ฐปณีย์ เอียดศรีไชย คือนักข่าวคนแรกๆ ของเมืองไทยที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการรายงานข่าว ตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา และจากความระส่ำระสายขององค์กรสื่อยุคนี้ ผลักดันให้เธอก้าวเข้ามาสู่พื้นที่ ‘สื่อใหม่’ อย่างเต็มตัวกับเพจ ‘The Reporters’ ที่เธอร่วมก่อตั้งกับเพื่อนนักข่าวไม่กี่คน เพื่อนำเสนอข่าวโดยตรงจากนักข่าวภาคสนาม โดยไม่ผ่านช่องทางหลักหรือการกลั่นกรองในแบบการทำงานข่าวทีวี และไม่ต้องรอเวลาสี่ทุ่มเพื่อที่จะได้รายงานข่าวที่ทำมาทั้งวันเหลือแค่เวลาสั้นๆ เพียง 5 นาทีอีกต่อไปแล้ว
แม้ว่าการเริ่มต้นใหม่ในครั้งนี้จะนับจากศูนย์ มีเพียงสมอง สองมือ และความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ร่วมวงการ ปราศจากทุนรอนหรือผู้สนับสนุนใดๆ แต่เธอบอกว่าหากจะต้องเปิดร้านขายขนมจีนเพื่อหาเงินเป็นทุนให้ตัวเองออกไปทำข่าวได้ในแบบที่เธอต้องการ—เธอก็พร้อมจะทำ
เริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าวตั้งแต่เมื่อไรครับ
เริ่มทำงานประมาณปี 2543 ที่แรกคือสํานักข่าวไอเอ็นเอ็นค่ะ ทำวิทยุไอเอ็นเอ็นประมาณ 2 ปีกว่า จากนั้นก็ย้ายมาอยู่ช่องไอทีวี จนไอทีวีปิดเมื่อปี 2551
ตอนอยู่ไอเอ็นเอ็นเป็นนักข่าววิทยุ อยู่ในสนามแล้วก็รายงานข่าววิทยุโดยการใช้เสียง ไม่มีภาพ พอมาอยู่ที่ไอทีวี ก็เป็นนักข่าวทำเนียบรัฐบาล เป็นนักข่าวการเมือง แต่เนื่องจากไอทีวีเขาให้โอกาสนักข่าวภาคสนามได้รายงานสด ก็เลยทำให้เกิดผู้สื่อข่าวภาคสนาม “คุณฐปณีย์รายงานสดจากทำเนียบรัฐบาล” ประมาณนี้ค่ะ
ตอนทำไอทีวี แยมรายงานสดทุกเบรก แล้วมันก็สนุกมาก เป็นจุดเริ่มต้นที่นักข่าวภาคสนามสามารถจะเป็นผู้รายงานข่าวได้ กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ หลายๆ คนอยากจะเป็นนักข่าว เพราะว่าเป็นนักข่าวแล้วได้ออกทีวีด้วย เพราะแต่ก่อนการจะได้ออกทีวีรายงานข่าว ต้องสวย ต้องเท่ ต้องนั่งอ่านข่าวในห้องส่ง ต้องสอบใบผู้ประกาศ เป็นแบบคุณกิตติ สิงหาปัด คุณสายสวรรค์ ขยันยิ่ง แต่นั่นคือผู้ประกาศ การจะไปเป็นผู้ประกาศนั่งหน้าจอได้นั้นมีไม่กี่คน เพราะรายการมีอยู่น้อยไง โอกาสมันก็เลยน้อยไปด้วย แต่พอไอทีวีเปิดโอกาสให้นักข่าวภาคสนามรายงานข่าวได้ ตัวดำๆ อ้วนๆ อย่างเราก็รายงานได้ ไม่ต้องสวยไม่ต้องหล่อก็รายงานข่าวได้ นี่คือการเปิดปรากฏการณ์ของวงการข่าวนะ ที่ไม่ได้มีการขีดจำกัดเฉพาะ ต้องเลือกหน้าตาคนมาออกทีวี แต่ดูกันที่ความสามารถ
จากที่รายงานข่าววิทยุภาคสนาม ปรากฏแค่เสียง แต่เมื่อคุณต้องปรากฏตัวหน้าจอด้วยน่าจะยากกว่าไหม
การเป็นนักข่าวภาคสนามมันไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เอาบทข่าวมาแล้วก็พูดๆๆ อย่างเรารายงานสด ไม่มีสคริปต์นะ เราสามารถบรรยายได้หมดเลย ขณะนี้นะคะเกิดเหตุการณ์แบบนี้นะ เราบรรยายได้โดยไม่ต้องมีบท นักข่าวภาคสนามก็เหมือนกับโลกโซเชียลฯ ในสมัยนี้แหละ นักข่าวภาคสนามแบบเราก็คือคนที่เกิดมาในยุคอนาล็อก แต่ทำงานแบบคนในยุคดิจิทัล ไอทีวีนี่คือสดที่สุดแล้ว
อย่างคดีซุกหุ้นสมัยก่อน ผู้ประกาศข่าวในห้องส่งไม่ต้องรายงานเลยนะ นักข่าวภาคสนามสามารถพูดยาว 1 ชั่วโมงได้เองเลย พี่ตวงพร อัศววิไล ซึ่งเป็นต้นแบบของเรา แกสามารถบรรยายว่าคดีนี้มันมีที่มาที่ไปยังไง พูดได้เป๊ะๆ โดยไม่ต้องเปิดดูสคริปต์เลย โอ้โฮ พี่ทำได้อย่างไร เราก็เรียนรู้จากพี่เขา การเป็นนักข่าวภาคสนามหากคุณไม่ทำการบ้านหรือคุณไม่ใส่ใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสดๆ มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร
แล้วตอนแรกๆ คุณแยมไม่ตื่นกล้องบ้างหรือ
กว่าเราจะได้อ่านก็ซ้อมอยู่ตั้งนานนะ เราเข้ามาทำงานที่โต๊ะการเมือง ไอทีวีพร้อมกับคุณหนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง ทำข่าว วิ่งข่าว ด้วยกัน แต่เขาให้หนุ่มรายงานก่อน เราก็ร้องไห้ เสียใจ ทำไมล่ะ ทำไมให้หนุ่มก่อน แยมก็ทำได้นะ แยมทำไม่ได้ตรงไหน แยมพูดสำเนียงทองแดงหรือ ก็นิดหน่อยเองนะ ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองก็มั่นใจ ออกทีวีได้แล้วนะ แต่ทำไมถึงไม่ได้ออก ให้หนุ่มออกก่อน
อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเลยที่อยากจะฝากน้องๆ ไว้ แล้วก็เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองจดจำมาจนถึงทุกวันนี้ บ.ก.ของเราซึ่งก็คือพี่เชิงชาย หว่างอุ่น กับพี่ตวงพร อัศววิไล แล้วก็มีพี่ๆ คนอื่นในทีมโต๊ะการเมือง บอกเราทีหลังว่า เหตุผลที่เขาไม่ให้เรารายงานข่าวก่อนหนุ่มก็คือ เขาอยากจะสอนเราว่า การได้เป็นผู้ประกาศ การได้อ่านข่าวหน้าจอมันไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับการที่เราเขียนสคริปต์เป็น หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็น โอกาสของการอ่านข่าวหน้าจอมันไม่ได้มาสำหรับทุกคน หรือเขาไม่อยากให้เรามีเป้าหมายไปอยู่แค่การได้อ่านหรือรายงานข่าวหน้าจอ แต่อยากให้เรารู้สึกภาคภูมิใจว่าการได้อ่านข่าว มันมาจากความสามารถ ความคิด หรือตัวคอนเทนต์ที่เรามีมากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจดจำและเรียนรู้ว่าการอ่านข่าวหน้าจอมันไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่มันสำคัญกว่าที่เราได้ภูมิใจว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากความสามารถ และคอนเทนต์ที่เราสร้างขึ้นมาด้วยตัวเราเอง
