ในโลกที่อินเทอร์เน็ตครอบคลุมทุกพื้นที่ของชีวิต โซเชียลมีเดียกลายเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมือของทุกคน เพียงไถหน้าฟีดเฟซบุ๊กหนึ่งครั้งก็สามารถเสพข่าวได้ไม่รู้กี่ข่าวต่อวัน ทำให้สื่อหลายสำนักแบกภาระในการเร่งผลิตข่าวสารให้รวดเร็วและมีจำนวนมากพอที่จะรองรับความต้องการของผู้เสพข่าว และยิ่งข่าวที่ออกมาสู่เราต้องใช้ความเร็วมากเท่าไร ความถูกต้องแม่นยำของข่าวสารก็ย่อมน้อยลงตามไปด้วย ความผิด ความถูกของข้อมูลในโลกออนไลน์จึงกลายเป็นแค่เรื่องชั่วคราว เพราะเนื้อหาที่คิดว่าถูกต้องในเวลานี้ อีก 5 นาทีข้างหน้าอาจกลายเป็นข้อมูลที่ผิดไปแล้วก็ได้ หรือไม่ ข่าวสารที่คุณได้รับและเชื่อตลอดมาอาจจะเป็นข่าวลวงมาตลอดก็ได้

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหาร The Momentum ถามเด็กฝึกงานในโครงการ daypoets ก่อนเริ่มการเวิร์กชอป  Passion Monday by daypoets society ที่จะจัดขึ้นทุกๆ วันจันทร์ ว่า “ใครเคยเชื่อหรือแชร์อะไร แล้วมารู้ทีหลังว่าเป็นข่าวปลอมมั้ย” ทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ท่ามกลางข้อมูลที่ไหลผ่านหน้าไทม์ไลน์จนเราอ่านแทบไม่ทันในวันหนึ่งๆ นั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เรากำลังอ่านอยู่นั้นเป็นความจริง จริงๆ? หรือง่ายกว่านั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราอ่านอยู่นั้นไม่ใช่ fake news?

การเวิร์กชอปเริ่มต้นที่การทำความรู้จัก fake news กันคร่าวๆ ก่อนว่า ในโลกอินเทอร์เน็ตนั้น fake news แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ misinformation ข้อมูลข่าวสารที่แพร่กระจายออกมาโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ทำให้เกิดความหลงผิด และอีกอย่างหนึ่ง คือ disinformation ซึ่งก็คือข้อมูลที่จงใจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ผ่านการโน้มน้าวจูงใจด้วยข้อเท็จจริง โดยข้อมูลเหล่านี้ก็ยังสามารถแบ่งได้เป็นอีก 7 ประเภทย่อยๆ คือ

  • satire, parody  ข่าวปลอมที่ประกอบด้วยเนื้อหาที่ไม่มีจุดประสงค์ให้เกิดผลกระทบร้ายแรง ซึ่งสามารถเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงเพื่อแก้ความเข้าใจผิดกันได้ เช่นข่าวปลอมเรื่องการตายของดาราชื่อดังอย่างเฉินหลงที่ถูกปล่อยออกมาในวันเอพริลฟูลส์เดย์ของทุกปี

  • misleading content ข่าวที่มีเนื้อหาที่ใช้วิธีการเขียน ตัด/เพิ่ม คำเพื่อโน้มน้าวใจผู้อ่านให้เข้าใจผิด

  • imposter content ใช้วิธีที่อ้างแหล่งข้อมูลผิดๆ หรือแหล่งข้อมูลผิดแล้วเหมารวมว่าจะต้องเป็นเช่นเดียวกัน เช่น เพื่อนในกลุ่มเราเป็นกะเทยและชอบกินยำ เราเลยไปบอกทุกคนว่ากะเทยทุกคนชอบกินยำ

  • fabricated content คอนเทนต์มโนที่ออกแบบมาลวงผู้อ่านเพื่อโจมตีแนวคิดหรือตัวบุคคล

  • false connection เป็นข้อมูลที่มีหัวข้อ รูปประกอบ และแคปชั่นเกี่ยวกันแต่นำมาปะติดปะต่อ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือจะเป็นการยกคำพูดมาประกอบใหม่ ซึ่งเปลี่ยนความหมายโดยสิ้นเชิง

