วันครบรอบ 9 ปี เหตุการณ์การสลายการชุมนุม เจ้าหน้าวางแนวรั้วและเชือกขึงเพื่อกั้นแนวเขตบริเวณจุดสำคัญที่ประชาชนเคยจัดกิจกรรมแสดงสัญลักษณ์ เช่น หน้าป้ายราชประสงค์ และหน้าร้านแมคโดนัลด์ โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเอกชนดูแลรักษาการ เพื่อไม่ให้ประชาชนรวมตัวกันจัดกิจกรรม แม้กระทั่งในวัดปทุมวนารามก็ติดป้ายปิดรับสังฆทานเร็วกว่ากำหนด

เมื่อ 12.30 น. สมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวและผู้ก่อตั้งพรรคเกียน เดินทางไปที่หน้าร้านแมคโดนัลด์ ราชประสงค์ และเขียนข้อความว่า “รอคำขอโทษ 9 ปี” ลงบนกระดาษห่ออาหารของแมคโดนัลด์ เขากล่าวว่า อยากฝากถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมว่า แม้เหตุการณ์ผ่านมา 9 ปีแล้ว ก็ยังไม่เคยได้ยินคำขอโทษ รวมถึงยังไม่มีการดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนทำให้เกิดความบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต โดยเฉพาะการกระทำของฝ่ายรัฐ

โดยนายสมบัติ กล่าวว่า เขาคาดหวังต่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีในช่วงการสลายการชุมนุม เพราะที่ผ่านมา อภิสิทธิ์ได้แสดงสปิริตทางการเมืองหลายครั้ง ซึ่งสะท้อนแนวคิดที่ไม่ต้องการสืบทอดอำนาจเผด็จการ จึงขอเรียกร้องในฐานะปัจเจกชนว่า ถ้าอภิสิทธิ์พร้อม จะเป็นปีไหนก็ได้ อยากให้ออกมาขอโทษประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะครอบครัวผู้เสียชีวิต

เขตอภัยทานไม่รับสังฆทาน

ขณะที่อีกกิจกรรมหนึ่ง เกิดขึ้นบริเวณวัดปทุมวนาราม โดยเมื่อเวลาราว 16.00 น. พะเยาว์ อัคฮาด มารดา กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา ที่ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมฯ เดินทางมาวางดอกไม้ไว้อาลัยที่จุดเกิดเหตุทั้งที่บริเวณทางเข้าวัดปทุมฯ และที่บริเวณป้ายราชประสงค์ และมีประชาชนทยอยเดินทางมาร้องเพลง ชูป้าย รำลึกเหตุการณ์

พื้นที่วัดปทุมวนารามนั้นเป็นจุดสำคัญ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 รายภายในวัด โดยช่วงเวลานั้น วัลลภ ตังคณานุรักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เผยเมื่อ 17 พฤษภาคม 2553 ว่าได้ประสานกับ โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและสันติวิธีมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อประสานกับเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ว่าขอให้พื้นที่ในวัดเป็น ‘เขตอภัยทาน’ หากผู้ชุมนุมหรือทหารเข้ามาก็ขอให้ปลดอาวุธให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เมื่อถึงเวลาสลายการชุมนุม ก็มีผู้ชุมนุมจำนวนมากหลบเข้าไปในเขตวัด แต่บริเวณดังกล่าวกลับเป็นเป้ากระสุน โดยที่เต็นท์พยาบาลซึ่งมีสัญลักษณ์กาชาดบริเวณหน้าวัดปทุมฯ มีคนถูกยิงจนมีผู้เสียชีวิตรวม 6 ศพ หนึ่งในนั้นคือ กมนเกด อัคฮาด อาสาพยาบาล ซึ่งมีบาดแผลถูกยิงทะลุผิวหนังมากถึง 11 แห่ง

อย่างไรก็ดี ในวันนี้วัดปทุมวนารามขึ้นป้ายประกาศว่า ถวายสังฆทานได้ถึงเวลา 14.30 น. จากปกติเกิดให้ทำสังฆทานได้จนถึงเวลา 17.00 น.

DIY สัญลักษณ์ป้ายสี่แยกราชประสงค์

อีกจุดสำคัญที่เป็นพื้นที่กิจกรรมก็คือป้ายสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งตัวป้ายนี้เริ่มถูกให้ความหมายในฐานะสัญลักษณ์สำคัญ แทนการสูญเสียชีวิตประชาชน แต่เช้าวันนี้ บริเวณทางเท้ารอบๆ ป้ายสี่แยกนี้ มีกระถางต้นไม้วางเต็มพื้น และมีรั้วกั้นคอกเพื่อไม่ให้คนเข้าไปใกล้ได้

ทั้งนี้ ในวาระรำลึกสำคัญ การเฝ้าดูว่าจะมีการจัดการพื้นที่รอบป้ายสี่แยกราชประสงค์อย่างไรก็กลายเป็นเรื่องขบขันไปแล้ว ในอดีตที่มีสีสันเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ของป้ายสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งเริ่มจากในวันที่ 11 กรกฎาคมปี 2553 สมบัติ บุญงามอนงค์ ชวนมวลชนไปผูกผ้าแดงเพื่อรำลึกถึงชีวิตที่สูญเสีย ซึ่งถือเป็นการรวมตัวคนเสื้อแดงเป็นครั้งแรกหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญกลางเมืองที่มีคนตายจำนวนมาก

จากเหตุการณ์นั้นเอง ทำให้สัปดาห์ต่อมา วันที่ 19 กรกฎาคม 2553 ซึ่งตรงกับวันครบรอบสองเดือนของการล้อมปราบนั้น ปรากฏว่าป้ายดังกล่าวอันตรธานหายไป โดยผู้อำนวยการเขตปทุมวันตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า รื้อถอนป้ายออกไปเพื่อซ่อมแซม

อีกทั้งเมื่อต้นปี 2561 ซึ่งนักกิจกรรมรวมตัวกันเพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักถึงการหายตัวไปของนักเคลื่อนไหวอย่าง สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ สุรชัย แซ่ด่าน ที่บริเวณป้ายสี่แยกราชประสงค์เช่นกัน ครั้งนั้น ก็ปรากฏเช่นกันว่า ป้ายถูกถอดออกไป และมีการวางกระถางต้นไม้เต็มพื้นที่

สำหรับกิจกรรม 19 พฤษภาคม 2562 ทางเขตปทุมวันไม่ได้ยกป้ายออก แต่กั้นบริเวณไม่ให้คนเข้าพื้นที่ ซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงพิมพ์ไวนิลป้ายสี่แยกราชประสงค์ขนาดเท่าของจริง ต่อเสาด้วยท่อพีวีซี นำมาใช้ในกิจกรรมรำลึกในวาระครบรอบ 9 ปี รำลึกถึงชีวิตที่สูญเสียในการสลายการชุมนุมแทน

Tags: , , , , , , , , ,