มันมีสิ่งที่เรียกว่ายุคเปลี่ยนผ่านไหมครับ สำหรับการทำงานเป็นนักข่าวภาคสนาม
มีค่ะ คือทุกคนก็น่าจะจำได้ว่า “ค่ะ คุณกิตติคะ” เป็นวลีที่ติดปากมาก ที่ทำให้ทุกคนรู้จัก ฐปณีย์ เอียดศรีไชย เป็นสไตล์การรายงานข่าวแบบฐปณีย์ “ค่ะ คุณกิตติคะ ขณะนี้เกิดเหตุการณ์…” ความหัวฟูๆ หรือบางทีลงไปแช่ในน้ำ ปีนนู่นปีนนี่ มันกลายเป็นต้นแบบให้หลายๆ คนนำไปใช้ในการรายงานข่าว แม้กระทั่งนักข่าว หรือเน็ตไอดอลเอง เรามองว่ามันก็ดีนะ ที่บุคลิกของเราถูกนำไปเป็นต้นแบบและคนจำได้ นึกถึง แต่บางครั้ง การที่เราลงไปในน้ำ ปีนป่ายโน่นนี่ไปด้วยรายงานข่าวไปด้วย มันดูลำบากไปนะ เราไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้ดูลำบากเพื่อให้เป็นจุดขาย ไม่ได้ตั้งใจจะทำแบบนั้นเพื่อให้คนเห็น หรือจดจำ หรือเอาเยี่ยงอย่าง แต่บางทีเราก็รายงานไปตามธรรมชาติของเรา ดิบๆ เป็นธรรมชาติ สไตล์เรา
พอมาถึงจุดหนึ่ง เรากลับมาดู เรายังรู้สึกเลยว่าบางทีมันก็มากไปนะ (หัวเราะ) เราผิดหรือเปล่าวะที่กลายเป็นต้นแบบในเรื่องพวกนี้ ก็เริ่มปรับบทบาทของตัวเราเอง บางทีมันมากไป มันก็ไม่ถูกหรือมันไม่เหมาะไม่ควร ทำให้เราได้เรียนรู้ตัวเราเอง เรียนรู้จากสิ่งที่เราทำ ปรับให้อยู่ในจุดที่มันพอดีพอเหมาะ กับทุกคนที่มักบอกกับเราว่าอยากจะทำข่าวสไตล์ฐปณีย์ อยากเป็นแบบพี่แยม พยายามที่จะทำท่าทางหรือนู่นนี่นั่นให้เป็นเหมือนพี่แยม เราสอนเสมอว่าการเป็นนักข่าว ก็ควรที่จะเป็นตัวของตัวเอง เป็นธรรมชาติของตัวเอง เอาพี่เป็นตัวอย่างได้ เป็นแบบอย่างได้ แต่มันไม่ใช่การจะทำตัวเราให้เหมือนใคร เพราะตัวเราก็คือตัวเรา ตัวตนเราคือตัวตนที่จะสร้างภาพจำ ให้คนจดจำเราด้วยความเป็นตัวของเราเอง ให้ทำงานด้วยความเป็นตัวเรา ธรรมชาติของเรา อย่าไปเลียนแบบใคร คนจะเลือกจดจำในสิ่งแรก ดังนั้นถ้าหากว่าเราจะทำสิ่งใหม่ เราก็ควรจะทำด้วยตัวของเราเองค่ะ
คนส่วนใหญ่จะรู้จักฐปณีย์ เอียดศรีไชย จากรายการ ‘ข่าว 3 มิติ’ ซึ่งล่าสุดเพิ่งมีข่าวช่อง 3 ปลดพนักงาน คุณได้รับผลกระทบไหม
จริงๆ แล้ว แยมไม่ได้เป็นพนักงานช่อง 3 นะคะ แยมเป็นพนักงานในบริษัทของคุณกิตติ สิงหาปัด ที่รับทำรายการข่าว 3 มิติให้ช่อง 3 อีกที แต่ก่อนหน้านี้เราก็จะได้ค่าผู้สื่อข่าวพิเศษจากช่อง 3 เพิ่มขึ้นมาจากการทื่เรารายงานข่าวในช่วงอื่นๆ ในรายการข่าวช่อง 3 ด้วย ไม่ว่าจะเป็นข่าวเช้า เที่ยง หรือเย็น เพราะเราอยู่ในสนามข่าวทั้งวันอยู่แล้วเพื่อรอทำข่าวดึกในรายการข่าว 3 มิติ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเรา
ช่วงที่ช่อง 3 ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เอาคนออก ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เขาก็ไม่จ่ายค่าผู้สื่อข่าวพิเศษให้เราแล้ว ก็เป็นจังหวะที่เราเตรียมการที่จะมาทำอะไรของตัวเองอยู่แล้ว เราก็ทำเฉพาะข่าว 3 มิติเป็นหลักรายการเดียว ไม่ได้ทำหรือยุ่งเกี่ยวกับรายการอื่นของช่อง 3 อีกแล้ว
แต่คุณก็ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียส่วนตัวในการรายงานข่าวควบคู่กันไปด้วยอยู่แล้ว
มันมาจากการที่ข่าวที่เราทำอยู่มันไม่มีช่องที่จะออกไง เราก็เลยเอาไปออกตามช่องทางโซเชียลมีเดียที่เรามี เราเป็นนักข่าวภาคสนาม เราอยู่กับเหตุการณ์ บางทีของที่เรามีอาจจะเยอะกว่าที่เราได้รายงานในโทรทัศน์ หลายคนก็จะเห็นเรารายงานในทวิตเตอร์ส่วนตัว หรือไม่ก็เฟซบุ๊กส่วนตัวที่คนติดตาม 3 แสนกว่า จนกลายเป็นว่าคนมาติดตามข่าวที่เพจฐปณีย์มากกว่าการรอดูฐปณีย์ในทีวีเสียอีก เพราะบางครั้งพอมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เราก็ไลฟ์ หรือมีประเด็นสำคัญ ฐปณีย์รู้ก่อน ฐปณีย์ก็ทวีตก่อน เขียนในเฟซบุ๊กก่อน ก็จะรับรู้กันหมด
บางครั้งในการทำข่าว เราเสียดายของ เสียดายสิ่งที่เรามี เพราะบางเรื่องไปออกข่าว 3 มิติแค่ 5 นาที แต่เอาเข้าจริงๆ เราอยู่กับเรื่องราวเหล่านั้นทั้งวัน เรารู้ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เรารู้สึกเสียดาย เราจะทำอย่างไร จัดการอย่างไรกับของที่มีอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาก็ออกมาในช่องทางส่วนตัวในโซเชียลมีเดีย แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าเราต้องปรับตัว จะต้องสร้างงานที่เรามีอยู่ตรงนั้นให้มันมีคุณค่ามากกว่าการทวีตหรือเขียนเฟซบุ๊กในนามฐปณีย์ มันควรจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่านั้นได้
ที่ผ่านมาเหมือนเราไปทำอย่างอื่นไม่ได้ เพราะเราเหมือนเป็นคนช่อง 3 เราทำให้กับรายการข่าว 3 มิติ ซึ่งก็อยู่ช่อง 3 เราก็ยังคงมีความรับผิดชอบต่อช่อง 3 ในแง่ของงานที่จะทำในรายการข่าว 3 มิติ แต่ในอีกบทบาทหนึ่งเราก็อยากจะออกมาทำในสิ่งที่ตัวเองตั้งใจ คืออยากจะมีสำนักข่าวที่ทำโดยตัวเราเอง เรามองว่าจุดหนึ่งคือประสบการณ์ที่เรามี ด้วยความที่เรารักในการวิ่งข่าวในภาคสนาม หรือความคิดที่เรามี เราสามารถที่จะสร้างอะไรขึ้นมาจากตัวเราเองได้แล้ว เราอยากเป็นนักข่าวที่มีอิสระพอที่จะออกข่าวของเราเองได้
นั่นหมายความว่าคุณเคยเจอเหตุการณ์ที่ไม่มีอิสระพอที่จะเลือกทำข่าว นำเสนอข่าวด้วยตัวเองใช่ไหมครับ
