3 ปีแล้วที่รัฐบาลประกาศว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนโยบาย Thailand 4.0 และกลางปีก่อน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ก็ตั้งเป้าจะผลักดันประเทศไทยให้ติด 1 ใน 20 อันดับแรกสตาร์ตอัปเนชั่นของโลก ภายในปี 2564 แต่จนถึงตอนนี้ที่วงการสตาร์ตอัปไทยแจ้งเกิดมาร่วมสิบปี เราก็ยังไม่มีบริษัทใดที่ได้ชื่อว่าเป็น Unicorn อย่างเป็นทางการ
หนำซ้ำ สตาร์ตอัปหลายรายที่เราใช้บริการและได้สัมผัสวิถีชีวิตแบบ IoT ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องเดียวกับไทยแลนด์ 4.0 ของ ‘ท่าน’ ทั้งหลายในรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่สตาร์ตอัปสัญชาติไทย แต่เป็นโมเดลธุรกิจและแพล็ตฟอร์มของเพื่อนบ้านที่เราเพียงแต่เอาภาษา สกุลเงิน และโลเกชั่นไทยเข้าไปสวม
เพื่อให้เห็นภาพของโจทย์ปัญหาและสิ่งที่อาจจะเป็นคำตอบของเรื่องนี้ รวมถึงภาพรวมของ Ecosystem ของสตาร์ตอัปไทย The Momentum จึงนัดพบและพูดคุยกับ เบน ริชาร์ดสัน (Ben Richardson) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ Hubba บริษัทที่มีแนวคิดของการสร้าง ‘ชุมชน’ สตาร์ตอัป สำหรับแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดสร้างสรรค์ และสร้างเครือข่ายเพื่อต่อยอดธุรกิจ
หนุ่มออสเตรเลียผู้นี้เป็นคนสายพันธุ์ Entrepreneur เขาคลุกวงในและปลุกปั้นสตาร์ตอัปในออสเตรเลียมาหลายแห่ง แต่ก่อนจะย้ายมาร่วมงานกับฮับบา เบนมีแต้มประสบการณ์ในองค์กรขนาดใหญ่ร่วม 4 ปี ซึ่งไม่ใช่แต้มธรรมดา เพราะองค์กรที่เขาร่วมงานคือยักษ์ใหญ่ด้านการบัญชีระดับโลกอย่าง PricewaterhouseCoopers (PWC) และขาข้างหนึ่งของพีดับลิวซีที่เบนเข้าไปเป็นหัวหน้าทีมฝ่ายเทคโนโลยีคือ Innowell บริษัทที่ต้องการนำเทคโนโลยีเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพแก่บริการด้านสุขภาพจิต
และนั่นก็ชวนสะดุดใจมาก เพราะเขาจบมาในสาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศ (Aerospace Engineering)
เบนหัวเราะก่อนปะติดปะต่อเส้นทางอาชีพแปลกๆ ของเขาให้ฟังว่า “ช่วงหนึ่งผมอยากเป็น Space Doctor แต่ล้มเลิก เพราะท่าจะต้องเรียนหนัก คือตอนเรียนมหา’ลัย ผมยังไม่รู้ว่าอยากเรียนหรือทำงานอะไร ก็เลยเลือกอะไรที่คูลสุดๆ นั่นก็คือการบินและอวกาศ ตอนที่เรียนสนุกมากโดยเฉพาะด้านวิศวกรรม แต่ก็รู้รวดเร็วเช่นกันว่า อนาคตสายนี้ในออสเตรเลียไม่สดใสเท่าไร ผมจึงฝึกเขียนโค้ดด้วยตนเอง
“ตอนอายุ 14-15 ผมหาเงินซื้อเกมในเอ็กซ์บ็อกซ์ โดยการดาวน์โหลดโค้ด เอามายำโน่นผสมนี่แล้วขายให้คนที่ทำเว็บไซต์ พอเห็นว่าอนาคตกับสิ่งที่เรียนอยู่คงไม่สดใสเท่าไร จึงกลับมาโค้ดอีกครั้ง และทำสตาร์ตอัปขำๆ ของตัวเอง เป็นบริการถุงยางอนามัยระบบสมาชิก (Condom subscription) ลูกค้าหลักคือพวกเด็กมหา’ลัย ใครเป็นสมาชิกก็จะได้รับถุงยาง 8-10 ชิ้นต่อเดือน ชื่อสตาร์ตอัปคือ Rubbers ซึ่งเป็นชื่อเล่นของถุงยางในออสเตรเลีย ผมสนุกกับมันมาก
“สตาร์ตอัปที่ผมทำส่วนใหญ่เกิดจาก Startup Weekend หรือ Hackathon เราไปถึงวันศุกร์ แล้วพยายามขายไอเดียธุรกิจแข่งกันในหมู่ผู้เข้าร่วมราว 120 คน คุณมีเวลา 60 วินาทีในการเล่าไอเดียของคุณ ถ้าผ่านคุณจะตั้งทีมขึ้นมา แล้วใช้เวลาที่เหลือในการสร้างธุรกิจและหาลูกค้าคนแรกให้ได้ นั่นเป็นตอนที่ผมรู้ว่า ผมสามารถสร้างธุรกิจหรือทำอะไรสักอย่างได้ภายใน 72 ชั่วโมง ในช่วงนั้น ผมมีสตาร์ตอัปที่ร่วมก่อตั้ง 29 ราย ส่วนใหญ่พับไป มี 5 รายที่สำเร็จและยังดำเนินงานอยู่”
