เพิ่งจะเปิดประชุมสภาได้ไม่กี่วันเพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ก็เต็มไปด้วยดราม่าดุเดือดกระหน่ำโลกโซเชียลฯ ตั้งแต่เรื่องการแต่งกาย ‘ธีมกาสะลอง’ เข้าประชุมสภาของ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่และเพื่อไทย จนเกิดเป็นประเด็นว่า ‘เหมาะสม’ หรือไม่ จุดประเด็นซึ่งถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันทั้งในพื้นที่สื่อ โซเชียลมีเดีย ลามไปจนถึงต้องตั้งกระทู้อภิปรายกันในสภาฯ เลยทีเดียว
แต่เรื่องเก่ายังไม่จบ เรื่องใหม่ก็ตามมากับประเด็น ‘ภาษาถิ่น’
เรื่องของเรื่องเกิดจากคุณศรีนวล บุญลือ ใช้ภาษาถิ่นอภิปรายในสภา ซึ่งเกิดการทักท้วงจากพรรคครูไทยเพื่อประชาชนว่า ห้ามใช้ภาษาถิ่นเพราะทำให้คนอื่นไม่เข้าใจ จากนั้น คุณกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ จึงอภิปรายหนุนให้สภาอนุญาตใช้ภาษาท้องถิ่นในการประชุมสภาได้ โดยกล่าวยกตัวอย่างสภาในหลายประเทศ ทั้งแคนาดา ฟินแลนด์ หรืออินเดีย และกล่าวสรุปในประเด็นนี้ว่า
“ทั้งนี้ทั้งนั้น ขอยืนยันในประเด็นที่จะต้องให้รัฐสภาเป็นที่ที่แสดงความหลากหลายทางอัตลักษณ์ของสมาชิก เป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีภาษาแบบเดียวอย่างเดียว ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลาย ทั้งเชิงวัฒนธรรมและภาษา ยิ่งไปกว่านั้น ภาษาเป็นเครื่องมือของการสื่อสาร อยากให้เพื่อนสมาชิก ท่านประธานสภา ท่านคณะกรรมการทุกท่านลองนึกดูถึงสมาชิกสภาที่ปกติแล้วเกิดโตมาใช้ภาษาถิ่นมาตลอดทั้งในโรงเรียน ในการติดต่อราชการในพื้นที่ของเขา แม้กระทั่งการหาเสียงโดยใช้ภาษาถิ่นมาตลอด ทำไมในพื้นที่สภาแห่งนี้จะเป็นพื้นที่ที่ใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสารไม่ได้”
“การใช้ภาษาเดียวเท่านั้นถือเป็นการกดขี่เชิงอัตลักษณ์ของความหลากหลายที่มีอยู่จริงในสังคมนี้ ประชาชนชาวไทยที่ได้เลือกเราเข้ามาอยู่ในสภาแห่งนี้มีความหลากหลายอยู่ และเราคือตัวแทนความหลากหลายนั้น จำเป็นเหลือเกินที่สังคมหนึ่งจะต้องสามารถแสดงออกถึงความหลากหลายของประชาชนของตัวเองผ่านพื้นที่อย่างสภาผู้แทนราษฎร เป็นสิ่งจำเป็นเหลือเกินที่เราจะต้องรักษาวัฒนธรรมในการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่ง เป็นหน้าที่หลักของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้”
บอกตามตรงฉันไม่นึกว่าคุณกุลธิดาจะพาประเด็นไปไกลถึงเพียงนั้น
ฟังทีแรกก็พยักหน้าหงึกๆ ตาม โดยเฉพาะผู้ที่เรียนประวัติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์มาก็คงจะได้เรียนประเด็นเรื่องการใช้ภาษากับการสร้างชาติ ซึ่งในกระบวนการการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ของไทยนั้น การกำหนดภาษาไทยกลางก็เป็นอาวุธอย่างหนึ่งเพื่อรวบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางราชการ สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ความจงรักภักดี และบริหารงานแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งขณะเดียวกันก็สร้างความเป็นอื่น ลดทอนกดขี่กลุ่มชนซึ่งมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษา ศาสนา เผ่าพันธุ์ที่แตกต่าง