กรณีโรฮิงญาไงคะ แต่มันเป็นความตั้งใจของแยมค่ะ เพราะเราไปทำข่าวนั้นคนเดียว มีเราคนเดียวที่ได้ภาพนั้น ภาพที่ดูเหมือนเราร้องไห้ จับมือชาวโรฮิงญาแล้วปล่อยมือ ที่คนเอาเราไปด่าโซเชียลฯ นั่นแหละค่ะ นั่นคือภาพที่เราถ่ายเองด้วยมือถือ ซึ่งเราเป็นนักข่าวคนเดียวนั่งเรือไปกับทหาร 5-6 คน เพื่อผลักดันโรฮิงญาออกไปตรงกลางทะเล เรามีภาพนั้นคนเดียว ทั้งภาพและคลิป เพราะฉะนั้นเวลาเราจะรายงานข่าวเราก็ต้องเซลฟี่ เพราะเราไม่มีช่างภาพ ดังนั้นมุมภาพ มุมกล้องมันจึงออกมาอย่างนั้น คนก็เลยคิดไปว่าเราดราม่า
นอกจากนี้ ด้วยโครงสร้างของข่าวทีวีที่ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐ แล้วมันก็ถูกแทรกแซง กดดัน เมื่อไรก็ตามที่เราทำข่าวที่มันตรงข้ามกับนโยบายของรัฐ เราก็ถูกแทรกแซง ซึ่งในกรณีนี้เราตอบได้เลยว่า เราก็ถูกแทรกแซง เราถูกห้ามไม่ให้ออกข่าว แต่ด้วยความยึดมั่นในอุดมการณ์ หน้าที่ของเรา เราก็ฝ่าฟันอย่างหนักจนผู้บริหารช่อง 3 เข้าใจในหลักการ เห็นด้วยกับความคิดของเรา ความตั้งใจของเรา จนข่าวนั้นได้ออกอากาศ ซึ่งเมื่อออกอากาศไปแล้ว แน่นอน เราก็ต้องรับกับผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมานั้นด้วยตัวเอง
แต่ก่อนที่ข่าวนั้นจะได้ออกอากาศ ผู้บริหารช่อง 3 ในตอนนั้นโทรมาบอกว่ามีการขอไม่ให้ออกข่าวนี้ เราก็ตอบกลับไปว่าไม่ได้หรอก แยมขอ เพราะว่าข่าวชิ้นนี้ ภาพชิ้นนี้มันมีความหมายต่อชีวิตคน 400-500 ชีวิต เขาจะเป็นหรือจะตายอยู่ที่ภาพข่าวชิ้นนี้ แยมมีภาพข่าวชิ้นนี้เพียงแค่คนเดียว ภาพนี้มันจะช่วยชีวิตคนอีก 400-500 คน ถ้าช่อง 3 ไม่สามารถที่จะเป็นสื่อกลางในการทำหน้าที่นี้ได้ แยมจะเสียใจมาก ขอให้ภาพนี้ ข่าวนี้ได้ออกอากาศเถอะค่ะ มันจะเป็นการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ ขอให้เชื่อมั่นในการทำงานของแยม ขอให้เชื่อมั่นในสิ่งที่แยมทำลงไป เชื่อมั่นในสิ่งที่แยมตัดสินใจ ช่อง 3 จะไม่รู้สึกเสียใจถ้าได้ทำในสิ่งนี้ เรามาทำบุญช่วยคนด้วยกันเถอะค่ะพี่ อย่าคิดถึงเรื่องอื่น คิดแค่ว่าเรากำลังช่วยคน 400 คนให้รอดตาย เพราะภาพเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปทั่วโลก คนที่มีหน้าที่เขาจะได้เข้ามาแก้ปัญหา
เราคิดแค่นั้น เราคิดแค่ว่าภาพข่าวนี้มันสำคัญมาก ต่อให้ออกไปแล้วขัดแย้งกับนโยบายรัฐบาลแล้วเราถูกโจมตี เราพูดกับเขาว่าแยมพร้อมรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นค่ะ ขอให้ข่าวนี้ได้ออกอากาศเถอะ ซึ่งข่าวมันเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนหกโมงเช้า ตอนที่นำเรือออกไป พอถึงช่วงข่าวเที่ยง เราส่งคลิปสั้นๆ มาให้เขาออกข่าวตั้งแต่เที่ยงแล้ว พอ ‘เรื่องเด่นเย็นนี้’ ก็มีการนำมาออกอากาศอีก แต่พอจะถึงช่วงข่าว 3 มิติ เขากลับบอกว่าจะไม่ให้ออกอากาศ ซึ่งเราก็บอกไปว่าในเมื่อมันได้ออกอากาศมาแล้วทั้งเที่ยงทั้งเย็น แล้วเราจะไม่ออกในข่าว 3 มิติ ได้อย่างไร ในเมื่อเราเป็นนักข่าวของรายการข่าว 3 มิติ
เราก็อธิบายไปอย่างนี้ ซึ่งก็ต้องขอบคุณคุณกิตติ เพราะคุณกิตติคือคนที่มีอุดมการณ์หรือมีหลักการที่ถูกต้อง คุณกิตติก็ช่วยในการสื่อสารกับผู้ใหญ่ว่า ในเมื่อมันออกรายการอื่นไปแล้ว จะไม่ออกในข่าว 3 มิติ ได้อย่างไร เพราะว่าข่าวนี้เราเป็นคนเปิดประเด็น ที่สำคัญเรามีข่าวนี้เพียงคนเดียว เราเป็นนักข่าวคนเดียวที่ได้ขึ้นไปบนเรือกับทหาร บนเรือที่มีคน 400-500 คน ในสภาพที่เหลือแต่โครงกระดูก เรารู้สึกว่า เฮ้ย นั่นคือหน้าที่ของเรา หน้าที่ของสื่อมวลชนที่ต้องรายงาน ถ้าเราไม่ทำแล้วเราจะอยู่ตรงนี้ไปเพื่ออะไร
สุดท้ายข่าวนั้นก็ได้ออกอากาศ แต่แน่นอนว่าตัวเนื้อข่าวมันถูกลดคุณค่าลง แต่เราไม่เคยที่จะลด ไม่เคยที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง แม้จะถูกกดดันหรือแทรกแซงก็ว่ากันไปตามข้อเท็จจริง เราไม่เคยที่จะทำให้มันผิดไปจากข้อเท็จจริง เนื้อหาข่าวชิ้นนี้ที่ออกทีวีมันจะต่างกับสิ่งที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย อิมแพ็กต์ที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน คนดูผ่านจอทีวี พอข่าวจบก็จบใช่ไหม แต่การโพสต์ภาพ โพสต์ข่าวลงในโซเชียลมีเดียมันเป็น Two-way Communication เป็น Multi ด้วยซ้ำ คือคนเข้าไปแสดงความคิดเห็น หรือแชร์ไปอย่างรวดเร็ว มันเลยกลายเป็นประเด็นที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มันถูกขยายความไปเรื่องอื่นๆ ในขณะที่ทีวีออกแล้วจบเลย ดูจบก็ผ่านไป คนไม่มีสิทธิ์ที่จะแสดงความพอใจหรือไม่พอใจ จะทุบทีวีทิ้งหรือ ข่าวเดียวกัน แต่เมื่อเอาไปออกในโซเชียลมีเดียมันกลับมีพลัง มีกระแสมากกว่าในทีวี
เราเคยถูกขอร้องไม่ให้โพสต์ข่าวในโซเชียลฯ ตั้งแต่กรณีโรฮิงญา เพราะว่าพอโพสต์ปุ๊บคนก็จะเชื่อมโยงมาช่อง 3 มันก็เกิดเป็นประเด็น ให้ทำและออกทีวีเพียงอย่างเดียว ซึ่งเราก็เห็นด้วยนะถ้าหากว่ากรณีไหนที่รู้สึกทำแล้วมันกระทบกับตัวขององค์กรหรือเพื่อนร่วมงาน โดยที่มันไม่ได้เกี่ยวกับอุดมการณ์หรือหน้าที่งานของเรา อันไหนที่เราหลบเลี่ยงได้เราก็จะหลบเลี่ยงเพื่อรักษาสมดุลของการทำงาน แม้ว่าในมุมหนึ่งเราจะสามารถเอาทุกอย่างลงในโซเชียลมีเดียได้ แต่เมื่อมันมีผลกระทบมาถึงองค์กรหลัก เราก็ต้องรักษาความเป็นองค์กรด้วย แต่ภายใต้ความเป็นองค์กรที่มากดดันเรา แทรกแซงเรา เราไม่เคยจะยินยอมกับแรงกดดันเหล่านั้น เราจะต่อสู้มันด้วยข้อเท็จจริง ต่อสู้มันด้วยเนื้อหาข่าวของเรา