  • false context  คือข่าวที่ไม่เชื่อมโยงในหัวข้อข่าว เนื้อข่าว และรูปประกอบ เช่น ข่าวการติดต่อโรคทางน้ำลายจากดื่มน้ำโดยใช้หลอดเดียวกันในกิจกรรมรับน้อง และมีรูปประกอบเป็นนักร้องไอดอลเกาหลีดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ก็อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดได้ว่าไอดอลเกาหลีคือนักศึกษาที่ติดโรคจากการดื่มน้ำแก้วเดียวกัน

  • manipulated content เมื่อข้อมูลตั้งต้นถูกตัดแปะกับข้อมูลที่เป็นเท็จเพื่อให้คนเข้าใจผิดว่าทั้งหมดเป็นข่าวจริง แต่ที่จริงแล้วเป็นข่าวลวง

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างการพาดหัวข่าวของ 2 สำนักข่าวมาเป็นกรณีศึกษา แสดงถึงข่าวที่มีเนื้อหาคล้ายกัน แต่อีกสำนักข่าวสามารถชักจูงผู้อ่านให้เกิดความเข้าใจผิดและโจมตีฝ่ายตรงข้ามจากการพาดหัวและรูปภาพประกอบที่คิดมาเพื่อเพิ่มแนวคิดที่ความรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้ามได้

นอกเหนือจากที่เล่ามาข้างต้น ข่าวปลอมไม่ได้เกิดมาแค่จากตัวผู้ผลิตที่บิดเบือนเนื้อหาอย่างเดียว แต่ยังมีการนำ ‘มายาความน่าเชื่อถือ’ ที่ผู้เขียนรวมไปถึงผู้กระจายข่าวร่วมกันทำให้ข่าวน่าเชื่อถือและได้รับการพูดถึงมากขึ้นถึงแม้ว่าจะเป็นความเชื่อผิดๆ ยกตัวอย่าง เช่น คำพูดที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “งานวิจัยชี้ว่า..” ที่ทำให้เราเห็นว่า แค่มีประโยคนี้ ผู้เขียนก็สามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือของเนื้อหาได้แล้ว ทั้งที่ควรตรวจสอบรายละเอียดของงานวิจัยก่อนว่ามีระเบียบวิธีวิจัยอย่างไร  ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อผู้เขียนนำข้อมูลไปเชื่อมโยงกับความคิดเห็นของบุคคลที่มีอำนาจหรือมีความน่าเชื่อถือ และมีหลักฐานที่เชื่อตามเสียงส่วนใหญ่ ว่า “ก็ใครๆ เขาพูดกัน” ทำให้ข้อมูลข่าวสารดูมีความเป็นเหตุเป็นผล และเมื่อเชื่อมโยงกันทั้งหมดก็สามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือในข่าวนั้นๆ ได้ไม่ยาก

และจากที่ว่า “ก็ใครๆ เขาพูดกัน” ทำให้สามารถเชื่อมโยงได้ถึงห้องแห่งเสียงสะท้อน หรือ Echo Chamber ที่เปรียบสภาพแวดล้อมในโซเชียลมีเดียเป็นเสมือนห้องที่สะท้อนเนื้อหาหรือสิ่งที่ผ่านการคัดกรองพฤติกรรมผู้ใช้ให้กลายมาเป็นเสียงสะท้อนสิ่งที่ผู้ใช้อยากได้ยิน ยิ่งทำให้ไม่แปลกใจที่เรารู้สึกว่าหน้าฟีดของเราเต็มไปด้วยสิ่งที่ถูกพูดถึงคล้ายๆ กันภายในวงสังคมที่มีลักษณะเป็นห้องแห่งเสียงสะท้อนที่ทำให้เรารู้สึกมีส่วนร่วมและมีแนวโน้มที่จะเชื่อจากการเห็นแนวคิดที่คล้ายกันผ่านไทม์ไลน์

ทำไม fake news จึงแพร่กระจายข่าวได้เร็ว?!