ที่ไอเดียของสตาร์ตอัปหลายกรณีต้องพับไป เป็นเพราะอะไร
หลายปัจจัยครับ หลายอันพับไปใน 2-3 สัปดาห์ เพราะไอเดียห่วย คงไม่มีใครยอมลงทุน บางอันเมื่อศึกษาลงไปจริงๆ ก็พบว่าสตาร์ตอัปรายอื่นแก้ปัญหาเหล่านั้นได้แล้ว บางไอเดียเป็นไปไม่ได้ที่จะ scale up ในทางเม็ดเงินเพราะมีลูกค้าน้อยเกินไป แต่ประสบการณ์เหล่านี้สอนอะไรผมเยอะมาก
อันที่พับหรือเจ๊งไปนี่คุณขาดทุนหรือจมเงินไปกับมันหรือเปล่า
Never ever! รัดเข็มขัดสิครับ ต้องไม่ใช้เงินมากกว่าที่หาได้ และผมโค้ดได้เอง จึงไม่ต้องจ้างดีเวลอปเปอร์ ออกแบบได้ด้วยก็ไม่ต้องจ้างใคร และการลอนช์เว็บไซต์ก็ถูกมาก อาจแค่ 7 เหรียญฯ ต่อเดือน ไม่เลย ไม่มีคำว่าควักเนื้อ ดีจริงๆ เลยที่ทำเองได้หมด (หัวเราะ)
สตาร์ตอัปห้าแห่งที่ยังอยู่มีอะไรบ้าง
Future Assembly เป็นแพล็ตฟอร์มสำหรับจัดการซอฟต์แวร์ Onstage เหมือน LinkedIn สำหรับนักพูดอาชีพ Home Hub ผู้ช่วยย้ายบ้านหรืออพาร์ตเมนต์ แค่บอกว่าจะย้ายจากไหนไปไหน แล้วมันจะช่วยย้ายบัญชีไฟฟ้า อินเตอร์เน็ต เซอร์วิส และยูทิลิตี้ต่างๆ ที่คุณใช้จากที่เก่าไปที่ใหม่ รวมถึงการขนย้ายอื่นๆ ที่จำเป็น Rubbers ซึ่งผมขายไปหลังจากที่ประสบความสำเร็จ และบริษัทพัฒนาเว็บไซต์หลายแห่งที่ผมขอนับรวมเป็นหนึ่ง
แล้วไปไงมาไง คุณถึงไปร่วมงานกับ Innowell ซึ่งทำงานด้านสุขภาพจิต
หลังจบผมรับพัฒนาเว็บไซต์และประสบความสำเร็จทีเดียว ในตอนนั้น พีดับลิวซีซึ่งเป็นบริษัทการบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังก่อตั้งอินเฮ้าส์ขึ้นมาพัฒนาซอฟต์แวร์ เขาจ้างผมให้เข้าไปดูแลทีม หน้าที่ผมคือเข้าไปศึกษาระบบงานของพีดับลิวซี และดูว่าจะสร้างซอฟต์แวร์อะไรขึ้นมาได้บ้าง เพื่อรองรับงานบางส่วนและทำให้เป็น automate เช่นงานที่ต้องทำซ้ำด้วยแพตเทิร์นเดิมๆ ภายในสองปีผมและทีมผลิตซอฟต์แวร์โปรดักต์ขึ้นมาสองตัว ซึ่งประสบความสำเร็จมาก…(เน้นคำ) เสียดาย ผมน่าจะเลือกรับเป็นหุ้นแทนเงินเดือน (หัวเราะ)
โปรดักต์ที่ว่าคืออะไร
อันแรกเป็นเครื่องมือสำหรับสตาร์ตอัปใช้ขอคืนภาษี ในออสเตรเลียถ้าสตาร์ตอัปทำสิ่งที่เป็นนวัตกรรมโดดเด่น เขาจะได้รับลดหย่อนภาษี บริการนี้เป็นระบบอัตโนมัติที่ช่วยสอนวิธีกรอกแบบฟอร์มขอคืนภาษีให้กับสตาร์ตอัปและช่วยเขายื่นแบบฟอร์มนั้น อันที่สองซึ่งผมชอบมาก เป็น Tax Automation สำหรับคนขับอูเบอร์ คนขับแกร็บ หรือฟรีแลนซ์อื่นๆ เมื่อเขาดาวน์โหลดแอปฯ มา แล้วบอกให้เชื่อมต่อกับอูเบอร์ มันจะดึงข้อมูลทั้งหมดมา จำนวนเที่ยว ข้อมูลการเงิน แล้วจะกรอก ยื่น และขอคืนภาษีเอง เป็นระบบ Machine learning และอัตโนมัติทั้งหมด ในช่วง 12 เดือนแรก ผมมีลูกค้าเป็นคนขับอูเบอร์ 30,000 คน และตอนนี้กำลังกระจายไปทั่วโลก หลังจากนั้น พีดับลิวซีจับมือกับมหาวิทยาลัยซิดนีย์และกระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลีย ก่อตั้งอินโนเวลขึ้นมา ซึ่งเป็นบริการสุขภาพจิต ผมเป็นตัวแทนของพีดับลิวซีเข้าไปร่วมทีมชุดแรก และเราระดมทุนได้ถึง 33 ล้านเหรียญฯ
เทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้องกับบริการด้านสุขภาพจิตอย่างไร
