“เมื่อหมดลมหายใจ ก็เอาอะไรไปไม่ได้” ประโยคคุ้นหูที่ไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริง แต่คำว่าเอาไปไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเราหมดลมหายใจ ทุกสิ่งทุกอย่างของเราจะอันตรธานหายไปด้วย สิ่งที่หลงเหลือไว้อาจเป็นแค่ความทรงจำของใครบางคน อาจเป็นข้าวของเครื่องใช้ไม่จำเป็น หรืออาจเป็นผลงานที่จะคงอยู่ยาวนานอย่างไม่มีใครเคยนึกคิด ดังที่เราเห็นได้จากผลงานศิลปะชิ้นเอกของโลกหลายชิ้น ที่ยังคงงดงามข้ามกาลเวลามาจวบจนปัจจุบัน และนับวันคุณค่า รวมถึงมูลค่าของมันก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้น

แต่กว่าที่ผลงานแต่ละชิ้นจะถูกค้นพบคุณค่าของมัน บ่อยๆ ก็ล่วงเลยอายุขัยของตัวศิลปินไปแล้ว ในแง่หนึ่งมันคงเป็นกำลังใจให้เราได้ว่า การได้ลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองรักย่อมมีบางสิ่งตอบแทนกลับมาเสมอ ไม่ว่าจะความสุขเล็กๆ น้อยๆ เรี่ยวแรงของหัวใจ หรือแม้แต่ความหมายในการมีชีวิต ถึงมันจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่หวัง แต่อย่างน้อยเราก็ได้ทุ่มเทให้มันอย่างเต็มที่ อย่างที่เราจะไม่นึกเสียใจหากตายลง อันจะเห็นได้จาก 5 ภาพยนตร์เหล่านี้

Séraphine (2008)

Séraphine ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวของเซราฟีน หลุยส์ จิตรกรสาวใหญ่ สัญชาติฝรั่งเศส หรือที่รู้จักในนาม เซราฟีนแห่งซ็องลี เธอคือแม่บ้านที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในเวลากลางมืด รักการวาดภาพ เปี่ยมพรสวรรค์ แต่ดูจากรูปลักษณ์ภายนอกเธอก็ไม่ต่างอะไรกับหญิงสติไม่สมประกอบ จนวันหนึ่งผลงานของเธอถูกค้นพบโดยนายจ้าง

ผลงานของเซราฟีน ถูกจัดว่าเป็นศิลปะไร้มายา (Naïve art) เธอเรียนรู้การวาดภาพด้วยตัวเอง ซึ่งภาพเขียนของเธอล้วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากศาสนาและพระเจ้า

เซราฟีน หลุยส์ ทำงานประจำและหาเลี้ยงตัวเองด้วยการเป็นแม่บ้าน แต่นอกเหนือไปจากงานทำความสะอาด ใครจะรู้เล่าว่าแม่บ้านท่าทางงกๆ เงิ่นๆ คนนี้มีพรสวรรค์ด้านการวาดภาพ เธอชื่นชมความงามในธรรมชาติเป็นอย่างมาก เธอรักการเดินเล่นระหว่างทางไปทำงาน เมื่องานหนักในเวลากลางวันจบสิ้นลง เซราฟีนจะกลับมาเขียนภาพใต้แสงเทียนคนเดียวเงียบๆ ไม่เป็นที่รู้จัก และไม่เป็นที่สนใจของใคร จนวิลเฮล์ม อูเดอ นักสะสมศิลปะชาวเยอรมันมาค้นพบเข้า เขาให้คำมั่นว่าจะทำให้ผลงานของเธอเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่ยังไม่ทันได้ทำตามคำพูดที่ให้ไว้ เขาก็มีเหตุให้พลัดพรากไปจากที่นั่น แต่เซราฟีนที่ยังคงอยู่ก็ไม่เคยหยุดวาดภาพเลย

ปี 1927 อูเดอกลับมายังฝรั่งเศสอีกครั้ง เขาตามหาเซฟารีนจนพบ และคอยอุปถัมภ์ผลงานของเธอนับจากนั้น เซราฟีนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าเก่า และเธอก็เข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เส้นทางชีวิตของเธอก็ไม่เคยเรียบง่าย เพราะท้ายที่สุดแล้วเซราฟีนต้องเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิต จิตใจของเธอไม่ได้เป็นของเธออีกต่อไป หากแต่มันอาจอยู่ในเงื้อมมือของพระเจ้าไปแล้ว

