เมื่อไรที่ใครๆ บ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ยอดขายตก ลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติก็หาย สิ่งที่นักลงทุนอาจได้รับผลกระทบไปด้วย ก็คือราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลง แต่ถ้าหุ้นที่เราถือ ยังเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดีอยู่ การถือหรือซื้อเพิ่มก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราจะได้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ก็คือ ‘แชร์ลูกโซ่’ ที่จะเราจะได้ยินการมาชักชวนให้ลงทุนเรื่อยๆ แล้วถ้ายิ่งเป็นช่วงหุ้นไม่ดี ก็อาจเอาสภาวะตลาดมาหว่านล้อมให้เราเข้าร่วมลงทุน

ว่าแต่ ‘แชร์ลูกโซ่’ คืออะไร ?

โมเดลธุรกิจของแชร์ลูกโซ่ คือ เน้นการระดมทุนจากสมาชิก และอ้างว่านำไปลงทุนที่นั่นที่นี่แล้วได้ผลตอบแทนมหาศาลกลับมาให้สมาชิก แต่ที่จริงแล้วเน้นให้สมาชิกใหม่ลงทุนเพิ่มเพื่อนำเงินสมาชิกใหม่มาจ่ายให้กับสมาชิกเก่า แล้วเมื่อไม่สามารถหาสมาชิกใหม่ได้ทัน ก็จะมีการชะลอการจ่ายผลตอบแทน และสุดท้าย วงแชร์ลูกโซ่นี้ก็จะถึงจุดจบ

แล้วเราในฐานะนักลงทุนรายย่อยที่อาจตกเป็นเหยี่อหลักของแชร์ลูกโซ่พวกนี้ จะเอาตัวรอดได้ยังไงกันบ้าง? บทความนี้จึงมีข้อสังเกตเอาไว้ให้ใช้ตรวจสอบกันว่า การลงทุนไหนบ้างที่น่าจะเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ที่เราควรหลีกหนีให้ไกล

1. ถูกชักชวนด้วยคนใกล้ชิดหรือผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตการลงทุน

‘แชร์ลูกโซ่’ เป็นสิ่งที่เรามักจะถูกเชิญชวนจากคนใกล้ตัวเสมอ ซึ่งถ้าเพื่อนหรือญาติเราคนนี้ไม่เคยทำงานหรืออยู่ในแวดวงการลงทุนมาก่อน แล้วอยู่ดีดีจากที่ไม่เจอกันนานก็เปลี่ยนไป อยู่ๆ ก็มาพูดถึงเรื่องการลงทุนต่างๆ แล้วก็เชิญชวนให้เราลงทุน อย่างนี้ให้สงสัยไว้ก่อนเลย

ยิ่งถ้าหากคนที่มาเชิญชวนเราไม่มี ‘ใบอนุญาตการลงทุน’ อย่างถูกต้องจากทาง กลต. ซึ่งเราสามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตได้จากเว็บไซต์ของ กลต.  หรือหากการที่ผู้เชิญชวนเราได้ ‘ค่าคอมมิชชั่น’ จากเราเป็นจำนวนที่สูง (มากกว่า 3%) แนะนำว่าให้ระวังไว้หน่อยน่าจะดีกว่า 

2. เสนอผลตอบแทน ‘การันตี’ สูงมากกว่า 10% ต่อปี

การลงทุนไม่มีคำว่า ‘การันตี’ การลงทุนใดที่มีการการันตีผลตอบแทนถือว่ามีความผิดทางกฎหมายอย่างชัดเจน นอกจากจะการันตีแล้ว หากยังเสนอผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับที่สูงกว่า 10% ให้ตีไปได้เลยว่าน่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่แน่นอน 

เพราะลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้ามีการลงทุนที่ง่ายแค่เอาเงินไปให้แล้วเราไม่ต้องทำอะไรเลย เดี๋ยวมีเงินเข้าในบัญชีเรื่อยๆ แถมให้สูงถึง 10% หรือมากกว่านั้น ทำไมคนที่ชักชวนเราถึงไม่ไปชวนนักลงทุนมือเก๋าหรือนักลงทุนสถาบันอย่างกองทุนต่างๆ เข้าร่วมลงทุนล่ะ? ทำไมคนชวนต้องมาเหนื่อยพูดเป็นชั่วโมงเพื่อหาเงินลงทุนเพียงไม่กี่บาท? ทำไมของดีๆ แบบนี้ถึงตกมาถึงมือรายย่อยแบบเราได้?

3. บอกว่าเป็นการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยงหรือความเสี่ยงต่ำ

“High Risk, High Return” คำนี้ไม่ว่าอย่างไรก็จริงเสมอ การลงทุนที่มีผลตอบแทนที่สูง ยังไงย่อมเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงอย่างแน่นอน ถ้าคนที่ชวนลงทุนบอกว่าไม่เสี่ยงและได้ชัวร์ พึงระลึกได้เลยว่าเรากำลังถูกหลอกเข้าแล้วล่ะ

4. แหล่งลงทุนไม่ชัดเจนหรืออยู่ต่างประเทศ

ข้อนี้เป็นสิ่งที่แชร์ลูกโซ่เป็นเหมือนกันหมดก็คือ ‘ตรวจสอบไม่ได้’ ไม่ว่าจะใบอนุญาตการทำธุรกิจในประเทศไทย ทั้งการจดทะเบียนบริษัทหรือบัตรอนุญาตการระดมทุนจากประชาชน รวมถึงงบการเงินก็ไม่มีให้ดู ตรวจสอบใดๆไม่ได้เลย ถ้าเจอบริษัทผีแบบนี้ ให้ถอยมาตั้งหลักก่อนน่าจะดีกว่า เพราะขนาดบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีการตรวจสอบอย่างดี ยังมีการทุจริตเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง นับประสาอะไรบริษัทที่เราตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย จริงไหม?

5. มีการชักจูงหรือเชียร์อย่างออกนอกหน้า 

ถ้าการชักชวนนั้นมีแนวโน้มและเชียร์การลงทุนว่าดีอย่างออกนอกหน้า รีบให้เราตัดสินใจ ไม่ให้เวลาไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ พร้อมกับบอกว่ารับจำกัด ถ้าไม่รีบ หมดไม่รู้ด้วย หากเจอแบบนี้ให้คิดไว้เสมอว่าของดียังไงก็คือของดีวันยันค่ำ ถ้าดีจริงๆไม่ต้องบังคับหรือเร่งให้ตัดสินใจ

การลงทุนแชร์ลูกโซ่ไม่มีวันหมดไป ถ้าตราบใดยังมีเหยื่อให้หลอกได้เรื่อยๆ เราในฐานะเจ้าของเงินมีหน้าที่ต้องดูแลเงินตัวเอง อย่าไว้ใจใครมากจนเกินไป เราจะโดนหลอกก็ต่อเมื่อมีสองปัจจัยเกิดขึ้นพร้อมกัน อย่างแรก คือ ความไม่รู้ และอย่างที่สอง คือ ความโลภ ถ้ารู้แต่โลภก็ไม่เหลือ แต่ถ้าไม่มีความรู้แต่โลภก็ไม่รอด

ถ้าทั้งไม่รู้แล้วดันโลภอีก บอกได้เลยว่าเราจะเจอแต่ความหมดตัวอย่างแน่นอน

Tags: , , , ,