จากกรณีของโรฮิงญา ภาพและคลิปที่เราได้มาทั้งหมด เราให้เพื่อนที่เป็นสำนักข่าวต่างประเทศหมดเลย เรานำไปลงในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ให้เพื่อนๆ สำนักข่าวต่างประเทศไปดาวน์โหลดเอาเองเลย เพราะว่าไม่อย่างนั้น เขาก็ต้องไปซื้อภาพหรือคลิปจากช่อง 3 ซึ่งช่อง 3 อาจจะไม่ขายก็ได้ แต่การที่เราเอาไปลงในโซเชียลมีเดียของเรา มันถือว่าเป็นสาธารณะนะ คุณจะเอาไปออกอะไรที่ไหนได้เลย
การเป็นนักข่าว ผู้รายงานข่าว เวลาที่บางข่าวนั้นส่งผลกระทบต่อความนิยม หรือความเชื่อถือ คุณรับมือกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือปัญหาเหล่านี้อย่างไร
ก่อนเกิดเหตุการณ์ข่าวโรฮิงญา ก็เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาแล้วหลายครั้ง เพียงแค่มันคนละบริบทกัน แต่ข่าวโรฮิงญายอมรับว่ารุนแรงที่สุดตั้งแต่ที่ทำงานมา ยอมรับว่าตอนนั้นเสียใจมาก พอเห็นข้อความคนที่ขับไล่เรา หรือข้อความที่แสดงความรู้สึกเกลียดเรา ก็เสียใจเหมือนกันนะ แต่เมื่อมาถามตัวเองว่า สิ่งที่เราทำมันคือหน้าที่ของเรา แล้วเรามั่นใจว่าเราทำอยู่บนพื้นฐานหลักการของวิชาชีพ เราก็ต้องยอมรับผลกระทบที่มันเกิดขึ้น ข่าวที่ออกไป คนที่ไม่ชอบเขาจะเกลียดเราหรือเกลียดโรฮิงญา เราก็ต้องเคารพในความคิดเห็นทุกคน เราไม่ได้รู้สึกต่อต้าน หรือรู้สึกอะไรกับความเกลียดชังที่เขามีต่อเราหรือชาวโรฮิงญา แต่เราเสียใจที่มันมีกระบวนการทำให้คนเกลียดชังกัน เรายังเชื่อเสมอว่าความรู้สึกของคน ต่อให้จะเกลียดกันหรือว่าไม่ชอบกัน ไม่น่าจะรุนแรงหรือถูกปลุกเร้าได้มากขนาดนี้
แต่ในอีกแง่หนึ่ง คุณก็ได้เห็นถึงพลังของโซเชียลมีเดียด้วย
การเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์หรือสื่อโซเชียลมีเดีย มันทำให้คนทีวีต้องกลับมาย้อนมองตัวเอง ในโลกออนไลน์มันเปิดกว้าง ทุกคนสามารถที่จะพูด จะบอกสิ่งที่ตัวเองรู้หรือคิดได้ ไม่เฉพาะแค่นักข่าว แต่ประชาชนคนทั่วไปก็สามารถที่จะเป็นนักข่าวได้ หรือมีเพจของตัวเอง อย่างแหม่มโพธิ์ดำ อีเจี๊ยบเลียบด่วน คุณจ่าดราม่าแอดดิกท์ ฯลฯ เขาไม่ใช่นักข่าว แต่เขามีช่องทาง มีพื้นที่ในการสื่อสาร ให้คนได้ติดตามเรื่องราวจากเขา กลับกลายเป็นอีกบทบาทหนึ่ง ช่องทางหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ด้วย
อย่างเรื่องการร้องทุกข์ แต่ก่อนทีวีเคยทำบทบาทนั้น แต่ด้วยความที่ทีวีมีขั้นตอนที่ช้า เราต้องรอดูรายการนี้แค่หนึ่งครั้งต่อวัน มันทำให้ความรู้สึกของคนที่จะติดตามข่าวมันไม่สุด แต่พอมีเพจข่าว มีโซเชียลมีเดีย มีการแชร์ ฯลฯ คนเหล่านี้ก็ก้าวเข้ามามีบทบาทในการเป็นปากเสียงให้กับประชาชน นักข่าวอย่างเราที่เคยเป็นปากเสียงให้กับประชาชนก็ต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่า แล้วเราทำหน้าที่อะไรในปัจจุบันนี้ เรากลับรู้สึกว่าเราทำมันได้ไม่เต็มที่เหมือนในบทบาทที่โลกโซเชียลฯ ทำ เราต้องขอบคุณคนเหล่านั้นนะคะที่มาสร้างปรากฏการณ์ให้คนทำข่าวอย่างเราได้มองเห็นภาพว่า ณ วันหนึ่ง บทบาทของการเป็นสื่อมวลชนมันไม่ได้ปิดกั้นหรือกำหนดขอบเขตไว้เฉพาะคนที่ถูกอยู่ในองค์กรสื่อที่เป็นสื่อกระแสหลักเท่านั้น แต่ทุกคนสามารถเป็นสื่อมวลชนได้ในบทบาทในพื้นที่หรือในช่องทางของแต่ละคน
วันหนึ่งประชาชนไม่ได้หวังพึ่งช่อง 3 ข่าว 3 มิติ รายการทุกข์ชาวบ้าน ฯลฯ เท่านั้นแล้ว แต่ประชาชนมีช่องทางในการที่จะสื่อสารเรื่องของเขาไปถึงผู้ที่สามารถเป็นปากเสียงให้กับเขาได้ นั่นคือเรื่องแรกเลยที่เรารู้สึกว่า หน้าที่ของเราในการเป็นปากเสียงให้กับประชาชนมันเปลี่ยนไปแล้ว สอง คือการเกิดขึ้นของสำนักข่าวออนไลน์ หรือเพจข่าว หรือคนที่สามารถสื่อสารเรื่องตัวเองได้ มันทำให้เรารู้สึกอิจฉาเขา เพราะเขาสามารถพูด คิด รายงานทุกๆ เรื่องได้อย่างอิสระ โดยไม่ถูกกดดันอยู่ภายใต้กรอบหรือโครงสร้างขององค์กรสื่อในรูปแบบเดิม หรือสื่อกระแสหลัก
เราปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อทีวีบ้านเราแม้จะเปลี่ยนเป็นทีวีดิจิทัลแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในโครงสร้างแบบเดิม นั่นคือโครงสร้างของทุน ที่อยู่ภายใต้โครงสร้างของรัฐ เรามีทีวีที่เป็นทีวีของรัฐ ทีวีที่อยู่ในสัมปทานรัฐ ช่อง 3 แม้จะมีการประมูลทีวีดิจิทัล แต่ช่อง 3 ก็อยู่ภายใต้สัมปทานของ อสมท.เก่า ช่อง 3 ยังคงมีผู้บริหารในรูปแบบของบริษัทใช่ไหมคะ ทุกๆ ช่องทีวีดิจิทัลก็ยังคงมีการบริหารในลักษณะของทุนหรือบริษัท เพราะฉะนั้นโครงสร้างของสื่อทีวีมันยังเป็นโครงสร้างเดิม ที่ไม่สามารถทำให้นักข่าวได้ทำข่าวได้อย่างอิสระ เพราะว่าข่าวของเราก็ต้องทำอยู่ภายใต้โครงสร้างของกอง บ.ก. ที่กำหนดว่า รายการของเราจะต้องมีข่าวอะไรบ้างในวันนี้ เราจะออกข่าวอะไรบ้าง เขาจะเป็นคนเลือก และด้วยความที่เวลาข่าวที่ถูกกำหนดไว้เพียงแค่ 30 นาที คุณก็ต้องเรียงลำดับนะว่า จะเอาข่าวอะไรบ้าง ดังนั้นวันหนึ่งมีข่าว 100 ข่าว แต่จะถูกเลือกให้ออกข่าวทีวีได้แค่ 10 ข่าว ใน 10 ข่าวนั้น บางเรื่องมันควรจะเป็นข่าวได้มากกว่านั้น แต่ด้วยตัวโครงสร้าง มันออกข่าวได้แค่ 1 นาทีเท่านั้น ดังนั้นคนดูข่าวทีวีก็จะได้ดูข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งวันแค่ 1 นาที