ในออสเตรเลียหรืออันที่จริงก็ทุกที่ในโลก ไม่มีใครอยากพูดถึงสุขภาพจิตของตัวเอง ผมเองเคยหาจิตแพทย์มาแล้ว เล่าได้ไม่มีปัญหา แต่คนส่วนมากยังไม่สะดวกใจที่จะพูด ไม่แน่ใจว่าคนอื่นจะมองเราอย่างไร กลายเป็นปัญหาซ้อนปัญหา เพราะสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญมาก ยกตัวอย่างเช่น มีรายงานการศึกษาในสหรัฐอเมริกาบอกว่า เวลาใครสักคนฆ่าตัวตาย ถ้าลองมองในแง่เศรษฐกิจ ในช่วงสองสัปดาห์แรก มันสามารถส่งผลเชิงลบต่อจีดีพีได้ถึงหนึ่งล้านเหรียญ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบทั้งคนในครอบครัวและคนในที่ทำงาน คนไม่มีกระจิตกระใจจะทำงาน ส่งผลกระทบเป็นระลอกในสังคม ฉะนั้น ถ้าเราจัดการเรื่องสุขภาพจิตได้ดี มันไม่เพียงแต่ช่วยคนในระดับปัจเจก แต่จะส่งผลโดยรวมต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย และนั่นคือเป้าหมายของอินโนเวล
หนึ่ง–เราจะให้บริการด้านสุขภาพจิตอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร สอง–เราจะป้องกันปัญหาสุขภาพจิตไม่ให้ลุกลามได้อย่างไร คือเราต้องยอมรับก่อนว่า จิตใจเราก็ไม่ต่างจากร่างกาย มันไม่เสถียรหรอก บางวันก็อารมณ์ดีมีพลัง บางวันก็จิตตก ทางร่างกายคุณควรไปยิมซะ ไปออกกำลังกายเสียบ้าง ในแง่จิตใจคุณก็ควรไปพบจิตแพทย์ แต่ทุกประเทศก็มีปัญหาเหมือนๆ กัน คือมีกำลังคนไม่พอที่จะมารับฟังปัญหาและให้คำปรึกษา การเพิ่มกำลังคนต้องอาศัยเวลา และคนเราแยกร่างไม่ได้ แต่ซอฟต์แวร์ทำได้ สมมติมีคนกำลังมีปัญหารีบด่วน แต่เจ้าหน้าที่ในเขตของเขากว่าจะรับนัดได้ก็อีกเป็นเดือน ซอฟต์แวร์ก็สามารถช่วยเชื่อมต่อเขากับผู้เชี่ยวชาญคนอื่นให้เขาได้มีตัวเลือก ขณะเดียวกัน ซอฟต์แวร์อีกตัวที่กำลังพัฒนาจะชวนให้คนที่กำลังมีปัญหาเข้ามาตอบคำถาม แล้วใช้อัลกอริทึมและ machine learning ประเมินว่าคุณอยู่ภาวะใด ซึมเศร้าหรือเปล่า มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายไหม แล้วให้คำแนะนำคุณโดยอัตโนมัติ เพื่อให้คุณเท่าทันและเริ่มแก้ปัญหาแทนที่จะรอใครสักคน
งานของคุณน่าสนุก แล้วอะไรดึงดูดให้คุณมาร่วมงานกับฮับบา และย้ายมาเมืองไทย
ทีแรกคิด ผมจะอยู่ที่พีดับลิวซีสักปีเพื่อหาประสบการณ์ในคอร์ปอเรท แต่ก็อยู่นานกว่าที่ตั้งใจเพราะว่างานสนุก รวมแล้วเกือบสี่ปี นานเกินไปละ! (สีหน้าจริงใจ) ผมเป็นคนสายพันธุ์อองเทรอเพอเนอ อยากกลับมาทำงานตรงนี้มากกว่า แล้วเอเชียอาคเนย์ก็ดูท้าทาย เพราะกำลังโตในแง่อินโนเวชัน ที่ออสเตรเลียกฎระเบียบขั้นตอนเยอะเกิน อินโนเวชันเกิดขึ้นได้ยาก ‘red tape’ เยอะมาก ที่นี่ก็มีแต่ยังไม่มาก ยังมีพื้นที่ให้คิดอะไรใหม่ๆ
ที่ยังไม่มาก เพราะเขายังไม่รู้ว่าควรจะออกกฎหรือระเบียบยังไงหรือเปล่า
ใช่เลย มันจึงแทบจะเป็นข้อได้เปรียบ หลายเรื่องมาอีหรอบเดียวกันกับการเมืองไทยที่เราเห็นๆ กันอยู่ ทุกคนพยายามยื้อ ไม่ยอมตัดสินใจ กฎหมาย ระเบียบ งบประมาณ พ.ร.บ. ทุกอย่างถูกยื้อหมด ซึ่งไม่ดีต่อคนส่วนมาก แต่สภาพแบบนี้ก็เอื้อให้เกิดอินโนเวชันหรือการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนด้วยวิธีการใหม่ๆ โดยยังไม่มีกฎระเบียบมาสกัด เรียกว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย
คล้ายจิ๊กซอว์ที่วางอยู่สะเปะสะปะ ถ้าสตาร์ตอัปรายใดต่อชิ้นได้ก่อน แม้จะเป็นเสี้ยวเล็กๆ ของภาพ เขาก็จะไปต่อได้เร็วกว่าคนอื่น
จริงครับ เพราะนวัตกรรมมักเกิดมาจากปัญหา และผู้ประกอบการที่ดีคือคนที่มองทุกปัญหาในสังคมแล้วทำสองอย่าง หนึ่ง–ขบคิดจนได้คำตอบในการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ แล้วสอง–ดูว่าสเกลของปัญหาใหญ่แค่ไหน ถ้าคนเป็นหมื่นมีปัญหานั้นก็อาจคุ้มค่าที่จะลองแก้ปัญหา แต่ถ้ามีแค่สองคน และสองคนนั้นก็ไม่มีรายได้มากพอที่จะมาใช้จ่ายกับการแก้ปัญหาที่ใช้ต้นทุนสูง ก็อาจจะไม่คุ้มค่าที่จะแก้ปัญหานั้นในตอนนี้
Ecosystem ของสตาร์ตอัปไทยแข็งแรงพอหรือยัง
ยังเลย
โดยทั่วไปแล้ว อีโคซิสเต็มของสตาร์ตอัปประกอบด้วยอะไรบ้าง
