สวัสดีปีหมูครับ

แม้หมูจะมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตเราในฐานะอาหารเป็นหลัก แต่อันที่จริงแล้ว หมูยังแฝงตัวอยู่ในส่วนอื่นๆ ของชีวิตเราด้วย ตั้งแต่เครื่องสำอางหลายชนิดที่มีไขมันหมูเป็นส่วนประกอบ เครื่องดนตรีอย่างแทมบูรีนซึ่งทำจากกระเพาะปัสสาวะหมู ไปจนถึงอินซูลินสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งแต่เดิมเอามาจากตับอ่อนของหมู

แต่นอกจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้แล้ว หมูยังแทรกซึมอยู่ในคำต่างๆ ในภาษาอังกฤษที่เราอาจนึกไม่ถึงด้วย

สัปดาห์นี้เราจะไปตามหาหมูที่ซ่อนตามซอกหลืบต่างๆ ในชีวิตของเราเพื่อเป็นการต้อนรับปีหมู

Porcelain

คำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกเครื่องกระเบื้องเคลือบสีขาวโปร่งแสงผิวมันวาว มีชื่อที่ราชบัณฑิตบัญญัติไว้ว่า เครื่องถ้วยเปลือกไข่ มีที่มาจากเมืองจีนและมาถึงยุโรปในศตวรรษที่ 12 ด้วยความสวยงามและหายาก เครื่องกระเบื้องชนิดนี้จึงกลายมาเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในบรรดาชนชั้นสูงในยุโรป จนมีความพยายามผลิตเอง

ด้วยความที่ผิวของเครื่องกระเบื้องชนิดนี้เรียบและมันวาว ชาวอิตาเลียนเห็นแล้วรู้สึกว่าคล้ายกับเปลือกหอยเบี้ย จึงนำเอาคำว่า porcella ที่แปลว่า หอยเบี้ย มาสร้างเป็นคำว่า porcellana เพื่อใช้เรียกเครื่องกระเบื้องชนิดนี้ คำนี้ชาวฝรั่งเศสยืมไปเป็นคำว่า porcelaine ซึ่งภาษาอังกฤษยืมมาอีกทอดเป็นคำว่า porcelain นั่นเอง

ผิวของเครื่องกระเบื้องชนิดนี้เรียบและมันวาว ชาวอิตาเลียนเห็นแล้วรู้สึกว่าคล้ายกับเปลือกหอยเบี้ย จึงนำเอาคำว่า porcella ที่แปลว่า หอยเบี้ย มาสร้างเป็นคำว่า porcellana

ที่น่าสนใจก็คือคำว่า porcella ที่ใช้เรียก หอยเบี้ย ในภาษาอิตาเลียนนั้น ได้แรงบันดาลใจมาจากหมูอีกทอดหนึ่ง คำนี้มาจาก porcella ในภาษาละติน แปลว่า ลูกหมูตัวเมีย (เป็นญาติกับคำว่า pork ที่แปลว่า เนื้อหมู) ส่วนที่คำที่ใช้เรียกหมูกลายมาเป็นหอยเบี้ยได้นั้น ว่ากันว่าเป็นเพราะหอยชนิดนี้มีช่องเปิดที่ชวนให้นึกอวัยวะเพศหมูตัวเมีย จึงเคราะห์ร้ายได้ชื่อหมูตัวเมียมาเป็นชื่อเรียก ดังนั้น หากสืบสาวจริงๆ แล้ว ก็พูดได้ว่าเครื่องถ้วยเปลือกไข่นี้มีความสัมพันธ์กับหมู

เครื่องกระเบื้องแบบนี้ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างคือ china (เขียนด้วย c ตัวเล็ก ไม่ใช่ตัวใหญ่อย่างชื่อประเทศ) นั่นก็เพราะชาวยุโรปรับไปจากชาวจีน พบได้ในสำนวน a bull in a china shop หมายถึง คนที่ซุ่มซ่าม พรวดพราด ไม่ระมัดระวัง เห็นภาพเหมือนเป็นกระทิงตัวใหญ่ในร้านขายเครื่องกระเบื้องที่แสนเปราะบาง จะขยับตัวไปทางไหนก็ทำเครื่องถ้วยต่างๆ แตกไปหมด

