Chartres (ชาทร์) ถือว่าเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวเล็กๆ ที่มีชื่อเสียง และไม่ไกลจากปารีสเท่าใดนัก เพียง 1 ชั่วโมง โดยรถไฟเท่านั้น ชาวปารีส ที่เบื่อหน่ายกับทิวทัศน์เดิมๆ ในเมือง  จึงมาที่นี่เพื่อรับเอาบรรยากาศ ของเมืองชนบท ในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่ง ต่างมาที่นี่ เพื่อชมความงาม ของมหาวิหาร นอทร์ดามแห่งชาทร์ (Cathédrale Notre-Dame de Chartres) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระจกสี ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ จากสีฟ้าที่ใส สว่าง หรือที่เรียกกันว่า สีฟ้าแห่งชาทร์ หรือ ‘Bleu de Chartres’ (เบลอ เดอ ชาทร์) ในภาษาฝรั่งเศส เนื่องจากสีฟ้าดังกล่าว สามารถพบเห็นได้ที่ชาทร์ ที่เดียวเท่านั้น ซึ่ง มหาวิหาร นอทร์ดามแห่งชาทร์ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในปี ค.ศ. 1979

ชาทร์ และมหาวิหารนอทร์ดามแห่งชาทร์

เมือง ชาทร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปารีส ในบริเวณที่เป็นพื้นที่ราบ และเหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากที่แห่งนี้ มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ทั้งแหล่งน้ำ รวมถึงลักษณะดิน เราสามารถสังเกตเห็นพื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างชัดเจน ทันทีที่ออกจากตัวเมือง

เกษตรกรปลูกธัญพืช และดอก Colzar เป็นหลัก

หากพูดถึง ชาทร์ แล้ว ใครหลายคนอาจจะนึกถึง Charles Péguy (ชาร์ลส์ เปกีย์) นักกวี นักเขียน ชาวฝรั่งเศส ที่มีผลงานชื่อดังมากมาย เช่น Notre Patrie (นอทร์ ปาทรี – แผ่นดินของเรา) และ L’argent (ลาชอง – เงิน) รวมถึงบทวิเคราะห์ทางการเมือง แต่ทว่าเขาต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ เมื่อเขาถูกส่งตัวไปอยู่ในแนวหน้า ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1914 และก่อนที่เขาจะจากไป เขาได้กล่าวคำอำลาแก่ภรรยาในจดหมาย ว่า “ถ้าผมไม่ได้กลับมา คุณไปที่ชาทร์ ปีละหนึ่งครั้งเพื่อผม”

ความผูกพันระหว่าง ชาร์ลส์ เปกีย์ และ ชาทร์ เริ่มต้นขึ้น เมื่อเขาเดินเท้าจากปารีส ไปยังมหาวิหาร นอทร์ดาม แห่งชาทร์ในเดือนมิถุนายน 1912 หลังจากที่ลูกของเขา ซึ่งกำลังป่วยอย่างหนัก กลับมาหายเป็นปกติ การตัดสินใจเดินครั้งนี้ เป็นการทำตามสัญญา ที่เขาให้ไว้กับแม่พระมารีย์ (ถ้าในภาษาบ้านเรา ก็คงเรียกว่า เป็นการแก้บน…)  โดยการเดินทางจากปารีสไปชาทร์ มีระยะทางกว่า 70 กิโลเมตร และดลใจให้เขาแต่งกลอนบรรยายเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์ระหว่างการเดินทาง มหาวิหาร หรือความทุกข์เรื่องลูก เป็นต้น 

การเดินเท้าจากปารีส ไปยังมหาวิหาร นอทร์ดาม แห่งชาทร์ ของชาร์ลส์ เปกีย์ ได้กลายเป็นกิจกรรมย้อนรำลึกถึงการจากไปของเขาในหมู่คนรุ่นหลัง พร้อมกับปลุกกระแสการเดิน ที่มีมิติการค้นหาทางจิตวิญญาณ ทั้งนี้ในสมัยศตวรรษที่ 9  เมืองชาทร์จัดว่าเป็นสถานที่สำคัญ ที่เหล่านักเดินทางในยุโรปจะมาแสวงบุญ 

