เมื่อปี 2519 สิตา การย์เกรียงไกร หรือ ตา เพียรอภิธรรม เป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาจากขอนแก่น ซึ่งทำให้เขาถูกทางการต้องการตัวมากที่สุด

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ชายวัย 70 ปีคนนี้ ให้สัมภาษณ์ถึงประวัติศาสตร์ และ ‘รอยแผล’ ที่เกิดจาก 6 ตุลาฯ ไม่บ่อยนัก อาจจะเห็นบ้างประปรายจากเฟซบุ๊กของตัวเขา ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่าอยู่ระหว่างการรวบรวมเขียนเป็นหนังสือ ถึงชีวิตที่ผันผ่านมาทั้งหมด 

ช่วงชีวิตวัยนั้นของสิตา เริ่มต้นจากการเป็นเด็กกิจกรรม ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน มาทำกิจกรรมนักศึกษา โดนพักการเรียน ถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนได้แบกปืนเป็นทหารป่าให้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจริงๆ ออกมาจากป่า มาใช้ชีวิตแบบ ‘ปกติที่ไม่ปกติ’

ผ่านไป 45 ปี กับเหตุการณ์เจ้าหน้าที่บุกสังหารโหดนักศึกษา ประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สิตาออกมาให้สัมภาษณ์บอกเล่าเรื่องราวความหลัง ที่ชายคนนี้สรุปบทเรียนจาก 6 ตุลาว่า 

“เพื่อที่จะเอาชนะในสงคราม เขาทำได้ทุกอย่าง”

อยากให้คุณบอกเล่าประวัติช่วงชีวิตวัยเด็ก

พื้นเพผมเป็นคนสุพรรณบุรี เข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพมหานคร ขณะเป็นนักเรียน ผมก็ทำกิจกรรมโรงเรียนอยู่เป็นประจำ ช่วยงานครูที่โรงเรียนเสมอ ทีนี้ตอบสอบเอนทรานซ์ก็สอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ก็ตั้งใจจะไปเรียนอยู่แล้ว พอติดก็ตัดสินใจไปเลย ก็ไปเรียนร่วมกับเพื่อน ๆ หลายคน

บรรยากาศที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นสมัยนั้นเป็นอย่างไร

ที่ มข. ผมก็ยังเป็นนักกิจกรรมอยู่ ผมไปเรียนช่วงก่อนเกิด 14 ตุลาคม 2516 สมัยนั้นนักศึกษาจะมีการรวมตัวจัดกิจกรรมหลายอย่าง ด้วยความที่ มข. คนน้อย ก็จะมีกิจกรรมฟุตบอล เต้นรำ จัดฉายภาพยนตร์ ผมทำหมด พอคนน้อย เราก็จะรู้จักคนทั่วถึงกันหมด ทีนี้สมัยนั้นก็มีการคุยกันถึงปัญหาในมหาวิทยาลัย คุยกันหลายอย่าง ว่ามหาวิทยาลัยมีปัญหามากมาย หนักเข้าก็เลยรวมตัวกันเรียกร้องให้อธิการบดีลาออก ผมเองก็ร่วมเป็นแกนนำด้วย

ตอนรวมตัวกันไล่อธิการบดีมหาวิทยาลัย ผมอยู่ปี 2 พอดี ตอนจัดกิจกรรมขับไล่คือปี 2516 ผลก็คือก็โดนพักการเรียน ถูกหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถึงขั้นถูกปั้นแต่งว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเลยด้วย

เรื่องอะไรคือที่มาที่ไปของการจัดกิจกรรมขับไล่อธิการบดี

ตอนนั้น มข. เปิดมาได้ไม่นาน ผมเข้าเรียนคนที่ 1,762 ก่อนหน้านี้ทั้งมหาวิทยาลัยมีคนแค่ 1,600 คนเท่านั้น นักศึกษาของ มข. มีน้อยมากถ้าเทียบกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ซึ่งเราถือเป็นมหาวิทยาลัยพี่น้องกันนะ เพราะก่อตั้งมาไล่เลี่ยกัน ทาง มช. นี่เขามีนักศึกษา 4,000-5,000 คน แต่ของ มข. กลับน้อยกว่ามาก ระบบสาธารณูปโภคไม่พอ โดยเฉพาะน้ำนั้นขาดแคลน ใช้อาบ ใช้ทำอะไรก็ไม่ได้ คนก็เริ่มไม่พอใจผู้บริหารมาก ก็เลยมีการรวมตัวนัดประท้วงขับไล่อธิการบดีกัน

