ซีเรียกลายเป็นสนามประลองทับซ้อน 3 ระดับ เริ่มด้วยการชิงอำนาจภายในระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายกบฏ ตามด้วยการแข่งอิทธิพลระหว่างชาติพี่เบิ้มในภูมิภาค บานปลายเป็นศึกผลประโยชน์ระหว่างมหาอำนาจโลก

หลังจากสงครามกลางเมืองดำเนินมานาน 7 ปี มีคนตายไปแล้วอย่างน้อย 5 แสนคน พลัดถิ่นฐานอีกหลายล้าน เมื่อวันเสาร์ที่ 14 เมษายน ชาติตะวันตกเปิดฉากแทรกแซงครั้งใหญ่ที่สุด ด้วยการโจมตีทางอากาศต่อโรงงานอาวุธเคมีในซีเรีย

อันที่จริง นับแต่ปี 2014 สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เข้าไปมีเอี่ยวในสงครามซีเรียโดยตลอด แต่ส่วนใหญ่เป็นปฏิบัติการที่ไม่โฉ่งฉ่างนัก

การยิงจรวดและทิ้งระเบิดเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว โดยอ้างว่าเพื่อตอบโต้การใช้อาวุธก๊าซพิษของรัฐบาลซีเรีย ทำให้พลเรือนบาดเจ็บล้มตาย นับเป็นการแทรกแซงของชาติตะวันตกที่กลายเป็นข่าวดังมากที่สุดครั้งหนึ่งของความขัดแย้งในซีเรีย

สื่อมวลชนโหมประโคมว่า สงครามเย็นรอบใหม่ระหว่างค่ายโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกกำลังหวนคืนมา บ้างว่าเป็นสงครามตัวแทนระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย บ้างไปไกลถึงขั้นว่า สงครามโลกครั้งที่สามกำลังตั้งเค้า

วิกฤตการณ์ซีเรียจะยกระดับไปถึงจุดไหน เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้อีกยาว ก่อนคาดการณ์ถึงพัฒนาการเบื้องหน้า ควรตั้งต้นที่การทำความเข้าใจสภาพของความขัดแย้ง

ในสงครามซีเรีย มีคู่ขัดแย้ง 3 ระดับ คือ ระดับรัฐ ระดับภูมิภาค และระดับโลก

เหตุที่แก้ไขได้ยากก็เพราะเป็นความขัดแย้งหลายฝ่าย แต่ละฝ่ายมีเป้าประสงค์ที่สวนทางกัน การบรรลุเป้าของฝ่ายหนึ่งจะทำให้ฝ่ายอื่นตกเป็นผู้สูญเสีย ต่างฝ่ายจึงต่างยอมกันไม่ได้

นอกจากขัดแย้งกันด้วยผลประโยชน์แล้ว กล่าวเฉพาะในระดับรัฐและระดับภูมิภาคนั้น ยังมีความขัดแย้งในมิติของชาติพันธุ์และนิกายศาสนาเป็นปัจจัยแถมซ้อนในเบื้องลึกด้วย

ทางหลวงในดามัสกัส ประเทศซีเรีย (22 เมษายน 2018 โดย REUTERS/Ali Hashisho)

สงครามภายใน

สงครามซีเรียเป็นผลสืบเนื่องจากระลอกคลื่นของการเรียกร้องประชาธิปไตยในโลกอาหรับที่เรียกกันว่า ‘อาหรับสปริง’ ซึ่งปะทุครั้งแรกที่ประเทศตูนีเซียเมื่อปี 2010 แล้วลามไปยังอียิปต์ ลิเบีย เยเมน จนถึงซีเรียและเยเมนในปี 2011

รัฐบาลพรรคบาธของประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด ปกครองซีเรียมาตั้งแต่ปี 2000 โดยสืบตำแหน่งต่อจากบิดา คือ ฮาฟิซ อัลอัสซาด ซึ่งครองอำนาจตั้งแต่ปี 1971

ชนชั้นปกครองของซีเรียมาจากนิกายอะลาวียะห์ ซึ่งเป็นนิกายย่อยของนิกายชีอะห์ ขณะคนส่วนใหญ่นับถือนิกายสุหนี่ แม้ซีเรียเป็นชาติอาหรับ แต่มีคนเชื้อชาติเคิร์ดและเติร์กเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนหลักล้าน

ไม่ว่าประเทศไหน ถ้าคนกลุ่มน้อยมีอำนาจมาก คนส่วนมากมีอำนาจน้อย เป็นสภาพการณ์ที่เรียกว่า ความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจ สังคมย่อมสั่งสมแรงตึงเครียด แฝงฝังไว้ซึ่งเชื้อไฟของการลุกฮือ

