หลังจากผ่านการรัฐประหารมา 5 ปี ในที่สุดประชาชนคนไทยก็จะได้เลือกตั้งกันเสียที แต่แผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมาจริงหรือไม่ นั่นก็คงเป็นเรื่องที่เราต้องพิสูจน์กันต่อไป

แม้กฎกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้จะดูเอื้อประโยชน์ให้กับบางฝ่าย แต่เราก็ไม่อาจด่วนสรุปได้ว่าผลแพ้ชนะครั้งนี้จะเป็นอย่างไร เพราะทุกวันนี้ข่าวคราวการเลือกตั้งก็สร้างความตื่นตัวให้กับผู้คนอยู่ตลอด หากเราตระหนักได้ถึงบทเรียนราคาแพงที่ผ่านๆ มา อนาคตของประเทศไทยก็คงจะไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว

ก่อนจะถึงวันเลือกตั้งของประเทศไทย ขอให้ทุกคนผ่อนคลายไปกับภาพยนตร์ 5 เรื่องนี้กันก่อน มาชมกันว่าบรรยากาศการเลือกตั้งแต่ละแห่งนั้นดุเดือดขนาดไหน พวกเขาแต่ละคนสูญเสียอะไรไปบ้างไหม เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ

The Manchurian Candidate (2004)

ภาพยนตร์การเมืองระทึกขวัญ ที่กำกับโดยโจนาธาน เด็มม์ (เจ้าของรางวัลออสการ์ สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จาก The Silence of the Lambs (1991)) เรื่องนี้โจนาธานได้หยิบเค้าโครงเรื่องมาจากนวนิยายขายดีของ ริชาร์ด คอนดอน ต้นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1959 และเคยถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้วในปี 1962 แต่พล็อตเรื่องในตอนนั้นเป็นเรื่องราวของทหารที่ผ่านสงครามเกาหลีและถูกจับไปโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน

มันเป็นเรื่องราวฝันร้ายที่ทำให้พันตรีเบนเน็ตต์ มาร์โค ไม่อาจหลับตาลงได้ เขาคือชายผู้ผ่านสงครามอ่าวเปอร์เซียมา เขาและทีมต่างตกอยู่ในอันตราย แต่ด้วยความกล้าหาญของสิบเอกเรย์มอนด์ ชอว์ จึงทำให้มาร์โค่รอดชีวิตมาได้ เขาจึงสนับสนุนให้ชอว์ได้รับมอบเหรียญกล้าหาญ

หลังกลับจากสงคราม มาร์โคใช้ชีวิตด้วยการกล่าวถึงเหตุการณ์นั้นวันแล้ววันเล่า แต่ฝันร้ายบางอย่างก็จู่โจมเขาเข้า จนมันเริ่มสั่นคลอนสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ฝันร้ายนั้นมาพร้อมๆ กับการก้าวเข้าสู่ผู้ลงสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของชอว์ เขาสว่างไสว น่าเชื่อถือ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งหมดทั้งมวลนี้มาจากการผลักดันของแม่ชอว์ ผู้สนับสนุนให้เขาได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจ

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังเดินทางมาถึง มาร์โค่จะต้องไขความจริงให้ได้ก่อนที่ทำเนียบขาวจะถูกสั่นคลอน ว่าฝันร้ายของเขานั้นหมายถึงอะไร มันเกี่ยวอะไรกับชอว์

คนที่เขายกย่องว่าเป็นวีรบุรุษแท้จริงแล้วคือปีศาจร้ายหรือเปล่า

ภาพยนตร์อาจจะมีช่องโหว่อยู่บ้าง จึงทำให้ในบางประเด็นไม่น่าเชื่อถือเท่าไร แต่การแสดงของสามนักแสดงหลัก ทั้งเดนเซล วอชิงตัน, เมอรีล สตรีป และลีฟ ชรีเบอร์ นั้นโอบอุ้มทุกอย่างไว้ได้หมด เราจะค่อยๆ ดำดิ่งไปกับความรู้สึกของเดนเซล ล้วงลึกถึงปมปัญหาส่วนตัวของลีฟ และการเคี่ยวเข็ญเพื่อลุสู่อำนาจของเวอรีล ภายใต้บรรยากาศระทึกขวัญที่กำลังดำเนินสู่วันเลือกตั้ง

