ในประเทศกำลัง (หยุด) พัฒนาบางประเทศ ที่ประชากรส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอย่างกระเสือกกระสน ข้าวของแพง ค่าแรงถูก ราคาผลผลิตตกต่ำ แต่ยังต้องจ่ายภาษีราวกับเป็นยุคภาษีอาน รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาที่ถาโถม ทั้งน้ำท่วม รถติด อากาศเป็นพิษจากฝุ่นควัน ประเทศขาดงบประมาณ แต่มีเงินซื้ออาวุธสงครามกันเป็นพัลวัน ประชาชนก็ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยความที่ไร้เสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก บ่นมากๆ พาลจะถูกไล่ไปอยู่ประเทศอื่นเสียเปล่าๆ ใครพอจะทนได้ก็ทนกันไป คิดซะว่าเช่าเขาอยู่!
แต่ในขณะเดียวกันมีศิลปินหลายคนถ่ายทอดความอึดอัดคับข้องใจเหล่านี้ออกมาในรูปของงานศิลปะ บ้างก็ทำเพื่อตีแผ่และตั้งคำถามกับสังคม บ้างก็เพื่อปลุกปลอบใจตัวเอง
หนึ่งในจำนวนนั้น มีผลงานที่ศิลปินไทยอย่าง เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ ทำในนิทรรศการล่าสุดของเขาที่มีชื่อว่า ‘ทนได้ทนไป’
นิทรรศการศิลปะในแนวคอนเซ็ปชวลอาร์ต ที่ภายในห้องแสดงงานไม่มีภาพวาดอะไรแขวนบนผนัง หรือตั้งบนพื้นให้เห็นเลยแม้แต่ชิ้นเดียว หากมีแต่เพียงตัวหนังสือข้อความติดกันเป็นพรึดยาวเหยียด ที่ถูกเขียนด้วยชอล์กสีขาวลงบนพื้นห้องจนเต็มพื้นที่ และเมื่อผู้ชมเข้าไปภายในห้องแสดงงาน ก็ต้องเดินเหยียบย่ำลงบนตัวหนังสือเหล่านั้นจนมันค่อยๆ ลบเลือนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเมื่อเราไปถึง ตัวหนังสือบนพื้นก็ถูกเหยียบจนลบเลือน และอ่านได้กะท่อนกะแท่นจนจับใจความไม่ได้ครบถ้วนแล้ว
เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ ศิลปินเจ้าของงานกล่าวถึงที่มาของงานชุดนี้ว่า
“ผลงานชุดนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากความอดทนของคนแต่ละคนที่อยู่ในเมืองที่ประสบปัญหา โดยไม่ได้เจาะจงว่าเป็นเมืองไหน (แค่บอกว่าเป็นเมืองที่มีดอยเท่านั้นเอง) เราสังเกตคนทั่วๆ ไป ว่าเขามีความอดทนในชีวิตของเขา หรือในสถานการณ์ปัจจุบันยังไงบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาฝุ่น
ผมทำการสัมภาษณ์คนที่อยู่ในเมืองนี้ (รวมถึงคนที่อยู่ภายนอก เพื่อดูมุมมองจากคนนอกเมือง) จำนวนทั้งหมด 10 คน และตั้งคำถามกับพวกเขาเกี่ยวกับความอดทน โดยเลือกคนจากหลายชนชั้น หลากอาชีพ ตั้งแต่เกษตรกร ลูกจ้าง ไปจนถึงเจ้าของกิจการ โดยเลือกจากทั้งสองฝั่งการเมือง แต่เป็นคนที่เราสนิทสนมด้วย เพื่อที่เขาจะพูดเปิดอกได้เต็มที่
