มันคือภาพของชาวนาที่ร้องเพลงเล่าเรื่องความทุกข์ยากของเธอ ชาวนาแบบเดียวกันกับภาพของชาวนาในท้องทุ่งที่กำลังโบกธงสีแดง มันคือธงสีแดงซึ่งถึงที่สุดต้องดำลงไปในน้ำลึกเพื่อโบกสะบัดจากที่ที่รัฐมองไม่เห็น มันเป็นน้ำทะเลที่ครั้งหนึ่งกลืนกินผู้คนรวมถึงพ่อแม่ของเด็กหญิงคนหนึ่ง เด็กกำพร้าหลังพายุใหญ่ที่ดูเหมือนจะมีชีวิตเคลื่อนไปข้างหน้าโดยไม่ยึดติดอยู่กับความตาย มันคือความตายอันอันชั่วร้ายอย่างเช่นการสังหารหมู่นักข่าวและผู้ชุมนุมประท้วง ที่งานศพของพวกเขา แถวขบวนแห่ศพเดินถอยหลังหวังจะกลับไปยังโลกที่พวกเขายังอยู่ มันคือแถวขบวนเช่นเดียวกันกับของขบวนชาวนาที่เคลื่อนไปตามถนน มันคือภาพของขบวนประท้วงของนักศึกษาที่ถือป้ายว่างเปล่าไร้ถ้อยคำ ขบวนซึ่งเป็นภาพถ่ายนิ่งงันจากอดีตอันเงียบใบ้ นิ่งงันและเงียบใบ้เช่นใบหน้านิ่งงันใต้หน้ากากสีขาวของหญิงคนหนึ่งซึ่งเราไม่อาจมองเห็นเธอต่อหน้ากล้อง
และทั้งหมดนี้คือหนังสั้น/วีดีโออาร์ต 9 ชิ้นของ Kiri Dalena ศิลปินหญิงชาวฟิลิปปินส์ที่กำลังมาแรงทั้งในและนอกประเทศ งานชุดนี้ของเธอเพิ่งได้รับการจัดฉายในวาระที่เธอได้รับเลือกเป็นศิลปินที่น่าจับตามองโดยเทศกาลภาพยนตร์สั้น Oberhausen ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเทศกาลภาพยนตร์สั้นที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และหลังจากเทศกาลนี้ นี่เป็นครั้งที่สองในโลกที่ภาพยนตร์ทั้งชุดนี้ได้จัดฉายพร้อมกันโดยเป็นโปรแกรมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล International Festival Signes de Nuit in Bangkok ที่จัดขึ้นมาเป็นปีที่ห้าติดต่อกันแล้ว
งานของ Kiri Dalena โดยมากเป็นวีดีโอสั้นๆ หลายชิ้น เป็นงานที่เป็นเหมือนยุบย่องานภาพถ่ายของเธอมาเรียงต่อกัน บางชิ้นมาจากงานศิลปะจัดวางที่มีการจัดวางวัตถุอื่นๆ ประกอบด้วย แต่ในที่นี้ เราจะเขียนถึงมันในฐานะภาพเคลื่อนไหวเท่านั้น
งานของเธอมักเป็นการกลับไปสำรวจประวัติศาสตร์บาดแผลของฟิลิปปินส์ทั้งในฐานะประเทศที่เคยตกอยู่ภายใต้กฏอัยการศึกอย่างยาวนานในยุคสมัยของ เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส ประเทศที่กลุ่มจัดตั้งฝ่ายซ้าย ขบวนการชาวนาที่เข้มแข็งโดนรัฐกวาดต้อนฆ่าล้างทำลายอย่างเหี้ยมโหด ประเทศที่เต็มไปด้วยภัยพิบัติธรรมชาติ โดยเฉพาะพายุใหญ่ที่คร่าทำลายผู้คน ไปจนถึงในฐานะประเทศที่ปกครองโดยประธานาธิบดีคนคลั่งขวาจัดที่อย่าง ดูเตอร์เต เหตุการณ์ต่างๆถูกนำมาครุ่นคิด และแปลงมันออกมาเป็นชิ้นงานที่สวยงาม ทรงพลังและท้าทายความคิดอย่างย่ิง