โดยการนัดหมายขับไล่นั้นทำกันในวันที่ 25 มกราคม 2516 ซึ่งเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมเรียนอยู่ปี 2 ร่วมกับเพื่อน ๆ ก็ทำการปิดมหาวิทยาลัยเลย เป็นมหาวิทยาลัยแรกในไทยที่ทำแบบนั้น 

ทำไมถึงใช้วิธีการประท้วงปิดมหาวิทยาลัย

อย่างที่บอกว่าสังคม มข. เป็นสังคมเล็กๆ ทุกคนรู้จักกัน เข้าอกเข้าใจกัน เราเลยจัดการประท้วงได้ เพราะทุกคนก็เห็นปัญหาเดียวกันหมด การปิดมหาวิทยาลัยนี่ไม่มีการเรียนการสอน ไม่มีสอบ ทุกคนร่วมมือกันทำ รวมทั้งอาจารย์ด้วย ทำมา 2 เดือน การต่อสู้ครั้งนั้นยังสะเปะสะปะ ถูกโจมตีจากสื่อ จากสังคมมากมาย ในที่สุดการประท้วงก็สิ้นสุด ทางสภามหาวิทยาลัยยืนยันว่าจะไม่มีการเอาผิดนักศึกษา ก็มีการทำทัณฑ์บนตักเตือนกันไปสำหรับคนที่เข้าร่วม

แต่คุณก็ถูกพักการเรียน

ใช่ครับ มันมีการสอบสวนเรื่องนี้ เดิมผมและแกนนำจะต้องถูกไล่ออก ให้พ้นสถานภาพนักศึกษา เพราะเป็นคนจัดการประท้วง แต่เพราะมีเหตุการณ์การลบชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง กรณีออกหนังสือโจมตีการล่าสัตว์ป่าในทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่โต นำไปสู่ความไม่พอใจต่อรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร และ จอมพล ประภาส จารุเสถียร ตอนนั้นมาก ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยคงมองว่าถ้าไล่ผมออก เรื่องมันจะใหญ่โต ก็เลยให้พักการเรียนเป็นเวลา 1 ปีเท่านั้น

เดือนกรกฎาคม ผลสอบสวนออก ผมก็โดนพัก ก็ไปทำงานเป็นกรรมกร ได้ค่าแรงเดือนละ 2,000–3,000 บาท ช่วงนั้นก็ได้อ่านหนังสือฝ่ายซ้ายเยอะมาก เพราะมีเงินซื้อหนังสือ สมัยนั้นมันเป็นปกขาว ไม่มีปก ไม่ได้เห็นชื่อเรื่อง ช่วงเกิด 14 ตุลาคม 2516 ผมก็ฟังข่าวเหมือนคนทั่วๆ ไป ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมอะไร พอพ้นโทษก็กลับมาเรียนปกติ

ทีนี้พอผมกลับมาเรียนต้องบอกว่าบรรยากาศมหาวิทยาลัยในช่วงก่อนและหลัง 14 ตุลาฯ นี่แตกต่างกันอย่างชัดเจนเลย นักศึกษาตื่นตัวทางการเมืองมากมาย มีการลงพื้นที่พบปะชาวบ้านกันอย่างมากมาย

ความแตกต่างระหว่างก่อนและหลัง 14 ตุลาฯ เห็นได้ชัดเจนขนาดไหน

สมัยก่อน 14 ตุลาคม 2516 กิจกรรมนักศึกษาเป็นการจัดงานเต้นรำ รวมตัวกันกินเหล้า ดึกๆ ก็ไปเที่ยวซ่อง แต่พอผมกลับมาเรียนอีกครั้ง บรรยากาศมันเข้มข้นขึ้น ผมไม่เคยไปเที่ยวอะไรแบบก่อน 14 ตุลาฯ เลย เริ่มทำกิจกรรมออกไปพบชาวบ้าน จัดค่ายอาสา มีการประชุม จัดงานกีฬาร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทางองค์การนักศึกษาทั้ง 2 แห่งก็จะมาพบประชุมกัน สมัยนั้นใช้วิธีการส่งจดหมายแจ้งวาระสำคัญ มีการออกธรรมนูญมหาวิทยาลัย บรรยากาศแสวงหาและเสรีภาพเติบโตอย่างมาก

ในช่วงนั้นมีการออกไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกเจ้าหน้าที่เผาหมู่บ้าน เพื่อให้อพยพลงมาจากพื้นที่จรยุทธ ซึ่งเป็นจุดปะทะกันระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ทางนักศึกษา มข. ก็เข้าช่วยเหลือ ออกแถลงข่าวเปิดโปงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวให้สังคมได้รับทราบ