คำถามก็มีตั้งแต่ “ความอดทนเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนไหม? และควรจะต้องฝึกไหม? เมื่อมองย้อนกลับไปมีอะไรไหมในชีวิตที่ต้องอดทนมากที่สุด? ฯลฯ” คำตอบที่ได้รับก็แตกต่างกันออกไป
จากนั้นผมก็เลือกตัดเอาถ้อยคำสัมภาษณ์เหล่านี้มาผสมกับถ้อยคำที่ตัดมาจากข้อความที่ผมเขียนบรรยายถึงประสบการณ์ของตัวเองในเมืองนี้ วางสลับระหว่างประโยคคำพูดกับประโยคบรรยาย เชื่อมกันเป็นเนื้อหา แล้วนำมาเขียนด้วยชอล์กสีขาวลงบนพื้นหอศิลป์จนเต็มพื้นที่ โดยเลือกใช้รูปแบบตัวหนังสือให้เหมือนการคัดลายมือ เพื่อให้อ่านง่าย และดูเป็นความตั้งใจทำ ที่ใช้ชอล์กเพราะมันเป็นอะไรที่บอบบาง และเลือนหายไปได้รวดเร็วที่สุด
พอคนเดินเข้ามาในหอศิลป์ พวกเขาก็จะต้องเหยียบตัวหนังสือบนพื้นจนมันค่อยๆ เลือนหายไป เราก็เล่นกับคนดูด้วยว่าเขาจะกล้าเหยียบมากน้อยแค่ไหน? ซึ่งเขาก็กล้าเหยียบกันนะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยตัดเอาข้อความที่เขียนตรงทางเข้าเอามาเขียนซ้ำตรงพื้นด้านในสุด เพราะมันเป็นข้อความแรกๆ ที่โดนลบหายไปก่อน
ที่ทำงานในลักษณะนี้ก็เพราะผงชอล์กมันมีลักษณะเหมือนฝุ่น เปรียบเปรยเหมือนเวลาที่ฝุ่นมา และเวลาที่ฝุ่นไป พื้นที่ตรงนี้ก็เหมือนเป็นภูมิทัศน์ คือเวลาที่ชาวบ้านที่นี่สังเกตปริมาณฝุ่น เขาไม่ได้นั่งจิ้มแอปพลิเคชั่น AirVisual เพื่อตรวจหาค่าฝุ่น แต่เขาจะใช้วิธีการมองดอยเอา ถ้าวันไหนมองไม่เห็นดอย คือแย่สุด แต่ถ้าเห็นลางๆ ก็ดีขึ้นมาหน่อย หรือบางคนเป็นภูมิแพ้ พอฝุ่นเริ่มขึ้นเกิน 150 (ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ก็จะเริ่มจามแล้ว เพราะฝุ่นมันเล็กมาก แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณไปที่เมืองแห่งนี้ คุณก็จะเห็นได้ด้วยตาเปล่าเลยว่า สภาพอากาศมันจะขมุกขมัวหมือนถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควันไปทั้งเมือง”
นอกจากตัวหนังสือที่เขียนด้วยชอล์กสีขาวบนพื้นแล้ว องค์ประกอบอีกอย่างในนิทรรศการครั้งนี้คือตัวผนังที่ดูเผินๆ ตอนแรก เหมือนจะเป็นผนังที่ว่างเปล่า ไม่มีอะไรอยู่ แต่เมื่อพิจารณาดูใกล้ๆ ก็จะพบว่ามันถูกทาด้วยสีเหลือง และทำพื้นผิวให้หลุดร่อนคล้ายผนังอาคารเก่าๆ นอกจากสีและร่องรอยที่ปรากฏให้เห็นแล้ว กลิ่นของสีน้ำมันที่อบอวลอยู่ในห้องก็เป็นหลักฐานได้เป็นอย่างดี
“ที่ทำสีผนังแบบนี้ ก็เพราะผมได้แรงบันดาลใจจากตึกเก่าสไตล์ฝรั่งเศส ที่เคยเห็นจากตอนที่ไปนครพนม เวียดนาม ลาว และเขมร อีกอย่าง แนวคิดของงานครั้งนี้ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากคนเขมร ที่เราเคยไปสัมผัสและคลุกคลีมา เรารู้สึกว่าคนเขมรมีความอดทนมากๆ เพราะที่ผ่านๆ มาในประวัติศาสตร์ พวกเขาถูกกระทำต่างๆ นาๆ มามากมาย ทั้งจากยุคเขมรแดง หลังจากนั้นก็เจออะไรมาอีกเรื่อยๆ