เริ่มจากงานชิ้นสำคัญของเธอที่เป็นชุดผลงานต่อเนื่องหลายชิ้นอย่าง Erased Slogan (2004), Recent Slogans (2014) และ In Our Own Image (2015) งานสามชิ้นที่เริ่มจากภาพถ่ายไปสู่ภาพเคลื่อนไหว ใน Erasesd Slogans เธอกลับไปรื้อค้นภาพถ่ายเก่าของการเดินขบวนประท้วงของนักศึกษาในยุคมาร์กอส จากนั้นลบข้อความทั้งหมดบนป้ายประท้วงออกให้เสมือนว่าเหล่านักศึกษาถือกระดาษเปล่าเดินไปตามท้องถนน ก่อนที่เธอจะทำเช่นเดียวกันในงานอย่าง Recent Slogans และ Our Own Image แต่คราวนี้เป็นงานภาพเคลื่อนไหวร่วมสมัย ที่ถ่ายจากการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลหลายๆ ชุด จากอดีตจนถึงปัจจุบัน (ยิ่งกว่านั้นเธอยังเคยจัดทำหนังสือ Red Book of Slogans โดยเอาข้อความที่อยู่บนป้ายประท้วงทั้งหมดมารวบรวมขึ้นเป็นหนังสือ ซึ่งงานชุดนี้ยังแตกแยกออกไปเป็นสีอื่นๆ นอกจากสีแดง เป็นสีเหลือง พีช และดำ ตามยุคสมัยของการเดินขบวน)
ที่ผู้ชมเห็นจึงเป็น ‘ท่าทาง’ ที่ตัดขาดออกจาก ‘เนื้อหา’ เราไม่เห็นในสิ่งที่ควรเห็นนั่นคือข้อความ เราไม่เห็นเนื้อหาของการประท้วงราวกับมันถูกลบออก ถูกเซนเซอร์โดยรัฐบาล ที่หลงเหลือคือร่องรอยท่าทีแข็งกร้าวของผู้คน เพียงแค่ลบบางอย่างออกไปจากภาพ ความหมายของภาพก็เปลี่ยนแปลงไป การประท้วงถูกลดรูปเป็นสิ่งที่เราไม่เข้าใจ เนื้อหาถูกสูบหายไปจนเหลือแต่ความรุนแรงและความไม่สงบ การสร้างเนื้อหาใหม่จากภาพเดิมโดยลบเอาเนื้อหาเดิมออกแบบเดียวกับการให้ข่าวจากรัฐ ภาพเดิมถูกแทนมีเนื้อหาใหม่ว่าด้วยคนก่อความไม่สงบประท้วงกลางถนน และนี่คือวิธีที่รัฐใช้จัดการกับผู้คนลดรูปจากการชุมนุม สร้างภาพใหม่ให้เหลือเพียงพวกก่อกวนไร้จุดมุ่งหมาย
การเซนเซอร์มาในรูปแบบที่แตกต่างกันและ Kiri ใช้การเซนเซอร์ให้กลายเป็นเนื้อหาที่น่าทึ่งได้ ในงานชิ้นเล็กอีกชิ้น (ซึ่งอีกครั้งมาจากภาพถ่าย)ใน Life Mask (Peasant Leader) ตัวโปรเจกต์ดั้งเดิมของมันคือการถ่ายภาพนักโทษการเมืองในฟิลิปปินส์ทั้งที่พ้นโทษแล้วและที่หลบหนีอยู่ ในการนี้เพื่อ ‘เซนเซอร์’ ใบหน้าของพวกเขา Kiri ทำหน้ากากปูนปลาสเตอร์ขึ้นมาโดยหล่อจากใบหน้าพวกเขา เธอถ่ายภาพพวกเขาขณะที่หน้ากากอยู่บนใบหน้า รอให้มันแห้งสนิท ใบหน้าภายใต้หน้ากาก เป็นภาพไร้ใบหน้าของการเซนเซอร์เพื่อความปลอดภัย แต่หน้ากากยังมีความหมายอีกหลายชั้น ในงานสั้นๆ ชิ้นนี้เธอถ่ายผู้นำหญิงของขบวนการชาวนา ที่ว่ากันว่าต้องโทษติดคุกยาวนานที่สุดในฟิลิปปินส์ ถ่ายภาพเคลื่อนไหวของพวกเขาในขณะที่ต้องนั่งรอปูนแห้ง ใบหน้าใต้หน้ากากเรียบเฉย กับสภาวะอึดอัดคับข้องใต้หน้ากากของการพูดไม่ได้ อีกครั้งเธอจับสังเกตท่าทีของพวกเขา ภาพเคลื่อนไหวของคนใต้หน้ากากขาวจึงกลายเป็นภาพแทนของผู้คนที่พูดไม่ได้ ไม่ให้พูด เพียงมีชีวิตใต้ใบหน้าเรียบเฉย