The Ides of March (2011)

The Ides of March ผลงานที่นักแสดงมากความสามารถอย่างจอร์จ คลูนีย์ เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยหลากหลายบทบาท ทั้งอำนวยการสร้าง ร่วมเขียนบท กำกับ และแสดงนำ เนื้อหาดัดแปลงมาจากละครเวทีเรื่อง Farragut North ของโบ วิลลิมอน

ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และคำวิพากษ์วิจารณ์ ตีแผ่แวดวงการเมืองออกมาได้อย่างเจ็บแสบและสนุกสนาน จนไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจึงได้เป็นหนึ่งใน 10 ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในปี 2011 โดย National Board of Review

แวดวงการเมืองนั้นเต็มไปด้วยกลยุทธ์และการแข่งขัน หากใครสักคนพลาดก็เท่ากับการดับอนาคตของตัวเองได้เลยทีเดียว ดังนั้น ไมค์ มอร์ริส ผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนียจึงลงทุนลงแรงอย่างมากกับการเข้าชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครต เพื่อเข้าแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งมีสตีเฟน ไมเยอร์ส เคียงข้างกายในการเป็นนักรณรงค์หาเสียง

หน้าที่ของไมเยอร์ส คือวางแผนการหาเสียงและดูแลภาพลักษณ์ของมอร์ริส ซึ่งเขาเองก็มุ่งมั่นและทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ แต่การเมืองไม่สวยงามขนาดนั้น มันค่อยๆ กลืนกินอุดมการณ์ของไมเยอร์สไปทีละน้อยๆ และผลักให้เขาล้มลง เขาสูญเสียทุกอย่างให้กับเกมการเมือง และย่อยยับไปเพียงตัวคนเดียว

แต่อย่างน้อยที่สุดไมเยอร์สก็รู้แล้วว่าเขาต้องเล่นเกมนี้อย่างไร ความไม่ประสีประสาหายไปจากแววตา และเขาพร้อมจะสู้กลับด้วยการเดินหมากที่แตกต่างไปจากเขาในวันวาน ไม่ว่าจะด้วยเกมบนโต๊ะหรือใต้โต๊ะ เพราะถ้าไมเยอร์สสร้างบางอย่างขึ้นมาได้ เขาก็สามารถทำลายสิ่งนั้นลงได้เช่นกัน

เราจะได้พบการเฉือดเฉือนกันระหว่างจอร์จ คลูนี่ย์ และไรอัน กอสลิ่ง ที่แทบจะกินกันไม่ลง และบทบาทของไรอันในเรื่อง (แสดงเป็นไมเยอร์ส) แทบไม่ต่างอะไรจากประชาชนทั่วไปที่มีความเชื่อและอุดมการณ์บางอย่าง แต่เมื่อพบความจริง จึงจะได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องใสสะอาด เพราะมันเป็นเรื่องของประโยชน์และอำนาจ อยู่ที่ว่าคนที่ขึ้นมาปกครองนั้นคิดถึงประโยชน์ของใครมากกว่ากัน ระหว่างประชาชนกับตัวเอง

Game Change (2012)

Game Change ภาพยนตร์โทรทัศน์จาก HBO ที่ได้นักแสดงมากความสามารถอย่างจูลีแอนน์ มัวร์ มารับบท ซาร่าห์ เพลิน ในแคมเปญเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งดุเดือดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ โดยมัวร์เปิดเผยว่าเธอทำการบ้านหนักมากสำหรับการแสดงเรื่องนี้ ทั้งฝึกสำเนียงการพูดและอ่านหนังสือ Game Change ที่ซาร่าห์เป็นผู้เขียน

ชื่อเต็มๆ ของหนังสือต้นฉบับที่นำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์คือ Game Change: Obama and the Clintons, McCain and Palin, and the Race of a Lifetime ซึ่งเขียนขึ้นในปี 2010

ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าจากมุมมองที่ปรึกษาสองคนของ จอห์น แม็คเคน ได้แก่ สตีฟ ชมิดท์ และนิโคลล์ วอลเลซ ย้อนไปในปี 2008 แมคเคนได้ลงสมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกัน เพื่อสมัครเข้ารับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในขณะที่เขากำลังต่อสู้เพื่อแย่งชิงตำแหน่งกับคนอื่นๆ แมคเคนก็ได้ชมิดท์มาร่วมงานด้วยในฐานะนักวางแผนการเลือกตั้ง

