เห็นกันก็มานาน ชื่อก็แสนคุ้นหู แต่รู้ไหมว่า Starpics เป็นหนึ่งในนิตยสารที่มีอายุยืนยาวที่สุดของไทย ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 1965 นับดูแล้วก็มีอายุครบ 52 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วถึง 882 ฉบับ

ที่ผ่านมา Starpics ได้มอบทั้งสาระ ความบันเทิง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่าน ตั้งแต่ยุคที่ผู้อ่านนิยมเก็บภาพหรือหาข้อมูลภาพยนตร์จากนิตยสาร จนถึงยุคปัจจุบันที่ ภาพ ข้อมูล และบทวิจารณ์มีให้อ่านทั่วไปในอินเทอร์เน็ต

น่าสนใจว่านิตยสารเก่าแก่อย่าง Starpics ปรับตัวและปรับเปลี่ยนเนื้อหาอย่างไร เพื่อตามให้ทันยุคสมัย ฝ่าผ่านกาลเวลายาวนาน ผ่านภาพยนตร์หลากหลาย ทำให้ยังคงมีผู้ติดตามอย่างเหนียวแน่นจนถึงทุกวันนี้

นิตยสารที่ก่อตั้งขึ้นจากกลุ่มเด็กมัธยม

“จุดกำเนิดของนิตยสารมาจากคุณพ่อ (สุชาติ เตชศรีสุธี) ท่านเป็นแฟนเอลวิส เพรสลีย์กับชอบดูหนังและฟังเพลงต่างประเทศ เลยชักชวนกลุ่มเพื่อนๆ คอเดียวกันที่เคยทำหนังสืออนุสรณ์โรงเรียนด้วยกัน มารวมตัวกันทำนิตยสารเล่มบางๆ ชื่อว่า Starpics ออกมา ซึ่งตอนนั้นพวกคุณพ่อยังอายุประมาณ 16 ปีเอง อยู่ ม.6 ยังไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ” บุษบา เตชศรีสุธี บรรณาธิการนิตยสารและทายาทผู้ก่อตั้ง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เดิมทีทางครอบครัวของคุณพ่อได้ประกอบธุรกิจโรงพิมพ์ ‘ห้องภาพสุวรรณ’ ซึ่งมีการจัดจำหน่ายภาพโปสเตอร์ดาราอยู่แล้ว จากนั้นก็ได้มีการผลิตนิตยสารภาพยนตร์เพิ่มเติม และกลายเป็นออฟฟิศของนิตยสาร Starpics มาตั้งแต่แรกเริ่ม

บุษบา เตชศรีสุธี

“เล่มแรกมีหน้าปกเป็นเอลวิส เพรสลีย์ เนื้อหาข้างในจะมีทั้งหนัง เพลง ดารา และก็ยังมีบทความแนวสัพเพเหระ เช่น แต่งกลอน วาดรูป เล่นเกมหาเพื่อน ซึ่งที่จริงตอนออกมา 6 เล่มแรกก็ยังขายไม่ค่อยได้ หนังสือคืนมาเต็มบ้าน เพราะตอนนั้นกลุ่มคนที่ดูหนังฝรั่งในไทยยังเป็นเพียงกลุ่มแคบๆ จนที่บ้านบอกว่าให้เลิกทำเถอะ แต่คุณพ่อท่านก็มุ่งมั่นอยากทำให้สำเร็จ จนกระทั่งมาขายดีจากเล่มที่ 9 ปก The Sound of Music ที่หนังดังมาก จากนั้นหนังสือก็ขายดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นไปตามรสนิยมของคนส่วนใหญ่ตอนนั้นที่นิยมหนังฝรั่งมากขึ้น พอจุดหนึ่งก็ติดตลาด ก็เลยทำมาตลอดหลังจากนั้น

