ในชีวิตของแต่ละคนล้วนมีจุดที่ต้องต่อสู้แตกต่างกัน ไม่มีใครเลยที่เกิดมาสมบูรณ์พร้อม และได้รับทุกอย่างตามที่ต้องการ ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร การต่อสู้ฝ่าฟันในชีวิตไม่เคยมีจุดสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะสู้กับคนภายนอก กับสังคม กับโครงสร้างที่กดทับ หรือแม้แต่การต่อสู้กับตัวตนของตัวเอง
ภาวะเช่นนี้ นอกจากสัจพจน์ที่ว่า ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ สิ่งที่ยังคงมีคุณค่าและความหมาย ก็คือใครสักคนที่อยู่เคียงข้าง คนที่พร้อมจะพยุงเราขึ้นมายามล้มลง เป็นแรงผลักให้เราก้าวต่อไป หรือแม้เพียงความเข้าใจที่มีให้กัน ที่ทำให้เรารู้ว่า อย่างน้อยที่สุด ยังมีพื้นที่ให้หยัดยืนอยู่ท่ามกลางความไม่สมบูรณ์แบบและความไม่สมปรารถนาในชีวิต
The King’s Speech (2010)
หลังจากภาพยนตร์ออกฉาย The King’s Speech ก็ได้รับรางวัลทั้งจากเวทีเล็กและเวทีใหญ่ท่วมท้น ไม่เว้นแม้แต่เวทีออสการ์หรือลูกโลกทองคำ รางวัลที่ได้มีทั้งรางวัลของนักแสดงนำ บทภาพยนต์ และผู้กำกับฯ นั่นทำให้ ทอม ฮูเปอร์ ขึ้นแท่นเป็นผู้กำกับฯ ที่ถูกจับตามอง และในการทำงานนี้ก็นับว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากนี่ไม่ได้เป็นแค่ภาพยนตร์ชีวประวัติของบุคคลทั่วไป แต่เป็นผู้หนึ่งในราชวงศ์อันเลื่องชื่ออย่าง ‘พระเจ้าจอร์จที่ 6’ ผู้มีอาการบกพร่องทางการพูด
นักแสดงนำในเรื่องได้แก่ คอลิน เฟิร์ท รับบทเป็น อัลเบิร์ต เฟรเดอริก อาเธอร์ จอร์จ ทายาทลำดับที่สองของสหราชอาณาจักร เจ้าชายจอร์จผู้มีปัญหาพูดติดอ่างมาตั้งแต่วัยเยาว์ เหมือนเป็นคำสาปที่ทดแทนความสะดวกสบายของชีวิต จนทำให้เป็นคนที่ขาดความมั่นใจในการพูดต่อหน้าสาธารณชน ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าจอร์จที่ 5 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ผู้เป็นพระเชษฐาก็สละการครองบัลลังก์เพื่อไปแต่งงานนอกจารีตกับมิสซิสซิมป์สัน และสถานการณ์ในประเทศตอนนั้นก็ใกล้เข้าสู่สภาวะสงครามเต็มที ประชาชาติต่างต้องการศูนย์รวมใจ ส่งผลให้จอร์จมิอาจปฏิเสธการขึ้นครองราชย์ในฐานะ ‘พระเจ้าจอร์จที่ 6’ โดยสิ้นเชิง
แม้ทั้งครอบครัวและรัฐบาล ต่างช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้พระเจ้าจอร์จอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่การพูดต่อหน้าประชาชนเพื่อสร้างขวัญกำลังใจนั้น ไม่ใช่ง่าย และก็ยากที่ใครจะเชื่อมั่นและรับฟังคำพูดจากปากกษัตริย์ที่ยังคงติดอ่างอยู่
เอลิซาเบธผู้เป็นว่าที่ราชินีคือกำลังใจสำคัญ ที่พาพระเจ้าจอร์จไปปรึกษากับแพทย์หลายต่อหลายคน จนมาพบกับ ไลโอเนล โล้ก ผู้เชี่ยวชาญทางการพูด โล้กใช้วิธีต่างจากแพทย์ทั่วไป เบื้องต้นเขาให้พระเจ้าจอร์จใส่หูฟัง เพื่อไม่ให้ได้ยินเสียงตัวเอง และพบว่าพระองค์สามารถพูดได้ราบรื่นเป็นปกติ แต่การพูดต่อหน้าประชาชนจะทำแบบนั้นไม่ได้ ทั้งข่าวลือสะพัดเรื่องพูดติดอ่างยิ่งทำให้พระเจ้าจอร์จไม่มั่นใจหนักไปกว่าเดิม แต่ที่สุดแล้ว ทั้งพระองค์เองและโล้กต่างช่วยกันคิดค้นหาวิธีใหม่ๆ จนทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แน่นอนว่าอาการติดอ่างของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ไม่สามารักษาให้หายขาดได้ แต่ด้วยภาระความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง ทำให้ต้องทรงพยายามมากกว่าคนอื่น เพื่อที่จะก้าวข้ามอุปสรรคทั้งภายในและภายนอกสู่การขึ้นครองราชย์อย่างสมพระเกียรติ