สิ่งที่คุณกุลธิดากล่าวมานั้นก็ฟังเข้าท่า…แต่ในขณะเดียวกันนั้น ‘ภาษาไทยกลาง’ ที่กำหนดเป็นภาษากลางในการสื่อสารก็มีหน้าที่ของมันที่หลุดไปจากพันธนาการของการเป็นเครื่องมือในการสร้างรัฐชาติ (ที่ดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน) ซึ่งก็คือหน้าที่ในการสื่อสาร เป็นตัวกลางระหว่างผู้สื่อสาร ไม่ว่าจะสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายให้เข้าใจตรงกันภายใต้การใช้ภาษาไทยกลาง
ในขณะเดียวกันนั้น ‘ภาษาไทยกลาง’ ที่กำหนดเป็นภาษากลางในการสื่อสารก็มีหน้าที่ของมันที่หลุดไปจากพันธนาการของการเป็นเครื่องมือในการสร้างรัฐชาติ (ที่ดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน) ซึ่งก็คือหน้าที่ในการสื่อสาร
และหากย้อนกลับไปดูข้อโต้แย้งของพรรคครูไทยเพื่อประชาชนที่กล่าวทักท้วงไม่ให้ใช้ภาษาท้องถิ่นด้วยเหตุผลที่ว่า ‘เพราะทำให้คนอื่นไม่เข้าใจ’ ประเด็นคำถามสำคัญซึ่งไม่ไปไกลเกินเหมือนที่คุณกุลธิดาพาเราไปนั้นก็คือ
คุณศรีนวลหรือคุณกุลธิดาผู้อภิปรายสนับสนุนต้องการ “ให้คนอื่นเข้าใจหรือไม่” ฉันว่าประเด็นมันอยู่ตรงนี้ นิดเดียวเองไม่ต้องไปไกลถึงเรื่องอัตลักษณ์ความหลากหลายหรอก
และเมื่อย้อนกลับมาอ่านในสิ่งที่คุณกุลธิดากล่าวไว้ดีๆ ก็จะเห็นว่า ภายใต้ข้อสนับสนุนที่ดูมีหลักการในการเคารพความแตกต่างหลากหลายนั้น เต็มไปด้วยความขัดแย้งในตรรกะ เหตุผลและวัตถุประสงค์เต็มไปหมด
อย่างแรกเลยก็คือ ตามที่คุณกุลธิดากล่าวว่า
“ต้องให้รัฐสภาเป็นที่ที่แสดงความหลากหลายทางอัตลักษณ์ของสมาชิก เป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีภาษาแบบเดียวอย่างเดียว ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลาย ทั้งเชิงวัฒนธรรมและภาษา ยิ่งไปกว่านั้น ภาษาเป็นเครื่องมือของการสื่อสาร”
คุณกุลธิดาเป็นคนบอกเองว่า เป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีภาษาเดียว และภาษาเป็นเครื่องมือของการสื่อสาร ซึ่งเมื่อเราพิจารณาดูดีๆ ก็จะเห็นว่า นอกจากภาษาเหนือที่คุณศรีนวลใช้ เรายังมีภาษาอีสาน ภาษาใต้ ภาษายาวี และสำเนียงภาษาถิ่นอื่นๆ เต็มไปหมด และเราต้องการสื่อสารเรื่องต่างๆ ให้เข้าใจตรงกัน ทั้งการสื่อสารให้กับสมาชิกรัฐสภา และประชาชนที่ฟังการอภิปราย ซึ่งอย่าลืมว่า ทั้งสมาชิกรัฐสภาและประชาชนก็ใช่ว่าจะไม่มีความแตกต่างหลากหลาย และก็อย่างที่คุณกุลธิดาว่าไว้นั่นแหละว่า ในสภามีความแตกต่างหลากหลายเช่นเดียวกันกับประเทศไทยเอง
ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่การดำรงไว้ซึ่งภาษาถิ่นเพื่อ ‘แสดง’ ให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลาย แต่วัตุประสงค์ภายใต้บริบทของสภาก็คือ ‘ความเข้าใจ’ ผ่านการใช้ภาษา คุณศรีนวลหรือคุณกุลธิดาต้องการให้คนอื่นเข้าใจประเด็นที่ผู้ที่ใช้ภาษาถิ่นอภิปรายหรือไม่ อยากให้ประชาชนที่มีความแตกต่างหากหลายที่อาจจะไม่ได้เข้าใจภาษาถิ่นในแบบที่คุณศรีนวลพูด เข้าใจคุณศรีนวลหรือไม่ว่ากำลังอภิปรายเรื่องอะไร เกิดอะไรขึ้น ในที่นี้ ภาษาไทยกลางจึงมี ‘หน้าที่’ เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อความเข้าใจที่ ‘ตรงกัน’