“หลังจากทำ Starpics ได้ปีนึง ทางพี่ชายของคุณพ่อคือคุณลุงชวนไชย เตชศรีสุธี ซึ่งเป็นเพื่อนกับคุณเปี๊ยก โปสเตอร์ เขารู้จักกับคนในวงการหนังไทยเยอะ ก็เลยร่วมกันทำนิตยสารชื่อดาราภาพ ออกมาโดยเน้นไปที่หนังไทย ปรากฏว่าขายดีมาก ขายดีกว่า Starpics หลายเท่า จนมีหนังสือแนวนี้ทำตามออกมาเยอะแยะ แต่พอคุณชวนไชยหันไปอำนวยการสร้างหนังเรื่อง โทน ภายใต้บริษัทสุวรรณฟิล์ม โดยคุณเปี๊ยก โปสเตอร์เป็นผู้กำกับ ก็เลยขาดคนทำหนังสือ ทีมงานของคุณพ่อมาช่วยทำอยู่สามปี แต่ไม่ถนัด และทำสองเล่มไม่ไหว สุดท้ายเลยตัดสินใจเลิกทำ ดาราภาพ ไป แต่ชื่อ ดาราภาพ ก็ไม่ได้หายไปไหน เพราะคุณพ่อก็เอามาใช้จดหัวหนังสือเป็นชื่อไทยของ Starpics” (ชื่ออย่างเป็นทางการของหนังสือคือ ดาราภาพ – Starpics)

ตลอดกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา นิตยสารได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและปรับราคามาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ราคา 3 บาทมาจนถึง 80 บาท มีกำหนดวางแผงจากรายเดือน รายปักษ์ รายสิบวัน จนปัจจุบันออกวางแผงเป็นรายเดือน เคยแบ่งออกเป็น Movie Edition และ Music Edition (ปัจจุบันเหลือเพียง Movie Edition) มีการเปลี่ยนบรรณาธิการมาแล้วหลายคน บุษบารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการตั้งแต่มกราคมปี 2013 มาจนถึงปัจจุบัน และสุชาติรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในฐานะบรรณาธิการอำนวยการ ส่วนคุณแม่ ศิริวรรณ์ เตชศรีสุธี ช่วยดูแลด้านการตลาด ในฐานะบรรณาธิการฝ่ายโฆษณา

บุษบาให้ความเห็นว่าสาเหตุที่ทำให้ Starpics อยู่มาได้ยาวนาน เพราะนิตยสารเล่มนี้เป็นกิจการหลักของครอบครัว ที่บริหารจัดการเองมาตลอด การตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจจึงอาจไม่ได้ซับซ้อนหรือมีเงื่อนไขภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนกับองค์กรใหญ่ๆ อีกทั้งการสื่อสารแบบให้คนอ่านมีส่วนร่วม ก็ช่วยให้มีผู้ที่ติดตามหนังสือด้วยความรู้สึกผูกพันเหมือนเป็นเพื่อนเก่า

โดดเด่นด้วยภาพและเนื้อหาที่หลากหลาย

จุดเด่นของ Starpics อยู่ที่ภาพประกอบสวยงามที่อัดแน่นในเล่ม ทั้งภาพนักแสดง ภาพจากหนัง โปสเตอร์ แม้ปัจจุบันปริมาณภาพในเล่มจะลดลง แต่องค์ประกอบด้านนี้ก็ยังได้รับการใส่ใจ เห็นได้จากภาพปกของนิตยสารก็ยังคงสวยงามสะดุดตาอยู่

“คุณพ่อเป็นคนชอบถ่ายรูป และที่ออฟฟิศก็เป็นห้องภาพสุวรรณ คุณพ่อจึงให้ความสำคัญกับเรื่องภาพเป็นหลัก จนมีผู้อ่าน Starpics หลายคนชอบเก็บภาพหรือใบปิดหนังจากในเล่ม เราเลยรู้สึกว่านี่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเรา ซึ่งถือเป็นการสร้างจุดเด่นให้นิตยสารในยุคนี้ได้เหมือนกัน เพราะถึงแม้ในโลกออนไลน์จะสามารถบรรจุภาพและเนื้อหาลงไป แต่ภาพที่อยู่ในหนังสือก็เป็นสิ่งที่จับต้องได้ในแง่ของสเกลหรือขนาด”

สำหรับเนื้อหาสังเกตได้ว่าใน Starpics จะพูดถึงหนังที่หลากหลายตั้งแต่หนังฝรั่ง เอเชีย หนังไทย ซีรีส์ ซึ่งมีตั้งแต่หนังที่แมสสุดๆ ไปจนถึงอาร์ตจ๋า (ต่างจากนิตยสารเล่มอื่นที่มักจะเน้นไปที่ด้านใดด้านหนึ่ง)

