อยู่ใกล้กันนิดเดียว สื่อสารทางภาษากันได้ไม่ยาก แต่เรากลับพบว่ารู้จักลาวน้อยมาก ยิ่งเมื่อกลับออกจากนิทรรศการศิลปะชุดนี้
ท่ามกลางเสียงขับลำทุ้มที่ฟังดูคล้ายดนตรีพื้นเมืองทางเหนือ ในนิทรรศการ ‘เบิ่งรูปแต้ม แนมรูปเงา เล่าสังคม’ เรียงรายไปด้วยศิลปะที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สังคมลาว โดย ชัยรัตน์ พลมุข อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมิสุดา เรืองสุขคุณ ผู้ก่อตั้ง Mekong Art Initiative ผู้เป็นคิวเรเตอร์ คัดเลือกมาเฉพาะงานที่เชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ช่วงสงครามจนถึงการต่อสู้ปลดปล่อยและการสถาปนาประเทศเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ในนิทรรศการประกอบด้วยการ์ตูนล้อเลียนของ ‘อานูโลม สุวันดวน’ ภาพเขียนโหยหาคืนวันช่วงปฏิวัติของ ‘กงพัด หลวงลาด’ ภาพเขียนเชิงอุดมคติของ ‘มาย จันดาวง’ ภาพถ่ายเล่าผลพวงจากสงครามของ ‘บุนโปน โพทิสาน’ และสารคดีของ ‘ไซสงคาม อินดวงจันที’ ที่เล่าชีวิตของนักขับลำหลวงพระบางหลังสงคราม
และจากการเดินชมงานพร้อมฟังบรรยายของอาจารย์ชัยรัตน์ เราก็เพิ่งรู้ว่า
1) ในยุค 70s ทุนนิยมแผ่เงามืดปกคลุมสังคมลาว
ในการ์ตูนล้อเลียนของ ‘อานูโลม สุวันดวน’ ที่ตีพิมพ์ในช่วงปี ช่วงปี 1974-1975 แสดงให้เห็นอิทธิพลมืดของอเมริกาและลัทธิทุนนิยม
อาจารย์ชัยรัตน์อธิบายว่า ลาวในช่วงสงครามกลางเมืองจะแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งคือ ‘เขตปลดปล่อย’ ซึ่งอยู่ทางเหนือและเป็นพื้นที่ของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว อีกฝั่งหนึ่งคือ ‘เขตศัตรูควบคุมชั่วคราว’ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เวียงจันทน์ เป็นเขตที่อเมริกาเข้าแทรกแซง หลังจากที่ฝรั่งเศสแพ้สงครามโลกครั้งที่สองและไม่ได้เป็นเจ้าอาณานิคมลาวแล้ว
ฝั่งที่อเมริกาเรืองอำนาจจะมีปัญหาเด่นคือการคอร์รัปชั่น การ์ตูนของอานูโลม (ออกเสียงว่าอนุโลม)วิพากษ์วิจารณ์การเข้ามาของทุนนิยม เวียงจันทน์กลายเป็นเมืองมากขึ้น แต่กลับมีวัวควายเดินกันสลอน แสดงถึงการวางแผนเมืองที่ย่ำแย่ โรงงานปิด ประชาชนยากจน ผู้คนไปเที่ยวสถานบันเทิงมากกว่าจะไปหอพระแก้ว คนหนุ่มสาวอยากไปเรียนเมืองนอกมากกว่าอยู่กับสังคมเกษตร
ตัวศิลปินเองอาศัยอยู่ในฝั่งศัตรูควบคุมชั่วคราว งานของเขาจึงคล้ายจะบอกว่าคนลาวที่อยู่ในฝั่งของอเมริกาก็ไม่ได้ยินดีกับอเมริกาทั้งหมด มันไม่ใช่แค่การวิพากษ์ทุนนิยมที่ตัวทุนนิยม แต่เป็นการวิจารณ์รัฐบาลที่ร่วมมือกับอเมริกาเพื่อรับทุนนิยมเข้ามา ซึ่งหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศในปลายทศวรรษ 1980 ศิลปินลาวก็ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยมอยู่บ้าง แต่ผู้คนหลายส่วนก็เริ่มเปิดรับสิ่งใหม่รวมถึงทุนนิยมและอเมริกามากขึ้น
2) การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน เคยทำให้ศิลปินลาวเคว้งคว้าง