น่าแปลกใจที่ข่าวลวงมักแพร่กระจายไปสู่สายตาประชาชนได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อมาวิเคราะห์ในเชิงลึกถึงความรู้ด้านจิตวิทยาก็จะพบว่า แนวความคิดเรื่อง optimism bias หรือแนวความคิดที่เชื่อว่าตนเองมีความรู้เท่าทันสื่อมากพอที่จะไม่หลงไปกับความลวงหลอกในเนื้อหาของข่าวและคิดว่าตัวเราเองมีเหตุผลกว่าคนอื่นๆ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเราละเลยรายเอียดบางอย่าง รวมทั้งลดความระมัดระวังในการเชื่อถือข่าวสารลงและทำให้เราสามารถหลงเชื่อ fake news ได้ง่ายอย่างไม่น่าแปลกใจ

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ fake news แพร่กระจายได้เร็วก็คือ แนวคิด confirmation bias ที่ว่า “คนมักหาข้อมูลที่สอดคล้องกับความเชื่อของตนเอง” หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ เมื่อเราเชื่อในเรื่องใดตั้งแต่แรก ก็มักจะทำให้เราหาข้อมูลเพียงแค่ด้านที่เราเชื่อว่าถูกต้อง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง สิ่งที่เราเชื่ออาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และเมื่อเราหาข้อมูลก็จะทำให้เราได้รับข้อมูล รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไปด้วย ไม่แปลกที่ผู้คนจะหลงเชื่อ fake news ได้ไม่ยาก

นอกจากนี้ ไม่เพียงแค่เราที่ค้นหาบางสิ่งในโลกอินเทอร์เน็ตตามความเชื่อของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน อัลกอริทึม (algorithm) หรือกระบวนการแก้ปัญหาของโซเชียลมีเดียก็นำเสนอข้อมูลข่าวสารตามสิ่งที่เราสนใจ หรือตามชุดความเชื่อของเราด้วย หากเรามีความเชื่อหรือสนใจในสิ่งใด อินเทอร์เน็ตก็พร้อมที่จะนำเสนอให้เราอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้เราพลาดการรับรู้ข้อมูลหลายๆ ด้าน ในเรื่องเดียวกันได้และเป็นการพร่าเลือนทางเลือกอื่นๆ ที่ควรค่าแก่การนำมาตัดสินใจของเรา

ตัวอย่างของความพร่าเลือนของทางเลือกในโซเชียลมีเดียมีให้เห็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่นเมื่อเราพูดคุยกับเพื่อนเรื่องไปเที่ยวประเทศนั้นประเทศนี้ และเมื่อเปิดเข้าไปในเฟซบุ๊กก็จะเจอโพสต์ของสายการบินต่างๆ ที่นำเสนอโปรโมชั่นสุดคุ้มให้ นั่นเป็นข้อสังเกตที่เห็นชัดเจนว่า อินเทอร์เน็ตมักจะคัดสรรข้อมูลต่างๆ ที่คิดแทนมาให้แล้วว่าน่าตรงกับความสนใจของเรา ซึ่งในอีกทางหนึ่ง เมื่อเรื่องนั้นๆ เกี่ยวพันกับความคิดเห็นที่ขัดแย้งแตกต่าง ก็เป็นไปได้อย่างมากที่ทำให้คนต่างกลุ่มมักจะรับข้อมูลข่าวสารวนในแวดวงซ้ำๆ เดิม

ทำอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของ fake news

OfCom ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลสื่อในสหราชอาณาจักร ได้อธิบายเรื่องระดับการรู้เท่าทันสื่อว่าวิธีที่จะทำให้คนมีศักยภาพที่สามารถตามทันความถูกต้องของสื่อแต่ละแหล่ง ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการ ‘เข้าถึง’ สื่อ ยิ่งเข้าถึงข้อมูลในแง่มุมต่างๆ ได้มากแค่ไหน ก็จะทำให้รู้เท่าทันสื่อได้มากเท่านั้น เป็นวิธีที่ดีกว่าการบล็อคหรือปิดกั้นข้อมูลข่าวสารอย่างแน่นอน เพราะการทำเช่นนั้น จะเป็นการปิดกั้นแง่มุมบางอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นข้อเท็จจริงของข่าว ไม่ใช่เพียงความคิดเห็นจากข่าวก็ได้เช่นกัน

นอกจากความรู้ความเข้าใจเรื่อง fake news และวิธีการป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของ fake news แล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การทำความรู้จักเพื่อเข้าใจระบบฐานข้อมูลที่สามารถสืบเสาะความสนใจของเราอย่าง big data ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจหรือผู้ที่ทำงานด้านสื่อในการเจาะข้อมูลของผู้เสพสื่อ กลุ่มลูกค้า เพื่อให้ได้มาซึ่งความสนใจและชุดความเชื่อบางอย่างของผู้เสพ

