ภาพยนตร์ที่ดีเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นจากหลายองค์ประกอบ แต่สิ่งสำคัญที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นย่อมไม่พ้น ‘บทภาพยนตร์’ ทั้งที่เขียนขึ้นใหม่ หรือดัดแปลงจากหนังสือ เวลาชมภาพยนตร์สักเรื่อง บางทีเราอาจหลงมนต์เสน่ห์ของนักแสดง ตื่นตาไปกับโปรดักชัน หรือสนุกไปกับการดำเนินเรื่อง แต่หากมองให้ลึกลงไป ทุกสิ่งที่ปรากฎอยู่ในภาพยนตร์ชั้นดีทั้งหลาย จะมีบทภาพยนตร์เป็น ‘กระดูกสันหลัง’ ของการเล่าเรื่องที่ดึงดูดแทบทั้งสิ้น เช่นภาพยนตร์แนะนำ 5 เรื่อง จาก The List ประจำสัปดาห์นี้
Annie Hall (1977)
Annie Hal เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ผู้ชมจะรักหรือไม่ก็เกลียดไปเลย แต่แน่นอนว่าแฟนๆ ของ วู้ดดี้ อัลเลน จะต้องอ้าแขนรับ เดิมทีอัลเลนมองว่าเรื่องนี้จะเป็นภาพยนตร์ลึกลับฆาตกรรม โดยมีความโรแมนติกเป็นแค่องค์ประกอบ แต่ในระหว่างการแก้ไขบท อัลเลนตัดสินใจทิ้งการเข่นฆ่าทิ้ง แต่เน้นไปที่ความสัมพันธ์ หลังจากนั้น มาร์แชล บริคแมน มือเขียนบทร่วมจึงนำส่วนที่ตัดทิ้งไปพัฒนาต่อในเรื่องManhattan Murder Mystery (1993)
ตัวละครหลักในเรื่องได้แก่ วู้ดดี้ อัลเลน ในบท อัลวี ซิงเกอร์ และไดแอน คีตัน ผู้รับบท แอนนี่ ฮอลล์ ตัวละครของไดแอนเป็นรูปแบบของหญิงสาวที่มักปรากฎตัวในหนังของอัลเลนเสมอๆ เธอสวย ฉลาด อายุน้อยกว่า ประกอบด้วยความเสน่หาก่อนจะค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นความโกรธเคือง ตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นตัวละครพูดคุยกันแทบไม่หยุด ทั้งอัลวีและแอนนี่ดึงดูดกันและกันด้วยบทสนทนา ซึ่งมันกลายเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้พวกเขาค้นพบตัวเอง และค้นพบกันและกัน
ภาพยนตร์เรื่องนี้พาเราย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างอัลวีกับแอนนี่ เพราะแม้แต่ในปัจจุบันอัลวีก็ยังไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมพวกเขาถึงเลิกรากัน
อัลวีเป็นนักแสดงตลกวัย 40 ปี ที่อาศัยอยู่ในแมนแฮตตัน เขาพบกับแอนนี่หลังหย่าขาดจากภรรยาคนก่อน เธอไม่ได้สนใจเขาในทันที แต่การได้พูดคุยกับอัลวีก็ทำให้เพลิดเพลินไม่น้อย แม้ว่าเรื่องที่คุยกันจะเป็นเรื่องของภรรยาเก่าของเขาก็ตาม
ความสัมพันธ์ของทั้งสองเริ่มต้นจากตรงนั้น จากการพูดคุย กินข้าว ดูหนัง ร่วมรัก แล้วเมื่อรู้ตัวอีกทีเธอก็ย้ายเข้ามาอยู่ในอพาร์ตเมนต์ของเขาแล้ว มันดูเหมือนเป็นสัญญาณที่ดีของชีวิตคู่ แต่ความจริงมันคือการเดินหน้าไปสู่จุดจบ นี่คือกระจกบานใหญ่ที่ทำให้เราได้มองเห็นว่า แท้จริงแล้วอัลวีเป็นคนอย่างไร และอะไรคือคำตอบว่าทำไมแอนนี่ถึงจากเขาไป
No Country for Old Men (2007)