สำหรับ ‘กงพัด หลวงลาด’ ศิลปินลาวที่เรียนจบมาจากบัลแกเรีย การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน อันเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ของจุดสิ้นสุดของสงครามเย็น ทำให้ศิลปินตั้งคำถามว่า สภาพการของประเทศลาวจะไปต่ออย่างไร เมื่อความใฝ่ฝันของการปฏิวัติถูกสั่นคลอนไปทั่วโลก
สิ่งที่เขาทำคือการวาดภาพลงบนบนกระดาษหนังสือพิมพ์เยอรมัน โดยคำที่เด่นออกมาคือคำว่า freestyle กับ Berlin
“พอกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย คนรู้สึกว่าโลกมันจะ freestyle ขึ้น แต่ขณะเดียวกันในนั้นมันก็มีความอลหม่าน มันคือเรื่องของความโศกเศร้าตรอมตรมของฝ่ายซ้าย (Left-Wing melancholia) ซึ่งกรณีของลาว เราไม่รู้ว่ามันเป็น melancholia หรือเปล่า เพราะในแง่หนึ่งมันคือชัยชนะ มันเคยสำเร็จ มันก็คงไม่ได้เศร้าแบบฝ่ายซ้ายในพื้นที่อื่นๆ แต่เป็นการหวนคิดถึงในแง่ของการเฉลิมฉลองมันมากกว่า” อาจารย์ชัยรัตน์เล่า
เช่นเดียวกับในงานชิ้นอื่นของกงพัด อย่างงานภาพเขียนแนว socialist realism ที่ย้อนไปเล่าภาพคืนวันที่กองทัพประชาชนปฏิวัติลาวนำพาความรุ่งโรจน์งดงามมาสู่ประเทศลาว โดยคิวเรเตอร์ให้ความเห็นว่า
“มันถูกเขียนในปี 2006 อยู่ในยุคที่ปัจจุบันมากๆ แต่มันยังเป็นงานปฏิวัติอยู่เลย สิ่งที่เราอยากให้เห็นก็คือ หลังจากที่ระบบสังคมนิยมล่มสลายไป หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังผูกพันกับระบอบนี้อยู่ เช่นที่ลาว ที่เป็นสังคมนิยมมายาวนานมาก เรื่องความใฝ่ฝันที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมมันยังคงเป็นวัตถุดิบของศิลปินแม้ในทุกวันนี้ก็ตาม”
3) คนลาวใช้ระเบิดมาทำเรือ
จากงานเรียลิสติกชุดก่อนหน้า เราก็หันมาพบกับภาพเขียนงามๆ มีความตะวันตกของ ‘มาย จันดาวง’ ศิลปินแห่งชาติลาวที่ใช้เทคนิกสมัยใหม่ แต่ในแง่หนึ่งงานชุดนี้ก็มีความโหยหาอดีตและอุดมคติบางอย่าง เช่นการเสนอเรือนร่างของผู้หญิง หรืองานวิวทิวทัศน์ ซึ่งคิวเรเตอร์ต้องการให้เกิดบทสนทนากับงานทิวทัศน์อีกชุดที่จัดไว้อยู่ใกล้กัน มันเป็นภาพถ่ายของเรือที่แล่นอยู่กลางสายน้ำ เมื่อมองดีๆ แล้วเรือลำนั้นทำขึ้นจากลูกระเบิด
“ลาวได้ผ่านสงครามมาหลายครั้ง เราอยากให้เห็นว่าในท่ามกลางปรักหักพังหรือเศษเหลือจากสงคราม ผู้คนยังสามารถสร้างอะไรขึ้นมาได้อยู่” อาจารย์ชัยรัตน์บอกเล่าถึงภาพถ่ายของ ‘บุนโปน โพทิสาน’ ศิลปินอิสระที่เคยมาแสดงงานที่ bacc เมื่อปีที่ผ่านมา
ใกล้ๆ กันมีภาพถ่ายงานประติมากรรมของบุนโปน เป็นภาพบ้านของนกพิราบสร้างจากระเบิด น่าสนใจที่อาจารย์ชัยรัตน์ได้ให้นิสิตเขียนเรียงความเกี่ยวกับภาพๆ นี้ บางคนมองเห็นมันคล้ายศาลพระภูมิที่มีแง่มุมของการปกป้องคุ้มครองแต่มันกลับสร้างขึ้นจากของอันตราย ขณะที่บางคนมองว่านี่คือสันติภาพที่ตั้งอยู่บนความรุนแรง เป็นสันติภาพที่ว่างเปล่า ฯลฯ
อาจารย์ชัยรัตน์ยังเพิ่มเติมว่า เมื่อข้ามมาดูศิลปินไทยที่เล่าเรื่องจากช่วงเวลาเดียวกันนี้อย่างงานของ ธาดา เฮงทรัพย์กูล ที่สร้างงานจากระเบิดที่โคราชซึ่งเคยเป็นฐานทัพของอเมริกา ระเบิดเหล่านี้จะถูกนำไปทิ้งที่ลาว ดังนั้นในคลังแสงที่ถูกทิ้งร้างจะยังเหลือระเบิดอยู่ ธาดาเองเป็นคนโคราช เขาจึงนำระเบิดเหล่านี้มาวางเรียงกันเป็นคำว่า ‘bliss’ ที่สามารถมองเป็นการวิพากษ์ว่าความสุขของเราอาจเป็นความทุกข์ของคนอื่น