ประกอบด้วยผู้เล่นหลักมากมาย ได้แก่ มหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยที่จะป้อนความชำนาญพิเศษเข้ามาสู่ระบบ ในแง่การคิดค้นเทคโนโลยีและฝึกอบรมบุคลากรด้านไอที ถัดมาคือบริษัทขนาดใหญ่ เพราะสตาร์ตอัปที่จะประสบความสำเร็จในการสเกลอัป เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วเขาจำเป็นต้องทำตัวเป็นบริษัทใหญ่ ไม่ว่าด้วยการทำงานร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่หรือขายโมเดลธุรกิจให้กับองค์กรต่างๆ เพื่อจะสามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆ และเข้าถึงแหล่งทุนใหญ่ๆ นอกจากนี้ยังต้องมีฟรีแลนเซอร์ โค–เวิร์คกิ้งสเปซ บริษัทอย่างฮับบา รวมไปถึงรัฐบาล ความเข้มแข็งของอีโคซิสเต็มอยู่ที่ว่า เมื่อใครสักคนกระโจนลงไปเล่นแล้ว ระบบนั้นเอื้อให้เขาสร้างธุรกิจที่ทำกำไรได้เร็วแค่ไหน สำหรับไทย วัดจากขนาดประชากรแล้วอีโคซิสเต็มที่มีอยู่ถือว่าเล็กมาก
อีกแง่มุมที่สำคัญของอีโคซิสเต็มก็คือ สตาร์ตอัปที่ไปต่อไม่ได้หรือโตได้ไม่เต็มที่ มักจะถูกองค์กรขนาดใหญ่ซื้อ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่สนุกที่จะทำงานกับองค์กรขนาดใหญ่ แต่มันสอนพวกเขาให้เป็นมืออาชีพ การเปิด–ปิดดีล รวมถึงแง่มุมทางกฎหมาย ซึ่งมักจะเป็นยาขมสำหรับพวกเขา แต่เมื่อออกจากองค์กรขนาดใหญ่เหล่านั้น พวกเขาก็สามารถนำทักษะที่ได้เรียนรู้มาสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้น
ที่ผ่านมา ในเมืองไทยการเชื่อมภาคส่วนต่างๆ ถึงกันยังไม่ค่อยเกิดขึ้น ยังต่างคนต่างอยู่ มีการพูดคุยกัน แต่ก็ไม่ค่อยมีบริษัทใหญ่ๆ สนใจซื้อสตาร์ตอัป หรือสตาร์ตอัปวิ่งเข้าหาบริษัทใหญ่ๆ ผมหวังว่าในสองสามปีข้างหน้า ภาพที่ว่าจะเกิดขึ้นมากกว่านี้ ซึ่งจะช่วยปลดล็อกและเร่งการเติบโตของอีโคซิสเต็มในไทย
คุณคิดว่าบริษัทใหญ่ๆ มองไม่เห็นศักยภาพของสตาร์ตอัปหรือเพราะอะไร
อาจจะใช่ แต่ปัญหาที่แท้จริงดูจะเป็นเพราะคนที่นี่ไม่ชอบเสี่ยง แม้แต่กฎหมายแรงงานก็ไม่เอื้อกับวิถีแบบสตาร์ตอัป เพราะถ้าคุณจ้างใครเกิน 12 เดือนแล้วจะเลิกจ้าง คุณต้องจ่ายชดเชยสามเดือน ถ้าสตาร์ตอัปไม่ทำกำไร แล้วต้องเจอกับเงินชดเชยสามเดือนของพนักงาน ธุรกิจเขาพับแน่นอน ในออสเตรเลียหรือสิงคโปร์ คุณสามารถให้พนักงานบางส่วนออกและประคับประคองธุรกิจต่อไปได้ มีระบบหลายอย่างของที่นี่ที่ไม่เอื้อให้ธุรกิจเล็กๆ เติบโตและขยายตัว แต่ปัจจัยหลักเลยก็คือ บริษัทใหญ่ๆ ที่นี่ไม่ชอบความเสี่ยง ไม่สนใจที่จะเสี่ยงบ้างเพื่อฮุบเหยื่อชิ้นที่โตกว่า เช่นว่าฉันจะซื้อสตาร์ตอัปนั้น ลงทุนกับเทคโนโลยีที่เหมาะสม แล้วทำให้มันเกิดในสามเดือน ผมไม่เห็นอะไรแบบนี้เลย คือต้องมีบ้างที่จะตัดสินใจเร็ว ก้าวเร็ว ยอมเสี่ยง เพื่อเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง แต่ไม่ใช่สำหรับที่นี่
บทบาทของฮับบาคืออะไรในอีโคซิสเต็มนี้
เราเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อทุกคนเข้าหากัน ใครก็ตามที่อยากเข้ามาในอีโคซิสเต็มมักจะนึกถึงฮับบา เพราะฮับบารู้จักรัฐบาล มหาวิทยาลัย และผู้เล่นหลักในอีโคซิสเต็ม ยิ่งไปกว่านั้น ฮับบาให้บริการในเรื่องสำคัญๆ ในราคาที่ถูกมาก และเรายังมีซอฟต์แวร์ที่จะเป็นผู้ช่วยชั้นดีสำหรับธุรกิจของคุณ เพราะเป้าหมายของเราคือทำให้การติดต่อกับผู้เล่นอื่นเป็นเรื่องง่าย เพื่อว่าสมาชิกจะสามารถสร้างไอเดียธุรกิจของเขาให้เกิดขึ้นจริงได้
อะไรคือวัฒนธรรมการทำงานแบบสตาร์ตอัป
