28 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา มีรายงานเกี่ยวกับการเรียกเข้าพบและการเตรียมดำเนินคดีกับบุคคลอย่างน้อย 3 คน ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิชาการ 2 คน ได้แก่ ‘รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์’ อดีตอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ‘สฤณี อาชวานันทกุล’ นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน ส่วนอีกคน คือ ‘ยุทธเลิศ สิปปภาค’ ผู้กำกับภาพยนตร์
โดยทั้งสามคนกระทำการในลักษณะเดียวกันคือ “แสดงความคิดเห็น” ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการทำหน้าที่ของศาลในคดีการเมือง ซึ่งมีทั้งผู้ที่วิจารณ์ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง และผู้ที่วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีรายละเอียดดังนี้
27 สิงหาคม 2562 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกจดหมายเชิญ รศ.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงจากการโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ในวันที่ 30 สิงหาคม 2562
วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญอย่างไม่เหมาะสม ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 32 ส.ส. ปมหุ้นสื่อแต่ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ น่าจะเกินคำว่า ‘ด้าน’ เสียแล้ว”
ซึ่งการวิจารณ์ดังกล่าวเป็นการมองเชิงเปรียบเทียบกับการวินิจฉัยให้ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งที่ธนาธรก็โดนข้อหาเดียวกับส.ส. อีก 32 คน ของพรรคร่วมรัฐบาล แต่ผลของการวินิจฉัยกลับต่างกัน โดยศาลอ้างเหตุผลว่า เนื่องจากคดีดังกล่าวไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการไต่ส่วนข้อเท็จจริง ทำให้ไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัย ต่างกับธนาธรที่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งไต่ส่วน
28 สิงหาคม 2562 สฤณี อาชวานันทกุล ได้รับหมายเรียกเข้าให้การในฐานะผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาล จากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เนื่องจากการเผยแพร่บทความ “อันตรายของภาวะ ‘นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน’ (อีกที) กรณีหุ้นสื่อของผู้สมัครส.ส.” ทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และต้องเข้าให้การในวันที่ 9 กันยายน 2562
โดยบทความดังกล่าววิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลในการตีความกฎหมายเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. กรณีบุคคลนั้นเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ เพราะที่ผ่านมามีการตีความกฎหมายโดยมุ่งแต่ตัวบทโดยมิได้ดูสาระสำคัญว่า บุคคลที่ถูกกล่าวหานั้น โดยเนื้อแท้เป็นผู้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนจริงหรือไม่ ยกตัวอย่าง กรณีศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง วินิจฉัยให้ภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ สกลนคร เขต 2 ขาดคุณสมบัติ แม้จะยืนยันว่า จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนก่อสร้างโดยใช้แบบฟอร์มครอบคลุมกิจการหลายอย่างรวมทั้งสื่อสารมวลชนโดยไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อจริงก็ตาม
ซึ่งการตีความกฎหมายดังกล่าวได้ถูกกล่าวถึงครั้งแรกโดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าเป็นภาวะนิติศาสตร์นิยมล้นเกิน หรือ ตีความตัวบทกฎหมายโดยเคร่งครัดแต่มิได้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย เป็นการบังคับใช้กฎหมายแต่ไม่เกิดความเป็นธรรม
28 สิงหาคม 2562 ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือ ผู้กองปูเค็ม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า “คำเตือนถึงยุทธเลิศและฝูงซอมบี้ ผมจะแจ้งความดำเนินคดี ยุทธเลิศ ทวิตหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ ตามสูตรเดิม 1+10 ยุทธเลิศ + 10 ซอมบี้” โดยที่มาของการไปแจ้งความดำเนินคดีมาจาก ข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัวของยุทธเลิศ สิปปภาค ซึ่งโพสต์ว่า “สงสัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญ เสือกอะไรกับประชาชนก็ได้เหรอ?” อันเกี่ยวเนื่องมาจากกรณีศาลรัฐธรรมนูญเรียก ‘พ่อจอห์น วิญญู’ เข้าพบ