คำถามหลักจึงกลับไปอยู่ที่ว่าวัตถุประสงค์ในการอภิปรายในสภานั้นอยากจะให้คนอื่นได้ ‘เข้าใจ’ หรือเปล่า อยากจะถ่ายทอดปัญหา ประเด็นนานาให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับรู้ด้วยความ ‘เข้าใจ’ หรือไม่ อนาคตใหม่ต้องการใช้พื้นที่ของสภาในการทำสิ่งนี้ไม่ใช่หรือ แล้วทำไมคุณกุลธิดาจึงปฏิเสธที่จะสร้างความเข้าใจอันเป็นวัตุประสงค์หลักและ ‘บริบทหลัก’ ในการอภิปรายในสภาด้วยข้อกล่าวอ้างเรื่องความหลากหลายของชาติพันธุ์วรรณาและภาษาถิ่นไปเสียล่ะ
ดิฉันคิดว่าข้อกล่าวอ้างของคุณกุลธิดาเป็นข้อกล่าวอ้างที่ถูกต้องตามความถูกต้องทางการเมือง (Political Correctnes หรือ PC) ในทางกว้างๆ และหยาบๆ แต่มันผิดบริบท
และยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงการใช้ตรรกะและเหตุผลอันผิดเพี้ยนและผิดบริบทเข้าไปใหญ่เมื่อคุณกุลธิดากล่าวว่า
“ท่านคณะกรรมการทุกท่านลองนึกดูถึงสมาชิกสภาที่ปกติแล้วเกิดโตมาใช้ภาษาถิ่นมาตลอดทั้งในโรงเรียน ในการติดต่อราชการในพื้นที่ของเขา แม้กระทั่งการหาเสียงโดยใช้ภาษาถิ่นมาตลอด ทำไมในพื้นที่สภาแห่งนี้จะเป็นพื้นที่ที่ใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสารไม่ได้”
เพราะสิ่งที่คุณกุลธิดายกขึ้นมาเป็นข้อกล่าวอ้างนั้น มันเป็นพื้นที่ที่กลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันที่ใช้ภาษาเดียวกันในการสื่อสารและ ‘เข้าใจ’ กันด้วยเหตุแห่งภูมิศาสตร์ แต่อย่างที่คุณกุลธิดาบอกเองว่า ในสภามีความหลากหลาย ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันที่ใช้ภาษาเดียวกันเหมือนตอนหาเสียง เหมือนในโรงเรียน เหมือนตอนไปติดต่อราชการในพื้นที่ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของพื้นที่ที่มีกลุ่มคนชาติพันธุ์เดียวกันที่ใช้ภาษาเดียวจึงใช้ภาษาถิ่นทำความเข้าใจกันได้แม้ว่าจะมีภาษาไทยกลางเป็นภาษาราชการอยู่ เหตุใดจึงไม่เข้าใจความแตกต่างของบริบทนี้ และที่สำคัญก็คือ มันเป็นการใช้ตรรกะที่ผิดเพี้ยนมากอยู่พอสมควร
สิ่งที่คุณกุลธิดาควรทำก็คือกลับไปตั้งโจทย์ใหม่ว่า การอภิปรายในสภาต้องการสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจหรือไม่ ซึ่งคำว่าผู้อื่นนี้ รวมไปถึงประชาชนทั้งประเทศด้วย มันเป็นวัตถุประสงค์หลักภายใต้บริบทนั้นหรือเปล่า เพราะเหตุผลที่คุณกุลธิดาหยิบยกมานั้น มันกลับไปทำลายวัตถุประสงค์หลักในการใช้ภาษาเพื่อสร้างความเข้าใจภายใต้บริบทการอภิปรายในสภาเสียสิ้น
อีกหนึ่งข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากคุณกุลธิดาก็คือ ‘การใช้ล่าม’ แม้คุณกุลธิดาจะเสนอให้มีล่ามเหมือนในต่างประเทศ แต่สำเนียงท้องถิ่นก็อาจจะหลากหลายมากเกินกว่าที่จะคุ้มต่อการจัดการเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของคนฟังในสภา และหากมันเป็นการใช้ล่ามเพื่อแปลกลับมายัง ‘ภาษาไทยกลาง’ อีกครั้ง คุณศรีนวลเองก็สามารถใช้ภาษาไทยกลางได้ เราจะไปเพิ่มกระบวนการตรงนั้นทำไม มันเป็นการย้อนแย้งหรือเปล่า
