ความฝันผันแปรไปตามวัย หลายฝันเราอาจลืมเลือน หลายฝันเราอาจย้อนกลับไปมองอีกครั้ง หรืออาจตามหาฝันในวันนี้ เพื่อทำให้กลายเป็น ‘ความจริง’ ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปใดๆ ที่จะพาใครไปถึงปลายฝั่งฝัน สำคัญที่เราจะฝ่าฟันและมุ่งมั่นเพียงใดในชีวิต
Only Yesterday (1991)
ภาพยนตร์ที่ทำรายได้ในประเทศสูงสุดในปี 1991 โดยทำเงินไปทั้งสิ้น 1.87 พันล้านเยน ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนอย่างมาก เดิมทีเนื้อหาของเรื่องนี้มาจากหนังสือการ์ตูน Omoide Poro Poro (1982) ความยาว 3 เล่มจบ แต่จะเป็นเรื่องราวในช่วงวัยเด็กเท่านั้น เมื่อนำมาสร้างเป็นแอนิเมชัน ผู้กำกับฯ อิซาโอะ ทาคาฮาตะ จึงต่อเติมภาคผู้ใหญ่เข้าไป โดยเชื่อมโยงความทรงจำในวัยเด็กเข้าไว้ด้วยกัน
ก่อนที่จะมีการเริ่มโพรดักชันในเดือนมิถุนายนปี 1990 ทาคาฮาตะก็พาทีมงานของเขาเดินทางไปลงพื้นที่จริงที่จังหวัดยามากาตะ ที่นั่นเจ้าหน้าที่ได้สอนพวกเขาเกี่ยวกับการเก็บดอกคำฝอย ไม่ว่าจะเป็นภาพทุ่งดอกคำฝอย ภาพทิวทัศน์ และความงามของภูมิภาค ตามที่ทาเอโกะ–ตัวเอกของเรื่องบรรยาย
เรื่องนี้อาจเปรียบเป็นภาพแทนของใครหลายๆ คนที่เคยมีความฝันในวัยเด็ก แล้วเราต้องกลับมาถามตัวเองอีกครั้งในวันนี้ว่า เราได้ทำตามความฝันนั้นบ้างหรือยัง หรือเราลืมเลือนมันไปหมดแล้ว
ทาเอโกะ เป็นพนักงานออฟฟิศวัย 27 ปี เธอยังไม่ได้แต่งงานและใช้ชีวิตอยู่ในโตเกียวมาโดยตลอด จู่ๆ วันหนึ่งเธอก็ตัดสินใจลาพักร้อนแล้วเดินทางไปยังยามากาตะเมืองชนบท ซึ่งมีครอบครัวของพี่เขยตั้งรกรากอยู่ การหนีออกจากเมืองใหญ่ครั้งนี้ทำให้เธอหวนคิดถึงความทรงจำต่างๆ มากมายเมื่อครั้งยัง 10 ขวบ
บางสิ่งที่ทาเอโกะหลงลืมไปแล้ว เริ่มทยอยกลับมาสู่ความทรงจำทีละเรื่องๆ ตั้งแต่เริ่มเดินทาง ทั้งการอยากไปพักผ่อนวันหยุดตามต่างจังหวัด รักแรกที่ทำให้หัวใจพองโต การมีประจำเดือนครั้งแรก หรือภาพจำของคนในครอบครัว ภาพอดีตตัดสลับไปมากับปัจจุบัน มีเรื่องให้สุขและเรื่องให้เศร้า จนเธอเริ่มสงสัยว่าตัวเองได้ตอบสนองต่อความปรารถนาในอดีตบ้างแล้วหรือยัง? สายไปแล้วไหม? เธอเปลี่ยนไปแล้ว? หรือ ‘เด็กคนนั้น’ ยังคงอยู่ในหัวใจของเธอ?
