสมุทรที่ชื่อ ‘เดอะ บล็อบ’ 

คลื่นความร้อนทางทะเลเป็นเหตุการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำอุ่นขึ้น 90% จากการตรวจวัดครั้งก่อนหน้านี้ติดต่อกันอย่างน้อย 5 วัน ปีนี้อุณหภูมิผิวน้ำสูงขึ้นกว่าปกติ 2.7 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนทางทะเล (marine heat wave) จนทำให้นักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NOAA เกรงว่าจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศเช่นเดียวกับครั้งก่อน

ในปี 2014 คลื่นความร้อนทำให้อุณหภูมิในมหาสมุทรสูงกว่าปกติ 3.9 องศาเซลเซียส จนสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศของชายฝั่งตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น การกลับมาของลูกปลาแซลมอนที่น้อยลง วาฬหลังค่อมที่ว่ายน้ำเข้าใกล้ฝั่งมากขึ้นจนไปติดกับอุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำ สิงโตทะเลเกยตื้นที่ชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย เกิดปรากฏการณ์น้ำเขียวจากการแพร่พันธุ์ของสาหร่ายเซลล์เดียว ซึ่งส่งผลต่อการจับปูและกุ้งตามแนวมหาสมุทรแปซิฟิก

แอนดรูว์ ไลซิก นักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาระบบติดตามคลื่นความร้อนของ NOAA ระบุว่า ความอุ่นจากอลาสกาที่แผ่ขยายมายังแคลิฟอร์เนียในปีนี้เป็นคลื่นความร้อนทางทะเลที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในรอบ 40 ปี และเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า คลื่นความร้อนทางทะเลทางเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก 2019 (Northeast Pacific Marine Heatwave of 2019)

สาเหตุของคลื่นความร้อนทางทะเลมาจากแบบแผนของความกดอากาศต่ำ ทำให้ลมซึ่งทำให้ผิวน้ำเย็นอ่อนกำลังลงกว่าปกติ แต่ก็ไม่ทราบแน่ชัดว่า ความกดอากาศต่ำเกิดขึ้นได้อย่างไร มีความเป็นไปได้หลายอย่าง ทั้งการเคลื่อนที่ของโลกผิดปกติ น้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้น หรือเกิดจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจากฝีมือมนุษย์

ไลซิกกล่าวเมื่อวันที่ 5 กันยายนว่า มีเพียงเวลาเท่านั้นที่บอกได้ว่า คลื่นความร้อนนี้จะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศเหมือนกับปี 2014 หรือไม่ ถ้าความกดอากาศต่ำเคลื่อนที่ และลมกำลังแรงขึ้น คลื่นความร้อนอาจจะแตกออกได้ อย่างไรก็ตาม หากลมยังอ่อนและน้ำอุ่นยังไหลไปกระทบชายฝั่ง ก็อาจส่งผลกระทบแบบเดียวกัน

 

ที่มา:

Tags: , , , , , , ,