Mr. Turner (2014)

Mr. Turner ภาพยนตร์อัตชีวประวัติที่เล่าถึงช่วงเวลา 25 ปีสุดท้ายในชีวิตของ เจ.เอ็ม.ดับเบิลยู. เทอร์เนอร์ แสดงนำโดยทิโมธี สปอลล์ ผู้ที่หลายคนคุ้นเคยจากบทหางหนอน ในภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ในการแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ทิโมธีใช้เวลาเกือบสองปีเพื่อที่จะเรียนรู้วิธีการวาดภาพและการลงฝีแปรงลงไปบนผืนผ้าใบ

เทอร์เนอร์ เป็นจิตรกรชื่อดังสัญชาติอังกฤษในยุค Romanticism เขามีความเชี่ยวชาญและสันทัดการวาดทิวทัศน์ และถือเป็นรากฐานของงานศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ เทอร์เนอร์เป็นที่รู้จักในนามศิลปินที่ยิ่งใหญ่ แต่ขณะเดียวกันในตอนที่ยังมีชีวิตเขาคือคนที่อื้อฉาวที่สุดคนหนึ่งเช่นกัน เขามีนิสัยกักขฬะ เห็นแก่ตัว พูดจาโผงผาง และไม่แคร์คนอื่นเท่าไรนัก

ภาพยนตร์หยิบยกเรื่องราวช่วงบั้นปลายของเทอร์เนอร์มาเล่า ชีวิตของเขาเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จมาโดยตลอดในด้านชื่อเสียงและผลงาน เขามีแกลเลอรีเล็กๆ เป็นของตัวเอง และยังอยู่ร่วมกันกับพ่อของตัวเอง พ่อของเทอร์เนอร์เป็นคนที่คอยดูแลเขาในหลายๆ อย่าง จนเมื่อบุคคลอันเป็นที่รักคนนี้เสียชีวิตลง เทอร์เนอร์จึงได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เขาตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า และเริ่มมีชู้รัก เขานอนกับแม่บ้านบ้างเป็นครั้งคราว เทอร์เนอร์ในตอนนั้นใช้ชีวิตราวกับคนเสียสติ แต่เขาก็ยังสร้างผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละภาพนั้นก็ล้วนแล้วแต่บ่งบอกถึงพรสวรรค์ของเขาได้เป็นอย่างดี แม้จิตใจจะชำรุดเพียงใด อย่างน้อยเขาก็ยังมีสิ่งหนึ่งให้ยึดไว้ นั่นก็คือการวาดภาพ

ภาพยนตร์ถ่ายทอดทิวทัศน์ในแต่ละฉากได้อย่างดงาม และการแสดงของทิโมธีก็ทำให้เราเชื่อได้อย่างสนิทใจว่าเขาคือเทอร์เนอร์ ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาหรือท่าทางต่างๆ และอาจรวมไปถึงจิตวิญญาณของเทอร์เนอร์เลยด้วยซ้ำ นับเป็นการถ่ายทอดบั้นปลายชีวิตของเทอร์เนอร์ได้อย่างน่าจดจำ

Big Eyes (2014)

Big Eyes ผลงานกำกับจากทิม เบอร์ตัน นำแสดงโดยเอมี่ อดัมส์และคริสทอฟ วัลซ์ ซึ่งหยิบยกเรื่องราวของศิลปินชาวอเมริกันนาม มาร์กาเรต คีน มาถ่ายทอด เธอคือจิตรกรผู้โด่งดังจากการวาดภาพเด็กหญิงตาโต

ก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าฉาย ภาพวาดของ มาร์กาเรต มียอดขายสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยภาพเขียนขนาดเล็กมีราคาถึง 8,500 เหรียญ ผู้กำกับทิม เบอร์ตัน เองก็มีผลงานของเธอในครอบครองมากมาย Big Eyes นับเป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์อัตชีวประวัติเรื่องที่สองของทิม เบอร์ตัน นับจากเรื่อง Ed Wood (1994) ซึ่งห่างกันถึง 20 ปีเต็ม