เลยพ้นไปจากงานภาพถ่าย งานภาพเคลื่อนไหวของเธอก็พูดถึงประเทศแห่งประวัติศาสตร์บาดแผลนี้อย่างน่าสนใจยิ่ง ในงานปี 2010 อย่าง Requiem for M เธอพาผู้ชมไปงานศพ พิธีศพ ขบวนแห่ศพ การเดินลอดโลง บรรยากาศของญาติผู้ตายและผู้เข้าร่วมพิธีแบบคริสต์ เริ่มจากเสียงกรีดร้องและคำสาปแช่งของหญิงผู้หนึ่ง ในเวลาต่อมาภาพไร้บทบรรยายถูกถ่ายแบบถอยหลัง ราวกับทุกคนเดินถอยหลังกลับสู่เหย้าเรือน กลับไปสู่สภาพก่อนการตาย ราวกับภาพยนตร์เท่านั้นที่มีอำนาจในการย้อนเวลา
หากศพนั้นคือศพของใคร? วิดีโอชิ้นนี้ถ่ายจากภาพงานศพของจริงของหนึ่งในเหยื่อของการสังหารหมู่ในมินดาเนา การอุ้มฆ่าที่โหดร้ายที่สุดครั้งหนึ่งซึ่งเกิดจาดความขัดแย้งของการเลือกตั้งในมินดาเนา ขบวนของผู้สื่อข่าว และผู้สนับสนุนผู้ลงสมัครรายใหม่ที่กำลังเดินทางไปยื่นรายชื่อในขบวนรถหกคันถูกขวางทางโดยกลุ่มทหารราว 100 นาย ทั้งหมดหายตัวไปก่อนจะถูกพบเป็นศพ เหยื่อทั้งหมดมี 58 ราย จากการชันสูตรเหยื่อผู้หญิงที่สี่ในห้าคนเป็นนักข่าวมีร่องรอยการถูกข่มขืนก่อนจะถูกฆ่าโดยการยิงที่อวัยวะเพศและตัดหัว
ภาพเหล่านี้จึงคือการพยายามกลับคืนไป ท่ามกลางสังคมที่การอุ้มฆ่ากลายเป็นเรื่องสามัญดาษดื่น Kiri พยายามทำในสิ่งที่เธอทำได้ บันทึกความเจ็บปวดสูญเสีย เผยแพร่มันออกไป หวังให้พลังของภาพยนตร์ทำหน้าที่ที่มันทำได้ ทั้งจากการส่งสาส์น และการใช้พลังของมันย้อนกลับคืนไปแม้จะเป็นไปอย่างสิ้นหวังก็ตาม
ย้อนกลับไปยังหนังเรื่องแรกของเธอ Red Saga (2004) นี่คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่เธอมีส่วนร่วมกับกลุ่มของกลุ่มศิลปินหลายคน ตัวงานเป็นหนังทดลองเชิงนามธรรมที่เป็นที่นิยมในช่วงต้นยุค 2000’s ภาพของทุ่งนาเขียวขจี ธงสีขาวปักหมุดถูกเปลี่ยนเป็นธงสีแดง และผู้คนที่โบกธงสีแดงอยู่กลางทุ่ง ธงที่ในเวลาต่อมาเป็นเครื่องหมายของการประท้วง เดินขบวนในเมือง และแน่นอน นำไปสู่ธงแดงของขบวนการคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายที่จับอาวุธต่อสู้รัฐบาล การร้อยเรียงภาพของทหารคอมมิวนิสต์ ชาวนา และขบวนประท้วงฉายภาพหนักแน่นของสิ่งที่เราในประเทศไทยอาจจะเคยได้ยินในจากเพลงเพื่อชีวิตในยุค 70’s เพลงของชาวนา นักศึกษาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งในเวลาต่อมา ดนตรีคงอยู่แต่ผู้คนเปลี่ยนแปลง
