อินสตาแกรมเปิดตัวเครื่องมือการตั้งค่าสถานะที่ออกแบบมาเพื่อต่อสู้กับ ‘ข่าวปลอม’ เปิดตัวครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เครื่องมือนี้จะแจ้งเตือนไปยังผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งเป็นบุคคลที่สาม ผู้ใช้สามารถตั้งค่าสถานะเนื้อหาได้โดยแตะเมนูสามจุดที่มุมบนขวา กดปุ่มว่า ‘ไม่เหมาะสม’ พร้อมหมายเหตุ ‘ข้อมูลเท็จ’ หากโพสต์นั้นถูกพิจารณาว่าผิด ข้อมูลจะไม่ถูกลบ แต่จะถูกลดระดับและจะซ่อนออกจากแท็บสำรวจและแฮชแท็ก
อดัม มอสเซอรี ผู้บริหารอินสตาแกรม เขียนถึงการเปิดตัวเครื่องมือเพื่อต่อสู้กับเฟคนิวส์ในทวิตเตอร์ของเขาว่า “การสร้างข้อมูลเท็จเป็นปัญหาที่ผมใช้เวลากับมันเป็นอย่างมาก ผมภูมิใจที่ได้ทำสิ่งนี้ เริ่มต้นในวันนี้ ผู้คนสามารถแจ้งให้เราทราบหากพวกเขาเห็นโพสต์บนอินสตาแกรมที่พวกเขาเชื่อว่าอาจเป็นเท็จ”
มีเพียงผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาจากเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงระหว่างประเทศ (IFCN) เท่านั้นที่จะตรวจสอบการโพสต์ที่ถูกตั้งค่าสถานะจากเครื่องมือใหม่ชิ้นนี้ อินสตาแกรมกล่าวว่า ต้องการเก็บข้อมูลนี้เพื่อเป็น ‘สัญญาณ’ จากผู้ใช้และผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยจะนำไปใช้กับระบบปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต เพื่อลดการพึ่งพาผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในการตรวจสอบข้อมูลที่เป็นเฟคนิวส์
การสร้างเครื่องมือเพื่อต่อสู้กับเฟคนิวส์ของอินสตาแกรมครั้งนี้เป็นผลมาจากนโยบายของเฟซบุ๊ก บริษัทแม่ของอินสตาแกรม ที่ทำแคมเปญต่อสู้กับเฟคนิวส์มาอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยเฟซบุ๊กกำลังเสื่อมความนิยมและน่าเชื่อถือลงอย่างมากจากสิ่งที่เรียกว่าเฟคนิวส์ โดยล่าสุดเฟซบุ๊กจับมือกับองค์กร Africa Check เพื่อคอยตรวจสอบข้อมูลที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊กในภาษาแอฟริกัน ทั้งภาษาแอฟริกัน (ในประเทศแอฟริกาใต้) สวาฮีลี (ในประเทศเคนยา) ยอรูบา (ในประเทศไนจีเรีย) โวลอฟ (ในประเทศเซเนกัล)
แต่เฟซบุ๊กยังคงปฏิเสธที่จะ ‘ลบ’ เนื้อหาเฟคนิวส์ทางการเมือง แม้ว่าประเด็นนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทั้งในแอฟริกา สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่การเลือกตั้งในอินเดียที่ผ่านมาก็ตาม โดยเฟซบุ๊กยืนยันว่าจะลบเนื้อหาที่ละเมิดกฎของชุมชนของเฟซบุ๊กเท่านั้น
สำหรับเครื่องมือตั้งค่าสถานะเพื่อต่อสู้กับเฟคนิวส์ของอินสตาแกรมในครั้งนี้ วางแผนที่จะเปิดให้ใช้ได้ในทุกภูมิภาคของโลก ปลายเดือนสิงหาคมหลังจากการเปิดตัวในสหรัฐอเมริกา
ที่มา :
https://hypebeast.com/2019/8/instagram-fake-news-flagging-tool-announcement
https://edition.cnn.com/2019/08/15/africa/facebook-africa-fake-news-intl/index.html
https://www.engadget.com/2019/08/02/facebook-defends-decision-not-to-ban-fake-news-from-politicians/
https://thenextweb.com/basics/2019/08/16/how-to-report-fake-news-on-instagram/
ภาพ : Gettyimages
Tags: อินสตาแกรม, เฟคนิวส์, เฟซบุ๊ก