“สำหรับการรักษาสมดุลระหว่างหนังตลาดกับหนังอาร์ต หรือระหว่างเนื้อหาอ่านง่ายกับเนื้อหาหนักๆ นั้นเป็นสิ่งที่เราพยายามทำมาตลอด บอกตรงๆ ว่าที่นี่ไม่ค่อยชี้นำนักเขียนมากนัก เราจะดูว่าเขาถนัดอะไร เช่นนักเขียนคนนี้มาสายหนังอาร์ต ก็ให้เขียนไปตามแนวของเขา คนอ่านบางคนก็งงๆ ว่า Starpics มีทั้งบทความหนังแมส บทความเทศกาลหนัง นั่นเป็นเพราะเราเน้นความหลากหลาย ไม่ว่าหนังสั้น หนังยาว หนังเล็ก หนังใหญ่ มันก็มีความเป็นหนังเหมือนกัน มีเนื้อหนังที่น่าสนใจเหมือนกัน

นิตยสารเล่มนี้เป็นกิจการหลักของครอบครัว การตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจจึงอาจไม่ได้ซับซ้อน อีกทั้งการสื่อสารแบบให้คนอ่านมีส่วนร่วม ก็ช่วยให้มีผู้ที่ติดตามหนังสือด้วยความรู้สึกผูกพันเหมือนเป็นเพื่อนเก่า

“ซึ่งหากดูจริงๆ แม้ว่าหนังที่เขียนถึงจะอาร์ต แต่ตัวบทความก็ยังมีความแมส อ่านง่าย มีความน่าสนใจและความหลากหลายอยู่ เคยมีคนอ่านคอมเมนต์มาเหมือนกันว่าบทวิจารณ์หนังใน Starpics อ่านยากเกินไป ต้องปีนกะได แต่ภายหลังก็มีคนอ่านคนอื่นมาแย้งว่าบทวิจารณ์ลงลึกมันก็ดีนะ ทำให้ได้รู้อะไรมากขึ้น เราก็เลยมองว่าเราได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างนักเขียนหลายรสนิยม กับกลุ่มผู้อ่านที่หลากหลาย ซึ่งมีตั้งแต่อายุ 15 ถึง 50 อัป”

“ก็มีบ้างนานๆ ทีที่คนทำหนังมาบ่นว่าทำไม Starpics เขียนถึงหนังเขาในแง่ลบขนาดนี้ แต่เนื่องจากเราให้อิสระกับนักวิจารณ์พอสมควร เราก็เลยต้องรับทั้งสองด้าน เราก็อยากให้บทวิจารณ์มีความตรงไปตรงมาเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมในการวิจารณ์ติชมให้เป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ แต่ต้องดูด้วยว่ามันมีเหตุผลหรือหลักการมารองรับ ไม่ได้วิจารณ์เพียงเพื่อความสะใจ”

เล่มพิเศษ อีกหนึ่งทางเลือกนอกเหนือจากนิตยสารรายเดือน

นอกเหนือจากการทำนิตยสารรายเดือน Starpics ยังทำนิตยสารฉบับพิเศษออกวางขายประมาณปีละ 4 -6 เล่มด้วย เช่น หนังซูเปอร์ฮีโร่ (อย่างเล่มหนัง Marvel, DC, X – Men, Batman, Superman) หนังการ์ตูน (อย่างเล่ม Ghibli, Disney, Pixar, Dreamworks) หนังแฟรนไชส์สุดฮิต (อย่างเล่ม Harry Potter, The Lord of the Rings, Transformers, Fast & Furious, Jurassic Park, Star Wars, Star Trek, Godzilla, King Kong) เจาะลึกผู้กำกับ (อย่างเล่ม ทิม เบอร์ตัน, อัลเฟรดฮิทช์ค็อก, คริสโตเฟอร์ โนแลน) หนังแนวเฉพาะต่างๆ (อย่างเล่ม Book of Horror, Monsters of Universal, Musicals) รวมถึงฉบับสรุปความเคลื่อนไหวโลกภาพยนตร์ประจำปีและกะเก็งผลรางวัลออสการ์ (Year Book และ Oscar)

“นิตยสารรายเดือนนั้นต้องยอมรับว่าเนื้อหามันเป็นข่าวสารซึ่งมีวาระของมันอยู่ ส่วนเล่มพิเศษนั้นเป็นการรวมรวมเนื้อหา ซึ่งจะผ่านไปนานก็ยังดูไม่เก่า รูปเล่มก็ดูน่าสนใจกว่าแถมยังขายได้เรื่อยๆ เพราะแฟรนไชส์หนังในเล่มพิเศษพวกนี้ก็จะมีการสร้างภาคต่อหรือย้อนกลับมาทำใหม่เรื่อยๆ”

