วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในระหว่างที่ตำรวจตระเวนชายแดนรัวกระสุนเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจาก จรัล ดิษฐาอภิชัย จะเป็นบุคคลสุดท้ายที่ถูกจับแล้ว เขายังเป็นนักโทษ ‘6 ตุลาฯ’ คนเดียว ซึ่งสามารถ ‘แหกคุก’ เพื่อหลบหนีการดำเนินคดีได้ 

46 ปีให้หลัง วันที่จรัล เป็นผู้ลี้ภัยที่ประเทศฝรั่งเศส หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เราพูดคุยกับจรัล หรือ ‘สหายชัย’ อีกครั้ง ถึงเบื้องหลังการรอดชีวิตจากห่ากระสุนในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และวินาทีที่เขาตัดสินใจหนีออกจากคุกกองกำกับการตำรวจสันติบาลกอง 6 กลายเป็นนักโทษคนเดียวที่แหกคุกสำเร็จ 

มีการคาดการณ์กันว่า หากวันนั้นจรัลไม่ตัดสินใจแหกคุก เขาอาจโดนโทษสูงสุดคือ ‘ประหารชีวิต’ ได้ เนื่องจากเป็นผู้นำขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในหมู่นักศึกษา-ประชาชนในเมือง

วันที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คุณทำอะไรอยู่

ก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม ขบวนการนักเรียน นักศึกษา ประชาชน รวมถึงขบวนการของผม (แนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ก็คาดการณ์ว่าจะมีรัฐประหารปราบปรามประชาชน ผู้ที่นิยมอุดมการณ์สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ จึงมีการวางแผนต่อต้านการรัฐประหารอย่างจริงจัง มีการจัดตั้งหน่วยต่างๆ ขึ้นมา 

ขบวนการของผมแบ่งออกเป็น 2 หน่วยใหญ่ๆ คือ 

1. วงใน เป็นกลุ่มที่ไปชุมนุมไม่ได้ 

2. วงนอก กลุ่มที่ออกไปร่วมชุมนุม 

การแบ่งกลุ่มแบบนี้เป็นการรักษากำลังของขบวนการไว้ เพราะถ้ามีการปราบปรามก็ต้องเกิดความสูญเสีย การบาดเจ็บ หรือถูกจับ ดังนั้นคนส่วนหนึ่งต้องไม่ไปร่วม ซึ่งผมอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีสิทธิ์ไปร่วมชุมนุม แต่ผมต้องการที่จะร่วมเป็นร่วมตายไปกับนักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ไปชุมนุมที่มหาลัยธรรมศาสตร์ ดังนั้นจึงเข้าร่วมตั้งแต่วันที่ 4 บริเวณสนามหลวง ยาวมาถึงวันที่ 6 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ช่วงเย็นของวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ก็เริ่มมีกระแสการปราบปราม มีผู้นำนักศึกษาจากภาคเหนือคนหนึ่งบอกผมว่าให้ออกจากธรรมศาสตร์ เพราะจะมีการล้อมปราบแน่นอน เนื่องจากตอนนั้นมีการระดมแจกใบปลิว ระดมคนเพื่อโจมตีการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน โดยการใช้รูปการณ์แสดง ‘ละครแขวนคอ’ เป็นเครื่องมือ ผ่านวิทยุยานเกราะ วิทยุอื่นๆ และวิทยุเสรีกว่า 200 สถานี รวมทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา เช่น ดาวสยาม ก็ปลุกระดมให้คนมาล้อมธรรมศาสตร์ ให้ไปลานพระรูป 

ทุกอย่างเลยทำให้คิดว่า รุ่งเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะถูกปราบแน่นอน เขาก็บอกแต่ผมไม่ออก ก็อยู่ถึงกลางคืน ทีนี้ผมรู้จักกับพวกแกนนำนักศึกษา กรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาต่างๆ เพราะอยู่ด้วยกันมาหลายปี จึงมีการประชุมกันว่าจะเอาอย่างไร จะอภิปรายหรือยุติการชุมนุมหรือไม่ 