Socket

คำว่า socket นี้หากสืบสาวกลับไปจะพบว่ามาจากคำว่า *soccus ในภาษาละติน (การใช้เครื่องหมาย * หมายถึงไม่พบบันทึกคำนี้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นคำที่นักภาษาศาสตร์ประกอบขึ้นมาจากหลักฐานต่างๆ) หมายถึง จมูกของหมู แต่เดิมใช้หมายถึง ใบมีดคันไถ ซึ่งเป็นส่วนของคันไถที่ลากไปกับดิน คล้ายๆ ที่หมูเอาจมูกไล่ดมของตามพื้นไปเรื่อยๆ ต่อมาจึงพัฒนาความหมายมาใช้หมายถึง หัวหอก เพราะหัวหอกแต่เดิมมีรูปร่างข้างใบมีดคันไถ

ไปๆ มาๆ ไม่รู้ทำอีท่าไหน ความหมายคำนี้ก็เริ่มเปลี่ยนไปหมายถึงส่วนเว้าที่ใช้รับสิ่งของอื่น เช่น เบ้าที่ไว้ใช้ใส่เทียนในเชิงเทียน ต่อมาเริ่มนำมาใช้เรียกอวัยวะที่มีลักษณะแบบเดียวกัน เช่น เบ้าตา (eye socket) หรือ ข้อต่อแบบเบ้าในร่างกาย (ball-and-socket joint) ก่อนที่ท้ายที่สุดจะพัฒนามาใช้เรียกเต้าเสียบหรือที่เราเรียกคุ้นปากกันว่าปลั๊กไฟอย่างในปัจจุบัน (ซึ่งหากมองๆ ดีก็มีลักษณะคล้ายจมูกหมูอยู่เหมือนกัน) ด้วยเหตุนี้ ปลั๊กไฟในผนังบ้านเราจึงมีหมูซ่อนอยู่ในคำด้วย

Screw

คำนี้ปกติแล้วเป็นคำนามที่ใช้เรียกตะปูควง หรือที่เรามักเรียกทับศัพท์ว่า สกรู เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายตะปูแต่มีเกลียวเพื่อช่วยเพิ่มแรงยึด แม้ดูหน้าตารูปทรงแล้วไม่น่าจะเกี่ยวโยงกับหมูได้เลย แต่คำนี้กลับมีหมูซ่อนอยู่เช่นกัน

คำว่า screw แต่เดิมใช้เรียกตัวตะปูควงเองหรือรูสำหรับรับตะปูควงก็ได้ มาจากคำว่า escroue ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งว่ากันว่ามาจากคำว่า scrofa ที่หมายถึง หมูตัวเมีย ในภาษาละตินอีกทอด ที่หมูกลายมาเป็นตะปูควงได้ มีคนอธิบายไว้หลายอย่าง บางสายว่าเป็นเพราะหางหมูมีลักษณะเป็นเกลียวคล้ายแบบที่อยู่บนสกรู แต่บางสายก็อธิบายไว้ว่าเป็นเพราะรูปทรงอวัยวะเพศของหมูตัวผู้! (ให้เวลากูเกิ้ลภาพ 30 วินาที)

มนุษย์จิตหมกมุ่นนำ screw ไปใช้เป็นสแลง หมายถึง การมีเพศสัมพันธ์ ถือว่าหยาบพอสมควร