จากนั้นเขาก็ได้เป็นตัวแทนพรรคสมใจหวัง เมื่อเริ่มรณรงค์หาเสียง แมคเคนทำให้มันคึกคักยิ่งขึ้น ด้วยการเลือกผู้ว่าการรัฐอลาสก้า ซาร่าห์ เพลิน ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กันกับเขา เธอคือผู้ว่าการรัฐอลาสก้าที่อายุน้อยที่สุดและเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้

ส่วนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝั่งเดโมแครตก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นั่นคือบารัก โอบามา ที่ขณะนี้เราต่างรู้จักเขาอยู่แล้ว เพลินกลายเป็นดาวดวงใหม่ของพรรครีพับลิกันทันที เธอได้ใจคนไปจำนวนมาก แต่การต่อสู้ของเธอเพิ่งจะเริ่มเท่านั้น เพราะบททดสอบสำคัญยังอีกยาวไกลและไม่ง่ายนัก ทุกสิ่งที่เธอเคยทำจะถูกขุดคุ้ย ทุกคำพูดของเธอจะมีความหมาย การแสดงออกในที่สาธารณะจะถูกจับจ้อง และจะถูกจดจำอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์

ถึงแม้เราจะรู้ผลลัพธ์ของการแข่งขันครั้งนี้อยู่แล้ว แต่การได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นก็ยังน่าติดตามอยู่ โดยเฉพาะการแสดงของมัวร์

Our Brand is Crisis (2015)

Our Brand Is Crisis ดัดแปลงมาจากสารคดีปี 2005 ในชื่อเดียวกันของราเชล บอยน์ตัน ซึ่งเกี่ยวกับกลยุทธ์ทางการตลาดในการรณรงค์หาเสียง เนื้อหาในภาพยนตร์ล้อเลียนการเมืองอย่างเจ็บแสบ มุ่งประเด็นไปที่ทีมวางแผนการหาเสียงการเลือกตั้งที่ต้องห้ำหั่นกันเพื่อชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีประเทศโบลิเวีย

งานนี้ผู้กำกับ เดวิด กอร์ดอน กรีน ได้นักแสดงหญิง แซนดร้า บูลล็อค มารับบทนักวางกลยุทธ์ ผู้เคยประสบความสำเร็จมาแล้วจากแคมเปญหาเสียง แต่ปัจจุบันเธอกำลังหมดไฟ

ในปี 2002 อดีตประธานาธิบดีเปโดร คาสเตลโลได้ว่าจ้างให้เจน โบดีน มาเป็นที่ปรึกษาทางการเมือง เพื่อช่วยให้เขาชนะการเลือกตั้ง และขึ้นไปนั่งอยู่บนเก้าอี้ของประธานาธิบดี ซึ่งความจริงเจนวางมือจากการทำงานด้านนี้ไปแล้ว แต่เธอก็ถูกชักจูงให้ออกมาประมือกับคู่แข่งที่ไม่เคยชนะมาก่อน เจนจึงตกปากรับคำโดยที่ไม่รู้เลยว่าเปโดรคือผู้สมัครที่ไม่มีใครชอบหน้าเขาเท่าไร

ฝีไม้ลายมือของเจนนั้นค่อนข้างน่าประทับใจ เธอสามารถจัดการกับวิกฤตต่างๆ และแก้เกมได้อย่างมีชั้นเชิง สามารถมองเห็นและยังนำเสนอจุดแข็งของเปโดรได้อย่างชาญฉลาด การสร้างภาพลักษณ์ให้กับเปโดรจึงเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่การแข่งขันนี้ พวกเขาไม่เพียงต้องแข่งกับคนอื่นที่ชิงตำแหน่งนี้เท่านั้น แต่การต่อสู้กับสื่อก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องทำเช่นกัน หลายครั้งที่หลายคนพลาดเพราะเรื่องอื้อฉาว แต่เมื่อเปโดรได้เจนมาอยู่ในมือ เขาก็สามารถพลิกเกมรับให้กลายเป็นเกมรุกได้ ชัยชนะนั้นสยบอยู่แทบเท้าเขาแล้ว