เรามองว่านี่แหละคือปัญหาในเชิงโครงสร้างขององค์กรสื่อทีวีที่กำลังจะตายไป เพราะว่าตัวโครงสร้าง ตัวรูปแบบ ตัวคอนเทนต์มันถูกกำหนดกรอบโดยโครงสร้างของรัฐ โครงสร้างของทุน แล้วก็ตัวโครงสร้างภายในองค์กรเองที่ยังใช้ระบบของกองบรรณาธิการ และการจัดสรรเวลาข่าวมาเป็นตัวกำหนดว่าจะเลือกข่าวอะไรนำเสนอให้ประชาชน ซึ่งมันก็ช้าเกินไปกับการตอบสนองความอยากรู้ของประชาชนในสิ่งมันเกิดขึ้น ช้าไปกว่าสิ่งที่ออนไลน์รายงาน เพราะว่าออนไลน์รายงานได้ทั้งวัน ไม่มีเวลาข่าว
อย่างเพจอีจันทำคลิปข่าวอาชญากรรมได้น่าสนใจ เหมือนดูหนังผี หนังสืบสวนสอบสวน มีการตัดต่อข่าวได้น่าสนใจ ทำให้คนชอบ ติดตาม แต่ว่าทีวีไม่สามารถที่จะใส่สีสัน ใส่เพลง หรือทำอะไรกระตุ้นคนดูได้ขนาดนั้น วิธีการทำคอนเทนต์มันก็ต่างกันแล้ว เห็นไหมคะ เขาไม่มีขีดจำกัด อยากจะไลฟ์เมื่อไรก็ไลฟ์ได้ นักข่าวในพื้นที่สามารถกดแล้วก็ไลฟ์ข่าว รายงานข่าวได้เลย ซึ่งจริงๆ แล้วนั่นคือสิ่งที่เราทำอยู่แล้วในเพจส่วนตัว ทำมานานแล้วด้วย
ตอนนี้คุณแยมรายงานข่าวในโซเชียลมีเดียช่องทางไหนบ้าง และเสียงตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง
เริ่มต้นด้วยทวิตเตอร์ที่เรากับคุณกิตติเริ่มใช้คนแรกๆ เลยนะ จนปัจจุบันมียอดผู้ติดตามเกือบล้าน อินสตาแกรมเราก็ใช้รายงานข่าว เราเป็นคนเปิดนวัตกรรมการใช้โซเชียลมีเดียรายงานข่าวเลยนะ ในเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 เฟซบุ๊กโพสต์ได้แต่ภาพนิ่ง แต่อินสตาแกรมเริ่มที่จะให้โพสต์วิดีโอได้ 15 วินาที พอเกิดรัฐประหารปุ๊บ ทีวีถูกปิด จอดำ แต่คนอยากรู้ข่าวว่าเกิดอะไรขึ้น คนต้องไปตามข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศที่รายงานข่าวได้ เราก็คิดว่าทำอย่างไรดี โพสต์ในเฟซบุ๊กก็ได้แค่ภาพนิ่ง โพสต์ที่ทวิตเตอร์ก็สั้นๆ เลยได้ไอเดียว่าทำรายงานข่าวเหมือนรายงานข่าวทีวี เปิดหน้ารายงานแต่ละจุดๆ แล้วพูดแค่ 15 วินาทีอัปลงอินสตาแกรมดีกว่า
เราก็เลยถ่ายคลิปเซลฟี่ของตัวเองตามจุดต่างๆ “ค่ะ ขณะนี้นะคะ บริเวณพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในช่วงเวลา 3 ทุ่ม หลังจากการรัฐประหาร กลุ่มผู้ชุมนุมได้ถอนตัวไปแล้วนะคะ นี่เป็นบรรยากาศจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยค่ะ” แล้วแพนภาพให้เห็นรวม 15 วินาที โพสต์ลงไปในไอจี จากที่มีคนติดตามอยู่ประมาณ 2 หมื่น แค่คืนเดียวคนเข้ามาตามเพิ่มอีก 2-3 หมื่นคน กลับกลายเป็นว่ามันเป็นช่องทางสำคัญให้คนได้ติดตาม ทำให้เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงว่าโซเชียลมีเดียคือทางเลือกใหม่สำหรับคน ที่เราสามารถใช้มันเป็นช่องทางในการสื่อสารข่าวสารต่างๆ
แต่เนื่องจากเราติดอยู่ในโครงสร้างของทีวี เราติดอยู่ในโครงสร้างขององค์กรที่เราทำข่าวทีวี เราออกข่าวในทีวีได้แค่ 1 นาที ทำให้ที่เหลือเราต้องมาระบายออกในโซเชียลมีเดีย เหมือนมาหาพื้นที่หายใจให้กับข่าวของตัวเองผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็ทำในนามส่วนตัว ดังนั้นเราจึงมองเห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ก่อนใคร
เรามองว่าการเกิดขึ้นของสำนักข่าวออนไลน์ใหม่ๆ ทั้ง The Momentum, The MATTER, The Standard, WAY เป็นสิ่งที่เรารู้สึกอิจฉา เขาสามารถรายงานข่าวได้หลายๆ เรื่อง ในมุมที่ทีวีทำไม่ได้ อย่างการใช้อินโฟกราฟิก แม้กระทั่งคอนเทนต์ที่นำเสนอ ในขณะที่สื่อทีวีดิจิทัลไม่ปรับตัวตาม เราไม่ปฏิเสธเลยว่าความล้มเหลวในการทำทีวีดิจิทัลอย่างหนึ่งมันก็เกิดมาจากการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ที่มีความหลากหลาย เนื้อหาที่อิสระมากพอ หรือมีคอนเทนต์ มีเรื่องราวที่ไม่ได้อยู่ในสื่อกระแสหลัก มันก็เลยตอบโจทย์คนที่ติดตามในโซเชียลมีเดีย แล้วก็ที่สำคัญก็คือว่าคนเหล่านี้สามารถที่จะเป็นปากเสียงให้กับประชาชนด้วย อันนี้คือสิ่งที่เรารู้สึกมากเลยว่า เฮ้ย แล้วตัวเราที่เคยทำ เราไปอยู่ตรงไหนในโลกโซเชียลฯ ในโลกดิจิทัล ในโลกสื่อใหม่
นั่นจึงเป็นที่มาของ The Reporters เพจข่าวออนไลน์ที่คุณกำลังทำใช่ไหม
ใช่ค่ะ The Reporters คิดมาแต่ตั้งแต่ 4-5 ปีที่แล้ว แล้วเรามองเห็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับวงการสื่อด้วย แต่ด้วยความที่ว่าเราเองยังติดอยู่กับรายการข่าว 3 มิติ ยังอยากช่วยพี่กิตติ เราจะทิ้งข่าว 3 มิติไม่ได้ ข่าว 3 มิติต้องเป็นเสาหลักของช่อง 3 เสาหลักของวงการทีวี จะต้องสร้างงานทีวีที่มีคุณภาพ แต่ ณ วันนี้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับช่อง 3 อย่างที่เล่าไปตอนแรก มันเหมือนกับปลดล็อกตัวเราเองด้วย เพราะถ้าวันหนึ่งข่าว 3 มิติถูกยกเลิกสัญญา มันก็จบ ดังนั้นเราก็ต้องเตรียมการสำหรับตัวเอง
The Reporters คือที่รวมของนักข่าว เป็นทั้งเพจข่าวที่มีข่าวอยู่ในเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ ยูทูบ และทวิตเตอร์ เหมือนกับสำนักข่าวออนไลน์ทั่วไป ความตั้งใจที่อยากจะทำ The Reporters ก็เพราะเราเกิดเป็นนักข่าว ผู้รายงานข่าว เราอยากจะให้คนได้เห็นข่าวที่มาจากนักข่าวโดยตรง เพราะที่ผ่านมานักข่าวจริงๆ ทำข่าว แต่คนที่รายงานข่าวคือผู้ประกาศข่าว แต่ The Reporters จะเป็นเว็บข่าวหรือสำนักข่าวที่รายงานข่าวจากนักข่าวภาคสนามโดยตรง เป็นข่าวยิงตรงมาจากสนามข่าว โดยไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองในทีวีเหมือนแต่ก่อน เป็นคอนเซ็ปต์ที่เราอยากจะให้เห็นถึงสไตล์การทำข่าวที่แตกต่างออกไป ซึ่งทั้งหมดมันก็เป็นสไตล์ของฐปณีย์
The Reporters มีทีมงานกี่คน
ตอนนี้มีแอดมิน 2 คน นักข่าวภาคสนาม 3 คน ซึ่งทั้งหมดก็เป็นเพื่อนนักข่าว