การแสดงของ คอลิน เฟิร์ท ในบทบาทนี้ จะไม่ทำให้คุณแปลกใจเลยว่าทำไมเขาถึงได้รางวัลนักแสดงนำชายไปครอบครองจากหลายสถาบัน
The Danish Girl (2015)
ภาพยนตร์ที่สร้างมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ เดวิด อี.เบอร์ชอฟฟ์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของ ไอนาร์ เวเกเนอร์ จิตกรหนุ่มเดนมาร์กที่อยู่ในคนกลุ่มแรกๆ ของโลกที่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศ แต่นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์อัตชีวประวัติอย่างที่บางคนคิด เนื่องจากผู้ประพันธ์เปลี่ยนองค์ประกอบหลายอย่างของเรื่องให้แตกต่างออกไป
รายละเอียดมากมายเกี่ยวกับชีวิตของไอนาร์เป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าจะสืบค้นได้ เพราะเดนมาร์กไม่มีบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเขามากนัก หากพบเพียงรายงานสั้นๆ ในหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นบันทึกความทรงจำจากเพื่อนของไอนาร์ และการผ่าตัดที่คล้ายคลึงกันในยุคนั้นเท่านั้น
ในชีวิตจริงของไอนาร์ (หรือลิลี่) มีพี่น้องสองคน พวกเขาต่างรู้ดีถึงความเปลี่ยนแปลงของเขา และถึงแม้จะขัดแย้งกัน แต่พวกเขาก็ยังให้การสนับสนุนเจตจำนงของไอนาร์ แต่ในภาพยนตร์เลือกที่จะไม่กล่าวถึงประเด็นของพี่น้องและครอบครัว
ฉากหลังของเรื่องราวเกิดขึ้นในกลางทศวรรษที่ 1920 ไอนาร์—เกอร์ดา สองสามีภรรยาเวเกเนอร์แต่งงานอยู่กินกันมาหลายปี พวกเขาต่างเป็นศิลปินทั้งคู่ แม้ว่าผลงานของไอนาร์จะประสบความสำเร็จกว่าเกอร์ดา แต่พวกเขายังยืนเคียงข้างกันและมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ผลงานต่อไป จนกระทั่งวันหนึ่งนางแบบของเกอร์ดาไม่ว่างมาเป็นแบบตามนัด เธอจึงไหว้วานให้สามีสวมชุดของหญิงสาวเพื่อเป็นแบบในการวาดภาพ
นั่นคือการจุดประกายให้ไอนาร์รู้สึกพลุ่งพล่านถึงจิตวิญญาณของเขาเอง บางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในกำลังถูกปลุกให้ตื่น เขากลายเป็น ‘ลิลี่’ หญิงสาวผู้งดงามและอิ่มเอมทุกครั้งยามได้สวมอาภรณ์พลิ้วไหว ไอนาร์ค้นพบลิลี่ในตัวเอง ถึงจะถูกเย้ยหยันจากผู้ชายที่พบเจอ แต่ลิลี่ยังคงยืนกรานว่านี่คือสิ่งที่เธอเลือก ส่วนเกอร์ดานั้นแม้จะเสียใจที่ผู้ชายที่เธอรัก ‘กลายเป็นอื่น’ แต่เธอก็พร้อมจะสนับสนุน ‘ไอนาร์’ สู่การเป็น ‘ลิลี่’ แม้ใครจะไม่ยอมรับก็ตาม และสำหรับตัวไอนาร์เอง ถึงจะแสนเสี่ยงด้วยวิทยาการทางการแพทย์ในยุคนั้น ถึงแม้จะสูญเสียทุกอย่างแม้ชีวิตก็ไม่เป็นไร ขอเพียงให้เขาได้เป็น ‘ลิลี่’ อย่างสมบูรณ์แบบทั้งจิตวิญญาณและร่างกาย
Maudie (2016)
