การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปชุดใหม่ที่มีขึ้น 3 วันระหว่างวันที่ 24-26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทั่วทวีปยุโรปมีผู้มาใช้สิทธิ 51% ซึ่งถือว่ามากที่สุดตั้งแต่ปี 1994

การเลือกตั้งนี้ถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่ใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากอินเดีย โดยมีพลเมืองจาก 28 ประเทศออกไปลงคะแนน ผลการนับคะแนนปรากฏว่า แม้ฝ่ายนิยมอียูยังคงครองที่นั่งในสัดส่วน 2 ใน 3 แต่จำนวนที่นั่งก็ลดลง ส่วนฝ่ายชาตินิยมได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น สัดส่วนของพรรคกลางซ้ายและกลางขวาลดลงจากเดิม ส่วนกลุ่มพรรคฝ่ายขวาและต่อต้านผู้อพยพได้ผู้แทนเพิ่มขึ้น แต่ที่น่าสนใจก็คือ สัดส่วนของพรรคกรีนก็เพิ่มขึ้น ซึ่งได้คะแนนมากเป็นอันดับ 4 คิดเป็น 11.1% โดยได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ในเยอรมนี และอันดับ 3 ในฝรั่งเศส

ความนิยมที่เพิ่มขึ้นต่อพรรคกรีนมาจากความตื่นตัวเรื่องโลกร้อนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนหนุ่มสาว จนทำให้ที่นั่งจากพรรคกรีนมีมากพอที่จะส่งผลต่อนโยบายสำคัญ

ความสำเร็จครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากกระแสตื่นตัวทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจาก เกรตา ทุนเบิร์ก เด็กหญิงอายุ 16 ปีชาวสวีเดน ผู้ริเริ่มการหยุดเรียนทุกวันศุกร์แล้วออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้ผู้ใหญ่สนใจแก้ปัญหาโลกร้อนจริงจัง

“เราคิดว่าคนหนุ่มสาวเหล่านี้ วันๆ เอาแต่จ้องโทรศัพท์ แต่พวกเขาออกมาเดินบนท้องถนนได้ แล้วมันก็ได้สร้างผลสะเทือนไปถึงพ่อแม่และปู่ย่าตายายของพวกเขา” เซอร์จีย์ ลาโกดินสกี สมาชิกพรรคกรีนจากเยอรมนีที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งกล่าว

ลาโกดินสกีบอกว่า “ผลการเลือกตั้งได้ยืนยันแล้วว่า ประเด็นที่เราทำงานมา เป็นเรื่องที่สำคัญต่อสาธารณะทั้งในชีวิตประจำวันและอนาคตของลูกหลาน มีหลายครั้งที่เราสงสัยว่า นี่เป็นประเด็นชายขอบไหม แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าไม่ใช่เลย มันเป็นประเด็นที่เป็นกระแสหลัก”

นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว พรรคกรีนยังผลักดันเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมและสิทธิพลเมือง การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปครั้งนี้ พรรคกลางซ้ายและพรรคกลางขวาได้คะแนนน้อยลง ทั้งที่เดิมเคยเป็นเสียงส่วนใหญ่ ทำให้ต้องหวังพึ่งเสียงจากพรรคกรีนและพรรคกลางอื่นเพื่อผลักดันนโยบายที่มีแนวทางเดียวกัน

 

ที่มา:

 

ที่มาภาพ: SASCHA SCHUERMANN / AFP

Tags: , , , ,