วัฒนธรรมสตาร์ตอัปเป็นตัวสะท้อนประสบการณ์ของผู้ก่อตั้ง โชคไม่ดีนักที่ประเทศไทยค่อนข้างช้าในการรับและปรับตัวเข้าหาความเปลี่ยนแปลง สตาร์ตอัปในไทยเพิ่งมีมาได้ 10-12 ปี เมื่ออีโคซิสเต็มยังอายุน้อย วัฒนธรรมย่อมอายุน้อยไปด้วย การส่งต่อประสบการณ์และบทเรียนของความเป็นผู้นำยังมีไม่มาก และผู้นำของบริษัทขนาดใหญ่กับสตาร์ตอัปก็ไม่เหมือนกัน คนมักจะมองว่าวัฒนธรรมการทำงานแบบสตาร์ตอัปคือ เล่นปิงปองกันทั้งวัน มาทำงานสิบเอ็ดโมง ปาร์ตี้ทุกคืน (หัวเราะ) มันไม่ใช่ มันอาจจะหมายถึงการทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวันก็ได้ คุณจะใส่สูทผูกไทหรือใส่สนีกเกอร์ ไม่ใช่ประเด็น
ความแตกต่างคือมันเป็นของคุณ คุณรักมันและได้รับดอกผลจากมันโดยตรง คุณมีส่วนตัดสินใจ เพราะคุณมีกันแค่สามคนหรือห้าคน และคุณจะโตไปกับมัน มันเป็นวัฒนธรรมการทำงานของคนที่ชอบความเป็นเอกเทศ ชอบความเสี่ยง ทำงานกับเรื่องที่ยังไม่รู้ ยังไม่แน่ใจ โดยแก่นเลยคุณต้อง curious ถามอยู่เสมอว่าทำไม คุณต้องเข้ากันได้ดีมากๆ กับผู้ร่วมก่อตั้งและทีมเล็กๆ ของคุณ เพราะเวลาทุกอย่างไปได้ดีมันก็ไปได้ดีมากๆ แต่ถ้าเหวขึ้นมาก็เหวจริงๆ และถ้าเกิดอะไรเหวๆ ขึ้นมา ทุกคนต้องซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน ฉะนั้น ถ้าคุณสร้างทีมสตาร์ตอัปด้วยการไปคว้าคนมาจากวัฒนธรรมคอร์ปอเรท พอมีอะไรเหวขึ้นมาซึ่งอาจหมายความว่าเดือนนั้นจะไม่มีใครได้เงินเดือน ความวายป่วงก็จะบังเกิด แต่ถ้าคนในทีมซัพพอร์ตกัน ทุกคนก็พร้อมจะฮึบ! ก้าวต่อ แล้วรอดู ถ้าไม่มีทีมสปิริตแบบนี้ ไม่พร้อมจะรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่รู้ กำหนดไม่ได้ สตาร์ตอัปก็จะทำหลายๆ เรื่องไม่ได้ และไม่เกิด
ประเทศไทยกำลังหนีกับดักรายได้ปานกลาง กลยุทธ์ของรัฐบาลก่อนที่จะมีการเลือกตั้งคือ Thailand 4.0 ซึ่งคาดหวังจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม คุณคิดว่ารัฐบาลเข้าใจเรื่องที่ตัวเองพูดจริงหรือเปล่า และเข้าใจไหมว่ารัฐควรเล่นบทอะไร
ประเทศไทยไม่มียูนิคอร์น (สตาร์ตอัปมูลค่าหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ) ต่อขนาดประชากรและมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ควรจะมียูนิคอร์นหลายๆ ตัว ออสเตรเลียมีประชากร 24 ล้านคน แต่มียูนิคอร์นเป็นสิบ การที่ประเทศไทยมียูนิคอร์นเป็นศูนย์ ส่อชัดว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากล ผิดปกติ ใครสักคนไม่เข้าใจอะไรบางอย่างแน่ๆ
ผมคิดว่ารัฐบาลโดยมากก็ไม่เข้าใจบทที่ตัวเองควรเล่น มากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ในไทย ผมคิดว่าเขาคงอยากรู้ว่าบทของตัวคืออะไร แต่อีโคซิสเต็มยังไม่แข็งแรงพอที่จะบอกรัฐบาลได้ว่าควรเล่นบทใด ควรทำอะไร เพราะเรื่องแบบนี้ไม่มีเทมเพลท ไม่สามารถ copy-paste มาจากประเทศอื่นได้ ผมคิดว่ายิ่งรัฐบาลเข้าหาองค์กรอย่างฮับบา และฮับบาเข้าหารัฐบาลมากเท่าไร ในไม่ช้า วงสนทนาจะเริ่มขึ้นและจะถามร่วมกันว่าเราควรเดินไปในทิศทางใด
แวดวงวิชาการของไทยมีบทบาทที่น่าสนใจ เพราะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล แต่ไม่เข้าร่วมบทสนทนาโดยตรง เท่าที่เห็น มหา’ลัยที่นี่มีบรรยากาศที่ดีสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่ยังเข้มข้นกับความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องน้อยเกินไป หลายๆ ประเทศก็เป็นแบบนี้ และก็มีมหา’ลัยออนไลน์เข้ามาเขย่าแวดวงการศึกษา แต่เมืองไทยยังไม่ถูกเขย่าแรงพอ คงเพราะกำแพงเรื่องภาษา ในความเห็นของผม มหา’ลัยไทยควรจับมือกับห้องเรียนออนไลน์ชั้นนำ นำเนื้อหาหลักสูตรเหล่านั้นมาแปลเป็นไทย เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงทักษะสำคัญรวดเร็วกว่านี้ ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาเว็บไซต์ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนทุกสองหรือสามเดือน ซึ่งสั้นกว่าหนึ่งภาคการศึกษาเสียด้วยซ้ำ