“คนที่ซื้อนิตยสาร Starpics รายเดือน จะเป็นกลุ่มคอหนัง แต่คนที่ซื้อเล่มพิเศษกว้างกว่านั้น เป็นคนทั่วๆ ไปที่ชอบดูหนังเหมือนกันและเลือกซื้อสิ่งที่เขาสนใจ”

“ในบรรดาเล่มพิเศษทั้งหมด เล่มที่ขายดีที่สุดคือ Ghibli Story ซึ่งผิดความคาดหมาย เพราะจิบลิไม่ใช่ดิสนีย์ มันเป็นหนังกระแสรองในไทย แต่กลับกลายเป็นว่าการ์ตูนจิบลิมีคนติดตามทุกเพศทุกวัย มีหลายคนเคยดู แม้เขาจะไม่ใช่คอหนัง แต่ก็เป็นพลังเงียบที่ทำให้ขายดี ส่วนเล่มซูเปอร์ฮีโร่ขายดีในระดับน่าพอใจ ตอนเราเลือกทำเล่มพิเศษ จะมีเล่มที่เราเล็งว่าทำเอาใจตลาดรับกระแสหนังที่กำลังจะฉาย แล้วก็เล่มที่เราคิดว่าคงขายไม่ดี แต่เราอยากทำ สลับกันไป”

“ในอนาคต เราก็จะมีเล่มพิเศษที่จะอิงกับประเด็นมากขึ้นเช่น รวมหนัง LGBT หรืออาจจะทำเล่มหนังประวัติศาสตร์/หนังชีวประวัติ ออกมา ส่วนฉบับผู้กำกับ เราเคยมีแผนที่จะทำเล่มของผู้กำกับรุ่นใหญ่อย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี, สตีเวน สปีลเบิร์ก แต่ยังหาจังหวะอยู่ เพราะคนรุ่นใหม่ๆ อาจมองว่าหนังของพวกเขาเริ่มจะเก่า แต่ถึงยังไง สุดท้ายเราก็คิดว่าหัวใจมันอยู่ที่เนื้อหา เพราะถ้าหนังของเขามันดีจริง ถึงจะเก่า แต่มันก็ทำให้หนังยังได้รับการพูดถึงอยู่ และคนก็ยังไปตามหามาดูอยู่ดี”

Starpics Thai Film Awards รางวัลแด่คนทำหนังไทย

กิจกรรมหนึ่งที่ทาง Starpics จัดขึ้นเป็นประจำทุกช่วงต้นปี คือ การแจกรางวัลให้กับหนังไทยที่มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ (โดยรางวัลที่แจกได้แก่ หนังยอดเยี่ยม ผู้กำกับ นักแสดงนำชาย นำหญิง สมทบชาย สมทบหญิง บทหนัง กำกับภาพ ลำดับภาพ กำกับศิลป์ ดนตรีประกอบ หนังยอดนิยม)

กรรมการตัดสินรางวัลได้แก่นักเขียนของนิตยสารจำนวนเกือบ 20 คนมาประชุมและลงคะแนนโหวตเพื่อหาผู้เข้าชิง 5 รายชื่อในแต่ละสาขา ก่อนจะโหวตหาผู้ชนะต่อไป รางวัลนี้จะไม่มีการจัดงานเวที แต่จะส่งมอบรางวัลให้ผู้ชนะถึงที่ พร้อมถ่ายรูป สอบถามความรู้สึก แล้วนำมาตีพิมพ์ในนิตยสาร

“รางวัลนี้ริเริ่มมาจากพี่ตั้ม (ปัณณวิชญ์ เตชะเกรียงไกร) บ.ก. นิตยสาร ในตอนนั้น เขาเห็นว่าอยู่ดีๆ ในปี 2003 ซึ่งมีหนังอย่างแฟนฉัน, เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล, บุปผาราตรีออกฉาย วงการหนังไทยดูเหมือนว่าจะกลับมา ทั้งในด้านปริมาณคุณภาพ และความหลากหลาย เขาเกิดความรู้สึกว่าอยากให้กำลังใจคนทำหนังไทย และอยากเพิ่มความคึกคักให้วงการหนังไทย ก็เลยคิดทำเป็นรางวัลขึ้นมา”