Reality Bites (1994)
ผลงานการกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ เบน สติลเลอร์ ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุ 29 ปี และกำลังโด่งดังจากวงการโทรทัศน์ แต่ผู้เขียนบทเรื่องนี้ (ในร่างแรก) กลับเป็น เฮเลน ไชล์เดรส เด็กสาววัย 19 ปี ตอนแรกเธอให้ชื่อเรื่องว่า Blue Bayou เมื่อผู้อำนวยการสร้าง—ไมเคิล แชมเบิร์ก ได้อ่าน เขาก็ชอบทันที แต่มันยังมีหลายจุดที่ยังไม่ลงตัว ดังนั้นเฮเลนจึงต้องแก้บทใหม่รวมทั้งหมด 70 ร่าง กินเวลาไปประมาณ 3 ปี
แรงบันดาลใจในการพัฒนาบทของเฮเลน โดยหลักแล้วมาจากเทปที่บันทึกบทสนทนาของเพื่อนๆ พวกเธอมีเรื่องเล่ามากมายทั้งที่เป็นเรื่องทั่วๆ ไป และเรื่องที่เป็นปัญหา เช่น การต่อสู้เพื่อหางานทำในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้นตัวละครที่เราเห็นจึงมีพื้นฐานมาจากบรรดาเพื่อนฝูงของเฮเลน
ภาพยนตร์เรื่องนี้บันทึกช่วงเวลาของคนอเมริกันเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ในช่วงยุค ’90 ได้เป็นอย่างดี มันแวดล้อมด้วยเรื่องของเพื่อนสี่คนที่เพิ่งจบการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัย พวกเขาอยู่ด้วยกันในฮิวสตัน รัฐเท็กซัส ตัวละครทั้งสี่นี้ประกอบไปด้วย เลไลน่า หญิงสาวที่อยากเป็นคนทำหนังสารคดี, ทรอย หนุ่มนักดนตรี, วิคกี้ สาวเสรีเซ็กซ์ และแซมมี่ หนุ่มเกย์ที่ยังไม่กล้าเปิดเผยตัวตนกับครอบครัว
เลไลน่ากับทรอยนั้นต่างดึงดูดกันและกัน แม้ว่าทั้งคู่จะไม่ได้แสดงความรู้สึกออกมาอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมันไม่สามารถพัฒนาไปได้ไกลกว่านั้น ต่อมาไม่นาน เลไลน่าก็ไปคบกับหนุ่มอื่น ชีวิตของเพื่อนทั้งสี่คนต่างมีปม มีบาดแผล และมีความฝันที่แตกต่างกัน ทุกคนล้วนอยากประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะในหน้าที่การงาน ครอบครัว หรือความสัมพันธ์ แต่บางครั้งหลายอย่างก็ซับซ้อนเกินไป แต่ละคนต่างตกอยู่ในสภาวะกลับไม่ได้ไปไม่ถึง และตระหนักได้ว่าบ่อยครั้งสิ่งที่ต้องเจอในชีวิตก็คือ ‘ความจริงมันห่วย’ แต่ถึงอย่างไรความจริงก็คือความจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง หากไม่ก้าวข้ามพ้นมันไป ก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ — แค่นั้นเอง
Garden State (2004)
ผลงานการเขียนบทและกำกับเรื่องแรกของ ซัค บรัฟฟ์ คนทำงานเบื้องหน้าที่สลับมาทำงานเบื้องหลัง เนื้อหาทั้งหมดผสมปนเปไปกับอัตชีวประวัติส่วนหนึ่งของซัค ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกของเขาในขณะที่กำลังเขียนบท และอีกหลายฉากที่ดัดแปลงมาจากประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งสถานที่ถ่ายทำโดยมากก็คือบ้านเกิดของเขา
นาตาลี พอร์ตแมน เป็นตัวเลือกแรกในบทของซัค แม้เขาจะไม่คาดคิดว่าเธอจะตกปากรับคำ มีฉากเต้นแท็ปที่นาตาลีรู้สึกอายมาก แต่ซัคให้สัญญากับเธอว่า หากมันออกมาไม่ดี เขาจะตัดฉากนี้ทิ้งทั้งหมด
