เดี๋ยวนี้เวลามีหนุ่มหล่อสาวสวยหน้าใหม่ๆ ปรากฏตัวในโซเชียลมีเดีย คอมเมนต์ที่จะต้องเห็นแทบทุกครั้งก็คือ “ขอวาร์ปหน่อย”

แน่นอนว่า คนที่ใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่บนเฟซบุ๊กหรือยูทูบก็ย่อมจะคุ้นเคยดีว่า วลีนี้เป็นวลีที่ใช้ขอข้อมูลเช่นชื่อเสียงเรียงนามหรือชื่อบัญชีอินสตาแกรม เพื่อจะได้ไปตามไปส่องคนคนนั้นได้

แต่ที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือ “วาร์ป” หรือ “warp” ที่เราเรียกๆ กันนี้ เจ้าของภาษาเขาไม่ได้ใช้เหมือนเรา!

สัปดาห์นี้ เราจะไปรู้จักคำว่า “วาร์ป” ให้ลึกซึ้งขึ้นว่า แท้จริงแล้วหมายถึงอะไร มาจากไหน ออกเสียงอย่างไร ถ้าพร้อมแล้ว วาร์ปไปข้อแรกเลยครับ!  

1. คำว่า warp ไม่ได้ออกเสียงว่า วาร์ป

แม้คำว่า warp จะสะกดคล้ายคำว่า harp (พิณ) ที่ออกเสียง ฮาร์ป หรือ tarp (ผ้าใบ) ที่ออกเสียงว่า ทาร์ป แต่คำนี้ดันผ่าเหล่าออกเสียงว่า วอร์ป ไม่ใช่ วาร์ป อย่างที่เราคุ้นๆ กัน (คล้ายที่ far ออกเสียงว่า ฟาร์ แต่ war ออกเสียงว่า วอร์)

2. คำว่า warp ไม่ใช่สิ่งที่เราเรียกว่า “วาร์ป” เลยเสียทีเดียว

คำว่า warp ที่เรายืมมาใช้ในความหมายทำนองว่า สิ่งที่พาเราเคลื่อนที่หรือหายตัวจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งนั้น อันที่จริงแล้วในภาษาอังกฤษไม่ได้ใช้ในความหมายเดียวกันเลยเสียทีเดียว

ในภาษาอังกฤษ คำว่า warp หมายถึง การบิดเบี้ยว โค้งงอ ปกติใช้พรรณนาสิ่งของที่ควรจะตรงหรือเรียบแต่ดันบิดหรือโค้งงอขึ้นมา เช่น พื้นไม้โดนน้ำแล้วโก่งงอ (a warp in the floorboards) หรือ แผ่นเสียงถูกความร้อนแล้วบิดงอเสียรูป (a warp in the vinyl record)

ว่ากันว่าในช่วงยุค 1940 นักวิทยาศาสตร์ยืมคำนี้ไปใช้อธิบายการบิดเบี้ยวของกาล-อวกาศ (space-time warp) ซึ่งเชื่อว่าทำให้วัตถุเช่นยานเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งด้วยความเร็วเหนือแสงได้ อย่างที่ปรากฏในหนังไซไฟต่างๆ เช่น ระบบวาร์ปไดรฟ์ในเรื่องสตาร์เทร็ก ทำให้คำว่า warp เริ่มมาเกี่ยวกับการเคลื่อนที่แบบพิเศษ

ทั้งนี้ คำว่า warp ยังถูกเอาไปใช้ในนิยายวิทยาศาสตร์ ใช้เรียกห้วงเวลาที่บิดเบี้ยวที่ทำให้คนเดินทางข้ามเวลาไปในอดีตหรืออนาคตได้ เรียกว่า time warp เกิดเป็นสำนวน stuck in a time warp หมายถึง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเลย ยังคงความโบราณล้าหลังเช่นเดิม เช่น After 30 years, he went back to his hometown and discovered that it was basically stuck in a time warp. ก็จะหมายถึง หลังจากบ้านเกิดมา 30 ปี พอกลับไปแล้วก็พบว่าไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย

ต่อมาภายหลัง คำว่า warp เริ่มถูกนำไปใช้ในเกม หมายถึง บริเวณที่เคลื่อนย้ายผู้เล่นจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเดินตามเส้นทางปกติ เช่น พาข้ามโซนหรือข้ามด่าน ความหมายนี้น่าจะเป็นที่มาของคำว่า “วาร์ป” แบบที่คนไทยเราใช้กันทุกวันนี้