ตั้งแต่ทำ The Reporters มา 3 อาทิตย์ ต้องทำงานทั้งวันเลย เพราะเราเป็น บ.ก.เอง เป็นคนรีไรต์ข่าวเอง แต่มีเพื่อนคอยทำภาพให้ หรือบางทีเราก็ทำภาพเอง เพราะทุกอย่างอยู่ในโทรศัพท์มือถือของเรา เรียกได้ว่าทำงานเองแทบทุกอย่าง
สไตล์ของเพจข่าวนี้แตกต่างกับเพจอื่นๆ อย่างไรบ้าง
สไตล์ของ The Reporters ก็คือสไตล์ข่าวของฐปณีย์นั่นแหละค่ะ คือข่าวการเมือง ข่าวภัยพิบัติ ข่าวสิทธิมนุษยชน ข่าวสืบสวนสอบสวน ประเทศไทยไม่ค่อยสนใจข่าวสิทธิมนุษยชนหรือเรื่องสันติภาพเท่าไร ซึ่งเป็นสายงานที่เราติดตามทำข่าวมาโดยตลอด หรือแม้กระทั่งข่าวการเมืองก็จะมีแง่มุมอื่นๆ ที่ด้วยประสบการณ์การทำงานของเรา เราเลยอยากจะผลักดันข่าวประเภทนี้ให้เพิ่มมากขึ้น สื่อสารกับผู้คนให้ได้ติดตามโดยตรงและหลากหลายมากขึ้น
The Reporters นอกจากจะทำข่าวแล้ว ก็จะมีรายการด้วย เพราะเราเป็นคนทีวี มาจากทีวี แต่ก็ต้องเป็นรายการในสไตล์ที่เราอยากจะทำ ก็มีคนก็ติดต่อให้เราไปทำช่องนู้นช่องนี้บ้าง แต่ว่าเราอยากจะทำตรงนี้ให้มันเกิดก่อน
The Reporters วางโมเดลในอนาคตไว้อย่างไร ทั้งในแง่ธุรกิจและการแข่งขันกับสื่ออื่นๆ อีกมากมายในโลกออนไลน์
โดยหลักแล้วเราก็ต้องทำงานที่มีคุณภาพ ต้องทำด้วยความจริงใจ จริงจังกับมัน เรื่องของโมเดลธุรกิจก็ต้องมี เราต้องมีรายได้เพื่อที่จะให้เพื่อนที่ทำงานด้วยกันมีรายได้เพียงพอ แต่จะยืนอยู่บนหลักการของการแบ่งปันกันค่ะ ขอยืมนโยบาย profit sharing ของพรรคคุณอนุทิน (ชาญวีรกูล) นะคะ (หัวเราะ) เราเกิดมาเป็นนักข่าวที่เป็นมนุษย์เงินเดือน แล้วเราก็มักรู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมนักข่าวไส้แห้ง เพราะว่าเราทำแต่งาน แต่เราไม่เคยคิดที่จะหารายได้ให้กับตัวเอง ก็บอกกับเพื่อนๆ ว่าตอนนี้ยังไม่มีเงินเดือนนะ เพราะยังไม่มีรายได้ แต่ถ้ามันมีรายได้ขึ้นมา เราจะแบ่งกันนะ เรายังไม่รู้เลยว่าเราจะมีเงินเดือนกันคนละเท่าไร หรือเราจะได้เงินกันเท่าไร
ส่วนที่ว่าเงินจะได้มาอย่างไร มันก็อยู่ที่เราจะต้องสร้างงานที่มีคุณภาพขึ้นมาให้คนเห็นก่อน เราเริ่มจากการไม่มีอะไรเลยสักบาทเดียว ทำงานให้คนเห็นก่อนว่านี่คือข่าวที่เราอยากจะทำ ถ้าอยากจะมาร่วมงานหรือสนับสนุนเรา ซึ่งตัวรูปแบบอาจจะผ่านการขายโฆษณาหรืออะไรต่างๆ แต่มันก็จะต้องเป็นรูปแบบธุรกิจที่แยกกันจากการทำข่าวของเรา เพราะเราจะต้องอยู่ในหลักการของการทำข่าวในสไตล์ของฐปณีย์ ที่ไม่ได้อยู่ใต้เงินหรือทุน อันนี้คือหลักการที่เราตั้งไว้
เราไม่ได้มองว่าเราลงมาสนามนี้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันกับใคร แต่เรามาพื่อที่จะเปิดพื้นที่ให้ผู้คน เราอยากจะเป็นปากเสียงให้กับเขามากกว่า เราอยากจะปล่อยของที่เรามี นำเสนอผู้คนที่เราได้ไปพบเจอ หรือเรื่องราวที่เราได้ไปติดตามมาค่ะ เราอยากมีพื้นที่ตรงนั้นมากกว่า ไม่ได้หวังว่าจะร่ำรวยจากการทำเพจข่าว
จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา สื่อทีวีและนักข่าวภาคสนามกลับมาเป็นผู้เล่นหลักในสนามข่าว เพราะเป็นคนกลุ่มแรกที่เข้าถึงแหล่งข่าว แต่ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ของธุรกิจสื่อก็ไม่ดีเลย คุณมองประเด็นนี้อย่างไร
ข่าวที่เป็นกระแสหลัก ข่าวที่เป็นเรื่องระดับชาติ มันก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีนักข่าวไปสัมภาษณ์ พูดคุย หรือรายงานข่าว แต่ที่ผ่านมามันไม่ได้มีข่าวการเมืองที่เข้มข้นขนาดนี้ คนทั่วไปก็จะรู้สึกว่าไม่อยากจะรับรู้ข่าวสารอะไรมากขนาดนั้น แต่พอมันเป็นเหตุการณ์ระดับชาติอย่างข่าวการเมือง การเลือกตั้ง มันก็จำเป็นมากที่ต้องมีนักข่าวอยู่ในพื้นที่ สัมภาษณ์มาโดยตรง รายงานมาโดยตรง
แต่สถานการณ์ทางธุรกิจที่ก่อให้เกิดการเลย์ออฟนักข่าว การปิดตัวสื่อต่างๆ ที่เคยเป็นกระแสหลัก เคยมีอยู่ วันหนึ่งมันหายไปเลย ทำให้เรารู้สึกหดหู่มาก สงสารรุ่นพี่นักข่าวหลายคนที่ตกงาน สงสารเพื่อนเราที่เป็นนักข่าวมาตลอดชีวิต รู้ไหมคนเป็นนักข่าว เขาเป็นนักข่าวตลอดชีวิตจริงๆ นะ เขาไม่ได้คิดว่าถ้าไม่ได้ทำข่าวแล้วจะทำอะไร ตัวเราเองก็ถ้าวันหนึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นกับเรา เราก็เศร้าเหมือนกัน เราถึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง
คนมักจะมองว่าที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะนักข่าวไม่ปรับปรุงตัว ไม่ทันโลกออนไลน์ ไม่ทันสื่อใหม่เขา บางคนบอก เออ—ก็สมแล้วที่ถูกปิดตัวหรือตกงาน แต่เราว่ามันไม่ใช่ คนที่เป็นนักข่าวรู้ไหมว่าเขามีหัวใจของการทำข่าวมากขนาดไหน เราต้องออกไปลงสนามทุกวันนะ ไปหาข่าว นั่งรอแหล่งข่าว 2 ชั่วโมง กว่าจะได้สัมภาษณ์ สัมภาษณ์แล้วก็มาเขียน มันใช้พลัง ใช้ความรักในการทำงานมากเลยนะ มันไม่ได้สนุก ไม่ได้นั่งอยู่ในห้องแอร์แล้วเขียนข่าว แต่มันต้องไปหาข่าว ไปอยู่ที่นั่น ไปพูดคุย แล้วกว่าที่คนคนหนึ่งจะให้สัมภาษณ์กับเรามันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ต้องอาศัยความไว้ใจ ความเชื่อใจ ทุกอย่างมันมีคุณค่าในตัวเอง