จนมีมติออกมาว่าจะยุติการชุมนุม แต่ขณะนั้นไม่สามารถเดินทางออกจากมหาวิทยาลัยได้แล้ว เพราะถูกล้อมไว้หมดทั้งพวกกระทิงแดง พวกลูกเสือชาวบ้าน ที่มาล้อมตั้งแต่เวลาทุ่มสองทุ่ม ผมก็เดินสำรวจอยู่รอบๆ ก็ได้ยินเสียงระเบิดขวด เสียงปืนจากข้างนอก ดังนั้นจึงไม่เคยมีมติการสลายการชุมนุมจากนักศึกษาออกมา

คุณรอดจากเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาฯ ได้อย่างไร

ราวๆ ตี 3-4 ผมก็เดินไปที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อดูสถานการณ์ ตอนนั้นใช้วิทยุคลื่นสั้น ฟังวิทยุยานเกราะ เพราะช่วงดึกๆ ไม่มีการจัดรายการแล้ว แต่เป็นการชี้นำคนแทนว่าให้ไปอยู่ตรงไหน ชี้นำตำรวจ และเริ่มมีข่าวมาว่าตำรวจตระเวนชายแดนเคลื่อนพลมา ต่อมาเข้ายึดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยได้ จึงคาดการณ์ว่า 6 โมงเช้าจะถูกปราบ 

แต่ปรากฏว่า ประมาณตี 4 เริ่มได้ยิงเสียง ตึง! บริเวณสนามฟุตบอล หากฟังจากเสียงผมคิดว่าน่าจะเป็นลูกระเบิดเอ็ม-79 ยิงมาตกตรงที่ชุมนุมก็มีคนเสียชีวิต บาดเจ็บ พอไม่นาน ตำรวจตระเวนชายแดนก็ยิงปืนลงมาเป็นห่าฝนเลย ผมก็ล้มลงนอน

อาจเป็นเพราะสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ และโชคดีที่บริเวณที่ผมล้มเป็นพื้นที่ต่ำ นักศึกษาบางคนล้มบนพื้นที่สูง สนามหญ้าบ้าง ทางเท้ารอบสนามฟุตบอลก็ถูกยิง ตอนนั้นมีนักศึกษาคนหนึ่งถูกยิงที่หัว สมองไหล ผมได้กลิ่นก็เงยหน้าไปดูยังจำหน้าเขาได้ลางๆ อยู่เลย

จุดที่ผมล้มลงมันอยู่ในวิถีกระสุนที่ระดมยิงมาจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กระสุนปืนเลยลอยผ่านหัวเป็นห่าฝน ตอนนั้นก็คิดแล้วว่าจะต้องมีสักลูกที่โดนแล้วเราเสียชีวิต ก็เตรียมใจจะสละชีวิต 

พวกผมจะไม่ใช้คำว่าตาย ไม่ใช้คำว่าเสียชีวิตนะ เราจะใช้คำว่าเสียสละแทน แต่โชคดีที่มันไม่ถูก ต่อมาคนที่เขายืนหลบกระสุนบริเวณบันไดตึกก็ตะโกนบอกว่า “เข้ามาได้แล้ว พวกมันถูกยิงตายหมดแล้ว” ซึ่งอาจจะเป็นสายลับหรือใครก็ได้ คือเขาตะโกนเรียกให้พวกกระทิงแดง กลุ่มลูกเสือชาวบ้านที่ยึดรถเมล์ขาวพังประตูบุกเข้ามา กองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนจึงหยุดยิง เพราะเดี๋ยวจะถูกพวกเดียวกัน 

พอช่วงที่เขาหยุดยิงผมจึงลุกขึ้นและวิ่งตรงไปทางตึกบัญชีและตึกคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ผมวิ่งพ้น แต่ขณะนั้นคิดไม่ทัน แทนที่จะไปหลบในคณะบัญชี ถ้าไปที่นั่นก็จะถูกจับพร้อมกับคนเป็นพันๆ คน เพราะคนส่วนใหญ่หลบอยู่ตรงนั้น แต่ผมดันไปหลบที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ 

ขณะหลบก็ฟังเสียงต่างๆ จนเสียงปืนสงบ พวกตำรวจตระเวนชายแดน กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้านก็กรูกันเข้ามาในธรรมศาสตร์ และจับตัวนักศึกษา ประชาชนไปควบคุมที่สนามฟุตบอลให้นอนราบถอดเสื้อ ผมยังเห็นเหตุการณ์เหล่านี้อยู่ ภายหลังพอกลุ่มพวกนี้เข้ามาที่ตึกคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ผมจึงต้องเข้าไปหลบบริเวณใต้บันไดขึ้นชั้นสอง เพราะมันมี โต๊ะ เก้าอี้ ตู้เก่าๆ ทิ้งไว้อยู่จึงหลบได้ หลังจากนั้นก็ไม่เห็นอะไรอีก