ผมเคยได้ยินคนที่นั่นเล่าให้ฟังว่า ปราสาทนครธมซึ่งเป็นสมบัติของชาติ ก็ถูกเกาหลีเช่าเป็นเวลา 10 ปี หรือเรือขนขยะพิษของจีนที่แล่นไปทั้วโลก เพราะไม่มีที่จะทิ้ง สุดท้ายขยะพิษเหล่านั้นก็ถูกเอาไปทิ้งที่เขมร หรือในชีวิตประจำวันของคนเขมร ที่ช่วงเวลาบ่าย จะถูกตัดไฟฟ้า เพราะรัฐเอาไฟฟ้าไปขายให้ประเทศอื่น ไม่ใช่แค่ในพนมเปญ แต่เป็นเมืองอื่นๆ ด้วย ชาวบ้านร้านตลาดก็อยู่กันแบบมืดๆ คือพวกเขาโดนอะไรมาเยอะมาก แต่ก็ต้องทนอยู่กับมันให้ได้ เหมือนกับประเด็นเรื่องฝุ่นในบ้านเรา คนที่ไม่มีเงินซื้อเครื่องกรองอากาศ บ้านไม่ได้ติดแอร์ เขาก็ต้องทนอยู่กันให้ได้ ต้องหาวิธีเอาชีวิตรอดกันเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีแต่คนจน ชนชั้นล่างที่ต้องอดทน เพราะเอาจริงๆ ทุกคนก็ต้องมีความอดทนอดกลั้นกันทั้งนั้น คนรวย ชนชั้นสูง เขาก็อาจจะต้องอดทนในสิ่งที่ไม่ได้อย่างใจ ทนรออะไรไม่ได้ พวกเขาจะรู้สึกหงุดหงิดที่จะต้องรอ ในขณะที่คนจนก็จะมีความอดทนอีกแบบ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนก็ต้องอดทนกันทั้งนั้น ผมไม่เชื่อ ว่าไม่มีใครไม่ต้องอดทนเลย เพียงแต่เป็นความอดทนคนละเรื่อง”
เมื่อสังเกตดีๆ สีของผนังที่ทำเลียนแบบตึกเก่า ที่เป็นสีเหลืองที่กะเทาะหลุดร่อนจนเผยให้เห็นสีแดงที่ซ่อนอยู่ข้างใต้ อาจทำให้คอการเมืองหลายคนนึกตีความไปถึงนัยยะแฝงเร้นเกี่ยวกับการเมืองสีเสื้อในผลงานชิ้นนี้ แต่ศิลปินก็เฉลยให้เราฟังว่ามันเป็นแค่ความบังเอิญเท่านั้น
“คือก่อนหน้านี้มีการจัดแสดงนิทรรศการที่ต้องทาผนังให้เป็นสีแดง พอจบนิทรรศการก็ถูกทาสีขาวทับ พอเราทำผนังให้สีลอกเหมือนตึกเก่า ร่องรอยเก่่าๆ ก็ปรากฏออกมาให้เห็น ซึ่งเป็นอะไรที่เราไม่ได้ตั้งใจ มันเป็นประวัติศาสตร์ของพื้นที่แห่งนี้ ที่มีมาก่อนแล้ว แต่มันก็ดีตรงที่ทำให้คนดูตีความไปได้หลากหลาย”
ถึงแม้จะน่าเสียดายที่ผู้ชมไม่สามารถที่จะอ่านข้อความที่เขียนลงบนพื้นหอศิลป์หรือรับสารที่ศิลปินต้องการจะสื่อได้ทั้งหมด เพราะพอพวกเขาเหยียบเท้าย่างก้าวเข้าไปในห้องแสดงงาน พวกเขาก็ลบข้อความบนพื้นให้หายไปทันที แต่ดูเหมือนศิลปินจะไม่ถือสาอะไร และออกจะพออกพอใจเสียด้วยซ้ำไป
“ที่ตัวหนังสือหายไปเนี่ย ไม่มีปัญหา ผมชอบนะ เขารับได้แค่ไหน ก็แค่นั้น เหมือนเราอ่านหนังสือ หรือเข้าไปฟังบรรยายอะไรก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจและรับรู้ได้ 100% รับได้แค่ไหน ก็เแค่นั้น