    ในปี 1958 มาร์กาเรต เลิกรากับสามีของตัวเอง เพราะทนสภาพความกดขี่ในครอบครัวไม่ไหว เธอพาลูกสาวตัวเล็กมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ซานฟรานซิสโก เมื่อมาถึง การตกหลุมรักครั้งใหม่ก็เกิดขึ้น มาร์กาเรตพบรักกับวอลเตอร์ คีน และแต่งงานกับเขา ทั้งมาร์กาเรตและคีนต่างก็เป็นศิลปินด้วยกันทั้งคู่ แต่ภาพวาดของพวกเขาแตกต่างกัน มาร์กาเรตชอบวาดภาพที่มีดวงตาโตผิดธรรมชาติ เพราะเธอบอกว่าดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ แต่ผลงานของเธอก็ไม่ได้เป็นที่นิยมสักเท่าไร จนกระทั่ง… คีนนำภาพของเธอไปขาย ด้วยพรสวรรค์ในการขายของเขา มันส่งผลให้ภาพวาดเด็กหญิงที่มีดวงตากลมโตนั้นเป็นที่รู้จักมากขึ้น และมันคงจะดีที่ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับมาร์กาเรต ถ้าคีนไม่แอบอ้างว่าเขาเป็นคนวาดผลงานทั้งหมดขึ้นมาเอง ในช่วงแรกเธอยังอดรนทนได้ แต่ไม่นานนักความอึดอัดก็ปะทุออกมา มาร์กาเรตออกมาประกาศกร้าวว่าเธอคือเจ้าของผลงานตัวจริง ซึ่งนั่นนำไปสู่การฟ้องร้องครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์

    นอกเหนือไปจากปัญหาขายงานที่ศิลปินหลายๆ คนพบเจอแล้ว Big Eyes ยังแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เกิดกับผู้หญิงในยุคนั้นด้วย มาร์กาเรตขายงานไม่ได้และไม่ถูกยอมรับ ซ้ำยังต้องตกอยู่ภายใต้เงาของสามีตัวเอง แต่ที่สุดแล้วเมื่อเธอลุกขึ้นมาสู้เพื่อเปิดเผยความจริง ฝีมือของเธอก็ได้พิสูจน์ทุกอย่างให้เห็น ซึ่งมันยังสอดแทรกเรื่องลิขสิทธิ์ไปในตัวด้วย ปัจจุบันเราเห็นคนโดนคัดลอกผลงานมากมาย จนบางทีมันก็ชัดเจนว่าไม่ใช่แรงบันดาลใจ แต่เป็นการหยิบยกมากล่าวอ้างว่านี่คือผลงานของฉันอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว เราจึงต้องปกป้องผลงานตัวเองเพื่อตัวเอง เพราะถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำกันเล่า

Maudie (2016)

Maudie ว่าด้วยชีวิตของศิลปินโฟลค์อาร์ทหญิงนาม มัลด์ ลูว์อิส ซึ่งสวมบทโดยแซลลี ฮอว์กินส์ นักแสดงสาวชาวอังกฤษที่การแสดงของเธอมักสะกดหัวใจคนดูไว้ได้ทุกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องล่าสุดอย่าง The Shape of Water (2017) สำหรับการแสดงในเรื่องนี้แซลลีต้องยืดกล้ามเนื้อและเล่นโยคะในตอนเย็นบ่อยครั้ง เพื่อให้ร่างกาย รวมถึงจิตใจหลุดออกมาจากการเป็นมัลด์ ลูว์อิส

Maudie สร้างมาจากชีวิตของมัลด์ ลูว์อิส หญิงพิการชาวแคนาดา ผู้มีปัญหาโรคไขข้ออักเสบ ซึ่งมันส่งผลให้เธอเคลื่อนไหวได้อย่างยากลำบาก แล้วชีวิตของเธอก็ยิ่งข้นแค้นมากขึ้น เมื่อพ่อและแม่เสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกัน บ้านอันเป็นมรดกหนึ่งเดียวที่ท่านหลงเหลือไว้ก็ถูกพี่ชายขายทิ้งไป

มัลด์ ถูกมองว่าโง่เง่าและไร้ความสามารถ จนวันหนึ่งเธอก็ตัดสินใจออกไปใช้ชีวิตและหางานทำเอง มัลด์ได้งานเป็นแม่บ้านทำความสะอาดให้กับพ่อค้าขายปลา อีเวอเรตต์ ลูว์อิส ในช่วงที่พยายามทำความสะอาด มัลด์ก็เริ่มวาดภาพของเธอไปด้วย นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอได้พบกับแซนดร้า ลูกค้ารายหนึ่งของอีเวอเรตต์ แซนดร้าสนใจผลงานของเธอ และมอบหมายให้มัลด์วาดภาพบางภาพให้ จากนั้นมัลด์ก็วาดภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ภาพเขียนของเธอส่วนใหญ่มีขนาดค่อนข้างเล็ก เพราะเธอไม่สามารถขยับแขนได้เหมือนคนปกติทั่วไป ระหว่างปี 1945-1950 ผู้คนที่สัญจรผ่านบ้านของอีเวอเรตต์และมัลด์ก็หยุดจอดรถที่นี่มากขึ้น พวกเขาอุดหนุนภาพเขียนเล็กๆ เหล่านั้น และนั่นก็นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของหญิงพิการและพ่อค้าขายปลา