ผมหลบอยู่ตรงนั้นเป็นเวลา 1 วัน 1 คืน พยายามคิดหาวิธีหนีออกมา ตอนกลางดึกก็ออกจากที่ซ่อนไปดูชั้นสอง ชั้นสาม ว่าสามารถหนีออกทางไหนได้บ้าง ปีนกำแพงดูแต่ปรากฏว่าไม่มีช่องทางออกเลย เพราะมีตำรวจและต่อมาเป็นทหารมาตั้งหน่วยรักษาการณ์อยู่หน้าตึก เนื่องจากตอนนั้นมีรัฐประหารวันที่ 6 ตุลาคม ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่รู้เรื่องว่ามีการยึดอำนาจ จึงทำให้เราหมดหนทางหนี 

ก็เริ่มคิดว่ามนุษย์ถ้าไม่กินอาหารกี่วันตาย เพราะคิดว่าขั้นต่ำที่เขาจะอยู่คือ 7 วัน แต่ตอนที่เราขึ้นไปสำรวจหาทางหนี ก็เข้าไปห้องพักอาจารย์ ไปเปิดตู้เย็น เจอองุ่น 9-10 เม็ด อยู่ในจานเล็กๆ มีน้ำเหลืออยู่ครึ่งแก้ว นี่คืออาหารที่ผมใช้ประทั่งชีวิตตลอด 1 วัน 1 คืน

รุ่งเช้าประมาณ 11 โมงกว่าๆ ก็มีทหารเข้าออกเปิดประตูเพื่อเอาของมาเก็บ เช่น ลังน้ำ น้ำอัดลมต่างๆ แล้วมีทหารคนหนึ่งเห็นรอยเท้า ก็พูดว่ามันต้องมีคนหลบอยู่ที่นี่แน่ เพราะมันเห็นรอยเท้าชัดเจน เนื่องจากตอนวิ่งหนีผมไม่ได้ใส่รองเท้า มีเพียงถุงเท้าเท่านั้น 

เมื่อทหารคนหนึ่งพูดแบบนี้ ทหารคนอื่นๆ ก็พากันกรูเข้ามาในห้อง ขึ้นลำปืน พร้อมกับถามว่าใครอยู่ตรงนั้น ถ้าไม่ออกมาจะยิง ผมก็เลยตัดสินใจบอกว่ามีคนอยู่ ทหารก็ถามต่อว่ามีอาวุธไหม ผมก็ตอบไปว่ามีๆ พอตอบแบบนี้ทหารก็ถอยเลย ทั้งๆ ที่ถือปืนยาวอยู่อาจจะเพราะเป็นการระวังตัวของทหาร ผมเลยยื่นปืน .38 ให้เขา ทหารก็เข้ามาลากตัวออกจากที่ซ่อนและค้นตัวแต่ไม่เจออะไร 

หลังจากนั้นก็เอาปืนจ่อหน้าจ่อหลัง และพาออกจากห้อง เมื่อออกจากห้องก็มีตำรวจน่าจะเป็นสันติบาลบอกว่า “ไอ้จรัล ไอ้นี่เป็นคอมมิวนิสต์ใหญ่” พอพูดจบปุ๊บ ทหารที่คุมตัวผมอยู่ก็ผลักผมล้มลง แล้วก็ค้นตัวอีกรอบเพราะกลัว 

หลังจากค้นตัวก็พาผมไปมัดกับเสาวิทยุทหาร เสาใหญ่ตั้งอยู่หลังหอประชุมเล็ก โดยใช้โซ่ล่าม และมีปืนกลยาวตั้งไว้ข้างหน้าอีกที ตอนที่ผมถูกจับได้ คิดว่าตอนนั้นน่าจะถูกยิงเป้าแน่ ก็เตรียมเปล่งคำขวัญแล้ว ขณะที่ทหารรอคำสั่งว่าจะเอาอย่างไรกับผม จับหรือฆ่า ก็มีพวกทหารมาด่าทอ ทุบตี เอาไม้ฟาด มาด่าว่าไอ้คอมมิวนิสต์ ไอ้ขายชาติ