ตอนนั้นเราก็ได้เห็นคนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่นั่นล่ะ เวลาออกไปพบปะชาวบ้าน ต้องเข้าใจว่าบางหมู่บ้าน ในตอนกลางคืนคนของพรรค พวกจัดตั้งก็จะมานอนบ้านปกติ ทหารก็รู้ เขาก็พยายามบังคับอพยพชาวบ้านลงมา สมัยนั้นการเป็นฝ่ายซ้าย เชื่อในลัทธิคอมมิวนิสม์ไม่ใช่เรื่องแปลก

ต่อมาทางภาครัฐก็เริ่มส่งคนเข้ามาในมหาวิทยาลัยมากขึ้น ท่ามกลางการจัดกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษาอย่างคึกคัก โดยในเดือนกันยายน 2518 ผมได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาตุลาการขององค์การนักศึกษา มีหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างคณะ ก็ได้ประชุมกันกับแกนนำนักศึกษา ตกลงที่จะขับไล่อธิการบดีรอบ 2 ครั้งนี้เหล่านักศึกษาสรุปบทเรียนจากครั้งก่อน เน้นเรื่องการบริหารงานที่ผิดพลาดเท่านั้น 

อยากให้ช่วยเล่าบรรยากาศของการขับไล่อธิการบดี

เรามาสรุปบทเรียนว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยที่มีพื้นที่ใหญ่มาก แต่กลับมีคนเข้าเรียนน้อย ระบบจัดการหลายอย่างก็มีปัญหา แกนนำมาประชุม ผมถามย้ำว่าถ้าจะดำเนินการขับไล่ ทุกคนต้องร่วมหัวจมท้ายให้ถึงที่สุดนะ จะให้ผมทำคนเดียวไม่ได้ เพราะผมถูกพักการเรียนไปแล้วครั้งหนึ่ง ถ้าโดนลงโทษอีกครั้งก็คือถูกไล่ออก 

สมัยนั้นการถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยจะไปเรียนที่ไหนไม่ได้ ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาก็อาจไม่รับคุณ เพราะถูกระบุความผิดว่าถูกไล่ออกสาเหตุจากกระด้างกระเดื่องต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัย และรามคำแหงก็เป็นมหาวิทยาลัยรัฐ ก็มีโอกาสปฏิเสธคุณได้ ผมเลยพูดในที่ประชุมว่า ถ้าจะสู้ ก็ต้องสู้ให้สุด ทีนี้ตัวแทนขององค์การนักศึกษาจากคณะต่างๆ ทุกคนก็สรุปเห็นด้วย ดังนั้นการขับไล่อธิการบดีครั้งที่ 2 จึงเริ่มขึ้น

ครั้งนี้แตกต่างจากการขับไล่ครั้งแรกอย่างไร

เราสรุปบทเรียน ค่อยๆ ทำไปทีละขั้นตอน ขั้นแรก ทางนักศึกษาเริ่มจากการลงประชามติว่าจะเอาหรือไม่เอาอธิการบดี ก็ได้ผลสรุป 97% ว่ามีมติให้อธิการบดีออก เราก็ไปเข้าพบท่าน ทางอธิการบดีก็บอกคุณก็ไปทำตามขั้นตอนของคุณ แต่ผมไม่ออก 

คราวนี้เราก็เลยต้องยกระดับการชุมนุม ก็มีการประชุมกันระหว่าง สภานักศึกษา สภาคณาจารย์ สภาข้าราชการและลูกจ้าง ซึ่งพวกนักศึกษาก็ไปร่วมก่อตั้งด้วย ทั้ง 3 สภาก็มีมติให้อธิการบดีออก มีการยกระดับการชุมนุมไปยึดตึกอธิการบดี แต่เราก็มีแผนว่า การส่งเอกสารการเงิน พวกเงินเดือนอาจารย์และข้าราชการก็ต้องดำเนินไปได้ ไปปิดตึกเรียนก็ให้อาจารย์เข้าทางตึกหลัง

แต่สุดท้าย คุณก็เอาอธิการบดีออกได้สำเร็จ

การร่วมมือร่วมแรงร่วมใจ ทั้งการสรุปบทเรียนความผิดพลาด ทำให้ในที่สุด วันที่ 1 ตุลาคม 2518 หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี สมัยนั้นได้ให้อธิการบดี มข. ไปดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งตามกฎหมายยุคนั้น ข้าราชการประจำจะเป็นข้าราชการการเมืองไม่ได้ ก็เท่ากับหาทางออกให้เรื่องนี้ไปโดยปริยาย