ความผิดฐานดูหมิ่นศาลและละเมิดอำนาจศาลมุ่งคุ้มครอง ‘ความเป็นธรรม’ ในการพิจารณาคดีมากกว่าการรักษาเกียรติของศาล
กฎหมายที่เกี่ยวกับการดูหมิ่นศาลและการละเมิดอำนาจมีทั้งประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 198 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป วิ.แพ่ง) มาตรา 30 ถึง 33 รวมถึงยังอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ( พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ) มาตรา 38 และ 39
โดยถ้าดูจากองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายจะพบว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลและดูหมิ่นศาลมีเจตนาจะป้องกันการขัดขวางรบกวนการพิจารณาหรือพิพากษาคดีของศาล เพื่อความสงบเรียบร้อยและเที่ยงธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของศาล
เว้นแต่ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ ที่เพิ่มเติมเรื่อง ห้ามการวิจารณ์คําสั่งหรือคําวินิจฉัยคดีที่กระทําโดยไม่สุจริตและใช้ถ้อยคําหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย เข้าไป ซึ่งทำให้นิยามและขอบเขตการละเมิดอำนาจศาลเฉพาะของศาลรัฐธรรมนูญกว้างกว่ากฎหมายอื่นที่บังคับใช้กับศาลยุติธรรม
ดูหมิ่นศาลโทษแรง จำคุกสูงสุด 7 ปี ละเมิดอำนาจโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน
หากไปดูบทลงโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการดูหมิ่นศาลและการละเมิดอำนาจ จะพบว่า ความผิดฐานดูหมิ่นศาลตามกฎหมาย ป.อาญา มีเพดานโทษสูงสุด คือ โทษจำคุก 1 ถึง 7 ปี 2,000-14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดถัดมาคือ ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามตามกฎหมาย ป.วิ.แพ่ง ที่ระบุว่า หากบุคคลใดละเมิดอำนาจศาลใดให้ศาลนั้นมีอำนาจสั่งลงโทษ คือ ไล่ออกจากบริเวณศาลช่วงเวลาที่ศาลนั่งพิจารณา หรือ ลงโทษให้ผู้กระทำผิดจำคุกได้ไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนโทษจำคุกที่เบาที่สุด แต่มีโทษปรับสูงที่สุดเป็นของ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ ที่ระบุว่า บุคคลใดละเมิดอำนาจศาล ให้ศาลมีอำนาจตักเตือน ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประเทศอังกฤษเตรียมยกเลิกคดี ‘ดูหมิ่นวิจารณ์ศาล’ เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ
สำนักข่าว The People ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับคดีละเมิดอำนาจศาลในอังกฤษ โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปที่ระบุว่า การที่ศาลอังกฤษมีอำนาจแทรกแซงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อที่อาจกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมนั้นไม่ใช่สิ่งที่สอดคล้องกับความจำเป็นของสังคมอย่างยิ่งยวดขนาดที่จะต้องได้รับความสำคัญเหนือประโยชน์สาธารณะว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ทำให้อังกฤษจึงต้องออกกฎหมายใหม่ (Contempt of Court Act 1981) เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป โดยกำหนดยกเว้นความผิดกรณีสื่อเผยแพร่เนื้อหาที่อาจกระทบต่อการพิจารณาคดีไว้สองกรณีคือ กรณีเป็นการรายงานที่ถูกต้องและเป็นธรรมโดยสุจริตถึงกระบวนการพิจารณาคดีของศาล และกรณีข้อมูลที่เผยแพร่นั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์นั้นต้องมีน้ำหนักความสำคัญเหนือยิ่งกว่าปัจจัยที่จะก่อให้เกิดความลำเอียง หรืออคติต่อคู่ความในคดี
ส่วนกรณีการดูหมิ่นศาลให้เสียหายจนสาธารณะเสื่อมศรัทธานั้น (scandalising) พบว่า กฎหมายไม่ได้มีการบังคับใช้มาเกือบศตวรรษ (ครั้งสุดท้ายที่มีการเอาผิดตามความผิดนี้คือเมื่อ 1931) คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายของรัฐสภาอังกฤษจึงศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกความผิดฐานดูหมิ่นศาล และมีรายงานสรุปในปี 2012 แนะนำให้ ‘เลิก’ ความผิดนี้เสีย
จากรายงานสรุปของคณะกรรมธิการฯ พวกเขามองว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของศาล เนื่องจากช่วยเปิดช่องให้มีการอภิปรายถกเถียงถึงข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และพวกเขาไม่เชื่อว่า การลงโทษทางอาญากับการแสดงความเห็นที่ไม่เหมาะสมคือคำตอบที่ดี
Tags: โกวิท วงศ์สุรวัฒน์, สฤณี อาชวานันทกุล, ละเมิดอำนาจศาล, ดูหมิ่นศาล, ยุทธเลิศ สิปปภาค