หลังจากคุณถูกคุมตัว แล้วถูกนำไปขังที่ไหน

หลังจากนั้นเขาส่งตัวผมไปที่ กองพันทหารสารวัตรที่ 1 ถนนโยธี หน้าโรงพยาบาลรามาธิบดี แถวๆ มหาวิทยาลัยมหิดล ขณะที่ถูกส่งไปขังก็เป็นการเคลื่อนย้ายอย่างทรมาน ถูกผ้าปิดตา ติดกุญแจมือแบบไพล่หลัง ลองนึกภาพดูว่าเจ็บไหม ให้นั่งมุดระหว่างเบาะหน้าเบาะหลัง และมีทหารนั่งทับอีกที เพื่อไม่ให้คนอื่นเห็น ถ้าคนเห็นอาจโดนจับประชาทัณฑ์ได้ 

เมื่อเคลื่อนย้ายเรียบร้อยผมก็ถูกขังที่กองพันทหารสารวัตรที่ 1 เป็นเวลา 2 เดือนอย่างทรมาน คือถูกขังโดยเอากุญแจมือมาล่ามผูกกับลวดเหล็กใหญ่ที่เป็นฝาห้องขัง ดังนั้น สภาพตอนนั้นคือทำได้แค่นั่งกับนอน และเป็นการถูกขังในเดือนตุลาคมอากาศหนาว ยุงเยอะ ตบยุงไม่ได้ ห้ามอาบน้ำ ห้ามให้ของอะไรเลย เสื่อไม่ได้ ผ้าห่ม-หมอนไม่มี และสั่งห้ามไม่ให้ใครพูดกับผม

ภายหลังมีทหารและตำรวจมาสอบสวน เขาเลยย้ายผมไปขังที่กองกำกับการตำรวจสันติบาลกอง 6 ถนนเศรษฐศิริ เมื่อถูกย้ายมาอยู่ที่นี่ผมก็มีความคิดหนีตลอดเวลา ซึ่งที่นี่ก็จะเจอคนอื่นๆ ด้วยเช่น อารมณ์ พงศ์พงัน, พรชัย วีระณรงค์, ยอดธง ทับทิวไม้ และ มหินทร์ ตันบุญเพิ่ม ก็มีเพื่อนแล้ว เพราะก่อนหน้านี้โดนขังเดี่ยว ซึ่งอยู่ที่นี่อีกเดือนกว่าๆ ก่อนหนีออกจากคุก

คุณหนีออกจากคุกกองกำกับการตำรวจสันติบาลกอง 6 ได้อย่างไร

ตอนนั้นผมขอตำรวจออกไปยืดเส้นยืดสาย เพราะตลอด 2 เดือนกว่าที่ถูกขังเดี่ยวไม่เคยเห็นเดือนเห็นตะวัน เขาก็อนุญาตให้ออกมาได้วันละ 3 ครั้ง มาออกกำลังกาย กินข้าวพร้อมทุกคน เราเลยเห็นสภาพของกองกำกับการว่ามันมีกำแพง มีตึกที่พักตำรวจ มีเวรยามตอนกลางคืนทุกๆ 2 ชั่วโมง ผมก็คิดว่าถ้ามีช่องทางหนี ผมหนีได้แน่ ก็เลยให้พรรคพวกที่ถูกปล่อยทั้งวันช่วยตรวจสอบดูลวดหนามบริเวณกำแพงให้หน่อยว่ามีไฟฟ้าไหม เพราะถ้าจะปีนกำแพงเราต้องเอามือไปจับ ผลสรุปว่ามันไม่มี

วันที่หนีได้คือ เขาพาผมกลับห้องขังภายหลังกินข้าวเย็นเสร็จ กลับมาก็ติดกุญแจห้องขัง เนื่องจากห้องขังผมตึกมันร้าว ไม่สามารถเสียบลูกกลอนได้ เขาจึงใช้วิธีล่ามโซ่ ด้วยสาเหตุว่าผมเป็นคอมมิวนิสต์ใหญ่ ก็ต้องใช้โซ่เส้นใหญ่มาล่าม เวลาล่ามมันจึงต้องม้วนไปม้วนมา และติดกุญแจอีก 