ภาพยนตร์อัตชีวประวัติของศิลปินพื้นบ้านชาวแคนาดา มอด ลูอิส ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องใช้เวลาพัฒนาถึง 13 ปี แต่ชื่อของ แซลลี ฮอว์กินส์ ก็เป็นคนแรกที่ผู้กำกับฯ ไอส์ลิง วาลช์ ต้องการให้เธอรับบทนำ วาลช์กล่าวถึงแซลลีว่า “เมื่อแซลลีสวมบทบาทใดก็ตาม เธอสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายเป็นคนคนนั้นได้อย่างเหลือเชื่อ” ในระหว่างการเตรียมตัวเพื่อรับบท แซลลีลงมือวาดภาพ 3-4 ชั่วโมงต่อวัน และมีครูเต้นรำสอนให้เธอรู้จักการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งช่วยเธอศึกษาถึงข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวของคนที่เป็นโรคข้ออักเสบ
บ้านของ ‘มอด’ ในเรื่องนี้เป็นการจำลองขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ส่วนบ้านของเธอจริงๆ นั้นได้รับการบูรณะ และนำไปจัดแสดงที่ Art Gallery of Nova Scotia
มอดอาศัยอยู่ที่บ้านป้าของเธอในโนวาสโก ร่างกายของเธอไม่แข็งแรง ซ้ำร้ายยังป่วยด้วยโรคข้ออักเสบอย่างรุนแรง ชีวิตเธอพานพบแต่เรื่องผิดหวัง แต่เธอก็ยังพอจะเยียวยามันได้ด้วยการวาดรูป จู่ๆ วันหนึ่ง พี่ชายของเธอก็มาบอกว่าเขาขายบ้านของพ่อแม่ไปแล้ว มอดรับไม่ได้กับการตัดสินใจของเขา ขณะเดียวกันป้าไอด้าก็ตำหนิเธอซ้ำๆ เกี่ยวกับร่างกายและความเป็นอยู่ของเธอที่วันๆ เอาแต่วาดรูป
หลังจากเห็นประกาศรับสมัครแม่บ้านของเอเวอเรตต์ — พ่อค้าปลาคนหนึ่งในละแวกนั้น มอดจึงตัดสินใจเก็บข้าวของออกจากบ้านไปสมัครงาน เอเวอเรตต์หรือ ‘เอฟ’ เป็นคนหยาบกระด้าง พลุ่งพล่าน พูดโพล่ง และบางครั้งก็ไร้เหตุผล บ้านของเขาเป็นบ้านหลังเล็กๆ ที่ออกจะคับแคบไปด้วยซ้ำสำหรับคนสองคน แต่ทั้งคู่ก็ลงเอยด้วยการอยู่ร่วมกันฉันลูกจ้างนายจ้างในตอนแรกมาสู่คู่ผัวตัวเมียในเวลาต่อไป
บ้านหลังนี้มองออกไปเห็นทุ่งหญ้าและฟ้ากว้าง มอดจึงเริ่มใช้เวลาว่างจากการทำงานบ้านเพื่อวาดรูป แล้วผลงานของเธอก็ไปสะดุดตาซานดรา หญิงสาวที่แวะมารับซื้อปลาจากเอฟ นับเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ทำให้มอดและเอฟรู้ว่า ผลงานของเธอสามารถทำเงินได้ จากที่ไม่เคยมีใครให้ค่าผลงานศิลปะของเธอมาก่อน มอดใช้ชีวิตแบบลุ่มๆ ดอนๆ กับเอฟอย่างอดทน อุปสรรคของร่างกายหรือถ้อยคำถากถางใดๆ ก็ไม่เคยทำให้มอดล้มเลิกการวาดรูป ท้ายที่สุดความมุ่งมั่นของเธอก็ได้รับการยอมรับและการจดจำในฐานะศิลปินคนหนึ่ง เช่นเดียวกับบ้านเล็กๆ หลังนั้นของเธอที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้จนถึงวันนี้
The Peanut Butter Falcon (2019)
ผลงานภาพยนตของสองผู้กำกับฯ ไมเคิล ชวาร์ทซ และไทเลอร์ นิลสัน ทั้งคู่ได้พบกับ แซค กอตต์ซาเกน จากการเข้าค่ายนักแสดงพิการ แซคมุ่งมั่นและแสดงให้ถึงความปรารถนาที่จะเป็นนักแสดงอย่างแรงกล้า ทำให้สองผู้กำกับฯ เกิดแรงบันดาลใจและเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมา
เดิมทีบทบาทของไทเลอร์ในภาพยนตร์ วางไว้ให้เบน ฟอสเตอร์ แต่เขาขอถอนตัวเพื่อใช้เวลาอยู่กับลูกๆ และภรรยาที่ตั้งครรภ์และลูกๆ เชีย ลาเบอฟ จึงรับบทดังกล่าวแทน