นวนิยายเรื่อง No Country for Old Men เต็มไปด้วยรายละเอียดและบทพรรณนาที่ยืดยาว แต่ถึงอย่างนั้นต้นฉบับของ คอร์แม็ก แม็กคาร์ธี ก็ยังสามารถสร้างความประหลาดใจระคนประทับใจให้กับผู้อ่านแบบเดาทางไม่ถูก เมื่องานเขียนชิ้นนี้มาอยู่ในมือของสองพี่น้องโคเอน พวกเขาจึงแทบไม่ต้องเสริมเติมแต่งพล็อต เพียงแต่ต้องคงความยียวนตามต้นทางและถ่ายทอดบุคลิกของแต่ละตัวละครออกมาให้ได้สมบูรณ์ที่สุด มุมมองของการดำเนินเรื่องนี้จะไม่ได้อยู่ที่คนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่มันจะมีการสลับมุมมองโดยที่ผู้ชมไม่ทันตั้งตัว และหลายครั้งภาพยนตร์ยังไม่ให้เราเห็นสิ่งที่เราอยากเห็น มันจึงเป็นภาพยนตร์ที่แทบจะไม่เป็นไปตามครรลองที่คนดูคุ้นเคยนัก
เรื่องเกิดขึ้นที่ดินแดนร้อนร้างไกลปืนเที่ยง ลูเวลลีน มอสส์ บังเอิญไปเจออุบัติเหตุที่ไม่ทราบสาเหตุ บริเวณรอบๆ นั้นมีรถขนยาเสพติด ศพผู้คน และห่างออกไปไม่ไกลก็มีศพปริศนากับกระเป๋าบรรจุเงินสด 2 ล้านเหรียญ มอสส์คิดว่าคงไม่มีใครรู้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น เขาจึงเลือกที่จะเก็บกระเป๋าใบนั้นมา แต่เหตุการณ์ก็ไม่เป็นไปตามที่คิด
แอนทอน ชีเกอรห์ เป็นนักฆ่าโรคจิตที่โดนส่งมาตามล่ากระเป๋าใบนั้นคืน และสิ่งที่เขาต้องตามให้เจอตอนนี้ก็คือตัวมอสส์ แอนทอนทั้งเยือกเย็นและอำมหิต อาวุธที่เขาใช้แตกต่างจากคนร้ายทั่วๆ ไป ซึ่งยิ่งขับให้เขาดูโหดแบบแปลกๆ มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเอ็ด ทอม เบลล์ ที่ต้องมาร่วมล่าด้วยอีกคน ในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบคดี และตัวแทนฝั่งฟากของความดีที่จะทำให้เราตั้งคำถามว่า เพราะอะไรความชั่วถึงเติบโตขึ้นทุกวัน ในขณะที่ความดีกำลังอ่อนแรงลง และในไม่ช้าอาจไม่มีพื้นที่หลงเหลือให้ความดีอีกเลยก็เป็นได้
The Social Network (2010)
หนึ่งในผลงานที่ดีที่สุดของ เดวิด ฟินเชอร์ ดัดแปลงมาจากหนังสือ The Accidental Billionaires ซึ่งกอบโกยไปทั้งรายได้และคำวิจารณ์ ฟินเชอร์และนักเขียนบท อารอน ซอร์กิน ร่วมกันทำงานโดยการออกแบบเรื่องเล่าให้คลุมเครือ ไม่เรียงลำดับเวลา และไม่เลือกเข้าข้างตัวละครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ให้พวกเขาดำเนินเรื่องอย่างเท่าเทียม ทิ้งหน้าที่ให้ผู้ชมเป็นคนตัดสิน
บทภาพยนตร์มีความยาว 178 หน้า ทางสตูดิโอบอกให้ซอร์กินตัดออกอย่างน้อย 30 หน้า แต่ฟินเชอร์ตัดสินใจที่จะเก็บบททั้งหมดไว้ และต้องการให้ภาพยนตร์จบให้ได้ภายในเวลาสองชั่วโมง นั่นเป็นสาเหตุที่บทสนทนาเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่โลโก้สตูดิโอผู้สร้างปรากฎบนจอ และการที่ เจสซี ไอเซนเบิร์ก ได้รับบท มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ไม่ใช่เพียงเพราะฝีมือ แต่เพราะฝีปากที่สามารถรัวคำพูดออกมาได้เร็วที่สุด จนฟินเชอร์เลือกเขาอย่างไม่ลังเล
ในฉากเปิดเรื่องที่ เจสซี ไอเซนเบิร์ก ประชันหน้ากับ รูนีย์ มาร่า บทมีความยาว 8 หน้า พวกเขาต้องใช้เวลาถ่ายทำอยู่ 2 วัน รวมแล้ว 99 เทค ซึ่งฟินเชอร์ตั้งใจให้ฉากนี้เป็นสิ่งกระตุ้นให้คนดูรับรู้ว่า พวกเขาจะต้องจดจ่อสมาธิกับภาพยนตร์แบบห้ามพลาด