และหากคุณกุลธิดาต้องการเชิดชูความแตกต่างหลากหลายจริงๆ ผู้รับสารซึ่งไม่ได้มีแค่เพียงในสภาแต่ยังรวมไปถึงคนทั้งประเทศ ซึ่งในความแตกต่างหลากหลายนั้นอาจไม่ได้มีเพียงแต่ประเด็นเรื่องชาติพันธุ์และภาษาแต่ยังรวมไปถึงคนชายขอบอื่นๆ เช่น ผู้พิการหูหนวกตาบอด หากคุณกุลธิดาจะใช้หลักการ PC และลากไปไกลสุดกู่ในเรื่องนี้จริงก็คงจะต้องใช้การ PC ในสเกลใหญ่ระดับมหาศาลเพื่อไม่ให้เกิดการกดขี่ทางอัตลักษณ์ของคนชายขอบในการเข้าถึงสารในการอภิปรายในสภาที่ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องชาติพันธุ์และภาษาเท่านั้น
นี่ยังไม่รับรวมไปถึงประเด็นที่ว่าจะใช้วิธีการแปลของล่ามอย่างไรเพื่อสื่อสารกับคนทั้งประเทศในขณะที่มีการถ่ายทอดสด ประเด็นทั้งหมดในเรื่องการใช้ล่ามจึงกลับมาขมวดสู่ประเด็นหลักที่ว่า นี่ไม่ใช่บริบทในการใช้จุดเริ่มต้นของเหตุผลจากหลักการ PC ที่คุณกุลธิดาอ้างถึงเพื่อโยงไปสู่การใช้ล่าม แต่มันเป็นประเด็นเรื่องการจัดการเสียมากกว่า
ไม่เพียงแค่นั้น ภายใต้ประเด็นเล็กน้อยที่เกิดขึ้นว่าการสื่อสารนี้ก่อให้เกิดความ ‘เข้าใจ’ หรือ ‘ไม่เข้าใจ’ คุณกุลธิดากลับพาเราไปไกลสุดกู่ด้วยประเด็นที่ว่า
“การใช้ภาษาเดียวเท่านั้นถือเป็นการกดขี่เชิงอัตลักษณ์ของความหลากหลายที่มีอยู่จริงในสังคมนี้ ประชาชนชาวไทยที่ได้เลือกเราเข้ามาอยู่ในสภาแห่งนี้มีความหลากหลายอยู่ และเราคือตัวแทนความหลากหลายนั้น…”
ประเด็นทั้งหมดก็กลับมายังประเด็นเดิมก็คือ การหลงในจุดประสงค์หลักและบริบทของสถานการณ์ โดยพยายามใช้ PC มาครอบเพื่อให้ข้อสนับสนุนของตัวเองนั้นถูก ซึ่งทำให้เกิดการตีความไปในเรื่องการเป็นตัวแทนท้องถิ่น ว่าการใช้ภาษาท้องถิ่นในสภา เป็นการแสดงความเป็นตัวแทนของคนที่ถูกกดขี่เชิงอัตลักษณ์ และในขณะเดียวกัน มันก็ยังแสดงให้เห็นถึงความหลากหลาย
ส.ส. คือตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งได้รับการเลือกจากประชาชนเข้ามาด้วยเหตุผลหลากหลายประการ ส.ส. ไม่ใช่ตัวแทนการเลือกมาแบบภาษา/เผ่า ละ 1 คน เพื่อให้ครบทุกชาติพันธุ์ทุกภาษา และหากแม้คุณจะเป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ใดใช้ภาษาถิ่นใด แต่เมื่อมาถึงการทำงานในระดับประเทศ ส.ส. ซึ่งแม้มาจากความแตกต่างหลากหลาย ก็มีหน้าที่ทางนิติบัญญัติที่ดูแลในระดับประเทศ
แม้ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับท้องที่ที่คุณสังกัดอยู่ที่อาจจะมีชาติพันธ์ุหรือภาษาเฉพาะ หรือปัญหาในระดับประเทศ แต่มันคือการเข้ามาอภิปรายเพื่อสื่อสารเรื่องนั้นเพื่อให้คน ‘ทั้งประเทศ’ ได้เข้าใจ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนอีสานหรือคนใต้มลายู หากคุณศรีนวลอยากจะสื่อสารประเด็นที่เป็นปัญหาของท้องที่ที่คุณสังกัดอยู่ ที่อาจจะมีชาติพันธ์ุหรือภาษาเฉพาะ คุณศรีนวลจะไม่อยากให้คนทั้งสภาได้รับรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้หรอกหรือ ไม่ได้อยากให้คนทั้งประเทศ ทั้งคนใต้ คนกลาง คนอีสานได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นหรอกหรือ หรือคุณจะมาเพื่อเป็นแค่ตัวแทนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พูดเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและมีแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่เข้าใจแล้วจากไป