เราทำสำเร็จ เพราะทำให้เกิดการรับรู้ในสังคมอย่างมาก อย่างไรก็ดี ความงดงามแห่งการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาก็มีอายุได้ไม่นาน ร่องรอยความรุนแรงปรากฎขึ้นมาหลังจากนั้น

ในความทรงจำคุณ บรรยากาศก่อนจะถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นอย่างไร

ผมมีโอกาสได้มาร่วมทำกิจกรรมระหว่างมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก็ได้รู้จักแกนนำนักศึกษาหลายคน มันก็เริ่มเห็นพวกฝ่ายขวาแล้ว เริ่มมีการก่อกวนแล้ว ตัวผมเองยังเคยโดนคนโทรศัพท์มาขู่ โทรมาหา บอกว่ารู้นะ ว่าลงรถเมล์ที่นั่น เวลานี้ ถ้าจะจัดการก็ทำได้ 

ขบวนการนักศึกษาหลัง 14 ตุลาฯ นี้มันเป็นกระแสการตื่นรู้ ตื่นตัว แต่ความรุนแรงของฝ่ายขวาก็มีมากขึ้น

เคยคิดไหมว่าเหตุการณ์จะยกระดับขึ้นมากขนาดนั้น

ก็คิดนะ เพราะตอนที่กลุ่มกระทิงแดงบุกมาเผามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 20 สิงหาคม 2518 มันเป็นช่วงการประท้วงการกลับมาของจอมพลประภาสพอดี ตอนนั้นเราก็รู้แล้วว่าความรุนแรงจะต้องเกิดขึ้นแน่ น่าจะมีการเอามวลชนฝ่ายขวามาชนกับกลุ่มนักศึกษา คือเรารู้ว่ามันจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นกับพวกเราอย่างแน่นอน ก็ต้องระวังตัวกัน

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่คุณบอกว่ารุนแรง คือเหตุการณ์วันที่ 12 มิถุนายน 2519

ใช่ครับ มันมีเหตุการณ์นักศึกษาน้องใหม่ของ มข. มารับน้องรถไฟที่กรุงเทพฯ รุ่นพี่ก็นัดเจอที่สถานีรถไฟหัวลำโพงพาขึ้นรถไฟไปที่จังหวัดขอนแก่น ผมเดินทางไปดูกิจกรรมนี้ ตอนนั้นเห็นว่ามีตู้หนึ่งที่มีนักเรียนเทคนิคเช่าอยู่ ตอนนั้นเราก็เริ่มเอะใจแล้ว ก็คิดว่าเขาคงตั้งใจมาเช่าโบกี้เพื่อก่อกวนพวกเรา ทีนี้ก่อนหน้านั้น 3 วัน นักศึกษาพวกนี้ไปกินข้าวกันแถวเทเวศร์ แล้วทำระเบิดตก มีคนเจ็บ ตอนนั้นพวกฝ่ายขวาก่อกวนนักศึกษามาก เราก็คิดว่าถ้าเกิดอะไรรุนแรง ก็ควรจะตัดตู้รถไฟนั้นทิ้งเสีย ผมก็ประสานกับน้องๆ แต่ไม่ได้นั่งรถไฟไปด้วย

อย่างไรก็ดี ผมเป็นห่วง เพราะสถานการณ์ไม่สู้ดี ก็เลยตัดสินใจไปขึ้นรถทัวร์ตามไปทีหลัง พอไปถึงขอนแก่น เลยรู้ว่ามีการปาระเบิดใส่ขบวนรถนักศึกษา มข. มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ตอนนั้นผมตัดสินใจแล้วว่า เราอยู่ในเมืองไม่ได้แล้ว ต้องเข้าป่า ต้องจับอาวุธสู้ เหตุการณ์นั้นทำให้ตัดสินใจได้ ถึงวันนี้ตำรวจก็ไม่เคยจับผู้ก่อเหตุในคดีนี้ได้เลย

แต่การเดินทางเข้าป่าไปร่วมกับ พคท. นั้นไม่ใช่เรื่องที่จะอยากทำก็ทำได้เลย เพราะต้องมีการติดต่อกับคนของพรรค มีการนัดหมายเตรียมตัว เพื่อนที่เคยเข้าป่ามาก่อนก็ออกมาบอกว่า สิตาอย่าไปเลย มันลำบาก แต่ผมตัดสินใจแล้ว

ตอนกำลังตัดสินใจ เรียนจบพอดี ก็เลยไปช่วยทำงานกับกลุ่มนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำหน้าที่ในกลุ่มกล้วยไข่ มีหน้าที่ประสานงานต่างจังหวัด