คืนที่ผมหนีได้เขาประมาท เขาเอาโซ่พาดไปพาดมาที่คานเพื่อให้มันติดกับลูกกรง และติดกุญแจ ถ้าดูจากข้างนอกไม่มีปัญหาล่ามโซ่และติดกุญแจเรียบร้อยแล้ว แต่ดูจากข้างในมันไม่ติด มันไม่ได้คล้อง มันแค่ห้อยไว้ เพราะความจริงมันต้องคล้องคานอีกรอบมันเลยผลักออกได้ ผมดีใจมาก ก็บอกตัวเองว่า คืนนี้หนีแน่นอน เพราะถ้าไม่หนีต้องติดคุกอย่างน้อย 8 ปี คดีคอมมิวนิสต์ คดีกบฏภายในภายนอกอาณาจักร ก็เตรียมตัวหนี พร้อมกับขอใบมีดโกนของห้องขังข้างๆ เพราะตอนนั้นไว้หนวดไว้เครา พอดีกับตอนนั้นมีคนเอาเสื้อกางเกง รองเท้าแตะมาให้ และผู้ต้องขังอื่นๆ ก็รวมเงินกันให้ได้มา 300 บาท ผมก็แต่งตัวอาบน้ำโกนหนวดโกนเคราใส่เสื้อใหม่ วางแผนว่าจะหนีตอนไหน

ปัญหาใหญ่จริงๆ มันอยู่ที่ว่าเราจะหนีหรือไม่หนี ไม่ใช่ปัญหาว่าจะหนีอย่างไร เพราะถ้าผลักประตูออกไปเจอพวกนั้นถูกยิงแน่นอน หรือไม่ก็ถูกจับ ถ้าโดนจับได้ก็ถูกขังห้องมืดเพราะเราหนี และสถานการณ์ข้างนอกก็ไม่รู้ว่ามีด่านที่ไหนบ้าง มันจึงเกิดการคุยกับตัวเองว่า หนีไม่หนี หนีไม่หนี ผมคิดอยู่ 2-3 ชั่วโมง เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ใช้ความคิดหนักที่สุด และไม่รู้จะคิดอย่างไร มันวิเคราะห์อะไรไม่ได้ สุดท้ายมนุษย์เราไม่ว่าจะคิดอย่างไร ก็ใช้ความคิดเสี่ยงอยู่ดี

แต่แรกผมวางแผนไว้จะหนีตอนตี 3 เพราะเคอร์ฟิวถึงตี 4 แต่คิดไปคิดมาก็ออกเลยดีกว่า ตอนนั้นประมาณ ตี 1 กว่าๆ ก็ค่อยๆ ผลักประตูออกไปเบาๆ เพราะโซ่ที่ล่ามมันเสียงดัง

ปรากฏว่าน้องที่ถูกขังอยู่เป็นผู้นำสหภาพแรงงานการไฟฟ้านครหลวง เขาตะโกนด้วยความดีใจ หรือเป็นกลไกทางร่างกายว่า พี่จรัลหนีแล้ว ผมได้ยินแล้วก็ตกใจจะตะโกนทำไม เราก็ระมัดระวังไม่ให้ยามได้ยิน ผมก็ออกไปเดินไปที่กำแพงเพราะมันมีต้นไม้อยู่ 

อย่างไรก็ตาม เงาต้นไม้มันช่วยบังได้ และรีบเดินไปตรงกล่องบริเวณกำแพงที่เราเล็งไว้ตอนออกมาสำรวจ มันมีลักษณะคล้ายๆ ลังเหล็ก แต่ไม่รู้เป็นลังอะไร แต่เราไม่เหยียบไม่ได้ เพราะกำแพงสูง 

ปรากฏว่าพอเหยียบปุ๊ป มันเป็นลังขังเป็ด เสียงเป็ดก็ดัง หมาก็เห่าตาม ผมเลยรีบปีนกำแพงอย่างรวดเร็วและกระโดดลงไป ไม่ได้ใส่รองเท้าแตะ เพราะถ้าใส่ตอนเดินเสียงมันจะดัง หลังจากกระโดดก็เดินแอบต้นไม้ไปเรื่อยๆ เพราะเสียงเป็ดกับเสียงหมาเห่าอาจปลุกให้พวกนั้นไปดู และอาจจะขับรถตามมาได้ 