เท่าที่สังเกตจากคนในแวดวงสตาร์ตอัป มีคอนเซปต์บางอย่างที่พวกเขาเข้าใจดี และเขาน่าจะไปได้ดีในระดับโลก แต่ก็มีคอนเซปต์บางเรื่องที่พวกเราตามหลังอยู่ 4-6 ปี ซึ่งน่าประหลาดใจ ปกติถ้าดีแล้วก็น่าจะดีทั้งระนาบ แต่กลับลักลั่น เหมือนว่ามีปัญหาเรื่องการคงมาตรฐานในการให้ความรู้ทางเทคโนโลยีแก่คนรุ่นต่อๆ ไป และไม่น่าจะแก้ปัญหาอะไรได้รวดเร็ว เพราะมหา’ลัยที่นี่ค่อนข้างเชื่องช้า รัฐบาลก็เชื่องช้า และส่วนหนึ่งผมว่านี่เป็นปัญหาของการไม่มียูนิคอร์น รวมถึงมันสมองที่มีประสบการณ์ระดับโลกแล้วกลับมาส่งต่อบทเรียนให้กับคนในประเทศ
หรือเพราะเป็นแบบนี้ เราถึงไม่มียูนิคอร์น
อาจจะใช่ เพราะธุรกิจส่วนมากที่ผมพบที่นี่ พอจะโกอินเตอร์เขาจะย้ายไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์ เพราะระบบภาษีที่นี่ไม่เอื้อให้คนระดมทุนจากนักลงทุนนอกประเทศ เพราะพวกเขาโดนภาษีมากเกินไปและต้องจ่ายแบบทันทีด้วย แต่ประเทศอย่างสิงคโปร์ สหรัฐฯ แคนาดา หรือออสเตรเลีย มีกลไกของการลดหย่อนและชะลอการเสียภาษี ทำให้ตัวธุรกิจนั้นๆ สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากเงินลงทุนก้อนนั้นก่อนได้ ไม่มีนักลงทุนที่ไหนอยากเสียภาษีทันที 25% ให้กับรัฐบาลหรอก สิงคโปร์ถึงได้กวาดเอานักลงทุนไปหมด เรื่องของเรื่องก็มักจะกลับมาที่หลักการพื้นฐานพวกนี้ ถ้ารัฐบาลรู้บทที่ควรเล่น ป่านนี้ก็คงแก้กฎหมายไปแล้ว ถ้าสตาร์ตอัปเข้มแข็งเสียงดังพอ เขาก็คงสามารถล็อบบี้รัฐบาลให้แก้กฎหมายได้ ในเมื่อสองเรื่องนี้ยังไม่เกิด สภาพการณ์จึงน่าอึดอัด แต่อย่างไรก็ตาม ไทยมีศักยภาพที่ดีและท้าทาย ผมถึงเลือกมาที่นี่ (ยิ้มกว้าง)
ตอนนี้เราพูดกันมากถึง 5G คุณคิดว่าเมืองไทยพร้อมหรือยัง
ผมคิดว่างั้น (น้ำเสียงชั่งใจ) เพราะเมื่อไรก็ตามที่มีการอัปเกรดครั้งใหญ่ของโครงข่ายเทเลคอมฯ ปัญหาที่ก่อนหน้านี้แก้ไขไม่ได้เนื่องจากข้อจำกัดของแบนด์วิดท์ หรือการพยายามเพิ่มแบนด์วิดท์ด้วยการหันไปใช้ดาวเทียมมีราคาแพงเกินไป ก็จะมีโอกาสแก้ได้มากขึ้น อย่างที่เราพูดก่อนหน้านี้ ถ้าคุณไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเงินด้วยการเพิ่มสเกลได้ ธุรกิจคุณก็จะคว่ำ เมื่อเราก้าวสู่ 4G การเชื่อมต่อของข้อมูลจำนวนมหาศาลทำได้อย่างรวดเร็ว มันช่วยให้องค์กรแบบอูเบอร์แจ้งเกิด ธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากการอัปเกรดของโครงสร้างพื้นฐาน
มองในแง่นี้ ประเทศไทยอัปเกรดเป็น 5G เร็วเท่าไร และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเท่าไร สตาร์ตอัปในเมืองไทยจำนวนมากขึ้นก็จะมีโอกาสตั้งโจทย์ปัญหาที่น่าสนใจใหม่ๆ และหาทางแก้ และถ้าเขาทำได้เร็วกว่าในประเทศอื่น ก็มีโอกาสที่จะได้รับเงินทุน ขยายตัว อัดฉีดทั้งเม็ดเงินและมันสมองให้กับอีโคซิสเต็มของไทย และกลายเป็นผู้เล่นใหม่ในระดับโลกได้ ฉะนั้น โครงสร้างพื้นฐานที่ดีคือกุญแจสำคัญ
แล้วมันจะมาพร้อมกับดิสรัปชันระลอกใหม่