หนังยอดเยี่ยมในปีแรกนั้น คือ เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล (Last Life in the Universe) และหนังที่เคยได้รางวัลหนังยอดเยี่ยมต่อจากนั้นตั้งแต่ปี 2004 – 2016 ได้แก่ เพื่อนสนิท, ทวิภพ, เด็กหอ, รักแห่งสยาม, กอด, October Sonata รักที่รอคอย, ลุงบุญมีระลึกชาติ, ฝนตกขึ้นฟ้า, แต่เพียงผู้เดียว, ตั้งวง, Concrete Clouds ภวังค์รัก, พี่ชาย My Hero, มหาสมุทรและสุสาน (เรียงตามลำดับปี)

“อาจจะเป็นแค่รางวัลเล็กๆ แต่เราก็ทำมาทุกปีไม่เคยเว้นว่าง รางวัลของปี 2017 ซึ่งจะตัดสินและแจกในช่วงต้นปี 2018 จะถือเป็นครั้งที่ 15 และเราก็ตั้งใจที่จะพยายามรักษาให้มีรางวัลนี้ต่อไปเรื่อยๆ”

เส้นทางสู่สื่อออนไลน์

ในยุคปัจจุบันที่สื่อออนไลน์เริ่มได้รับความนิยมมากกว่าสื่อกระดาษ จนหลายสื่อต้องปรับตัว ทาง Starpics เองก็เริ่มปรับเปลี่ยนไปในทางออนไลน์เช่นกัน

“แต่เรื่องการลงตลาดออนไลน์เต็มตัวเลยนั้น เรายังมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องลงทุนในระยะยาว แล้วผลตอบรับที่กลับมาต้องใช้เวลา ซึ่งตอนนี้ธุรกิจหลักเรายังเป็นหนังสือเล่มอยู่ เราเลยยังไม่รีบกระโจนเข้าไปออนไลน์เสียทีเดียว

“เราใช้หลักการค่อยเป็นค่อยไป ตอนนี้เราก็มี facebook fanpage ชื่อ Starpics Magazine เป็นช่องทางสื่อสาร แล้วก็มีเว็บไซต์อย่าง plotter.in.th ที่แชร์คอนเทนต์ร่วมกับ Let’s Comics (สำนักพิมพ์การ์ตูนไทยซึ่งอยู่ในเครือเดียวกับ Starpics) มีทั้งการนำคอนเทนต์จากนิตยสารฉบับเก่าๆ มาลง และมีที่เขียนขึ้นใหม่ด้วย

“การที่คนยุคนี้นิยมอ่านเนื้อหาในออนไลน์ทำให้เราปรับเปลี่ยนเนื้อหานิตยสารเพื่อให้อยู่ได้นานๆ และมีความเฉพาะ มีความพิเศษ อาจจะมีส่วนที่เป็นข่าวปัจจุบันทันด่วนอยู่ แต่ส่วนที่เป็นบทความก็พยายามที่จะตีประเด็นที่อยู่ได้นาน หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งที่นอกเหนือจากหนัง ซึ่งมันน่าสนใจ เช่น ประเด็นเกี่ยวกับสังคมการเมืองซึ่งโยงจากตัวหนังออกไป

เราขอบอกว่าจากตอนนี้จนถึงปีหน้า เราจะยังคงทำนิตยสารรายเดือนอยู่ต่อไป แต่จะมีการประเมินสถานการณ์ทุกสามเดือน ว่าควรเดินหน้าอย่างไร

“เนื้อหาในโลกออนไลน์มีข้อดีตรงที่เห็นฟีดแบ็กหนังได้เร็วว่าชอบไม่ชอบ แต่นิตยสารจะมีเวลาให้นักวิจารณ์ได้คิดได้เพิ่มเติมประเด็น ซึ่งเราเชื่อว่าคอนเทนต์ที่ต้องใช้เวลาในการคิดในการอ่าน ก็ยังต้องมี และคนก็ยังต้องการมัน

“มีหลายคนกังวลว่าทางนิตยสาร Starpics จะยังทำต่อไปไหม เราขอบอกว่าจากตอนนี้จนถึงปีหน้า เราจะยังคงทำนิตยสารรายเดือนอยู่ต่อไป แล้วก็จะมีเล่มพิเศษออกมาเรื่อยๆ ตามแพลนที่วางไว้ แต่ทั้งนี้ก็อาจมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นได้เหมือนกัน เพราะเราจะมีการประเมินสถานการณ์ทุกสามเดือน ว่าควรเดินหน้าอย่างไร”