แต่สำหรับเจ้าของภาษาแล้ว ส่วนใหญ่จะมีแต่พวกคอเกมที่รู้จักคำว่า warp ในความหมายนี้ ส่วนคนทั่วไปเมื่อได้ยินคำว่า warp จะนึกถึงอะไรที่บิดเบี้ยวผิดรูปมากกว่า

3. คำว่า warp เป็นกริยาได้ด้วย

คำว่า warp นี้ใช้เป็นกริยาได้ด้วย หมายถึง ทำให้บิดเบี้ยวหรือโก่งงอ เช่น Moisture caused the wooden door to warp. ก็จะหมายถึง ความชื้นทำให้ประตูไม้โป่ง หรือถ้าเครื่องปริ้นต์เสียแล้วทำให้ภาพที่พิมพ์ออกมาบิดเบี้ยว ก็อาจพูดว่า The image was warped because the printer malfunctioned.

ทั้งนี้ สิ่งที่ถูกทำให้บิดเบี้ยวไม่ต้องเป็นสิ่งของที่จับต้องได้ก็ได้ แต่อาจเป็นความคิด ความเชื่อ หรือวิจารณญาณที่ไม่เถรตรงก็ได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากเตือนเพื่อนว่าอย่าให้อคติมาบังตาจนกระทบวิจารณญาณ ก็อาจพูดว่า Do not let your prejudices warp your judgment. หรือ ถ้าจะพูดว่า ความมีชื่อเสียงทำให้เรามองโลกต่างไปจากเดิมได้ ก็อาจพูดว่า Fame can warp your perception of the world. ก็ได้เช่นกัน

4. คำว่า warp มีต้นกำเนิดมาจากการทอผ้า

แม้ว่าทุกวันนี้ warp จะนำมาใช้พูดถึงความบิดเบี้ยว แต่หากสืบสาวกลับไปถึงต้นตอ จะพบว่าคำนี้มีมาแต่สมัยยุคอังกฤษเก่าและเคยแปลว่า โยน เดิมใช้กับการทอผ้า หมายถึง เส้นด้ายที่เรียงตามความยาวในหูกทอผ้า (หรือที่เรียกว่า ด้ายยืน) ที่มีด้ายเส้นอื่น “ถูกโยน” หรือร้อยด้วยกระสวยขัดสลับไปเรื่อยๆ (หรือที่เรียกว่า ด้ายพุ่ง)

ทุกวันนี้ ด้ายยืนก็ยังคงเรียกว่า warp (ส่วนด้ายพุ่งเรียกว่า weft หรือ woof) และยังพบในสำนวน warp and weft ด้วย สำนวนนี้ใช้ในเชิงเปรียบเทียบ หมายถึง เส้นใยที่ถักทอขึ้นเป็นสิ่งๆ นั้น หรือโครงสร้างนั่นเอง (คล้ายกับคำว่า fabric) เช่น the warp and weft of Thai society หมายถึง โครงสร้างพื้นฐานของสังคมไทย

5. “เปิดวาร์ป” จริงๆ แล้วต้องพูดอย่างไร

คำในภาษาอังกฤษที่ดูจะใกล้เคียงกับสิ่งที่คนไทยใช้เรียก “วาร์ป” ที่หมายถึง ช่องทางที่พาข้ามไปยังอีกสถานที่หนึ่งที่สุด คือ portal คำนี้มีที่มาจากคำว่า porta ที่ภาษาละตินที่แปลว่า ประตู ดังนั้น ถ้าจะพูดว่าเปิดวาร์ปในความหมายทำนองว่าเปิดประตูมิติ เราก็อาจพูดว่า to open a portal

แต่ถ้าจะหมายถึงการขออินสตาแกรมแล้ว ปกติมักจะเขียนถามกันตรงๆ เช่น Does anyone have his Instagram? หรือ Do you have his Instagram handle? ไม่ได้ต้องเปิดวาร์ปหรือลอดประตูมิติอะไรให้พิสดารอย่างพวกเรา

 

บรรณานุกรม

  • http://www.etymonline.com/
  • American Heritage Dictionary of the English Language
  • Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
  • Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
  • Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
  • Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.
  • Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shorter Oxford English Dictionary
Tags: , ,