ทำความรู้จักกับ big data 

อีกด้านหนึ่ง การทำงานของ ‘ห้องแห่งเสียงสะท้อน’ ช่วยเสริมประโยชน์ให้ภาคธุรกิจที่กำลังหาช่องทางไปถึงกลุ่มเป้าหมายหลักของตัวเองได้ง่ายขึ้น ผ่านการทำงานกับ big data ฐานข้อมูลเชิงลึกขนาดใหญ่ที่สามารถนำไปวิเคราะห์ จัดเก็บ ประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทักษะความรู้เรื่อง big data ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นข้อมูลด้านความสนใจ กิจกรรมที่ชอบทำ สอดคล้องกับที่กล่าวไปเบื้องต้นว่า การเข้าถึงความสนใจ ความชอบของเรา เป็นการพร่าเลือนพรมแดนแห่งสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล หรือในอีกแง่หนึ่ง ความเป็นส่วนตัวของเราทั้งโลกแห่งความจริงและโลกออนไลน์ก็แยกออกจากกันได้ยากทีเดียว

หากมองในแง่มุมของนักธุรกิจอย่างที่ ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ อาจารย์พิเศษคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า big data กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้าถึงฐานข้อมูลของลูกค้าที่ลึกซึ้งและมีประสิทธิภาพเครื่องมือหนึ่ง ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราเป็นนักธุรกิจที่จะขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับรถ การที่เราจะลงโฆษณาในสื่อ สิ่งที่เราอยากรู้คือ กลุ่มลูกค้าที่อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น หรือนิตยสารเล่มนั้น จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่สนใจผลิตภัณฑ์ของเราหรือไม่ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ยังเป็นข้อจำกัดของสื่อดั้งเดิม ต่างจากการใช้เครื่องมือจาก big data ในการสืบเสาะเพื่อหากลุ่มลูกค้าที่สนใจเรื่องรถจริงๆ เราก็จะสามารถลงทุนได้ถูกจุด ซึ่ง big data นี้จะสามารถดูได้ถึงความสนใจต่อเรื่องนั้นๆ ในระดับจำนวนคน จำนวนคลิกต่อครั้ง หัวข้อที่ถูกค้นหาในแต่ละครั้ง

มาทำความรู้จักชนเผ่าดิจิทัล ชนเผ่าสำหรับคนรุ่นใหม่

จะเห็นได้ว่า พรมแดนของอินเทอร์เน็ต รวมทั้งโซเชียลมีเดียได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางและครอบคลุมข้อมูลส่วนตัวของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และเมื่อพรมแดนนั้นไม่สามารถหาขอบเขตและจุดสิ้นสุด ก็ทำให้เราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียได้อย่างง่ายดาย ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ชนเผ่าดิจิทัล หรือ Digital Tribe ซึ่งกลายเป็นชนเผ่าไม่จำกัดจำนวนที่เกิดจากความสนใจร่วมกันของผู้ใช้งานดิจิทัล เช่น ชนเผ่าของคนรักเกม ก็จะรวบรวมคนรักเกมซึ่งมีอัตลักษณ์คล้ายๆ กัน มีความชอบคล้ายๆ กันไว้ ทำให้เกิดชนเผ่าขึ้นมาจำนวนมากในยุคแห่งดิจิทัล และในบางครั้ง บางชนเผ่าก็อาจจะมีฐานอำนาจที่มากกว่าที่คิด เพราะหัวหน้าชนเผ่า เป็นอินฟลูเอนเซอร์ (influencer) ผู้มีอำนาจในกลุ่มชนเผ่า ซึ่งจะทำให้ชนเผ่านั้นเข้มแข็งขึ้นจนอาจกลายเป็นผู้นำความเชื่อหลักในกระแสสังคมก็ได้เช่นกัน

ชนเผ่าดิจิทัล รวมทั้งโซเชียลมีเดียต่างๆ จึงมีความลื่นไหล มีอำนาจและเสื่อมถอยในอำนาจได้ภายในระยะเวลาใกล้เคียงกัน การปรับตัวของการทำงานด้านสื่อเองก็ดี หรือการทำงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตก็ดี จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะตั้งตนให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงในสภาวะอันลื่นไหลรวดเร็วของข้อมูลข่าวสาร แต่ก็ต้องรักษาจุดยืนที่มีมาของตัวเองไว้อย่างหนักแน่นในโลกยุคดิจิทัลเช่นนี้

 

 

Tags: , , , , , , ,