มัลด์มีชีวิตอย่างกล้าหาญเท่าที่หญิงสาวคนหนึ่งจะมีได้ เธอพยายามก้าวข้ามอุปสรรคทางร่างกายเพื่อให้ได้ทำในสิ่งที่รัก การเฝ้ามองชีวิตเธอจากภาพยนตร์เรื่องนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการที่เราเติมเชื้อไฟให้กับชีวิตตัวเอง

Loving Vincent (2017)

ใครบ้างจะไม่เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของวินเซนต์ แวน โก๊ะ เขาคือชายที่ทุ่มเทให้กับการวาดภาพทั้งชีวิต แต่กลับแทบไม่เคยขายผลงานของตัวเองได้เลย เขาคือชายที่ตัดใบหูของตัวเองไปมอบให้หญิงสาว เขาคือชายที่ถูกมองว่าเป็นคนบ้าไม่สมประกอบ และเขาคือชายที่เหนี่ยวไกปืนใส่ตัวเอง ก่อนจะเสียชีวิตในอีกสองวันหลังจากนั้น

ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ ประกอบไปด้วยผลงานการวาดสีน้ำมันด้วยมือจากศิลปินกว่าร้อยชีวิต ทั้งหมด 65,000 เฟรม โดยใช้เทคนิคเดียวกันกับที่แวน โก๊ะ ใช้ ไม่ว่าจะด้วยความทุ่มเทของทีมงาน ความแปลกใหม่ในการเล่าเรื่อง หรือใดๆ ก็ตาม ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จไปอย่างงดงาม โดยทำรายได้มากเกือบ 9 เท่าของงบที่ลงทุนสร้าง

Loving Vincent เล่าเรื่องหนึ่งปีหลังจากที่แวน โก๊ะ เสียชีวิตไปแล้ว บุรุษไปรษณีย์นายหนึ่งที่คุ้นเคยกับแวน โก๊ะ เป็นอย่างดีต้องการส่งจดหมายฉบับสุดท้ายของแวน โก๊ะให้กับธีโอ น้องชายของเขา ดังนั้นบุรุษไปรษณีย์จึงไหว้วานให้อาร์มาน ลูกชายของตนเป็นคนไปส่งจดหมายฉบับนี้ อาร์มานเดินทางจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง รับรู้เรื่องราวหลากหลายจากเสี้ยวความทรงจำของคนต่างๆ นานาที่รายล้อมตัวแวน โก๊ะ รวมถึงการตายของธีโอ ผู้ที่ไม่สามารถมารับจดหมายได้อีกต่อไป

ทั้งที่อาร์มานไม่เคยสนใจชีวิตของแวน โก๊ะ เลยสักนิด แต่ตอนนี้เขากลับคลางแคลงใจเกี่ยวกับการตายของแวน โก๊ะ ทำไมชายที่มีความสุขกับการวาดภาพถึงเลือกจะยิงตัวตาย เขาโดนกดดันจากอะไร หรือใครเป็นคนเหนี่ยวไกกันแน่ อาร์มานขุ่นเคืองที่ไม่อาจหาคำตอบนี้ให้กับตัวเองได้ เขาจึงประกอบสร้างและพยายามตามรอยสุดท้ายในชีวิตของแวน โก๊ะไป พร้อมกับจดหมายไม่มีผู้รับฉบับนั้น…

 ภาพยนตร์พาเราย้อนไปสำรวจความตายของแวน โก๊ะ อย่างเคารพต่องานของเขาและชีวิตของเขา ภาพวาด รวมถึงเทคนิคของแวน โก๊ะ ถูกรังสรรค์ขึ้นอย่างละเอียดลออ มันมีชีวิตและเคลื่อนไหวอย่างดงาม เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและศิลปะดั้งเดิมได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

Tags: , , , , , , ,