เพราะฉะนั้น การใช้ภาษาไทยกลางในการอภิปราย ตามที่พรรคครูไทยเพื่อประชาชนกล่าวอ้างว่า “เมื่อใช้ภาษาท้องถิ่น คนอื่นไม่เข้าใจ ให้ใช้ภาษาไทยกลาง” ตามบริบทในการอภิปรายในสภา มันจึงไม่ได้มีแค่มิติแห่งการกดขี่ความหลากหลายทางอัตลักษณ์อย่างที่คุณกุลธิดากล่าวอ้างอย่างผิดเพี้ยนและพาหลงประเด็นไปไกลโข ในมิตินี้ มันเป็นเครื่องมือหรือกติกาที่สร้างขึ้นมาเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันในประเด็นการอภิปราย เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์หลักอันเป็นพื้นฐานในการใช้ภาษากลางในการสื่อสารในสภาก็เท่านั้นเอง
อย่างที่บอก บริบทหลักของการอภิปรายในสภาก็คือ เราต้องการจะยกประเด็นปัญหาเพื่อถกเถียงอภิปรายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขใช่หรือไม่ และหากยังสื่อสารกันไม่เข้าใจแล้วจะนำไปสู่การรับรู้ปัญหาหรือแก้ไขได้อย่างไร ถ้าคุณต้องการจะอภิปรายเพื่อสื่อสารกับทั้งคนในสภาและคนทั้งประเทศให้สัมฤทธิ์ผล ก็ต้องใช้ภาษาที่ทำให้คนหมู่มากเข้าใจ อันเป็นภาษากลางซึ่งเกิดขึ้นมาโดยการใช้กติกาการรับรู้ร่วมกัน การยกประเด็นเรื่อง การเป็นตัวแทนชาติพันธุ์ภาษาเฉพาะถิ่น หรือสภาไม่ควรใช้ภาษากลางอย่างเดียว ควรใช้ภาษาถิ่นได้ มันเป็นคนละเรื่อง คนละบริบท คนละพื้นที่แห่งการใช้ความถูกต้องทางการเมือง คนละจุดประสงค์ในการเข้ามาอภิปรายในสภาด้วยซ้ำไป
ปัญหาหลักของประเด็นดราม่านี้ ไม่ได้อยู่ที่คุณกุลธิดาคิดดีหรือไม่ดี การสนับสนุนความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะในกระแสโลกปัจจุบันนี้ เพียงแต่ว่าคุณกุลธิดานำเอาข้อต่อสู้นี้มากล่าวอ้างโดยอาศัยหลักตามความถูกต้องทางการเมือง (PC) แต่มันกลับย้อนแย้ง และที่สำคัญคือ ‘ผิดบริบท’ จนทำให้ข้อต่อสู้ของตัวเองที่ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความงดงามในเชิงความถูกต้องทางการเมือง กลับไปทำลายจุดประสงค์หลักอันเป็นบริบทพื้นฐานของการที่ตนเองหรือพรรคก้าวเข้ามาใช้พื้นที่สภาในการอภิปรายเพื่อชูประเด็นปัญหาบ้านเมืองในด้านต่างๆ ให้ผู้คนได้ตระหนักถึง คิดไตร่ตรอง และร่วมกันผลักดันเพื่อแก้ปัญหา เพราะหากไม่มีใครเข้าใจในสิ่งที่ตัวผู้อภิปรายอภิปราย (โดยใช้ภาษาถิ่น) แล้วนั้น จุดประสงค์นั้นจะสัมฤทธิ์ผลไปได้อย่างไรกัน
และที่สำคัญก็คือหากจะใช้หลัก PC มาเป็นข้อโต้แย้งหรือสนับสนุน ก็ควรใช้ให้ถูก ใช้ให้เป็น และใช้ให้แม่น เพราะไม่เช่นนั้น มันจะสั่นคลอนความถูกต้องและน่าเชื่อถือของตัวเอง
เหมือนดังเช่นการที่พรรคอนาคตใหม่ปักธงไม่เอารัฐประหาร ต่อต้านเผด็จการ หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่กลับบอกว่าการสนับสนุนเผด็จการนั้นเป็นสิทธิ เพราะถ้าถามฉัน อย่างนี้เขาเรียกว่า “ไม่ PC!”