โดยหน้าที่ของกลุ่มกล้วยไข่ก็คือจะจัดว่าจะส่งวงดนตรีไปเล่นแทนในต่างจังหวัด ช่วง 6 ตุลาคมนี้ ความจริงวงคาราวานจะต้องถูกสับเปลี่ยนให้มาเล่นในกรุงเทพฯ เราก็เตรียมดำเนินการส่งวงอื่นไปแทน ทีนี้มันเกิด 6 ตุลาฯ ขึ้นก่อน โดยหน้าที่กลุ่มกล้วยไข่จะเป็นแบบนี้ บางทีก็ประสานงานว่าจะมีวาระจัดชุมนุมอย่างไรในต่างจังหวัด ผมก็ทำงานในธรรมศาสตร์มาตลอด ได้เห็นการเล่นละครแขวนคอกรณีรำลึกถึงช่างไฟฟ้า 2 คนที่ถูกแขวนคอตายที่จังหวัดนครปฐม ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร คิดว่าเป็นการจัดกิจกรรมละครปกติเท่านั้น

แต่ฝ่ายขวา กลับไม่ได้มองแบบนั้น

ทีนี้ พอมาอ่านหนังสือพิมพ์ที่กล่าวหาว่าขบวนการนักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตอนนั้นเราคิดเลยว่าฝ่ายขวาเอาแน่ ในช่วงนั้นเขมร เวียดนาม ลาวล้วนตกเป็นคอมมิวนิสต์หมดแล้ว ฝ่ายขวาสร้างความรุนแรงโจมตีขบวนการนักศึกษามาหลายครั้ง

คืนวันที่ 5 ตุลาคม มีการประชุมตกลงว่าพรุ่งนี้เช้า 6 ตุลาคม จะยุติชุมนุม เพราะถ้าให้เลิกคืนนั้นเลย รถเมล์ก็ไม่มี คนมาชุมนุมหลายพันคนจะกลับกันอย่างไร ก็คุยกันหลายคน แบ่งงานกันทำ

ทางกลุ่มกล้วยไข่ได้รับคำสั่งให้ออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ช่วงตี 2 วันที่ 6 ตุลาคม เพื่อไปทำงานประสานงานกันก่อน ตอนผมเดินออกมาทางประตูท่าพระจันทร์ ยังเห็นรถแท็กซี่วิ่งปกติ แต่เห็นว่าที่หน้ามหาวิทยาลัยตรงฝั่งสนามหลวงมีพวกฝ่ายขวาเริ่มมาชุมนุมกันแล้ว แต่ไม่มาก

เรารู้ว่าน่าจะมีการพาคนมาลุยธรรมศาสตร์แน่ แต่ไม่คิดว่าจะเป็นแบบนั้น ตอนนั้นเขาให้กลุ่มเราออก ก็ทำตาม แต่มาคิดอีกที ถ้าย้อนกลับไปได้ ผมจะขออยู่ในธรรมศาสตร์มากกว่า

ก่อนออกจากมหาวิทยาลัย ผมมอบปืนพกให้กับแกนนำคนหนึ่งไว้ป้องกันตัวด้วย

6 ตุลาคม 2519 ในความทรงจำของคุณ

ผมออกจากธรรมศาสตร์ ก็ไปนอนบ้านเพื่อนแถวประชาชื่น ตื่นมาอีกทีตอน 6 โมงเช้า ได้เห็นภาพจากโทรทัศน์ช่อง 9 ที่คุณสรรพสิริ วิรยศิริ ไปถ่ายมานำเสนอ และได้เห็นความรุนแรงที่มหาวิทยาลัยทันที

ตอนเห็นภาพรู้สึกอย่างไรบ้าง

(นิ่งเงียบไปนิดหนึ่ง) ผมพูดอะไรไม่ออกเลย มันเป็นความรู้สึกที่บรรยายไม่ถูก ตาแดง แต่ไม่มีน้ำตาไหลออกมา ทุกอย่างจุกแน่นอยู่ในอก ทุกวันนี้ผมไม่เคยดูสารคดีเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ อีกเลย

หลังจากนั้นคุณทำอะไรต่อ

พอรู้ว่ามีการใช้ความรุนแรงที่ธรรมศาสตร์ ผมตัดสินใตนั่งรถ บขส. ไปที่จังหวัดขอนแก่นเลย ไปถึง 6 โมงเย็น เกิดรัฐประหารขึ้นแล้ว ทีนี้เจ้าหน้าที่ส่งคนมาดักรอที่ มข. เต็มไปหมด มีคนบอกอย่าไป ถ้าไปโดนจับแน่ เพราะมีคนรู้จักผมเยอะมาก ทั้งคนใน มข. และพวกเจ้าหน้าที่ก็รู้จัก ตอนสี่ทุ่มก็เลยตัดสินใจนั่งรถตีกลับมากรุงเทพฯ แล้วก็ตระเวนไปนอนบ้านเพื่อนคนอื่น เพราะตอนนั้นต้องระวังตัวแล้ว เพราะมีการไล่จับกุมคนจำนวนมาก