แอนดรูว์ หนุ่มฝันใหญ่ที่ห่างหายไปจากบ้านเกิดนานเก้าปีเต็ม ด้วยหวังว่าตัวเองจะได้เป็นนักแสดงผู้มีชื่อเสียง แต่ความเป็นจริงคือเขาแทบไม่เฉียดใกล้ความฝันนั้นเลยสักนิด และเลี้ยงชีพด้วยการเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารเวียดนาม หนทางชีวิตของเขาดูริบหรี่ประจวบกับข่าวร้ายที่ได้รับแจ้งจากพ่อ แอนดรูว์จึงกลับบ้านเกิดเพื่อไปร่วมงานศพแม่
นิวเจอร์ซีย์ที่เขาไม่ได้กลับมาเหยียบเลยมีหลายสิ่งและหลายคนแปรเปลี่ยน แอนดูรว์ได้เจอเพื่อนเก่ามากหน้าหลายตา อย่างเพื่อนสนิทที่มาทำอาชีพขุดหลุมศพ เพื่อนติดยาที่กลายมาเป็นตำรวจ และเพื่อนเซลล์แมนที่พยายามขายของตลอดเวลา และการที่เขาต้องเผชิญหน้ากับพ่อไม่ใช่เรื่องที่มีความสุขเท่าไร เพราะความบาดหมางแต่เก่าก่อนยังคงกินลึก ถึงอย่างนั้นก็ยังพอมีเรื่องดีๆ อยู่บ้าง เมื่อเขาได้เจอกับแซม หญิงสาวที่มองโลกในแง่ดี เพียงชั่วเวลาไม่กี่วัน เธอทำให้ความเฉยชาในตัวแอนดูรว์ค่อยละลายหายไปพร้อมกับอดีตอันปวดร้าว เขาได้เรียนรู้โลกใบนี้อีกครั้งด้วยมุมมองที่ต่างออกไป กล้าหันกลับไปมองสิ่งที่เขาเคยวิ่งหนี ความเจ็บปวดที่เคยซุกซ่อนไว้ก็ได้รับการสะสาง แน่ละ ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงอดีต แต่อย่างน้อย—เราสามารถกำหนดปัจจุบันขณะได้
Frances Ha (2012)
ผลงานการเขียนบทร่วมกันระหว่างผู้กำกับฯ โนอาห์ บอมบาค และเกรตา เกอร์วิก หลังจากที่ทั้งคู่เคยร่วมงานด้วยกันมาแล้วในภาพยนตร์เรื่องก่อนแต่ในฐานะนักแสดงสำหรับเกรตา สำหรับการร่วมงานในครั้งนี้ เกรตาเล่าว่าในตอนแรกทั้งเขาและเธอไม่รู้หรอกว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร
“ฉันไม่สามารถอธิบายได้ มันเป็นการทำงานร่วมกันโดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามมาก มันให้ความรู้สึกเหมือนคุณได้ทำงานกับคนที่รู้จักด้วยจริงๆ คุณไม่ลำบากที่จะเข้าใจว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่คืออะไร เราทั้งคู่กำลังอยู่ในโลกแห่งจินตนาการเดียวกัน เหมือนการแบ่งปันความฝันกับใครบางคนที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่เราทั้งคู่อยู่ในนั้น”
บางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าเป็นกับสิ่งที่เป็นจริงก็ไม่ได้ตรงกัน อย่างที่ฟรานเชสเข้าใจว่าใครๆ ต่างก็ดิ้นรนจะไปให้ถึงฝั่งฝันเช่นเดียวกับเธอ ฟรานเชสเป็นนักเต้นวัย 27 ปี อาศัยอยู่ในนิวยอร์กกับโซฟี เพื่อนสนิท เพื่อนที่เธอคิดว่าคงจะร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกัน โดยที่ไม่ได้ตระหนักว่าแต่ละคนย่อมมีวิถีชีวิตเป็นของตัวเอง โซฟีตัดสินใจจะย้ายที่อยู่ไปยังย่านใหม่ ซึ่งฟรานเชสไม่สามารถจะไปอยู่ด้วยได้ เพราะติดขัดด้วยการงานและฐานะทางการเงิน