ผมรู้สึกว่าตอนที่ทำงานชิ้นนี้เสร็จ ดูสะอาดสะอ้าน มีข้อความครบถ้วน ผมยังไม่ชอบเท่ากับตอนที่มันถูกคนเดินเหยียบจนเลอะเลือนไปเลย ตอนทำเสร็จใหม่ๆ งานชิ้นนี้ยังไม่สมบูรณ์เท่ากับตอนที่มีมันโดนคนเดินเข้ามาเหยียบ พอคนเดินเข้ามาเหยียบปุ๊บ ผลงานชิ้นนี้ก็เริ่มต้นทำงานทันที ข้อความบนพื้นจะถูกคนดูที่เดินเข้ามาแก้ไขตัดทอนออกไปเรื่อยๆ ในตัว เราถึงเขียนตัวหนังสือตั้งแต่ตรงปากทางเข้าเลย พอคนดูเดินเข้ามา เขาก็ลบมันไปทันที
ผลงานในนิทรรศการนี้เป็นเรื่องของประสบการณ์ที่คุณไม่สามารถได้รับจากภาพถ่ายหรือวีดีโอ คุณต้องมาสัมผัสมันที่นี่ด้วยตัวเอง งานหลายๆ ชิ้นของผมมักเป็นการเล่นกับประสบการณ์ หรือความรู้สึกของคน”
เจษฎายังเล่าให้ฟังอีกว่า แรกเริ่มเดิมทีเขาไม่ได้คิดทำผลงานชุดนี้ออกมาเพียงชุดเดียว หากแต่ทำขึ้นพร้อมๆ กับผลงานอีกชุดหนึ่งที่แสดงในนิทรรศการอื่นด้วย
“ผลงานชุดนี้ผมคิดขึ้นพร้อมกับงานอีกชิ้นของผม ที่ร่วมแสดงในนิทรรศการ PARALLEL : The Ramasun Station Art Trail ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ค่ายรามสูร อุดรธานี ที่มีชื่อว่า ‘ท้องถิ่นนิยม’ ซึ่งเอาภาพถ่ายของอุโมงค์ทางเดินใต้ดิน, อาคารปฏิบัติการ และสถานีเรดาร์ ในค่ายรามสูร ที่พิมพ์จากพรินเตอร์หลากยี่ห้อหลายรุ่นตามร้านถ่ายเอกสารต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ จนทำให้ความละเอียดของภาพและสีผิดเพี้ยน ไปติดบนพื้นที่แสดงงานในค่าย ในบริเวณที่โดนแดดโดนฝน ซึ่งจะทำให้ภาพถ่ายที่พิมพ์ด้วยระบบเลเซอร์มีสีสันผิดเพี้ยนยิ่งขึ้นไปอีก และเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศไปเรื่อยๆ จนมีสีสันซีดจางกลมกลืนกับผนังห้องแสดงงานเก่ารกร้างเมื่อใกล้จบนิทรรศการ
คือตอนแรกคิดจะทำงานชุดนี้ (ทนได้ทนไป) ที่โน่น (พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ค่ายรามสูร) และทำชิ้นโน้น (ท้องถิ่นนิยม) ที่นี่ (คาร์เทล อาร์ตสเปซ) แต่พอมาทำเป็นนิทรรศการจริงๆ เราก็ตัดสินใจสลับชิ้นงานกันระหว่างสองพื้นที่ เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมของพื้นที่แสดงงาน”
เจษฎายังเผยความในใจอีกว่า
“งานชุดนี้จริงๆ แล้วผมหยิบเอาสิ่งที่กลัวที่สุดมาทำ คือแต่ก่อน ผมเคยฝันอยากเป็นนักเขียน ก็พยายามที่จะตื่นขึ้นมาทำงานเขียนทุกเช้า แต่ก็เขียนออกมาไม่ได้สักที พอดีในการทำงานนิทรรศการนี้เรามีเวลา 1 เดือน ก็เลยลองดู เป็นไงเป็นกัน ล้มเหลวก็ไม่เป็นไร ก็เขียนเป็นงานชุดนี้ออกมา แล้วก็นำมาขัดเกลาตัดต่อกับข้อความที่ไปสัมภาษณ์มา งานชิ้นนี้ก็เหมือนเป็นการต่อสู้กับตัวเอง เพราะจริงๆ ผมเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยคุย ไม่ค่อยสุงสิง หรือสังสรรค์กับใคร เราก็ใช้ศิลปะมาสื่อสาร และบำบัดตัวเอง และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในชีวิตจากศิลปะ ใช้ศิลปะช่วยทำให้เรากล้าทำสิ่งต่างๆ ออกมา”