เมื่อการลุกฮือถูกรัฐบาลอัสซาดปราบปรามอย่างนองเลือด ชาวซีเรียนิกายสุหนี่จึงจับอาวุธขึ้นสู้ เกิดเป็นกลุ่มกบฏหลายกลุ่ม

นอกจากต้องสู้รบกับกลุ่มต่อต้าน รัฐบาลซีเรียยังต้องเผชิญศึกกับนักรบอีกสองกลุ่มใหญ่ นั่นคือ พวก Islamic State  หรือไอเอส ที่ต้องการช่วงชิงดินแดนในอิรักและซีเรียเพื่อสร้างรัฐอิสลามตามแนวคิดสุดโต่ง กับพวกกบฏชาวเคิร์ดที่ต้องการพื้นที่ตอนเหนือของซีเรีย คาบเกี่ยวเขตแดนตุรกีและอิรัก จัดตั้งเป็นรัฐอิสระหรืออย่างน้อยปกครองตนเอง

ความขัดแย้งหลายด้านเหล่านี้นี่เอง ดึงเหล่าพี่เบิ้มในตะวันออกกลางเข้ามามะรุมมะตุ้ม ทั้งซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และตุรกี รวมทั้งอิสราเอลและประเทศย่านอ่าวเปอร์เซีย

เด็กชายเดินไปตามท้องถนนที่ถูกทำลายจากสงครามกลางเมือง (16 เมษายน 2018 โดย REUTERS/Omar Sanadiki)

พี่เบิ้มถือหางคนละฝ่าย

รัฐบาลซีเรียไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว แต่มีอิหร่านเป็นพันธมิตรในภูมิภาค แถมพ่วงด้วยกองกำลังที่เชื่อมโยงกับอิหร่าน นั่นคือ กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ และเหล่านักรบต่างชาติสายชีอะห์

ฮิซบุลเลาะห์เป็นขบวนการของมุสลิมชีอะห์ในเลบานอน ซึ่งมีพรมแดนติดกับซีเรียด้านทิศตะวันตก กลุ่มนี้อาศัยซีเรียเป็นทางผ่านของอาวุธที่ส่งจากอิหร่านเข้าไปในเลบานอน และยังได้ใช้ซีเรียเป็นฐานฝึกด้วย

ฮิซบุลเลาะห์จึงไม่ต้องการให้ซีเรียปกครองโดยชาวสุหนี่ เพราะนั่นอาจเป็นการตัดเส้นเลือดใหญ่ของขบวนการเมื่อปี 2011 ฮิซบุลเลาะห์จึงขานรับอิหร่าน ผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของกลุ่ม ที่ขอให้เข้าไปช่วยรัฐบาลซีเรียปราบกบฏ

ขณะเดียวกัน นักรบชีอะห์จากอัฟกานิสถาน อิรัก และปากีสถาน เป็นอีกพวกที่เข้าไปในซีเรีย ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลเตหะราน

อิหร่านถือหางรัฐบาลซีเรีย เพราะความเป็นคู่ปรับกับซาอุดีอาระเบีย

อิหร่านเป็นพี่ใหญ่ในโลกมุสลิมสายชีอะห์ ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ ผู้คนเป็นชนชาติเปอร์เซีย ซาอุดีอาระเบียเป็นพี่ใหญ่ในโลกมุสลิมสายสุหนี่ ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ ผู้คนเป็นชนชาติอาหรับ ต่างเป็นประเทศใหญ่ในตะวันออกกลางทั้งคู่ จึงแข่งกันแผ่อิทธิพลในภูมิภาคมาโดยตลอด

ซีเรียถือเป็นพันธมิตรหลักของอิหร่านในโลกอาหรับ เตหะรานเกรงว่า ถ้าอัสซาดถูกโค่น ซีเรียมีรัฐบาลเป็นสายสุหนี่ ซีเรียภายใต้รัฐบาลใหม่จะย้ายขั้วไปซบซาอุดีอาระเบีย

นอกจากนี้ อิหร่านต้องอาศัยแรงของฮิซบุลเลาะห์ในการทัดทานกำลังทางทหารของอิสราเอล อีกหนึ่งปรปักษ์ของเตหะราน เชื่อกันว่าอิหร่านช่วยค้ำบัลลังก์ของอัสซาดด้วยเงินปีละหลายพันล้านดอลลาร์ รวมทั้งส่งที่ปรึกษาทางทหาร อาวุธราคาพิเศษ น้ำมัน และเงินกู้ ไปช่วยรัฐบาลซีเรีย

ฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลซีเรีย มีพี่เบิ้มในภูมิภาคหนุนหลังเช่นกัน

ซาอุดีอาระเบียและบรรดารัฐในย่านอ่าวเปอร์เซียหวั่นเกรงการขยายอิทธิพลของอิหร่านเข้าสู่โลกอาหรับ ประเทศเหล่านี้ต้องการให้โค่นอัสซาดด้วยกำลัง หรือมิฉะนั้นก็ให้รัฐบาลซีเรียถ่ายโอนอำนาจแก่รัฐบาลชั่วคราว

รัฐบาลริยาดห์เป็นผู้สนับสนุนหลักที่ให้ทั้งเงินและกำลังทหารแก่ฝ่ายกบฏซีเรียหลายกลุ่ม ทั้งยังสนับสนุนสหรัฐฯ ในการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มไอเอส ด้วยความหวั่นเกรงการรุกคืบขยายเขตยึดครองของไอเอสในดินแดนซีเรีย และด้วยความกังวลที่กลุ่มไอเอสได้รับความนิยมชมชอบจากชาวซาอุดีบางส่วน

ไม่ว่าประเทศไหน ถ้าคนกลุ่มน้อยมีอำนาจมาก คนส่วนมากมีอำนาจน้อย เป็นสภาพการณ์ที่เรียกว่า ความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจ สังคมย่อมสั่งสมแรงตึงเครียด แฝงฝังไว้ซึ่งเชื้อไฟของการลุกฮือ

ตุรกีเป็นอีกประเทศที่สนับสนุนฝ่ายต่อต้านในซีเรีย รัฐบาลอังการา ซึ่งรับภาระผู้ลี้ภัยชาวซีเรียเกือบ 2 ล้านคน เปิดทางให้กำลังคนและอาวุธยุทโธปกรณ์ของฝ่ายกบฏใช้ดินแดนตุรกีเป็นทางผ่านในการสู้รบกับรัฐบาลดามัสกัส

นอกจากอนุญาตให้ฝ่ายต่อต้านของซีเรีย ในชื่อ พันธมิตรแห่งชาติซีเรีย (Syrian National Coalition) เข้าไปตั้งที่ทำการในประเทศ อังการายังเปิดไฟเขียวให้ชาติตะวันตกใช้ฐานทัพอากาศของตุรกีในการโจมตีกลุ่มไอเอสในซีเรียด้วย

ตุรกีซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐ และเป็นสมาชิกนาโต กลัวว่าพวกเคิร์ดในซีเรียจะจัดตั้งเขตปกครองตนเองหรือรัฐเอกราชได้เป็นผลสำเร็จ แล้วปลุกกระแสชาตินิยมในหมู่ชาวเคิร์ดของตุรกีให้เดินตามรอย

ในตุรกีมีชาวเคิร์ดราว 20 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ คาบเกี่ยวดินแดนตอนเหนือของซีเรีย ชาวเคิร์ดจำนวนมากมีแนวคิดเชื้อชาตินิยม ดังนั้น รัฐบาลอังการาจึงเล่นบทบาททางทหารในซีเรียด้วย โดยเปิดศึกกับกลุ่มที่เรียกในภาษาเคิร์ดว่า วายพีจี (Yekîneyên Parastina Gel)

กลุ่มวายพีจี หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า The People’s Protection Unit นี้เป็นกองกำลังของพรรคการเมืองชาวเคิร์ดในซีเรีย คือ พีวายดี (Partiya Yekîtiya Demokrat) ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Kurdish Democratic Union Party พรรคที่ว่านี้เป็นเครือข่ายของพรรคคนงานเคิร์ดดิสถานแห่งตุรกี (Turkish Kurdistan Worker’s Party) ซึ่งตุรกีถือเป็นกลุ่มก่อการร้าย

การโจมตีกลุ่มวายพีจีของตุรกีทำให้เกิดแรงเสียดทานกับสหรัฐ เพราะอเมริกาหนุนหลังกองกำลังดังกล่าว เนื่องจากวายพีจีเป็นศัตรูกับไอเอส ซึ่งต้องการยึดครองดินแดนในซีเรียเช่นกัน

 

เศษซากของมิสไซล์ที่ถูกทิ้งลงมาในเมืองดูมา กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย (16 เมษายน 2018 โดย REUTERS/Omar Sanadiki)