สำหรับปัจจุบัน การจัดกิจกรรมเดินไป ชาทร์ ยังมีให้เห็นทุกๆ ปี หนึ่งในงานที่รู้จักกันดี คือ การเดินของนักเรียน-นักศึกษา ที่อยู่ในปารีส และเมืองรอบๆ ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่ปี 1935 ทว่าในระยะหลังนี้ มีนักศึกษาจากประเทศอื่นๆ เข้าร่วมด้วย เช่น กลุ่มนักเรียนอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หรือแม้กระทั่ง กลุ่มนักศึกษาจากประเทศมาดากัสการ์ ในแต่ละปีนั้น จะมีนักเรียน นักศึกษาราวๆ พันกว่าคน ทั้งนี้กิจกรรมการเดินดังกล่าวจะจัดขึ้นหนึ่งอาทิตย์ก่อนอีสเตอร์ (Palm Sunday หรืออาทิตย์ใบลาน)

เดิน และก็เดิน…

กิจกรรมการเดินของนักเรียน-นักศึกษา จะมีหัวข้อเฉพาะในแต่ละปี และเกี่ยวข้องกับบทบาทของเยาวชน ในสังคมยุคใหม่ สำหรับหัวข้อในปี 2019 อยู่ภายใต้ ธีม ของ ‘ความหวัง’ ของเยาวชน ท่ามกลางวิกฤตการณ์ในโลกปัจจุบัน

หนึ่งในผู้ดูแลกิจกรรม กำลังอธิบายเส้นทางให้กับนักศึกษา

ระหว่างทางที่ เดินไปยังชาทร์ สามารถพบเห็น ทุ่ง ลำธาร และพื้นที่เพาะปลูกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุ่งดอก Colzar (โคล์ซาร์) ซึ่งเป็นดอกไม้ที่นำมาใช้ทำน้ำมันประกอบอาหาร (เทียบได้กับน้ำมันพืชทั่วไป) รวมถึง ซากสะพานส่งน้ำ Maintenon (แมงเทอนง) ที่สร้างขึ้น สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่ได้ล้มเลิกไป เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ หลังประเทศฝรั่งเศสเข้าสู่สงคราม

ทุ่งดอก Colzar ซึ่งนำมาทำเป็นน้ำมันประกอบอาหาร

ซากสะพานส่งน้ำ Maintenon

แม้ว่าจะยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ทุกคนสามารถสังเกตเห็นมหาวิหาร ได้แต่ไกลๆ ซึ่งสร้างความหวังให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ที่ได้เดินเท้า มาเป็นเวลากว่าหนึ่งวันเต็ม พร้อมกับสัมภาระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า ถุงนอน น้ำ ขนม และของกิน 

เดินอีกเพียง ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

มหาวิหารนอทร์ดามแห่งชาทร์นั้น มีสถาปัตยกรรมสไตล์โกธิก สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1194 บนมหาวิหารเก่า ที่ถูกไฟไหม้ในอดีต และเหลือให้เห็นเพียงห้องใต้ดินเท่านั้น (Crypt) มหาวิหารแห่งนี้ประกอบไปด้วยกระจกสี (Stained glass) กว่า 176 บาน ซึ่งบอกเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ในไบเบิล และชีวิตของนักบุญ อันที่จริง อาจพูดได้ว่ากระจกสีเหล่านี้เป็นมหากาพย์การ์ตูนช่อง หรือ Manga ที่ประดิษฐ์ขึ้นในยุคกลาง ภาพการ์ตูนเหล่านี้ มีประโยชน์อย่างมากในการสอนศาสนา เนื่องจากสมัยก่อน ผู้คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงไบเบิลได้ และชาวบ้านธรรมดาส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ หรือพูดภาษาลาติน

กระจกสีที่อยู่เหนือประตูทางเข้าหลัก

Manga ยุคกลาง !