ผมก็เดินไปหลบอยู่ใต้สะพานรถไฟสามเสน ไปนั่งหลบรอเคอร์ฟิว พยายามเงี่ยหูฟังว่ามีรถตำรวจตามมาไหม ปรากฏว่าไม่มี พอถึงเวลาตี 4 ครึ่ง ผมก็ออกจากที่ซ่อนไปเรียกแท็กซี่ ไม่ได้ใส่รองเท้า ผมมีเงินอยู่สามร้อย ผมให้แท๊กซี่ 150 บาท ผมบอกไปที่นั่น ผมก็ไปเซฟเฮาส์

พวกผมมีเซฟเฮาส์ เพราะคอมมิวนิสต์มีหลายหน่วย ก็เลยไปกบดานอยู่เซฟเฮาส์อยู่เดือนครึ่ง หนีออกมาวันคืนที่ 20 มกราคม และเดินทางเข้าป่า เมื่อเข้าป่าก็ปลอดภัย 

ตำรวจกองกำกับการตำรวจสันติบาลกอง 6 เขายังไม่เปิดเผยว่าผมหนีมาได้ เพราะจะมีความผิด ก็มีการพยายามตามตัวให้ได้ ไม่ว่าจะเดินทางไปที่บ้านผม บอกพ่อแม่ว่าถ้าผมติดต่อไปให้บอกมามอบตัว ไม่อย่างนั้นจะเป็นอันตราย เพราะตกเป็นเป้าของทหารเมื่อเจอก็จะถูกยิงทิ้ง

นอกจากนี้ เขายังเดินทางไปบ้านเพื่อนที่ผมไปนอนบ้านเขาบ่อยๆ และส่งรูปผมไปทุกด่านที่ออกจากกรุงเทพฯ ทั้งด่านพหลโยธิน ด่านเพชรเกษม ด่านสมุทรปราการ จนผมหนีมาได้ 6 วันจึงมีพาดหัวหนังสือพิมพ์ว่าคอมมิวนิสต์ใหญ่หนีห้องขัง

สรุปแล้วชีวิตผมรอดตายจากห่ากระสุนในวันที่ 6 ตุลาคม และถูกจับวันที่ 7 ถูกนำไปขังที่กองพันทหารสารวัตรที่ 1 ต่อมาถูกขังที่กองกำกับสันติบาลกอง 6 รวมเวลาถูกขังแล้วสามเดือนครึ่ง

เมื่อมองย้อนกลับไปชีวิตคุณผ่านอะไรมามาก แล้วถ้าคิดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จรัล ดิษฐาอภิชัย นึกถึงอะไร

6 ตุลาฯ บางคนก็ไปพูดวิพากษ์วิจารณ์เกินไปว่า พรรคคอมมิวนิสต์อยากให้เป็นแบบนี้เพื่อคนจะได้เข้าป่าเยอะๆ สิ่งนี้ผิด ไม่มีใครคิดแบบนั้น คนคิดแบบนั้นได้คือคนโหดนะ

เวลาพูดถึง 6 ตุลาฯ สิ่งที่ผมคิดคือการเข่นฆ่าอย่างเหี้ยมโหดที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ ถ้านับตั้งแต่ 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา อันที่จริง การปราบคอมมิวนิสต์ในยุคก่อนหน้านั้นก็เหี้ยมโหด มีการตัดคอ 

แต่สำหรับ 6 ตุลาฯ มันใจกลางเมืองหลวง หน้าวัดพระแก้ว พอคิดถึง 6 ตุลาฯ ผมมักคิดว่าเรารอดตายมาได้อย่างไรเสมอ มันเหมือนเนื้อเพลงจากละครเวที เล มิเซราบล์ (Les Misérables) ที่ชื่อ Empty Chairs at Empty Tables เนื้อหาประมาณว่าขอโทษที่ตัวเองไม่ตาย ขอโทษที่เห็นเพื่อนตาย แต่วันนั้น ตัวเราไม่ตาย นี่คือความรู้สึกเมื่อนึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

Fact Box

จรัล ดิษฐาอภิชัย เป็นชายวัย 74 ผู้ซึ่งใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตหมดไปกับการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศชาติ ไม่ว่าจะในฐานะนักศึกษา นักปฏิวัติ อาจารย์มหาวิทยาลัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทุกวันนี้ จรัล ลี้ภัยทางการเมืองที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้สัญชาติฝรั่งเศสแล้ว แต่ยังคงยืนยันจะ ‘สู้’ เพื่อประชาธิปไตย ต่อไป

Tags: , , , , , ,