มหาอำนาจโลก

ชาติมหาอำนาจระดับหัวแถวที่เข้าไปข้องเกี่ยวกับสงครามในซีเรีย ก็คือ รัสเซียกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลประโยชน์สวนทางกัน

ฝ่ายแรกหนุนหลังรัฐบาลดามัสกัสของซีเรีย ฝ่ายหลังไม่ได้มุ่งหมายโค่นล้มอัสซาดเป็นจุดประสงค์หลัก แต่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทิศทางที่จะเอื้อต่อการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งเป็นภัยคุกคามโลกตะวันตก

รัสเซียมีผลประโยชน์อันสำคัญยิ่งยวดในซีเรีย เพราะซีเรียเป็นที่ตั้งของฐานทัพเพียงแห่งเดียวของรัฐบาลมอสโกในย่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในขณะที่สหรัฐฯ มีฐานทัพในตะวันออกกลางหลายแห่ง คือ บาห์เรน คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน ซาอุดีอาระเบีย และตุรกี

ความเป็นพันธมิตรตั้งแต่ยุคสงครามเย็น เปิดทางให้มอสโกเช่าฐานทัพเรือทาร์ทัสในซีเรีย ท่าเรือน้ำลึกบนชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนแห่งนี้รองรับกองเรือประจำทะเลดำและเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ของรัสเซีย ทาร์ทัสนับเป็นช่องทางเดียวสำหรับรัสเซียที่จะเข้าสู่ฝั่งตะวันออกของเมดิเตอร์เรเนียนได้ โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบบอสฟอรัส ซึ่งอยู่ในความควบคุมของประเทศนาโต คือ ตุรกี

นอกจากนี้ รัสเซียยังมีกำลังทหารจำนวนหนึ่งประจำการอยู่ที่ฐานทัพอากาศในเมืองลาตากียะห์ เขตใจกลางฐานอำนาจของมุสลิมนิกายอะลาวียะห์ของอัสซาดด้วย นี่ยังไม่นับผลประโยชน์อื่นๆ เช่น การขายอาวุธ

บทบาทของรัสเซียคือ สนับสนุนรัฐบาลซีเรียในทางการทูต เช่น ใช้สิทธิยับยั้งร่างข้อมติที่ตำหนิติเตียนอัสซาดในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ขณะเดียวกัน รัสเซียยังให้การสนับสนุนด้านอาวุธแก่กองทัพซีเรีย รวมถึงโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มติดอาวุธด้วย ซึ่งรัสเซียอ้างว่าโจมตีไอเอส แต่กลุ่มกบฏที่ชาติตะวันตกหนุนหลังอ้างว่าตกเป็นเป้า

ข้างฝ่ายสหรัฐฯ สนับสนุนบรรดากลุ่มต่อต้านซึ่งรวมตัวกันในนาม ‘พันธมิตรแห่งชาติ’ โดยให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่กลุ่มวายพีดี และบรรดากลุ่มกบฏที่อเมริกาเรียกว่า ‘พวกสายกลาง’ เช่น กองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (Syrian Democratic Forces) ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือชาวเคิร์ด

บทบาททางทหารของสหรัฐในซีเรียก็คือ โจมตีทางอากาศต่อกลุ่มไอเอสและกลุ่มสุดโต่งอื่นๆ แต่หลีกเลี่ยงการโจมตีที่จะส่งผลดีในทางการทหารแก่ฝ่ายอัสซาด และไม่เข้าไปยุ่งกับการสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายกบฏโดยตรง

จนถึงตอนนี้ รัสเซียกับสหรัฐเห็นตรงกันในหลักการว่า การยุติความขัดแย้งในซีเรียต้องใช้หนทางการเมือง ทุกฝ่ายต้องขึ้นโต๊ะเจรจา รัฐบาลวอชิงตันเสนอด้วยว่า ต้องเจรจากันภายใต้รัฐบาลชั่วคราวที่จัดตั้งขึ้นเพื่อถ่ายโอนอำนาจ

ในเกมการเมืองหลายชั้นหลายเชิง ทั้งในแง่ปมปัญหาและผู้เล่น อย่างเช่นวิกฤตการณ์ซีเรียนี้ ยากที่จะค้นพบสูตรที่ลงตัวสำหรับผลประโยชน์ของทุกฝ่าย

 

อ้างอิง:

บรรยายภาพหน้าแรก: เด็กชายนั่งบนเก้าอี้กลางถนนที่ถูกแรงระเบิดทำลาย ในเมืองดูมา กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย (22 เมษายน 2018 โดย REUTERS/Ali Hashisho)

Tags: , , , , , , ,