พอถึงวันที่ 8 ตุลาคม ผมเปิดหนังสือพิมพ์เห็นเนื้อข่าวลงเลขทะเบียนปืนพกของผมที่มอบให้กับแกนนำตอนก่อนออกจากธรรมศาสตร์ ทางเจ้าหน้าที่เขาตรวจพบปืนในมหาวิทยาลัย ผมรู้แล้วว่าเราคงจะถูกจับแน่ เพราะเขาจะต้องสืบจากเลขทะเบียนปืนได้ นั่นคือวินาทีสำคัญตัดสินใจว่าต้องเข้าป่าเดี๋ยวนั้นเลย

9 ตุลาคม 2519 ผมไปแยกพาหุรัด ตามคำสัญญาของกลุ่มกล้วยไข่ที่ให้ไปเจอกันหลังออกจากธรรมศาสตร์ช่วงตี 2 วันที่ 6 ต.ค. แต่ปรากฏว่าไม่มีใครมาแม้แต่คนเดียว

ผมเดินวนไปวนมาอยู่หลายรอบ จนเดินไปที่ป้ายรถเมล์ ก็พบกับนิสิตหญิงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งที่มาซื้อของ เราสบตากัน แล้วนิสิตคนนั้น เขาก็น้ำตาไหลออกมาที่ป้ายรถเมล์เลย ผมเลยรู้ว่าฝ่ายเดียวกัน ทีนี้เขาเดินเข้ามาหา เรียกชื่อเรา ก่อนที่จะพาผมไปพบกับ ‘อ้วน’ – ภูมิธรรม เวชยชัย

จากนั้นก็ตัดสินใจเข้าป่าไปเป็นนักรบปลดแอกแห่งประเทศไทย

อยากให้คุณช่วยพูดถึงขั้นตอนการ ‘เข้าป่า’

ผมกับภูมิธรรมนัดให้คนของ พคท. มารับเข้าป่าในวันที่ 16 กรกฎาคม นัดรับกันที่ท่ารถหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ ตอนนั่งรถทัวร์ไปก็กลัวโดนจับ เรานัดเขาตอนเที่ยง นั่งรอร้านกาแฟถึงบ่ายสอง หมดโอเลี้ยงไปสองแก้วก็ยังไม่เจอคนของพรรค เดินไปเดินมาจึงรู้ว่าไปผิดท่า เขานัดท่ารถใหม่ เราไปท่ารถเก่า จึงรีบเปลี่ยนจุด ก็ยังดีที่ได้พบคนของพรรค ซึ่งเป็นเพื่อนผมเอง ยังรออยู่ เขาก็พาเข้าป่าไป ผมใช้ชื่อจัดตั้งตอนนั้นว่า ‘สหายหนวด’

ตอนเข้าป่า ผมต้องไปเข้าเรียนโรงเรียนการเมือง อบรม ละลายทัศนคติ ปรับตัวกับชีวิต ตอนที่นักศึกษาจัดแสดงกิจกรรมละครเวที ตอนเรียนจบ เราจัดแสดงเรื่อง 6 ตุลาฯ สหายชาวนาที่นั่งดูจำนวนมากถึงกับร้องไห้เลย แล้วถามว่า “นี่เขาทำกันขนาดนี้เลยเหรอ”

ชีวิตในป่าเป็นอย่างไร

ผมทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งปลุกระดมมวลชน จัดตั้งเกณฑ์คนเข้าพรรค ไปทำงานหนังสือพิมพ์ในป่า ถึงขั้นที่จับปืนไปรบเข้าตีฐานจริงๆ ก็มี

สุดท้ายคุณได้ออกรบจริงๆ ในฐานะทหารของ พคท.