เรามองว่าการล้มละลายของสื่อทีวี ไม่ได้ผิดที่นักข่าวเพียงอย่างเดียว แต่มันอยู่ที่โครงสร้าง อย่างที่อธิบายไปในช่วงต้นว่าโครงสร้างของทีวีมันทำลายตัวเอง มันมีหลายปัจจัยที่ทำให้วงการข่าวหรือว่าวงการทีวีมัน disrupted ตัวของมันเอง มันไม่ใช่แค่คนข่าวเพียงอย่างเดียว แต่ที่มันล้มหายตายจากกันไป ก็เพราะตัวโครงสร้างขององค์กรสื่อมันไม่ตอบสนองกับตรงนี้ แน่นอนธุรกิจมันไปไม่รอด ก็ต้องลดจำนวนคนออกไป เพื่อที่จะอยู่รอด แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่าเมื่อธุรกิจมันไปไม่รอด มนุษย์งาน มดงานเหล่านี้ เป็นคนกลุ่มแรกที่ต้องถูกถีบออกไปจากวงจรนี้
ในเมื่อนักข่าวภาคสนามลดน้อยลงจากภาวะเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันข่าวที่ต้องการคนทำข่าวกลับกำลังเข้มข้นขึ้น จากนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งที่เรียกว่าข่าว คุณภาพข่าวจะด้อยลงไหม
เราว่ามันกำลังจะเกิดวิกฤตฟองสบู่สื่อค่ะ นี่คือไม่ใช่คำพูดที่เราพูดขึ้นมาเองนะ แต่ว่ามันมาจากหลายๆ คนที่เริ่มพูดเรื่องนี้แล้ว คือ ณ เวลานี้คนที่ต้องออกจากธุรกิจสื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือทีวีที่มีจำนวน 1,000 กว่าคนแล้วนะคะ แล้วคนเหล่านี้จะไปทำอะไรต่อล่ะ คนที่เคยทำทีวี ทีวีก็คืนช่องเหมือนกัน หาทีวีทำไม่ได้ จะผันตัวมาทำออนไลน์เหรอ ออนไลน์ตอนนี้ก็มีคนเยอะมากนะ ออนไลน์ก็จะกลายเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่จะมีคนเข้ามามากขึ้น ดังนั้นเมื่อปริมาณกับคุณภาพมันสวนทางกัน ถึงจุดหนึ่งมันก็จะอิ่มตัว
เรายังเชื่อว่าสุดท้ายแล้วสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ไม่ตายนะ เราเชื่ออย่างนั้น คนก็ยังคงต้องดูทีวีและคนยังต้องอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะอะไรรู้ไหม โลกของข่าวออนไลน์เรายังต้องหวังพึ่งพิงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีใช่ไหม ถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ตคุณจะเปิดดูเพจข่าวได้ไหม สิ่งนี้เราเรียนรู้มาจากเวลาเกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆ จำได้ไหม เหตุแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอินเทอร์เน็ต ช่องทางเดียวในการสื่อสารก็คือ การไปเขียนใบประกาศติดที่ศูนย์ค้นหา ไปแปะป้ายกัน ฉันตามหาลูกฉันที่หายไป หารูปได้เท่าที่มีไปติดประกาศ ฉันตามหาคนๆ นี้ ทุกคนก็จะมารวมกันที่ป้ายประกาศแห่งนี้เพื่อที่จะติดตามข่าว
แล้วสำนักพิมพ์ที่เมืองอิชิโนมากิที่เราไปทำข่าวมา เขาก็ทำหนังสือพิมพ์เขียนมือ ทำมือขึ้นมา เอาหนังสือพิมพ์มาแปะเป็นใบๆ ให้คนได้มาอ่านข่าวที่บอร์ด ทุกอย่างมันจะย้อนกลับไปในแบบนั้น เช่นเดียวกันคนทำทีวี มีประสบการณ์ทีวี เชื่อไหมว่าเวลาที่ไปในสถานที่ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ รถดาวเทียมของทีวีคือสิ่งที่ทำให้เรารายงานข่าวได้เพียงช่องทางเดียว ดังนั้นการรายงานสดจากพื้นที่เกิดเหตุภัยพิบัติขนาดใหญ่โดยที่มันไม่มีสัญญาณอะไรเลย ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้น คนจะได้ดูข่าวจากทีวีและหนังสือพิมพ์ ซึ่งเรามั่นใจว่ามันต้องมีเหตุการณ์แบบนั้นในวันหนึ่ง
เราไม่ได้มองว่านักข่าวภาคสนามคือคนที่สำคัญนะ เพราะถ้านักข่าวภาคสนามไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ขยัน ไม่คิดประเด็นที่จะหาคำถาม ไม่ออกไปหาข่าว นักข่าวภาคสนามก็ไม่มีคุณค่าเหมือนกัน เราสามารถมีนักข่าวภาคสนามใหม่ๆ ได้อีกเยอะ แม้แต่ประชาชนก็จะสามารถเป็นนักข่าวภาคสนามได้ ถ้าหากคุณสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าว สัมภาษณ์ ถามคำถามได้ รายงานข่าวเป็น ใครก็เป็นนักข่าวได้ ดังนั้นคุณค่าไม่ได้แสดงผ่านความเป็นเจ้าของพื้นที่ในแบบนักข่าวแบบพวกเราเท่านั้น ถ้าหากเราไม่ขยัน ไม่หาข่าว ฐปณีย์ไม่ออกไปทำข่าววันหนึ่ง ฐปณีย์ก็จะเลือนหายไป ไม่มีใครจดจำฐปณีย์ได้อีกต่อไป ดังนั้นเรามองว่าทุกคนเป็นนักข่าวได้ แล้วนักข่าวก็จะมีคุณค่าในตัวเองต่อเมื่อคุณสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในบทบาท หรือช่องทางไหน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสื่อใหม่หรือสื่อเก่า ไม่อย่างนั้นคุณก็ตายเหมือนกัน
ทุกวันนี้มีเพจข่าวเกิดใหม่ขึ้นเยอะ คุณแยมคิดว่าเราจำเป็นต้องเรียกร้องความเป็นมืออาชีพจากคนเหล่านี้ไหมครับ
จำเป็นนะ คำว่า ‘มืออาชีพ’ เป็นคำที่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ผูกขาดนะคะ แม้บางคนจะบอกว่า เฮ้ย—เราดูมืออาชีพ แต่จริงๆ แล้วในบางเรื่องเราก็ผิดพลาดได้ เราไม่ได้รู้เรื่องไปเสียทุกเรื่อง ความเป็นมืออาชีพไม่ได้ผูกขาดกับคนที่ทำอาชีพนั้นเสมอไป ความเป็นมืออาชีพมันอยู่ในตัวของตัวเองค่ะ แม้กระทั่งเพจข่าวที่ทำกันขึ้นมาเอง ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณมีความเป็นมืออาชีพพอ คุณก็จะต้องรู้ด้วยสถานะของตัวเองว่า คุณทำอะไรที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง โดยที่ไม่ต้องมีใครมาบอกคุณว่า เฮ้ย—ต้องเป็นมืออาชีพนะ มืออาชีพแบบไหนล่ะ บางครั้งสิ่งที่คุณทำมันก็เป็นสไตล์ใช่ไหมคะ เราไม่อยากผูกขาดว่าคำว่ามืออาชีพ เพราะว่างานมันมีหลากหลาย มีสไตล์ที่แตกต่างกัน และทุกคนมีสไตล์ของตัวเอง