แน่นอน! ดิสรัปชั่นโดยธรรมชาติแล้วเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ไม่ว่าคุณจะพูดถึงบล็อกเชน สกุลเงินดิจิทัล หรืออะไรก็แล้วแต่ มันคือเทคโนโลยี ถ้าคุณไม่เอาประสบการณ์ของผู้ใช้เป็นตัวตั้ง มันก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร ในความเห็นของผม มันจะเกิดดิสรัปชันสองเรื่องหลักๆ อันแรกคือคอนเซปต์ของยุคก้าวกระโดด (Exponential Age) หรือที่เรียกกันว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมระลอกที่ 4 ทุก 18 เดือน ความสามารถและความเร็วในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ชิพ ความจุของข้อมูล จะเพิ่มเป็นสองเท่า แต่ราคาลดลงกึ่งหนึ่ง สิ่งนั้นจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคที่ machine learning จะให้ข้อมูลเชิงลึก ค้นพบโจทย์ปัญหาและทางออกได้เองโดยรวดเร็วกว่ามนุษย์ ดิสรัปชันในระดับต่อไปขึ้นกับว่าเราจะใช้เครื่องมือเหล่านี้แก้ปัญหา (pain point) ของลูกค้าในสเกลที่ใหญ่พอได้ถูกจุดและดีแค่ไหน มองในแง่นี้ บอกได้เลยว่ารัฐบาลจะถูกเขย่าแรงมาก ยิ่งพวกเขาอัปเดทตัวเองช้าเท่าไร ข้อมูลเชิงลึก (insight) ซึ่งจะได้มาด้วยเครื่องมือใหม่ๆ ของยุคก้าวกระโดดก็จะหลุดมือพวกเขาไปมากเท่านั้น แล้วทีนี้ รัฐบาลจะต้องเป็นฝ่ายปรับตัวเข้ากับทิศทางที่ประชาชนต้องการ ผมคิดว่ารัฐบาลจะถูกเขย่าในแง่นี้ อาจจะไม่ใช่ทางการเมือง แต่ก็จะเขย่าการเมืองจะฐานราก
อีกด้านหนึ่ง ผมคิดว่าวิธีใช้ดาต้าของเราจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เรื่องสุขภาพจิตเป็นตัวอย่างที่ดี เครื่องมือของอินโนเวลที่พัฒนาขึ้นจะช่วยให้เราสามารถดึงข้อมูลจากโทรศัพท์ เฟชบุ๊ก หรืออะไรก็ตามที่คุณยินยอม นำมาประมวลและเริ่มคาดการณ์ได้ว่า สภาพแวดล้อมของคุณจะส่งผลต่ออารมณ์หรือภาวะซึมเศร้าของคุณอย่างไร สภาพอากาศ การเดินไปตามถนนเส้นนี้ ย่านนี้ อาจจะกระทบจิตใจคุณอย่างไร ก่อนหน้านี้เราไม่สามารถทำอะไรกับข้อมูลเหล่านี้ได้ มันยากเกิน อาจต้องใช้คนเป็นร้อยช่วยกันประมวลผลพวกนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกสักเรื่อง แต่เรากำลังก้าวไปถึงจุดที่ machine จะประมวลผลเองและให้ข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจแก่เรา
เหมือนกรณี Panama Papers ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนนักข่าวคงต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะแกะรอยข้อมูลปริมาณมหาศาลขนาดนั้นได้
ใช่เลย!
แล้วมันจะเป็นประชาธิปไตยขึ้นในแง่มุมไหน
จะได้ข้อมูลเชิงลึกที่ว่าต้องอาศัยดาต้าของคุณ ดาต้าส่วนตัวของคุณจะมี value ขึ้นมาในตลาดล่ะทีนี้ และองค์กรเหล่านี้ก็รู้ว่าคุณแคร์ดาต้าของคุณมากขึ้น จู่ๆ คุณจะเป็นฝ่ายเลือกว่าจะยินยอมให้ใครเข้าถึงดาต้าส่วนไหน เมื่อไร อย่างไร และทำเงินหรือได้รับสิทธิประโยชน์โดยตรงจากมัน แต่ทุกวันนี้ อย่างผมเองมีดาต้าเยอะมาก และบริษัทมากมายก็มีดาต้าของผมอยู่ในมือแล้ว แต่ผมก็ไม่ได้สนใจและไม่ได้อะไรจากมัน แต่เรากำลังก้าวไปสู่จุดที่ดาต้าของผมจะมีมูลค่ามหาศาลสำหรับบริษัทต่างๆ และพวกเขาต้องการต่อรองกับผมเพื่อจะเข้าถึงดาต้าเหล่านั้น
ตัวอย่างเช่นถ้าบริษัทสักแห่งต้องการผลิตมันฝรั่งกรอบรสใหม่ ข้อมูลส่วนตัวของเราจะช่วยให้เขาพัฒนามันฝรั่งได้ถูกใจตลาดมากขึ้น อะไรทำนองนี้หรือเปล่า คือดาต้ากลายเป็นสินทรัพย์
ใช่ แต่ไม่ใช่แค่ ‘รสชาติ’ มันจะไปถึงขั้นที่ว่า รสไหนที่คุณชอบตอนช่วงเวลาไหนของวัน ที่ไหน และชุดข้อมูลของพฤติกรรมในอดีตแบบใด หรืออาจไปจนถึงว่า มันจะมีอิทธิพลต่อคุณอย่างไร อนาคตจะเป็นแบบนั้น เรื่องรสตอนนี้เราทำได้อยู่แล้วด้วยวิธีการทางการตลาด ขั้นต่อไปคือ ‘ทำไม’ ทำไมคุณถึงชอบรสนั้น ในตอนนั้น อย่างไร แล้วมันส่งผลอะไร ตรงนั้นล่ะที่น่าสนใจ