คือทีแรกก็อยากได้เรื่องราวไปเขียนหนังสือ เลยไปเกาะติดกับกองทัพด้วย แต่ไปๆ มาๆ ก็ได้จับปืนรบจริงๆ ได้ยิงจริงๆ ได้ร่วมเข้าตีฐาน ผมยังอัดเสียงตอนเข้าตีส่งออกอากาศทางวิทยุของ พคท. อยู่เลย 

ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดเลยว่าจะได้ออกมาจากป่า คิดว่าคงจะตายในนั้นแหละ

แต่คุณก็รอดออกมาได้ 

ใช่ครับ ตอนอยู่ป่า นอกจากเป็นนักรบจริงๆ แล้ว ผมยังทำหน้าที่หลายอย่าง เป็นช่างเทคนิคด้วย เคยไปขุดถ้ำเพื่อสร้างสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ซึ่งตอนนั้นเตรียมจะจัดตั้งขึ้นใหม่หลังถูกปิดไป ขุดถ้ำทำกันอยู่ 5 เดือน จะเสร็จแล้ว เตรียมใช้งานที่ภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก แต่เครื่องรับส่งวิทยุดันโดนเจ้าหน้าที่จับได้ที่เชิงเขาเสียก่อน เลยไม่ได้เปิดใช้ ทุกวันนี้ถ้ำวิทยุก็ยังอยู่ เขาอนุรักษ์ไว้

ตอนนั้นเคยคิดไหมว่าชีวิตจะพลิกผันขนาดนี้ จากนักศึกษาเป็นนักกิจกรรม แล้วจะมาเป็นนักรบได้

ซินแสเคยมาดูโหงวเฮ้งผมตั้งแต่อายุ 10 กว่าขวบ บอกว่าเอ็งจะได้เป็นทหาร ตอนนั้นเราคิดว่าลูกเจ๊ก เชื้อสายจีนแบบนี้น่ะเหรอจะเป็นได้ จนมาผูกเปลนอนในป่า ใส่ชุดทหาร จึงหวนคิดไปถึงคำทำนายนี้ เออ เป็นไปตามคำทำนายเว้ย

แสดงว่าชีวิตในป่าก็ไม่ได้เป็นดังที่หวัง

ต้องบอกก่อนว่าผมเป็นคนชอบทำงาน ใครให้ไปทำอะไรก็ไปทำ ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับแกนนำ ไม่เหมือนนักศึกษาที่เข้าป่าหลายคน แต่ระหว่างที่ใช้ชีวิตในนั้นก็เริ่มไม่เห็นอนาคตแล้ว ผมเคยเดินเลาะไปฐานต่างๆ ใช้เวลาครึ่งเดือน ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้เวลาระดมพลวันเดียว ทหารป่าตายไป 2-3 คน เป็นเรื่องใหญ่ เพราะกว่าจะเกณฑ์คนไปรบได้ใช้เวลาชวนนานมาก

ที่สำคัญคือ คำพูดก่อนเข้าป่าที่คนหนุ่มสาวพูดกันว่า อีก 5 ปีจะมาพบกันที่สนามหลวง ซึ่งเป็นประโยคสะท้อนว่ากองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทยจะชนะสงครามกลางเมือง แล้วมาเฉลิมฉลองกันที่สนามหลวง เราพูดกันก่อนเข้าป่า พูดกันทุกครั้ง

แต่พออยู่ในป่าจริงๆ มันเริ่มไม่ใช่แล้ว

สุดท้ายเลยตัดสินใจออกจากป่า

วันที่ 13 เมษายน 2524 ผมก็ลงมาจากยอดเขา ปลดเปลื้องจากภาระนักรบปลดแอก กลับสู่เมืองอีกครั้ง คือความจริงผมจะออกป่าช่วงต้นเดือนเมษายน แต่เกิดกบฏเมษาฮาวายก่อน ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดการกลับเมือง ตอนลงไม่ได้แจ้งแกนนำของพรรค แค่บอกว่าจะลงมาส่งเพื่อน แล้วก็ออกจากป่าไปเลย ก็มีเพื่อนที่ลงมาส่งร่ำลากันเท่านั้น

ออกมาก็ไปใช้ชีวิตในเมือง 5 เดือนกับครอบครัว ไปทำงานลูกจ้างให้บริษัทของพี่เขย จากนั้นก็ไปแจ้งขอรับใบปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ไปเจอคณบดีคณะที่สนิทกัน ก็เลยบอกอาจารย์ว่า “ฝากแจ้งด้วยนะครับ ว่าผมออกจากป่าแล้ว”

สิ้นสุดชีวิตสหายนับตั้งแต่นั้น กลับสู่โลกความเป็นจริง

สิ่งแรกที่คุณนึกถึง ในวาระครบรอบ 45 ปี 6 ตุลาฯ คืออะไร

สำหรับผม 6 ตุลาคม 2519 เหมือนประวัติศาสตร์บาดแผล ไม่มีใครอยากพูดถึงมากนักในตอนแรก สมัยก่อนฝ่ายเราหลายคนก็ไม่อยากพูด บางคนไม่อยากเปิดเผยตัวตนว่าเป็นทหารป่าด้วยซ้ำ แต่ผมไม่ลังเลที่จะบอกใครว่าเคยเป็นทหารป่า

