ประกาศผลกันไปแล้วกับงานออสการ์แห่งเวทีบรอดเวย์ หรือที่เราเรียกว่ารางวัล Tony Awards นั่นเอง ครั้งนี้ถือเป็นการประกาศผลรางวัลครั้งที่ 73 งานจัดขึ้น ที่ Radio City Musical Hall โดยมีนักแสดงและผู้คนในวงการละครเวทีมาร่วมงานมากมายทั้ง แอนเน็ต เบนนิ่ง, ลอรี่ เมตคาล์ฟ, ไบรอัน แครนสตัน, เจฟฟ์ แดเนียลส์, อดัม ไดรฟ์เวอร์, บิลลี่ พอร์เตอร์, เซียนน่า มิลเลอร์ , แอนนา วินทัวร์ ฯลฯ
ไฮไลต์ของงานนอกจากผลรางวัลแล้ว ยังรวมไปถึงพรมแดงที่ไม่ได้มีไว้เพื่อแค่ให้นักแสดงหรือคนดังมายืนโพสอวดชุดสวยหรูให้ช่างภาพถ่ายรูปเพียงเท่านั้น แต่พรมแดงในงานโทนี่ อวอร์ด ครั้งนี้เป็นพรมแดงที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเดือนแห่งไพรด์และเชื่อมต่อกับงานนิวยอร์กไพรด์ โดยในปีนี้นครนิวยอร์กเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน World Pride เป็นครั้งแรก ซึ่งด้านหลังพรมแดงงานโทนี่ อวอร์ด จัดทำเป็นแบ็กดรอปสีรุ้ง สร้างสรรค์ขึ้นจากดอกกุหลาบจริงทั้งหมด เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความหลากหลายทางเพศและการต่อสู้ของ LGBTQ ในเดือนนี้
“ผู้คนมาที่โรงละครเพื่อสัมผัสบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองและสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เราภูมิใจมากที่ได้สิ่งนี้มาใช้ในชีวิตในวิถีทางแห่งความรื่นเริงสนุกสนาน” อีเวนต์ดีไซเนอร์ ราอูล เอวิลา ผู้ออกแบบแบ็กดรอปในงานครั้งนี้กล่าว
งานนี้ใช้ดอกกุหลาบนับหมื่นดอก ดอกกุหลาบทั้งหมดนี้เรียกว่า Passion Roses ปลูกในฟาร์มในเมืองโคลอมเบียเพื่อใช้ในงานนี้โดยเฉพาะ และตัดดอกก่อนเพียง 24 ชั่วโมงเพื่อให้ดอกกุหลาบยังคงมีความสด ในขณะที่สีของดอกกุหลาบที่เห็น ซึ่งอาจจะเป็นสีที่แตกต่างไปจากดอกกุหลาบที่เราเคยเห็นนั้นมาจากการย้อมหรือการเพ้นต์เพื่อให้ได้สีตามเฉดสีของธงสีรุ้งของ LGBTQ นั่นเอง
“แบ็กดรอปดอกกุหลาบเฉดสีรุ้งเป็นการสะท้อนให้เห็นการเฉลิมฉลองความเป็นกลุ่มก้อนของเหล่าศิลปินนักแสดงทั้งหลาย ซึ่งในปีนี้ถือเป็นการครบรอบ 50 ปีของเหตุการณ์สโตนวอลล์ เป็นปีที่มีความสำคัญมากสำหรับพวกเรา และชุมชนนักแสดงและนักดนตรีบรอดเวย์ เพราะบรอดเวย์และเสียงเพลงเป็นหัวใจสำคัญของงานไพรด์มาแต่ต้น”
“เราต้องการให้ผู้ชมได้รับแรงบันดาลใจและเฉลิมฉลองไปกับเรา เราต้องการให้พวกเขามีความภาคภูมิใจในสิ่งที่เราได้มา สัญลักษณ์สายรุ้งบนพรมแดง โทนี่ อวอร์ด เป็นสิ่งที่มีความหมาย เป็นการเฉลิมฉลองอย่างมีความสุขสำหรับนิวยอร์กและชุมชนบรอดเวย์” ราอูล เอวิลา กล่าว
ปีนี้ถือเป็นปีครบรอบ 50 ปีของเหตุการณ์สโตนวอลล์ ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดเดือนแห่งไพรด์ โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 เกิดการจลาจลขึ้นในบาร์ชื่อ สโตนวอลล์ อิน ย่านกรีนนิช วิลเลจ ของนครนิวยอร์ก มีการจับกุมโดยการใช้ความรุนแรงต่อคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้เกิดการปะทะอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มคนรักเพศเดียวกันและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เหตุจลาจล ‘สโตนวอลล์’ จึงกลายเป็นจุดกำเนิดของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศ งานไพรด์หรือเกย์ไพรด์
ทั่วโลกจะถือเอาเดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งไพรด์เพื่อรำลึกถึงเหตุจลาจล ‘สโตนวอลล์’ อันเป็นจุดเริ่มต้นการเรียกร้องสิทธิของกลุ่ม LGBTQ ในครั้งนั้น และในปีนี้นิวยอร์กก็ได้ริเริ่มจัดงานเวิลด์ไพรด์เป็นครั้งแรกเพื่อเฉลิมฉลอง 50 ปีเหตุการณ์สโตนวอลล์
หนึ่งในไฮไลต์ของพรมแดงก็คือบิลลี่ พอร์เตอร์ ในชุดสูทกระโปรงราตรีสีแดงควงคู่มากับอดัม สมิธ สามีของเขาที่มาในชุดสูทสีขาว นอกจากนั้นแอนนา วินทัวร์ บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้กอเมริกายังมาร่วมงานในครั้งนี้พร้อมลูกสาวบี แชฟเฟอร์อีกด้วย โดยรางวัลใหญ่ของงาน ซึ่งก็คือละครเวทียอดเยี่ยมตกเป็นของ The Ferryman โดย เจซ บัตเตอร์เวิร์ธ ในขณะที่นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ซานติโน ฟอนทานา จากเรื่อง Tootsie และนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมคือ สเตฟานี เจ. บล็อค จากเรื่อง The Cher Show
อ้างอิง
https://www.vogue.com/article/how-world-pride-inspired-the-design-of-the-2019-tony-awards-red-carpet
https://www.nytimes.com/2019/06/04/us/stonewall-riots-gay-pride.html
ภาพ : Andrew Kelly/REUTERS
Tags: ความหลากหลายทางเพศ, บรอดเวย์, โทนี่อวอร์ด, LGBT