ฟังอันตรายพอๆ กับแฟนที่อ่านใจคุณเก่ง
(พยักหน้า แล้วหัวเราะร่วน)
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว จากประสบการณ์ของคุณกับอินโนเวล พอจะมีคำแนะนำสำหรับ Tech Startup บ้างไหม ว่าควรโฟกัสที่เรื่องใด
สังคมสูงวัยเป็นเรื่องน่าสนใจเพราะว่ายิ่งสังคมสูงวัยขึ้นเท่าไร สมดุลของอำนาจก็มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนลงมาอยู่ในมือของคนหนุ่มสาว โดยส่วนใหญ่ เมื่อประเทศมีประชากรผู้สูงอายุมากๆ คนที่อายุน้อยมักจะเป็นฝ่ายแอ็คทีฟ เป็นกำลังหลักในการงานและการตัดสินใจ ไม่ใช่การตัดสินใจเรื่องค่าแรง นั่นไม่ใช่ประเด็น แต่คือการตัดสินใจเรื่องทิศทางและวิถี นั่นหมายความว่าการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่กำลังรอเราอยู่
ฉะนั้น ถ้าจะมีสตาร์ตอัปใดขึ้นมารองรับสภาพการณ์นี้ เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือ Insurance โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกันชีวิต อีกเรื่องจะตามมาคือช่องว่างแห่งความมั่งคั่งจะสูงขึ้น จะมีคนยากจนมากขึ้น และคนรวยจะยิ่งรวยขึ้น สำหรับช่องว่างที่ถ่างออกนี้ เมื่อคุณไม่มีกลไกหรือโครงสร้างพื้นฐานะใดๆ ที่จะมาลดช่องว่างเลย สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือระบบประกัน ซึ่งไม่ใช่การประกันชีวิตแบบเดิมๆ แต่ต้องมีมิติทางสังคมมากขึ้น คือสังคมเป็นตัวตั้ง เป็นระบบประกันที่มีเป้าหมายเฉพาะในการนำเงินต้นและกำไรกลับไปอุดหนุนและลดช่องว่างความมั่งคั่งที่เป็นอยู่ เพราะระบบประกันที่ว่าจะนำเงินไปดำเนินธุรกิจเหมือนคอร์ปอเรทและช่วยลดช่องว่างดังกล่าวได้
ตอนนี้เรามีกองทุนประกันสังคมและกองทุนการออมแห่งชาติ แต่ปัญหาคือเราไม่ค่อยรู้ว่าเขาเอาเงินเราไปลงทุนกับอะไร และทิศทางการลงทุนนั้นย้อนศรมาช่วยลดช่องว่างความมั่งคั่งอย่างที่คุณว่าหรือเปล่า
นั่นล่ะคือจุดที่นวัตกรรมจะเข้าไปแก้ปัญหา มันควรช่วยให้เราเลือกได้ว่าเงินออม เงินประกันสังคม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเราลงทุนอยู่กับอะไร เราควรสามารถล็อกอินเข้าไปดูได้ตลอดเวลา เช็คเพอร์ฟอร์แมนซ์ได้ เลือกได้ ย้ายได้ และมีความโปร่งใส นั่นควรเป็นระดับการควบคุม ‘เงินในอนาคต’ ที่เราทุกคนพึงมี ยิ่งคุณช่วยให้คนในสังคมทำแบบนี้ได้มากเท่าไร เขาก็มีโอกาสวางแผนชีวิตได้มากขึ้น เลือกได้ว่าเขาจะเกษียณตัวเองเมื่อไร โดยที่มีเงินเพียงพอแก่การเลี้ยงชีพ มองไปไกลๆ เมื่อคนวางแผนชีวิตได้และมีความมั่นคง สังคมนั้นก็มักจะมีบรรยากาศอนุรักษ์นิยมน้อยลง
ฉะนั้น สตาร์ตอัปควรมองไปข้างหน้า วันนี้มันอาจเป็นแค่เรื่องธุรกรรมการเงินประจำวัน แต่ในเร็ววันนี้ เทคโนโลยีจะส่งผลต่อชีวิตคุณในทุกแง่มุม เหมือนกับที่วันหนึ่งคุณจะสามารถล็อกอินและเลือกได้ว่าจะแชร์ดาต้าหรือไม่ ให้ใคร อย่างไร และมีรายรับจากมัน
Fact Box
Ben Richardson จบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศ จาก Royal Melbourne Institute of Technology University ประเทศออสเตรเลีย
มีประสบการณ์โชกโชนจากวงการสตาร์ตอัปออสเตรเลีย ก่อนเข้าไปรับตำแหน่งหัวหน้าทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ PricewaterhouseCoopers และต่อมาเป็น Chief Technology Officer (CTO) ของ Innowell บริษัทที่ให้บริการด้านสุขภาพจิต อันเป็นความร่วมมือระหว่าง PWC มหาวิทยาลัยซิดนีย์ และรัฐบาลออสเตรเลีย
ปัจจุบัน มีตำแหน่งเป็น President and Chief Technology Officer ของบริษัท Hubba จำกัด