แต่อย่างน้อยขอให้คิดกันสักนิดว่า ในเมื่อเราอาสาที่จะเป็นผู้สื่อสารกับสังคม สิ่งที่เราจะสื่อสารออกไป ก็อยากให้มันผ่านการคิดหรือไตร่ตรองให้รอบคอบให้มาก เพราะเมื่อไรก็ตามที่เรากลายเป็นคนที่เป็นที่รู้จัก ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ถ้าอินฟลูเอนเซอร์อยากจะพูดคำหยาบ อยากจะด่าใคร อย่างนั้นถูกหรือ เราไม่เห็นด้วย นี่คือสิ่งที่เราไม่เห็นด้วยมากๆ ว่าเมื่อไรก็ตามที่มีคนติดตามเราในพับลิก เราเป็นคนที่ผู้คนสนใจหรือมีอิทธิพลต่อความคิด และการรับรู้ของคนอื่น อย่างน้อยเราควรที่จะมีความรับผิดชอบต่อสังคม เราไม่ได้เรียกร้องความเป็นมืออาชีพนะคะ เราเรียกร้องความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อตัวเอง ต่อหน้าที่ของตัวเอง ในการมารับหน้าที่เป็นผู้ส่งสารให้กับผู้อื่น ขอให้มีความรับผิดชอบตรงนั้น ความเป็นมืออาชีพก็จะตามมาเอง
รู้สึกอย่างไรกับบรรดา ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ที่เกิดขึ้นในสังคมจากการแชร์ข่าว capture ข่าว หรือรีไรต์ข่าวของต้นทางมาเผยแพร่ต่อ ในขณะที่นักข่าวภาคสนามอาจจะใช้เวลาในการทำข่าวนั้นนานหลายชั่วโมง หรือองค์กรต้องลงทุนกับการทำข่าวไปไม่ใช่น้อย
เรามองสองแบบนะคะ บางข่าวถ้าเราทำงานไปแล้วมีคนเอาไปเขียนต่อหรือแชร์ต่อ ถ้ามันเกิดสิ่งดี มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง และให้ผู้อื่นได้รับรู้มากขึ้น อันนั้นเราดีใจ เพราะว่าการทำข่าวก็คือการบอกต่อ การให้ผู้คนได้เห็นได้อ่าน ยิ่งเอาจากข่าวต้นฉบับของเราไปรีไรต์ ไปทำต่อ ไปขยายต่อได้มากเท่าไร ข่าวที่เราทำมันก็จะบอกต่อไปยังคนได้มากขึ้น ตามความตั้งใจนี้ก็คือว่าสำเร็จนะ เรากลับรู้สึกดีที่มีคนเอาข่าวเราไปแชร์หรือไปบอกต่อให้เป็นวงกว้างมากขึ้น
แต่ถ้าเอาไปแชร์ผิดวัตถุประสงค์ เขียนผิด ก็อาจจะรู้สึกไม่ดีนิดหนึ่ง ควรเอาไปแล้วเขียนให้มันถูกต้องและไม่แต่งเติม อย่างนั้นโอเคกว่าค่ะ ส่วนตัวไม่ได้มองว่า เฮ้ย—นี่ของฉันนะ ฉันไม่พอใจที่คนเอาข่าวฉันไป ไม่เลย นักข่าวมีหน้าที่ในการทำข่าว ส่งสารต่อ ยิ่งข่าวถูกบอกต่อไปเท่าไร นั่นคือสิ่งที่เรามีความสุขมากกว่านะ แต่บางครั้งอาจจะต้องบอกให้รู้หน่อยว่า ข่าวนี้ใครทำหรือข่าวนี้เป็นของใคร ควรอ้างอิงที่มาของข่าวหน่อย
คุณไม่ได้มองว่าเป็นการชุบมือเปิบ หรือที่เรียกว่า ทำงานง่ายๆ หากินกันง่ายดี?
เราหันกลับมามองตัวเราเองนะว่า เออ—ในขณะที่เราไปทำงานแทบตาย เราคือมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งที่รอรับเงินเดือนเท่านั้น แต่ขณะที่บางคนที่ไม่ได้ทำอะไรเลยใช่ไหมคะ ก็สามารถสร้างงานหรือว่ามีรายได้จากแค่เอาเรื่องที่เราทำไปพูด ไปแชร์ ไปเล่า แล้วก็มีคนมาสนับสนุนนู่นนี่นั่น บางทีเราก็คิดเหมือนกันนะ แต่เรากลับคิดในอีกแบบหนึ่งว่า ก็เราไม่ได้มีช่องทางหรือความสามารถมากพอที่จะมานั่งเล่าเรื่องที่เราทำอยู่ได้เอง หรือทำเงินได้แบบเขา แล้วเราจะไปคิดมากทำไม
ทุกคนก็ย่อมมีช่องทางในการสร้างงานหรือสร้างผลงานของตัวเองเหมือนกัน อันนั้นก็ถือว่าเป็นไอเดียของเขา เป็นวิธีการของเขาที่เขาจะทำงานทำอย่างไร ก็ว่ากันไป แต่สำหรับคนทำงานอย่างเรา เป็นนักข่าวที่มีสถาบัน มีองค์กร มีเงินเดือน เราทำงานตามหน้าที่ ทำงานตามจิตวิญญาณของเรา เราไม่ได้ทำงานเพื่อหาเงินอย่างเดียว เราทำข่าวเพื่อหาข่าว เราไม่ได้ทำข่าวเพื่อหาเงิน เพราะฉะนั้นเราไม่เคยรู้สึกจะต้องไปเปรียบเทียบอะไรเลยว่า อ๋อ—คนนี้ร่ำรวยเพราะว่าเอาข่าวของฉันไปแชร์หรืออะไร เพราะในท้ายที่สุดแล้วคนไม่ได้จดจำที่ความร่ำรวยหรือจดจำที่คนนำไปแชร์ ข่าวมันจะถูกจดจำจากคนที่ทำข่าวมากกว่า
ฟังดูแล้วเราอาจจะคิดแบบอุดมการณ์จ๋า แต่ถ้าเราไม่ยึดหลักตรงนี้ เราจะยังอยู่ตรงนี้ไม่ได้ เหมือนที่เรามาทำเพจ The Reporters ของตัวเอง ก็เริ่มต้นจากการไม่มีเงินทุนอะไร มีแค่สมองและกำลังของเรา มีเพื่อนที่คอยช่วยแนะนำสนับสนุน และก็ตั้งใจว่าจะสร้างมันขึ้นมาจากการที่ไม่มีอะไรนี่แหละ อาจจะต้องมีช่องทางในการหาเงินทางธุรกิจบ้าง แต่ว่ามันไม่ใช่หน้าที่หลักของเรา หน้าที่เราก็คือทำงานข่าวแค่นั้นเอง อาจจะฟังดูเหมือนวาดฝัน แต่เราไม่ต้องการที่จะอยู่ภายใต้นายทุนหรือเงินใครอีกแล้ว ต่อให้เราต้องเปิดร้านขายขนมจีนเพื่อหาเงินเพื่อไปทำข่าว เราก็จะทำ
จริงน่ะ? ฐปณีย์จะเปิดร้านขายขนมจีนหาเงินไปทำข่าว
นี่จริงนะคะ ไม่เคยเปิดเผยเรื่องนี้ที่ไหน บอกกับ The Momentum ที่แรก เราคิดเสมอว่าเราอยากมีเงินสักก้อนหนึ่ง ออกไปทำข่าวอย่างที่เราอยากไป อยากทำ โดยไม่ต้องขออนุญาตช่องหรือของบฯ จากช่อง หรือขอจากใคร เป็นเงินส่วนตัวของเรา เรายังมีครอบครัวที่ต้องดูแล ประกอบกับน้องชายทำอาหารเก่ง ก็ตั้งใจจะเปิดร้านให้เขามานานแล้ว ประจวบเหมาะกับจังหวะชีวิตที่เรากำลังจะก้าวเดินออกมาสร้างอะไรของตัวเอง เลยอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อหาเงินมาซัพพอร์ตในการทำข่าวของตัวเอง ซึ่งก็คือร้านขายขนมจีนนี่แหละค่ะ
คิดเอาไว้ว่าเราจะมีเงินก้อนหนึ่งจากการขายขนมจีนมาเป็นเงินในกระเป๋า จ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน หรือค่ารถเดินทางไปที่ไหนก็ได้ที่เราอยากจะไปทำข่าว นี่คือสิ่งที่เราตั้งใจในการทำเพจ The Reporters
ตอนนี้ขายขนมจีนแบบออนไลน์อยู่ แต่อีกไม่นานเรากำลังจะเปิดเป็นร้านแถวดอนเมือง ขายขนมจีน น้ำยาปู น้ำยาใต้ ขายขนมจีนหาเงินไปทำข่าว หลังจากนี้ไปฉันจะเป็นอิสระจากทุกสิ่งแล้ว ฉันจะขายขนมจีนตอนเช้า แล้วตอนบ่ายฉันก็ไปทำข่าว ฝาก The Momentum มาช่วยทำข่าวร้านขนมจีนด้วยนะคะ
Tags: สื่อออนไลน์, โรฮิงญา, ฐปณีย์ เอียดศรีไชย, The Reporters, นักข่าวภาคสนาม, สำนักข่าวออนไลน์, สื่อดิจิทัล