เนื่องจากคำนี้เป็นคำใช้เรียกอุปกรณ์ที่มีการสอดเสียบและการรับ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีมนุษย์จิตหมกมุ่นนำไปใช้เป็นสแลง หมายถึง การมีเพศสัมพันธ์ ถือว่าหยาบพอสมควร ตัวอย่างเช่น Tell me the truth. Are you screwing my friend? ก็จะหมายถึง บอกมาเดี๋ยวนี้ นี่เอาเพื่อนกูเหรอ นอกจากนั้น ยังนำไปใช้ในความหมายประมาณว่า ช่างหัวแม่ง ได้อีกด้วย เช่น Screw these stupid rules! I’m gonna wear my hair how I want. ก็จะหมายถึง ช่างกฎเฮงซวย ฉันจะไว้ผมอย่างที่อยาก ใครจะทำไม

Porpoise

คำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกสัตว์ตระกูลวาฬและโลมา แม้แท้จริงแล้วจะอยู่คนละวงศ์กับโลมาแบบ dolphin แต่ในภาษาไทยก็เรียกโลมาเช่นกัน คำว่า porpoise นี้ (อ่านว่า พอร์เพิส) มาจากคำละตินสองคำ คือ porcus ที่แปลว่า หมู (ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า pork ที่เราใช้เรียกเนื้อหมู) รวมกับ pisces ที่แปลว่า ปลา (จึงใช้เรียกราศีมีน ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นปลาคู่ด้วย) ได้ความหมายรวมกันตรงๆ ว่า ปลาหมู ว่ากันว่าที่โลมามาเกี่ยวข้องกับหมูได้ก็เพราะมีลักษณะช่วงปากทู่ๆ ชวนให้นึกถึงจมูกหมูนั่นเอง

Hyena

อีกคำที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีหมูซ่อนอยู่ได้ก็คือคำว่า hyena หรือที่คนไทยเรียกว่าหมาไฮยีนา คำนี้มาจากคำว่า hys ในภาษากรีกโบราณ หมายถึง หมู ส่วนที่ทำไมสัตว์ที่คนไทยมองยังไงก็เป็นหมากลับถูกไปโยงกับหมูได้ ไม่ได้มาจากความตะกละตะกลามแต่อย่างใด แต่มาจากที่ขนตรงแผงคอและหลังดูมีลักษณะคล้ายหนามแหลมบนหลังหมูป่า ก็เลยเอาคำที่หมายถึงหมูมาใช้เรียกเสียเลย

อันที่จริงแล้วยังมีสัตว์อีกประเภทที่มีขนแข็งคล้ายที่เจอบนหลังหมูป่าและโดนเรียกเป็นหมูเช่นกัน นั่นก็คือ เม่น เม่นตัวเล็กแบบ hedgehog นั่นได้ชื่อมาจาก hedge ที่แปลว่า พุ่มไม้ รวมกับ hog ที่แปลว่า หมู ว่ากันว่าเพราะชอบอาศัยอยู่ตามแนวพุ่มไม้และมีจมูกคล้ายหมู ส่วนเม่นตัวใหญ่แบบ porcupine ได้ชื่อมาจาก porcus ในภาษาละตินที่แปลว่า หมู (แบบที่เจอใน porpoise) รวมกับ spina ที่แปลว่า หนามที่เป็นขนแข็ง (กลายมาเป็นคำว่า spine ที่แปลว่ากระดูกสันหลังหรือขนแบบที่เจอบนหลังเม่นก็ได้) รวมได้ความหมายว่า หมูที่มีขนเป็นหนามแหลม ตรงตามลักษณะที่เราเห็นนั่นเอง

 

บรรณานุกรม

  • http://www.etymonline.com/
  • American Heritage Dictionary of the English Language
  • Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
  • Barber, Katherine. Six Words You Never Knew Had Something to Do with Pigs: And Other Fascinating Facts about the English Language. Penguin Books: New York, 2006.
  • Barnett, Martha. Dog Days and Dandelions: A Lively Guide to the Animal Meanings Behind Everyday Words. St. Martin’s Press: New York, 2003.
  • Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
  • Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
  • Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.
  • Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.
  • Shorter Oxford English Dictionary
  • The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
  • Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.
Tags: , ,