ย้อนไปในปี 2003 มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์กยังเป็นเพียงนักศึกษาปีสองที่ถูกแฟนสาวสลัดรัก เขาลงเอยด้วยการกลับไปเปิดเว็บไซต์ Facemash ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเอดูอาร์โด ซาเวริน เพื่อนสนิท ในการดึงรูปสาวๆ มาไว้ในเว็บฯ เพื่อให้คนเข้าไปร่วมโหวตว่าใครฮอตสุด ผลปรากฎว่ามันร้อนแรงจนเว็บฯ ล่ม และเขาโดนฝ่ายบริหารเรียกไปตำหนิเป็นการใหญ่
จากนั้นมาร์คก็หยิบจับไอเดียหลายๆ อย่างมาออกแบบเครือข่ายสังคมแบบใหม่ ซึ่งอาจมองได้ว่ามีแนวคิดทับซ้อนกับ ConnectU ของพี่น้องวิงเคิลวอสส์ด้วย แต่มาร์คก็ไม่ได้คิดอะไรไปมากกว่านั้น เขาพยายามพัฒนาเว็บฯ ของตัวเองขึ้นมาจนกลายเป็น Facebook เว็บฯ นี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ความสำเร็จที่ไม่หยุดนิ่งของมาร์คมาพร้อมกับปัญหาอีกมากมายในเวลาต่อมา เรื่องอื้อฉาวความบาดหมาง ผลประโยชน์ที่ขัดแย้ง ถูกนำเสนอควบคู่กันไปในห้องไต่สวน และนั่นคือปฐมบทที่เราจะได้รับรู้ก่อนที่เว็บฯ ดังกล่าวจะกลายมาเป็น social media ที่ครองโลกอยู่จนถึงทุกวันนี้
Moneyball (2011)
ภาพยนตร์ดัดแปลงมาจากหนังสือ Moneyball: The Art of Winning an Unfair Game ของ ไมเคิล ลูอิส ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2003 เป็นเรื่องราวของทีมเบสบอลโอคแลนด์ แอธเลติกส์ และความพยายามของ บิลลี บีน อดีตนักเบสบอลที่ผันตัวมาเป็นผู้จัดการทีม
โปรเจ็กต์นี้เริ่มขึ้นในปี 2003 ทันทีที่โปรดิวเซอร์ ราเชล โฮโรวิตซ์ ได้อ่านหนังสือต้นฉบับ แต่กว่าจะสำเร็จลุล่วงไปก็ไม่ง่าย เพราะมีการแก้ไขบท ปรับโครงเรื่อง และเปลี่ยนมือนักเขียนบทอยู่หลายรอบ จนมาลงเอยที่บทร่างของ สตีเวน เซลเลียน และอารอน ซอร์กิน ซึ่งซอร์กินได้อธิบายไว้ในตอนตอบตกลงรับเขียนบทเรื่องนี้ว่า จะต้องมีชื่อของเซลเลียนอยู่ในเครดิตผู้เขียนบทภาพยนตร์ เพราะร่างของเซลเลียนเยี่ยมมาก และเขาไม่ได้ปรับปรุงอะไรมากนัก
ภาพยนตร์มีส่วนที่แตกต่างจากหนังสือคือ การชูตัวตนของ บิลลี บีน ให้โดดเด่นขณะที่ในหนังสือจะเน้นถึงวิธีการช่วยทีมเป็นหลัก
ในปี 2002 บิลลี บีนสามารถทำผลงานของทีมโอคแลนด์ แอธเลติกส์ ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ก่อนหน้านั้นเขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคหลายประการ ทั้งเรื่องผู้เล่น เงิน และการสร้างทีม เพราะบีนได้เสียตัวผู้เล่นคนสำคัญของทีมไป โดยที่เขาไม่สามารถทุ่มเงินเพื่อซื้อตัวนักเล่นแพงๆ มาเสริมทีมได้ เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด
ในระหว่างนั้นบีนได้พบกับ ปีเตอร์ แบรนด์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยลที่ชำนาญเรื่องตัวเลขและเข้ามาช่วยเหลือ พวกเขาเปลี่ยนกลยุทธ์ในการหาผู้เล่นด้วยการวิเคราะห์และคำนวณเชิงสถิติ แต่เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่ใหม่มากในตอนนั้น ช่วงแรกพวกเขาจึงถูกต่อต้านจากเพื่อนร่วมงานไม่น้อย จนเมื่อเวลาผ่านไป ทุกคนจึงได้เห็นว่าทฤษฎีที่ว่านั้นใช้ได้ผล ทีมโอคแลนด์ฯ สามารถสู้กับทีมใหญ่ที่มีเงินทุนหนากว่าได้ และคว้าชัยชนะอย่างต่อเนื่องถึง 20 ครั้ง
นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ทุกคนจะได้เห็นเกมการแข่งขันอันดุเดือด แต่เราจะได้เห็นรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมายผ่านความคิดและบทสนทนาของตัวละครที่ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อโชคชะตา
The Hateful Eight (2015)
สามชั่วโมงแห่งการเผชิญกับความหนาวเยือกจากหิมะ และความอบอุ่นจากเลือดเนื้อที่สาดกระเซ็น ผู้กำกับฯ อย่าง เควนติน ทารันติโน ยังคงมอบความบันเทิงแบบบ้าคลั่งให้กับเราเช่นเคย ทั้งจากบทสนทนาอันคมคายและหยาบคาย พฤติกรรมที่ยากจะคาดเดาของตัวละคร ความแสบสันกัดจิกที่คาบเกี่ยวกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และความรุนแรงชนิดถึงเลือดถึงเนื้อ ในตอนแรกเควนตินตั้งใจให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากเรื่อง Django Unchained แต่ภายหลังก็มีการปรับเปลี่ยนให้ไม่ข้องเกี่ยวกัน
การถ่ายทำชะงักลงช่วงหนึ่งในตอนต้นปี 2014 เพราะหลังจากที่สคริปต์มีการรั่วไหลออกมาทางออนไลน์ เควนตินก็เกือบจะพับโปรเจ็กต์นี้ทิ้ง และคิดจะเผยแพร่ออกมาในรูปแบบนวนิยาย แต่สุดท้ายเขากลับมาสานต่อ และเริ่มถ่ายทำอีกครั้งในต้นปี 2015
มันเป็นเรื่องของคนแปลกหน้าแปดคนที่ต้องมาหลบพายุอยู่ในบ้านหลังเดียวกันเป็นเวลาหนึ่งคืน แต่ภายในระยะเวลาเกือบ 24 ชั่วโมงนั้นเต็มไปด้วยบรรยากาศอึดอัดและความไม่น่าไว้วางใจ เริ่มจากการปรากฎตัวของผู้พัน มาร์ควิส วอร์เรน ที่ผ่านมาเจอกับนักล่าค่าหัวมือแขวนในตำนานอย่าง จอห์น รูธ ที่กำลังจะพา เดซี่ โดเมอร์กู ไปยังเรดร็อกเพื่อรับโทษประหาร และรับเงินค่าตอบแทนสำหรับการลงแรงครั้งนี้
จอห์นต้องรับมาร์ควิสขึ้นรถม้ามาด้วยอย่างเสียไม่ได้ และในระหว่างทางเขายังพบกับ คริส แมนนิคซ์ ว่าที่นายอำเภอคนใหม่ของเรดร็อก ทั้งหมดจำต้องเดินทางร่วมกันและหยุดพักกลางทางที่ร้านมินนี่ เพราะพายุหิมะดูจะทวีความรุนแรงขึ้น แม้จะอยู่ในหุบเขาอันห่างไกล แต่ร้านมินนี่ก็ยังมีคนอื่นๆ อีก ได้แก่ โจเกจ คาวบอยที่จะกลับบ้านไปเยี่ยมแม่, ออสวัลโด เพชฌฆาตแห่งเรดร็อก, แซนฟอร์ด อดีตนายพลฯ และบ็อบ ชายที่อ้างว่าดูแลร้านให้มินนี่ แต่ละคนแทบไม่มีใครไว้วางใจกัน เราไม่อาจล่วงรู้ว่าใครพูดความจริง ใครพูดโกหก หรือใครมีอะไรแอบแฝงอยู่
ดังนั้นกว่ารุ่งสางของวันใหม่จะมาถึง ทุกคนต่างจึงต้องเฝ้าระวังตัว และคิดให้ดีว่าจะผูกมิตรกับใคร เพราะมิเช่นนั้นร้านมินนี่อาจไม่ได้เป็นเพียงที่พักพิงชั่วคราวของพวกเขา แต่อาจจะกลายเป็นหลุมศพชั่วกาลไม่ว่าของใครหรือของตัวเอง
Tags: ภาพยนตร์, The list, บทภาพยนตร์