The Peanut Butter Falcon จะพาเราเต้นไปตามจังหวะของการผจญภัยที่เริ่มต้นจาก แซค ชายหนุ่มอายุ 22 ปี ผู้ตัดสินใจหนีออกจากสถานสงเคราะห์ในเมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย การหายตัวไปของแซคทำให้หลายคนเป็นห่วง เพราะไม่รู้ว่าเขาหายตัวไปได้อย่างไร และที่สำคัญ แซคเป็นดาวน์ซินโดรม นั่นเลยทำให้เอเลนอร์ — ผู้ดูแลเป็นกังวล แซคหนีออกมาจากที่นั่นเพื่อตามล่าความฝันที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงเรื่องไร้สาระ ความใฝ่ฝันของเขาคือการนักมวยปล้ำที่มีชื่อเสียง
โชคชะตาพาแซคมาพบกับไทเลอร์ ชาวประมงตกอับที่ถูกไล่ล่าจากคู่อริ ตอนแรกไทเลอร์คิดจะทิ้งแซคไว้ตามยถากรรม เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่เขาจะเพิ่มภาระให้กับตัวเอง แต่แล้วเขาก็ยอมให้แซคติดตามไปด้วย การผจญภัยสู่ฟลอริดาของทั้งสองจึงเริ่มขึ้น ไทเลอร์ค่อยๆ สอนให้แซครู้จักสิ่งต่างๆ รอบตัว ส่วนแซคก็ค่อยๆ ทำให้ไทเลอร์ได้สัมผัสและเรียนรู้ว่า ไม่มีความฝันของใครที่ต้องถูกกักขัง ไม่มีใครสมควรได้รับการเย้ยหยัน และไม่มีความปรารถนาใดที่ใหญ่เกินตัว หากเราเชื่อมั่นในตัวเอง…
Portrait of a Lady on Fire (2019)
ผลงานกำกับฯ และเขียนบทโดย เซลีน เซียมมา ที่คว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีคานส์ และยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำ กล่าวได้ว่านี่คือภาพยนตร์โรแมนติกที่ทำให้เราหลงรักตั้งแต่วินาทีแรกด้วยความงามด้านภาพที่ปรากฎต่อสายตา และการลงมือวาดภาพของตัวละครก็เปรียบได้กับกระบวนการสร้างสรรค์อย่างลึกซึ้งของความสุขและความเจ็บปวด เธอสร้างอารมณ์และความทรงจำให้กลายเป็นงานศิลปะที่เราสัมผัสได้ถึงบางสิ่งที่แอบแฝงอยู่
เรื่องเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 จิตรกรสาวนาม มาริอานน์ ได้รับการว่าจ้างให้เดินทางไปยังเกาะบริตาญ เพื่อรับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของเอลูอิส ซึ่งคนว่าจ้างก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากแม่ของเอลูอิสที่มีวัตถุประสงค์แอบแฝงในการนี้ นั่นคือมาริอานน์ต้องวาดภาพเอลูอิสให้สำเร็จ เพราะแม่ของเธอจะนำภาพเอลูอิสไปใช้ในการดูตัวสำหรับการแต่งงาน และนั่นเป็นสิ่งที่เอลูอิสไม่ปรารถนา อันที่จริงคนที่ต้องเข้าพิธีแต่งงานแบบคลุมถุงชนนี้ไม่ใช่เธอ แต่เป็นพี่สาวผู้ตัดสินใจขัดขืนโดยการฆ่าตัวตาย
ก่อนหน้านี้ไม่มีใครวาดรูปเอลูอิสสำเร็จสักคน เพราะเธอทำลายทิ้งหมดสิ้น ดังนั้น ขณะที่มาริอานน์ใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างเอลูอิส เธอต้องจับสังเกตทุกความเคลื่อนไหวของเอลูอิสเพื่อนำไปวาดภาพ แล้วความสัมพันธ์ของพวกเธอก็เริ่มงอกงามผ่านความใกล้ชิด ผ่านการจ้องมอง ผ่านโมงยามที่เคลื่อนผ่านไป แต่มันเป็นความสัมพันธ์ที่เติบโตได้เพียงบนเกาะห่างไกลแห่งนี้ เพราะความรักของทั้งสองไม่ถูกต้องตามครรลองของสังคม และจะไม่มีวันได้รับการยอมรับจากโลกภายนอก ทั้งคู่ต่างรู้ว่าปลายทางของความสัมพันธ์จะจบลง ณ จุดใด มาริอานน์และเอลูอิสจึงทำได้เพียงดื่มด่ำกับช่วงเวลาที่มีอยู่ แม้มันจะแสนสั้นแค่ไหนก็ตาม
Tags: The Danish Girl, Maudie, The King’s Speech, The Peanut Butter Falcon, Portrait of a Lady on Fire