ราวกับภาคต่อของกันและกัน From The Dark Depths (2017) Kiri พาตัวละครไปโบกธงแดงอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่ธงแดงเหนือทุ่งข้าว แต่เป็นธงแดงใต้ทะเล เธอพาเด็กสาวนักปฏิวัติคนหนึ่งดำดิ่งลงไปใต้น้ำ เพื่อโบกสะบัดธงสีแดง เพื่อตามหาศพของเพื่อนนักปฏิวัติที่หายไป หนังตัดสลับกับภาพบันทึกชีวิตในป่าของขบวนการคอมมิวนิสต์ จากยุคของวีดีโอไปจนถึงดิจิทัล ภาพจากการประกาศเคอร์ฟิวในเมือง
Kiri เล่าว่า การโบกธงแดงในฟิลิปปินส์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะขบวนการคอมมิวนิสต์ในฟิลิปปินส์ยังแอคทีฟอยู่ ยังคงจับปืนสู้กับรัฐในเกาะแก่งห่างไกลต่างๆ ในหนังเรื่องนี้ การลงไปโบกใต้น้ำ จึงกลายเป็นภาพของการดำดิ่งลงไปยังที่ที่รัฐไม่อาจสอดส่ายสายตาไปถึงมันเป็นทั้งการต่อสู้และการหลบหนี หนังสองเรื่องจึงเป็นเหมือนวีดีโอนามธรรมของการสืบสายเลือดของการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมของขบวนการฝ่ายซ้าย ขบวนการประชาชน ซึ่งยังเข้มข้นอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง การดูหนังสองเรื่องนี่ต่อกันจึงสะท้อนภาพของอุดมการณ์ที่อยู่เหนือผู้คน และเป็นกระจกแตกเสี้ยวยอกแสยงใจเมื่อมองกลับมายังการเปลี่ยนแปลงของอุดมการณ์ในสังคมศิลปะร่วมสมัยของผู้คนที่ข้ามผ่านยุคสมัยเหล่านั้นมา
เราอยากปิดท้ายด้วยความหวัง และนี่คือความหวังหลังพายุใหญ่ของเธอ ในสารคดีสั้น Tungkung Langit (Lullabye for a Storm) (2013) เธอติดตามเด็กสองคนไปดูพวกเขาเล่นซน ใช้ชีวิตเรียบง่ายในหมู่บ้านชนบท หนังติดตามการเล่นแบบเด็กๆ ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีจุดมุ่งหมายมากกว่าถ่ายทอดความไร้เดียงสา และความสุขแบบเด็กๆ เพียงแต่ว่าหนึ่งในสองคนนั้น คือเด็กที่กำพร้าพ่อแม่ชั่วนิรันดร์จากเหตุการพายุใต้ฝุ่น ฟิลิปปินส์ในฐานะประเทศหมู่เกาะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ประสบภัยจากพายุมากที่สุดประเทสหนึ่งในโลก หนังฉายความหวัง และการดำรงคงอยู่ของเด็กๆ การรับมือกับความสูญเสียแบบเด็กๆ และการก้าวต่อไปข้างหน้า
งานทั้งชุดของ Kiri จึงเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์บาดแผลที่ไม่มีวันหายของประเทศนี้ ทั้งจากภัยธรรมชาติ ขบวนการชาวนา การอุ้มฆ่าผู้คน และการกดขี่ประชาชนโดยรัฐ ที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนมากี่สมัย จากยุคกฏอัยการศึกมาจนถึงยุคประชาธิปไตยไปจนถึงยุคขวาสุดโต่งคลั่งบ้า เรายังต้องเผชิญกับมันไม่เปลี่ยนแปลง และพลังที่ฉายฉานในฐานะศิลปินที่จะไม่ยอมจำนน ที่จะไม่ยอมไม่ต่อสู้ตามวิธีที่เธอทำได้ เป็นพลังอย่างยิ่งสำหรับผู้ชมในที่อื่นๆ ซึ่งแน่นอน อาจจะตกอยู่ในที่นั่งเดียวกันไม่ต่างกับเธอ