ปัญหาหลายอย่างเริ่มตึงเครียดและแทรกตัวเข้ามาหาฟรานเชสเป็นระยะ เพราะโซฟีจะย้ายที่อยู่อีกครั้งพร้อมกับแฟนหนุ่มและห่างไกลยิ่งกว่าเดิม ที่ทำงานดูไม่อยากจะต้อนรับเธออีกแล้ว ความฝันที่อยากจะเป็นนักเต้นชั้นนำก็ดูเลือนลางและห่างไกล ฟรานเชสไม่มีเงินแม้แต่จะซื้ออพาร์ตเมนต์ ไม่มีสักอย่างเป็นดั่งหวัง การหลบหนีความจริงเป็นสิ่งที่ทำง่ายกว่ามาก แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เธอจะทำได้ตลอดไป เราอาจจะเห็นฟรานเชสทำนั่นทำนี่อยู่เสมอ ย้ายที่อยู่ เคลื่อนไหว เต้นรำ แต่ลึกๆ ภายในใจเธอแทบไม่ขยับขับเคลื่อนไปทางไหนเลย ถ้าหากฟรานเชสไม่นั่งลงสบตากับความจริง เธอก็จะติดกับดักอยู่ตรงนั้นไปอีกแสนนาน สิ่งที่เธอต้องทำคือดึงความกล้าหาญทั้งหมดออกมารับมือกับทุกความเป็นไปในชีวิต แล้วค่อยก้าวเดินต่อ แม้ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จตามที่ฝันไว้ก็ตาม
Whiplash (2014)
เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวาง ใช้เวลาสร้างเพียง 19 วัน ใช้ทุนสร้างเพียง 3.3 ล้านเหรียญ แต่ทำรายได้ถึง 49 ล้านเหรียญ แรกเริ่มผู้กำกับฯ เดเมียน แชเซล หาทุนสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ เขาเลยสร้างเป็นหนังสั้นก่อนพร้อมเข้าฉายที่งานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ ปี 2013 ซึ่งคว้ารางวัลจูรีไพรซ์มาได้ ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็ได้รับเงินทุนเพื่อสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างสมบูรณ์แบบ
ในฉากซ้อมที่เข้มข้นของ ไมลส์ เทลเลอร์ นักแสดงนำ ผู้กำกับฯ จะไม่ตะโกนว่า “คัท!” เด็ดขาด เพื่อให้ไมลส์ตีกลองต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแรง โชคดีที่ไมลส์มีพื้นฐานในการเล่นกลองมาก่อนตั้งแต่อายุ 15 ปี แต่ในขั้นตอนเตรียมตัวเพื่อการถ่ายทำ เขายังต้องมาเรียนตีกลองเพิ่มเติมวันละ 4 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์
แอนดรูว์ เด็กหนุ่มที่ฝันอยากจะเป็นสุดยอดมือกลอง เขาทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจเพื่อฝึกฝนแทบทุกเวลาแทบทุกวัน จนเมื่อเขาได้พบกับ เทอเรนซ์ เฟลชเชอร์ ครูสอนดนตรีที่ขึ้นชื่อว่าเคี่ยวเข้ม ดุดัน แต่ก็เป็นที่ยอมรับนับถือจากนักเรียน นี่คือจุดเริ่มต้นของการห่ำหั่นกันระหว่างคนสองคน โดยมีการตีกลองเป็นศูนย์กลาง
แอนดรูว์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวงของเฟลชเชอร์ สิ่งที่เขาต้องแบกรับให้ได้ก็คือความกดดัน ความเครียด ถ้อยคำกราดเกรี้ยว การฝึกอย่างเข้มข้นที่ต้องทำให้ได้ถึงมาตรฐานคนเป็นครูอย่างเฟลชเชอร์ แต่แอนดรูว์ก็ไม่คิดจะยอมแพ้ ทั้งยังยืนหยัดท้าทายเต็มศักยภาพของตัวเอง เขาต้องการพิสูจน์ให้ทุกคนรู้ว่าเขาทำได้ เขามีคุณค่ามากพอ ต่อให้ต้องเสียน้ำตาหรือต้องเหยียบไหล่ใครขึ้นไป — เขาก็จะทำ เพื่อปลายทางที่เรียกว่าความสำเร็จ
Tags: ความฝัน, he List, ความหวัง, พลังชีวิต