นิตยสารไทย สถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อ

วงการนิตยสารและหนังสือในปัจจุบันดูซบเซาลง แต่บุษบามองว่าอนาคตของนิตยสารไม่ได้มืดมนอย่างที่หลายคนคิด

“วงการนิตยสารในปีนี้มันซบเซาต่อเนื่องมาจากปีก่อนๆ ซึ่งเราก็รู้แหละว่ากระแสเป็นอย่างไร ก่อนหน้านั้นยังเคยคิดเล่นๆ ว่าถ้าครบรอบ 50 ปีแล้วประกาศเลิกทำเลย มันคงเหมือนเราตั้งใจวางแผนมาแล้วว่าจะทำแค่ 50 ปีพอดี (หัวเราะ)”

“แต่เอาจริงๆ เราว่าคนทำหนังสือทุกคนมีความผูกพัน มีใจรักการทำหนังสือ เพราะเป็นงานที่ต้องขลุกอยู่กับมันตลอด ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็คงไม่เลิก การปิดตัวนิตยสารหรือหนังสือคงเป็นไปตามเงื่อนไขปัจจัยของแต่ละบริษัท แต่เชื่อว่าทุกวันนี้ หนังสือก็ยังเป็นเพื่อนของคนอยู่ โอเคว่า เราอาจมีมือถือติดมือ เราอาจรับข่าวสารได้จากหลายช่องทาง เราอาจทำกิจกรรมเยอะขึ้นจนมีเวลาให้กับหนังสือน้อยลง แต่หนังสือก็ยังเป็นสิ่งใกล้ตัวที่สื่อสารกับเราได้ลึกซึ้ง มันก็น่าจะพอมีพื้นที่หรือเวลาเหลือสำหรับหนังสืออยู่ ยุคสมัยอาจทำให้หนังสือมีจำนวนน้อยลง แต่เชื่อว่าหนังสือที่ดีก็น่าจะมีพื้นที่อยู่ได้”

“ในอนาคต นิตยสารและหนังสือที่เคยมีเยอะไปหมดก็น่าจะลดลงมาก เล่มที่อยู่ได้ก็ขึ้นอยู่กับคนอ่านด้วยว่าเขาต้องการอะไร อย่างในตอนนี้เราจะเห็นหนังสือเด็กเยอะเพราะว่าเด็กยังอ่านหนังสืออยู่และผู้ใหญ่ก็ส่งเสริมให้เด็กอ่านหนังสือมากกว่าที่จะไปเล่นมือถือแทบเล็ต ส่วนตัวเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังต้องการหนังสือ เพียงแต่ว่าเขาอาจจะต้องการหนังสือที่ตรงกับรสนิยมและมีความเฉพาะกลุ่มมากขึ้น และจะมีความเป็นของสะสม มีคุณค่าในตัวมันเอง ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น และมีปริมาณน้อยลง อาจจะเหมือนกล้องฟิล์มที่พอคนเปลี่ยนไปใช้กล้องดิจิทัลแล้ว พอถึงจุดหนึ่งก็มีคนกลับมาใช้กล้องฟิล์ม ซึ่งแน่นอนว่าไม่เยอะเหมือนเดิม แต่ก็มีคนใช้อยู่”

Starpics ฉบับครบรอบ 52 ปี เดือนตุลาคม 2560

FACT BOX:

คอลัมน์ประจำสุดคลาสสิกของ Starpics ที่หลายคนจำได้

  • Poster Gallery โดย Poster Man
    คอลัมน์ที่รวบรวมภาพโปสเตอร์จากหนังเรื่องต่างๆ พร้อมบทความวิเคราะห์
    “ถือเป็นคอลัมน์ที่อยู่กับ Starpics ตั้งแต่ช่วงต้น โดยคุณ Poster Man ถือเป็นนักสะสมโปสเตอร์หนังคนแรกๆ ในเมืองไทย คอลัมน์นี้ได้รับความนิยมจนมีหนังสือรวมเล่มออกมาหลายเล่มแล้ว”
  • ที่ตรงนี้คุณเขียน
    คอลัมน์ที่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านส่งบทความเกี่ยวกับภาพยนตร์เพื่อมาตีพิมพ์ โดยจะมีคอมเมนต์จากกองบรรณาธิการนิตยสารประกอบด้วย
    “มีนักเขียนหลายคนที่ได้ตีพิมพ์บทความลงในคอลัมน์นี้แล้ว บ.ก.เห็นแวว ก็ให้มาเป็นนักเขียนประจำ แม้ทุกวันนี้จะไม่ได้มีคนส่งมาเยอะเหมือนก่อนเพราะมีช่องทางเผยแพร่บทวิจารณ์หนังเยอะขึ้น แต่ก็มีคนที่เป็นขาประจำส่งมาให้เรื่อยๆ อยู่เหมือนกัน”
  • Replay โดย ประวิทย์ แต่งอักษร
    เป็นคอลัมน์ความยาว 4 หน้า (หรือมากกว่า) ที่ อ.ประวิทย์ – นักวิจารณ์ที่หลายคนชื่นชมในฝีมือ จะทำการเลือกหนังคลาสสิกในอดีตมาเขียน ทั้งในแง่ศิลปะภาพยนตร์และประวัติศาสตร์สังคมในช่วงที่หนังออกฉาย ซึ่งหลายเรื่องเป็นหนังที่ผู้ชมรุ่นใหม่มองข้ามหรือไม่เคยได้ยินมาก่อน ทำให้มีหลายคนตามไปหาหนังเหล่านั้นมาดู
    “เป็นคอลัมน์ที่ อ.ประวิทย์เขียนมาตั้งแต่ตอนที่แกเริ่มวิจารณ์หนังใหม่ๆ จนตอนนี้ก็ยังเขียนอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยแกจะมีอิสระในการเลือกหนังมาเขียนอย่างเต็มที่ แต่บางครั้งเราก็บอกธีมของเล่มว่าเป็นธีมนี้ ซึ่งแกก็จะดีใจที่หาธีมมาให้ เพราะที่ผ่านมาแกเขียนถึงหนังเก่าๆ เยอะมากจนแค่หาเรื่องที่ไม่ซ้ำก็ยากแล้ว”
  • Staedtler Art Club
    คอลัมน์ที่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านทางบ้านส่งภาพวาดฝีมือตัวเองมาตีพิมพ์ในเล่ม (ซึ่งมีนักวาดชื่อดังหลายคนบอกว่าเคยส่งผลงานมาลงคอลัมน์นี้เหมือนกัน) และมีผู้เชี่ยวชาญมาคอยคอมเมนต์ รูปประทับใจประจำฉบับจะได้รับของขวัญเป็นเครื่องเขียนสเต็ดเลอร์ส่งไปที่บ้าน
    “เป็นคอลัมน์ที่มีคนอ่านส่งมาเยอะ ซึ่งเรามองว่าเมื่อก่อนคนอ่านเขามองนิตยสารเป็นเพื่อนในการทำกิจกรรมต่างๆ แต่ภายหลังเขาก็มีช่องทางในการเผยแพร่ผลงานตัวเองมากขึ้น คอลัมน์นี้ก็เลยจากไปตามกาลเวลาของมัน”
  • ตอบจดหมาย โดยบรรณาธิการ
    เป็นคอลัมน์ที่โด่งดังมากในยุคที่ ‘ทิวลิป’ (นามปากกาของ อ.แดง – กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน) รับหน้าที่นี้ ซึ่งภายหลังคอลัมน์นี้จะเป็นหน้าที่รับผิดชอบของ บ.ก. แต่ละยุค ปัจจุบันคอลัมน์นี้ของ Starpics ยังคงดำรงอยู่ (ต่างจากเล่มอื่นที่ยุติไปเกือบหมด) เพราะยังมีคนส่งจดหมายมาพูดคุยอยู่เรื่อยๆ
    “ช่วงหลังคนจะส่งจดหมายมาหาเราในรูปแบบอีเมลเยอะขึ้น แต่ก็ยังมีคนอ่านที่ส่งจดหมายเป็นซองๆ มาอยู่ บางคนก็ส่งของ ส่งยาดมมาให้เป็นแพ็กก็มี แสดงให้เห็นถึงน้ำใจที่คนอ่านมีต่อเรา ส่วนเนื้อความในจดหมายไม่ใช่เชิงถามคำถามเสียทีเดียว แต่เป็นแนวเขียนมาคุยกัน ถามความเห็น อยากเม้าท์มอยประมาณนั้นมากกว่า ว่าดูหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกอย่างไร ชอบไม่ชอบ ไปเจอโรงหนังที่โน่นที่นี้ มาเล่าสู่กันฟัง”
Tags: , , , , ,