ตอนอยู่ในป่า ครบรอบ 1 ปี 6 ตุลาฯ ก็มีการจัดงานรำลึกกันบ้าง แต่เป็นวงเล็กๆ ผ่านไป 10 ปี ก็ยังเงียบ จน 20 ปีผ่านไป ที่จัดงานครบรอบใหญ่กันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั่นแหละ ถึงได้รำลึกกันจริงๆ แล้วจากนั้นผมไปร่วมงานนี้ทุกปีไม่เคยขาดเลย ถ้าใครจะไม่ให้จัดงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พวกเราก็จะไปผูกพวงหรีดที่รั้วแทนเอา

สำหรับตัวคุณ ได้เรียนรู้อะไรจาก 6 ตุลาคม 2519 บ้าง ผ่านมา 45 ปีแล้ว

“เพื่อที่จะเอาชนะในสงคราม เขาทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะขัดกับมโนสำนึก ไม่สนว่าจะต้องสูญเสียเท่าไร เขาก็จะทำ”

หากการกระทำนั้นเพื่อที่จะหยุดความเคลื่อนไหวของเยาวชนคนหนุ่มสาวหรืออนาคตของประเทศ เขาก็จะทำ เพื่อยุติมัน ไม่ว่าจะต้องใช้เล่ห์กลอันใด เพื่อให้ได้อยู่ในอำนาจนั้น เขาไม่ยอมให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

สำหรับ 6 ตุลาฯ มันเหมือนกฎหมายจารีตนครบาล เอาคนไปใส่ตะกร้อให้ช้างเตะ ทนได้ก็ทนไป ก็ให้ช้างเตะจนตาย ทนไม่ได้ก็ยอมแพ้เสีย

อีกอย่างคือคนไทยไม่ยอมสรุปบทเรียนว่าความรุนแรงไม่อาจสยบความเคลื่อนไหวได้ มันไม่อาจสยบความฝันในการสร้างสังคมใหม่ที่ดีงามได้ มันไม่อาจทำลายข่มจิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ได้เด็ดขาด ใครที่คิดจะทำแบบ 6 ตุลาฯ อีก ก็ต้องบอกเลยว่าคุณคิดผิดมาก เพราะมันไม่มีทางกดหรือกำจัดความหวังได้หรอก

แล้วตอนนี้คุณยังหวังความเปลี่ยนแปลงจากคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันอยู่ไหม

ผมดีใจที่ได้เห็นคนรุ่นใหม่รับช่วงต่อ ภูมิใจที่ได้เห็นคนรุ่นใหม่พูดถึงพวกเรา อย่างไรก็ดี ตราบใดที่คนไทยยังไม่เก็บบทเรียน 6 ตุลาฯ ไปทบทวน ส่วนตัวก็เกรงว่าจะได้เห็นความสูญเสียอีก ต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่ได้ทำให้เรื่องที่คนยุคก่อนไม่กล้าถกเถียงในที่สาธารณะได้พูดออกมา ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี กระแสการต่อสู้ทุกวันนี้มันคล้ายบรรยากาศช่วงก่อน 14 ตุลาคม 2516 มาก

สำหรับผม เวลามองคนรุ่นใหม่ ผมก็มองด้วยสายตาเดียวกับตอนเห็นตัวเองตอนทำกิจกรรม มันเป็นจิตใจใสสะอาด ที่อยากเห็นสังคมที่เราปรารถนา อยากเห็นสังคมที่เราอยากได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายกย่องมากสำหรับคนยุคใหม่ เพราะพวกเขาไม่ได้คิดถึงตัวเองเลย แต่มองไปที่สังคมมากกว่า

แต่ถ้าถามว่ามีความหวังไหม ก็ต้องตอบตามตรงว่า ผมยังมองสังคมไทยด้วยความสิ้นหวังอยู่ดี

Fact Box

สิตา การย์เกรียงไกร เป็นแกนนำสำคัญคนหนึ่งของกลุ่ม OctDem ที่รวม ‘คนเดือนตุลา’ ฝ่ายประชาธิปไตย ให้กลับมาอีกครั้งในปี 2564 กลุ่มนี้เริ่มรวมตัวเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีข้อเรียกร้องแรกถึงประธานศาลฎีกา ให้อนุญาตให้ประกันตัว ‘แกนนำกลุ่มราษฎร’ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ทุกคน OctDem ยังมีสมาชิกคนสำคัญในแวดวงการเมือง อาทิ จาตุรนต์ ฉายแสง, นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, สุธรรม แสงประทุม ฯลฯ

Tags: , , ,