ยิ่งไปกว่านั้น บนกระจกสีบางแห่ง ยังปรากฎภาพของสปอนเซอร์ หรือ ผู้บริจาค ในการสร้างมหาวิหารแห่งนี้ เช่น รูปของคนทำขนมปัง เป็นต้น

ร้านขนมปัง หนึ่งในผู้บริจาค และสนับสนุน (ทางการเงิน)

ส่วนกระจกสี ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในบรรดากระจกสี ณ มหาวิหารแห่งนี้ คือ Notre-Dame de la Belle Verrière (นอทร์ ดาม เดอ ลา แบล แวร์รีแอร์) หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า โมนา ลิซ่า แห่งกระจกสี สร้างขึ้นเมื่อปี 1180  Notre-Dame de la Belle Verrière ได้นำเสนอภาพของ มารีที่สวมมุงกุฎ พร้อมกับเยซูตอนเด็กที่กำลังนั่งอยู่บนตัก ซึ่งสื่อว่า มารีย์ นั้นเป็นทั้งแม่ และราชินี ในขณะที่ชุดของมารี ที่มีสีฟ้าใสสว่าง เผยให้เห็น สีฟ้าแห่งชาทร์ สีฟ้าในตำนาน ที่สร้างชื่อเสียงให้มหาวิหาร นอทร์ดามแห่งชาทร์ ไปทั่วโลก

สีฟ้าในตำนาน : สีฟ้าแห่งชาทร์

ในขณะเดียวกัน กระจกสี Notre-Dame de la Belle Verrière ซึ่งมี รูปนกพิราบ (สัญลักษณ์ของ Holy Spirit) มารีย์ และเยซูตอนเด็ก เรียงกันเป็นแนวดิ่ง โดยมีรูปนกพิราบอยู่เหนือมารีย์ และเยซูอยู่ถัดลงมา ยังแสดงให้เห็นถึง หลักความเชื่อทางศาสนาคริสต์ (Credo) เกี่ยวกับ การเกิด/การรับสภาพมนุษย์ (Incarnation) ของพระเยซู : “by the power of the Holy Spirit, he became incarnate of the Virgin Mary, and was made man.” 

เมื่อเดินตามท้องถนน ในตัวเมือง ชาทร์ เราจะพบเห็น  กระเบื้องรูปเปลือกหอยเชลล์ และรูปคน ที่คล้ายกับคนในสัญญาณไฟจราจร แต่ทว่ามีไม้เท้า  บนฟุตบาธ สัญลักษณ์ที่ปรากฏบนทางเท้านี้ บ่งบอกว่า ที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางแสวงบุญของคริสตศาสนิกชน ที่พาดผ่านหลายๆ เมือง ในฝรั่งเศส (เช่น ปารีส) จนไปถึงมหาวิหาร แซงต์ ชาคส์ เดอ คอมโปสแตล ในประเทศสเปน

รูปคนเดินและรูปเปลือกหอยเชลล์

แม้ว่าทุกวันนี้ ชาทร์จะเป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรกว่า 38,000 คน แต่ก็ยังคงรักษาความเป็นเมืองในชนบท รวมทั้งประวัติศาสตร์ไว้ได้เป็นอย่างดี พร้อมกับพาผู้มาเยือน หลีกหนีออกจากความวุ่นวายในเมืองใหญ่ หรือชื่นชมความสามารถของผู้คนในอดีต ที่ได้สรรสร้าง และรังสรรค์สิ่งต่างๆ อย่างน่าอัศจรรย์ จนกลายเป็นมรดกทางวัฒธรรม และจิตวิญญาณของคนในยุคปัจจุบัน

ถนน และร้านค้าในชาทร์

ภายในมหาวิหารนอทร์ดามแห่งชาทร์ (ตอนกลางคืน)

ภายในมหาวิหารนอทร์ดามแห่งชาทร์ (ตอนกลางวัน)

ด้านหน้ามหาวิหาร

ขอขอบคุณ: Jacques Enjalbert และ CSG 

บรรณานุกรม

http://www.charlespeguy.fr/vers-chartres

Chartres 2019: livret du pèlerin

http://www.cathedrale-chartres.org/

https://www.paris.catholique.fr/pelerinage-de-chartres-des-jeunes-49959.html

Catechism of Catholic Church 456

Tags: , , ,