ถ้าเราพูดถึงการเป็นหนี้หรือการมีหนี้สิน เชื่อได้เลยว่าภาพจำหรือความรู้สึกต่อคำพวกนี้จะต้องออกไปในทิศทางลบเป็นส่วนใหญ่แน่นอน เพราะธรรมชาติของการเป็นหนี้นั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรามีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ทำให้เราต้องไปหาแหล่งเงินอื่นเพื่อมาหักลบกลบตรงนี้ไป 

ถ้าเรารู้ว่าเรากำลังตกอยู่ในสภาวะที่รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายแบบนี้ สิ่งที่ควรทำก็คือ เราต้องหาทางเพิ่มรายรับ และตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก ถึงจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด เพราะการที่เราเป็นหนี้หลายๆ ครั้งไม่ได้ช่วยสร้างรายได้ให้กับตัวเรา แต่ยังมาเพิ่มรายจ่ายในแต่ละวันให้กับเราอีก ซึ่งนั่นก็คือดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายให้เจ้าของเงินที่เราไปขอกู้ยืมมา

พอมาถึงตรงนี้หลายๆ คนอาจจะเห็นด้วยว่าการเป็นหนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ดีจริงๆ เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งแล้ว การเป็นหนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่เสมอไป เพราะถ้าใคร “ใช้หนี้เป็น” กลับจะกลายเป็นตัวช่วยที่ทำให้เราสร้างความมั่งคั่งได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

การแยกแยะระหว่าง “หนี้ที่ดี” และ “หนี้ที่แย่” คือตัวชี้วัดว่าใครเป็นคนที่ใช้หนี้เป็น

ถ้าเราอยากใช้หนี้เป็น สิ่งแรกที่เราต้องทำให้เป็นเลยก็คือ แยกให้ออกว่าอะไรคือ ’หนี้ที่ดี (Good Debt)’ และอะไร ‘หนี้ที่แย่ (Bad Debt)’ โดยความหมายของหนี้ 2 ประเภทนี้ก็คือ

‘หนี้ที่ดี’ คือ หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้มากกว่าดอกเบี้ย และ 

‘หนี้ที้แย่’ คือ หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้น้อยกว่าดอกเบี้ย

ถ้าหากจะบอกว่าการเป็นหนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ไม่ควรเป็นเลย ก็คงจะไม่ถูกนัก เพราะตัวอย่างที่เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลย คือ คนที่ร่ำรวยมากๆ ระดับมหาเศรษฐี หรืออย่างบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ถ้าเราไปเปิดดูงบของบริษัทจริงๆ ต่างก็มีหนี้ด้วยกันทั้งนั้น

ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหนี้การค้า เจ้ากู้ยืมต่างๆ อย่างเช่น กลุ่มอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า (Modern Trade) เวลาที่เราเอาสินค้าเข้าไปขาย กว่าเราจะได้เงินสดจริงๆ หลังจากที่สินค้าขายออก ก็ต้องรอเวลาอย่างน้อยๆ 60-90 วัน หรือเขาเรียกกันว่า Credit Term ซึ่งทางบัญชีจะถูกลงไว้ว่าเป็น ‘เจ้าหนี้การค้า’

แต่โดยทั่วไปแล้ว ‘เจ้าหนี้การค้า’ มักจะไม่มีภาระเรื่องดอกเบี้ย นั่นแปลว่าทางห้างสรรพสินค้าจะได้รับเงินสดจากลูกค้าที่เข้ามาซื้อ และหลังจากนั้นภายใน 60-90 วัน จึงค่อยนำไปเงินจ่ายให้กับคนที่เอาของเข้าไปขายที่ห้างสรรพสินค้านั้นๆ ซึ่งด้วยระยะเวลาสั้นๆ เหล่านี้ กลุ่มห้างสรรพสินค้าก็นำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินหรือเงินฝากชนิดพิเศษต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทน ณ ปัจจุบันอยุ่ที่ 1-1.5% ต่อปี ซึ่งผลตอบแทนตรงนี้ก็สามารถนำไปจ่าย ค่าน้ำค่าไฟ ค่าจ้างพนักงาน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของแต่ละสาขาได้เกือบทั้งหมด 

จะเห็นได้ว่าเมื่อไม่มีต้นทุนจากหนี้ และสามารถนำไปลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนเล็กน้อย หนี้ก้อนนั้นจะช่วยสร้างรายรับอีกทางหนึ่งให้กับเราได้ ก็ถือว่าเป็น ‘หนี้ที่ดี (Good Debt)’ อย่างไม่ต้องสงสัย 

เมื่อไม่มีต้นทุนจากหนี้ และสามารถนำไปลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนเล็กน้อย หนี้ก้อนนั้นจะช่วยสร้างรายรับอีกทางหนึ่งให้กับเราได้

คนที่ใช้หนี้เป็น เขาจะเข้าใจเป็นอย่างดีว่าถ้าเราจะเป็นหนี้เพิ่ม จะต้องเป็นกรณีที่เป็นหนี้เพื่อสร้างรายได้มากขึ้น ไม่ใช่เป็นหนี้เพราะว่าชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องมองว่าจะจัดการรายจ่ายหรือตัวเราเองอย่างไร ไม่ใช่เอาเวลาไปเสาะแสวงหาแหล่งเงินกู้ เพราะการเป็นหนี้ (ที่ไม่ดี) จะเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวทางด้านการเงินที่อันตรายที่สุดนั่นเอง

อย่างไรก็ตามการมี ‘หนี้ที่ดี (Good Debt)’ ไม่ใช่ว่าเราจะเป็นเท่าไรก็ได้ ไม่มีจำกัดเพดาน แต่เราควรจะมีระดับการเป็นหนี้ที่เหมาะสมด้วย นั่นก็เพราะว่าหนี้ที่ดีอาจจะไม่ใช่หนี้ที่ดีไปตลอด เพราะมันก็มีความเสี่ยงที่หนี้ที่ดีจะกลับกลายมาเป็นหนี้ที่แย่อยู่เหมือนกัน

ดังนั้นอย่าลืมวางแผนสำรองถ้าหากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ด้วย วันหนึ่งผลตอบแทนจากการที่เราเอาหนี้ไปหาผลกำไรอาจจะไม่ได้อย่างที่ตั้งใจไว้ หรือภาระดอกเบี้ยของหนี้ก้อนนั้นปรับตัวสูงขึ้นก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อยู่บ่อยครั้งเหมือนกัน

Tags: , , , ,