สุดท้าย เจษฎาออกความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ‘ความอดทน’ ที่เป็นแรงบันดาลใจของงานในนิทรรศการครั้งนี้ของเขาว่า
“ในชีวิต คนเราอาจต้องเจอบางสิ่งที่เราสามารถต่อสู้ได้ เราก็สู้ไป แต่บางอย่างเราทำอะไรกับมันไม่ได้ เราก็ต้องอดทนจนกว่ามันจะผ่านพ้นไป เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้อยู่คงทนถาวร ไม่มีใครเป็นอมตะ และไม่มีสิ่งใดที่เป็นอมตะ ทุกสิ่งเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องสูญหายไป”
และถึงแม้ตัวศิลปินเจ้าของงานจะออกตัวว่า ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของเขาไม่ได้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองของบ้านเรามากไปกว่าเรื่องของปัญหามลพิษ ความเป็นอยู่ และปากท้องของผู้คน แต่เมื่อได้สัมผัสกับผลงานชุดนี้ของเขา ก็ทำให้เราอดนึกไปถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ประชาชนต่างร่วมแรงร่วมใจกันออกไปใช้สิทธิใช้เสียงเพื่อเลือกอนาคตของตัวเอง แต่สุดท้ายก็ถูกใครบางคนใช้อำนาจเล่ห์กล ดึงให้เราถอยหลังกลับไปอยู่ในอดีตแบบเดิมๆ เหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เข้ากับสำนวนที่ว่า “เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า” แบบเดียวกับที่เราเจอในนิทรรศการนี้จริงๆ อะไรจริง!
นิทรรศการ ทนได้ทนไป (How Much You Can Tolerate) โดย เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ จัดแสดงที่หอศิลป์ คาร์เทล อาร์ตสเปซ ซอยนราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม – 23 มิถุนายน 2562 เปิดให้เข้าชม วันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 11:00 – 18:00 น. สอบถามข้อมูลได้ที่ : facebook @Cartelartpace
ส่วนผลงาน ท้องถิ่นนิยม ของเจษฎา จัดแสดงในนิทรรศการ PARALLEL : The Ramasun Station Art Trail ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ค่ายรามสูร กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 13 ค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดา จังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่วันที่ 8 – 30 มิถุนายน 2562 เวลา 09.00 – 17.00 น. (เปิดให้เข้าชมทุกวัน) สอบถามข้อมูลได้ที่ : 086-0082800, 0935206313, 042-111-618
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก คาร์เทล อาร์ตสเปซ, เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์