สิ่งสำคัญที่ภาพยนตร์กำลังฉายให้เราเห็น ไม่ใช่แค่การชิงไหวชิงพริบหรือการทำลายล้างอีกฝ่าย แต่บทสรุปนั้นพาเราไปเห็นว่า หลังจากได้รับชัยชนะ ผู้ชนะปฏิบัติตัวอย่างไร ทุกอย่างดำเนินไปตามนโยบายหรือไม่ แล้วถ้ามันไม่เป็นอย่างนั้น ความผิดพลาดนี้เป็นของใคร ทีมหาเสียง ประชาชน หรือนักการเมือง

The Front Runner (2018)

ผลงานการกำกับชิ้นล่าสุดของเจสัน ไรต์แมน (Juno (2007), Up In The Air (2009) และ Tully (2018)) ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของแกรี ฮาร์ต นักการเมืองดาวรุ่งที่เกือบจะเดินทางไปถึงเส้นทางของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดัดแปลงมาจากหนังสือ All the Truth Is Out: The Week Politics Went Tabloid เขียนโดย แมตต์ ไบ นักข่าวสายการเมือง ที่บันทึกเส้นทางการเมืองของแกรีไว้อย่างโลดโผน โดยมีฮิวจ์ แจ็กแมน มารับบทแกรี

ฮิวจ์ กล่าวว่านี่เป็นบทที่ท้าทายอย่างมาก เพราะเขาต้องแสดงเป็นบุคคลที่เคยมีตัวตนอยู่จริง และห่างไกลจากหลายๆ บทที่เคยได้รับ

ในปี 1984 แกรี่ ฮาร์ต พ่ายแพ้ให้กับการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต เพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่เขาก็ตั้งหลักใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และกลับมาลงแข่งอีกครั้งในปี 1988 และไม่ใช่แค่นั้น เขากลายเป็นตัวเต็งที่จะคว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไปครองเสียด้วยซ้ำ

The Front Runner จับช่วงเวลาสำคัญ 3 สัปดาห์ก่อนไพรมารีโหวตมานำเสนอ และมันก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแกรีไปโดยปริยาย ช่วงเวลาก่อนหน้านั้นทุกอย่างไปได้สวย แกรี่คว้าคะแนนเสียงไปอย่างท่วมท้น ทิ้งคู่แข่งคนอื่นไปอย่างไม่เห็นฝุ่น เขาคือชายที่ฉลาดทั้งคำพูดและความคิด เป็นที่รักและเป็นความหวังให้กับการเมืองอเมริกา จนกระทั่งเพียงชั่วข้ามคืนที่อนาคตของแกรี่ต้องดับวูบลง เพราะข่าวฉาวเชิงชู้สาวกับดอนนา ไรซ์ หลุดออกมา และถึงแม้แกรี่จะแก้ตัวอย่างไร ข่าวนี้ก็ไม่มีที่ท่าว่าจะหยุดลง

เส้นทางสู่ทำเนียบขาวของเขาดูจะปิดตายไปแล้ว สิ่งที่ทำมาโดยตลอดไร้ความหมายไปในทันที สื่อพากันรุมทึ้งชีวิตส่วนตัวของเขา ทีมหาเสียงจำเป็นต้องพลิกเกมกันแบบชั่วโมงต่อชั่วโมง แม้จะดูไร้ความหวังแค่ไหน แต่เพื่อไม่ให้ทุกอย่างแย่ลงไปมากกว่านี้ พวกเขาจำต้องสู้จนนาทีสุดท้าย

ภาพยนตร์ตั้งคำถามกับผู้ชมได้ดีในแง่ของการเลือกคนมาบริหารประเทศ เราเลือกอะไรจากอะไรมากกว่ากัน ระหว่าง ‘ผลงาน’ หรือ ‘ภาพลักษณ์’ เราสามารถใช้จริยธรรมส่วนตัวตัดสินความสามารถของใครคนใดคนหนึ่งได้หรือไม่ แล้วถ้าสิ่งนั้นเป็นแค่โคลนที่คนอื่นป้ายมา เราจะมีวิธีจัดการกับมันอย่างไร?

Tags: , , , , , ,