“ในแง่ของศิลปะมีการวิพากษ์แบบนี้อยู่พอสมควร มันน่าสนใจที่ว่าศิลปะทำให้เราเข้าใจหรือเห็นแง่มุมของประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงอย่างไรบ้าง” ชัยรัตน์กล่าว
4) การปฏิวัติทำให้ศิลปินต้องเปลี่ยนงาน
งานวิดีโอที่อยู่ด้านในสุดของนิทรรศการ เป็นที่มาของเสียงขับลำทุ้มที่ดังคลออยู่ตลอดระยะเวลาที่เข้าชมงาน มันคือหนังสารคดีของ ‘ไซสงคราม อินดวงจันที’ คนทำสารคดีลาวที่ได้เดินสายฉายหนังไปในหลากหลายประเทศ โดยอาจารย์ชัยรัตน์เองเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนของสารคดีชิ้นที่ฉายอยู่ในนิทรรศการนี้
“โปรเจกต์นี้ไซสงคามเขาอยากบันทึกชีวิตของนักขับทุ้มในหลวงพระบาง สมัยก่อนราชสำนักจะอุปถัมภ์นักขับทุ้มเอาไว้ พอเกิดการปฏิวัติ ไม่มีราชสำนักแล้ว งานที่ทำก็เปลี่ยนไป โดยที่เขาก็ยังผูกพันกับการขับร้องอยู่ เราจะไปสัมภาษณ์ชีวิตของคนเหล่านี้ เช่นคนนี้ที่เป็นภารโรง ที่พอมีเวลาว่างก็มาขับทุ้ม”
“เราอยากพูดถึงชีวิตคนที่ผูกพันอยู่กับอดีตมากๆ ดนตรีเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตเขา ทั้งที่ชีวิตเขาเองลำบากและมีปัญหาหลากหลาย”
คุณป้านักขับทุ้มที่เป็นซับเจกต์เล่าชีวิตของเธอในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การใช้เวลาว่างกับดนตรี ชีวิต ครอบครัว จนถึงแง่มุมจากสังคมที่ว่าผู้หญิงขับทุ้มนั้นเป็นคน ‘ดัดจริต’
และความดีงามของสารคดีชิ้นนี้ก็คือ
“เราอยากให้มีประวัติศาสตร์อยู่ในนั้น แต่ไม่ได้อยากให้ประวัติศาสตร์ไปครอบวิธีการเล่าของเขา เราไม่อยากไปทำให้ชีวิตเขาเป็นการเมือง แค่อยากรู้ว่าชีวิตเขาดำเนินยังไงหลังจากที่ไม่สามารถทำงานเหมือนเดิมได้” อาจารย์ชัยรัตน์เล่า ส่วนผู้ชมจะเห็นแง่มุมอื่นใดอย่างไรบ้างนั้น คงต้องไปดูที่งานกันเอาเอง
หลังชมงานศิลปะในนิทรรศการ ‘เบิ่งรูปแต้ม แนมรูปเงา เล่าสังคม’ เราอดไม่ได้ที่จะย้อนกลับมานึกถึงศิลปะและประวัติศาสตร์สังคมไทยที่ทั้งไม่เคยเป็นเมืองขึ้นและไม่เคยเป็นประเทศสังคมนิยม
“ประเทศที่ผ่านอาณานิคมและลัทธิสังคมนิยม จะมีเส้นทางพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง ที่ไม่เหมือนเรา อย่างในงานศิลปะเราจะเห็นว่าทำไมถึงมีงานลักษณะนี้ อย่างการ nostalgia ถึงโลกสังคมนิยมซึ่งในบ้านเราอาจจะไม่มี มันจึงเป็นการเปิดมุมมองการศึกษาประวัติศาสตร์ มันมีมิติอื่นที่เราไม่ค่อยเห็นในวงการศิลปะไทย บ้านเราอาจจะมีงานที่ในที่สุดพัฒนาไปสู่แอบสแตรกต์ แต่เราจะไม่ค่อยเห็นในงานศิลปินลาว ถ้ามองในเชิงเปรียบเทียบเราน่าจะเป็นว่าอิทธิพลอะไรที่ทำให้เกิดงานลาวชุดนี้ขึ้นมา”
เรามักจะรู้สึกว่าลาวไม่ได้อยู่ร่วมสมัยกับเรา นิทรรศการนี้ เราอยากทำความเข้าใจลาวผ่านมโนทัศน์เรื่องเวลา ถ้าเราไม่มองว่าสิ่งนี้ร่วมสมัยแล้วมันคืออะไร คล้ายปรัชญาของจิออร์จิโอ อกัมเบน (Giorgio Agamben) ที่เรายกมาในสเตทเมนต์นั่นล่ะ คนที่ร่วมสมัยแท้จริงไม่ใช่คนที่เห็นแสงแห่งศตวรรษ แต่คือคนที่เห็นเงามืดของความรุ่งโรจน์” อาจารย์ชัยรัตน์ทิ้งท้าย
Tags: art, Art exhibition