หากไม่ใช่วาระ 20 ปีของการครบรอบการทำงานกับอาร์เซนอล ผมอาจไม่ทันได้สังเกต อาร์แซน เวนเกอร์ (Arsène Wenger) มากเป็นพิเศษขนาดนี้
ภาพของกุนซือชาวฝรั่งเศสที่ได้เห็น แม้โดยรวมแล้วจะไม่ต่างอะไรจากวันที่เขาเปิดตัวกับทีม ‘กันเนอร์ส’ ในวันที่ 22 กันยายน 1996 เพราะเวนเกอร์ยังดูมีสุขภาพดี กระฉับกระเฉง แม้วัยจะล่วงเข้าสู่ 66 ปีแล้วก็ตาม แต่เมื่อพินิจให้ดีแล้วจะเห็นถึงความแตกต่างได้พอสมควร
จากริ้วรอยบนใบหน้า ผิวหนังบนสองมือ จนถึงประกายที่นัยน์ตา – เวนเกอร์ เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 20 ปีก่อนมากเมื่อมองจากภายนอก
ขณะที่ภายในใจ ดูคล้ายปราชญ์ลูกหนังชาวฝรั่งเศสจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเหมือนกันครับ
สังเกตได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษระหว่างเขากับ เธียร์รี อองรี หนึ่งในลูกทีมคนสำคัญที่สุดและเป็นลูกศิษย์ที่น่าภาคภูมิใจที่สุด เวนเกอร์ถูกถามเกี่ยวกับผลงานของเขากับอาร์เซนอลที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่าง 10 ปีแรกกับ 10 ปีหลัง (ซึ่งสาวก กูเนอร์สรู้ดีว่าต่างอย่างไร)
แต่ที่สะกิดใจมากที่สุดคือคำถามของอองรีว่า “คิดว่าจะใช้เวลาอีกนานไหมกว่าทีมจะกลับมาคว้าแชมป์ (พรีเมียร์ลีก) อีกครั้ง?”
คำตอบของเวนเกอร์น่าสนใจครับ เมื่อเขายืนยันว่าเขาเองก็ไม่เคยคิดว่าจะใช้เวลานานมากขนาดนี้ในการพาทีมกลับมาคว้าแชมป์อีกครั้ง แต่มีปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง 2 ประการคือ หนึ่งการสร้างสนามใหม่ของอาร์เซนอล ทำให้ทีมต้องประหยัดและทยอยขายนักเตะที่ดีที่สุดของทีมออกไป
อีกเรื่องคือ การที่พรีเมียร์ลีกมีนักลงทุนใหม่เข้ามาในช่วงหลังจากที่เขาพาทีมคว้าแชมป์แบบ Invincible หรือ ‘ไร้พ่าย’ ในฤดูกาล 2003-2004
จากโรมัน อับราโมวิช กับเชลซี สู่ ชีค มานซูร์ แห่งแมนเชสเตอร์ ซิตี้ สองมหาอำนาจที่เปลี่ยน ‘แกน’ ของฟุตบอลพรีเมียร์ลีกไปอย่างสิ้นเชิง เพราะทีมอื่นๆ รวมถึงอาร์เซนอลเองไม่สามารถจะต่อกรกับอำนาจทางการเงินของ 2 สโมสรนี้ได้
มีเพียงแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในวันที่เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยังอยู่เพียงทีมเดียวที่เหนือกว่า 2 ทีมนี้
แต่ในปัจจุบัน เวนเกอร์เองชี้ให้เห็นว่าพรีเมียร์ลีกกำลังก้าวสู่อีกยุค เมื่อมีนักลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุนกับสโมสรในอังกฤษ
แม้กระทั่งทีมระดับรองลงไปถึงล่างอย่าง สวอนซี บอร์นมัธ หรือเวสต์ บรอมวิช อัลเบี้ยน ต่างก็มีกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการ ซึ่งส่งผลให้ระดับการแข่งขันของพรีเมียร์ลีกสูงขึ้นจากเดิมมาก
แต่บางครั้งก็ดูเหมือนว่าจะมากเกินไป และเกินใจจะอดทน
สังเกตกันไหมครับว่า ปัจจุบันสโมสรฟุตบอลมีขีดความอดทนที่ต่ำจนน่าตกใจ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าว แอสตัน วิลลา ซึ่งปัจจุบันหล่นไปเล่นในระดับเดอะ แชมเปี้ยนชิป (หรือดิวิชัน 2 ดั้งเดิม) สั่งปลดโรแบร์โต ดิ มัตเตโอ อดีตผู้จัดการทีมที่พาเชลซี คว้าโทรฟี ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก สมัยแรกและสมัยเดียวของทีม ภายในระยะเวลา 124 วัน หลังทำหน้าที่ได้เพียง 12 นัด
ขณะที่สวอนซี ทีมเล็กๆ จากเวลส์ในพรีเมียร์ลีก ปลด ฟรานเชสโก กุยโดลิน ยอดผู้จัดการทีมชาวอิตาเลียนออกจากตำแหน่ง ทั้งที่เพิ่งจะดึงตัวมารับหน้าที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีข่าวที่เกี่ยวข้องกับการปลดผู้จัดการทีมออกมาแทบทุกสัปดาห์ จนกลายเป็นเรื่องสนุกสนานสำหรับเซียนพนันว่า ‘ใครจะเป็นรายต่อไป’
สำหรับคอบอลทั่วๆ ไป เรื่องเหล่านี้ก็ค่อยๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่ทำให้เรารู้สึก ‘คุ้นชิน’ โดยไม่ทันระวังตัว
การปลดผู้จัดการทีมไม่ใช่เรื่องแปลกครับ และก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในอดีตนั้นการปลดผู้จัดการทีมไม่ได้ทำกันง่ายเหมือนกดสั่งข้าวผัดกะเพรากุ้งบนโทรศัพท์มือถือในยุคนี้
อย่างน้อยเจ้าของสโมสรเองก็มีความอดทนมากกว่าปัจจุบัน และพร้อมจะให้โอกาสและเวลาเพื่อแก้ไขให้ทุกอย่างค่อยๆ คลี่คลายในทางที่ดีขึ้น
หากไม่ไหวจึงแยกทาง
แฟนบอลเองในปัจจุบันก็แตกต่างจากเดิมมาก ไม่ว่าจะในหมู่แฟนบอลรุ่นใหม่ใน Gen Y หรือ Gen Z หรือแม้แต่ในกลุ่ม Gen X ก็ตาม ที่ถูกมองว่า ‘วิธีการเชียร์’ นั้นไม่เหมือนคนรุ่นก่อน
ว่ากันตรงๆ คือมีการมองว่าแฟนบอลในยุคดิจิทัลนั้นมีความอดทนลดลง นิสัยเสียกันมากขึ้น
พวกเขาเลือกที่จะบ่น ก่น ด่า และขับไล่ ในขณะที่กองเชียร์รุ่นเก่านั้นพร้อมจะเข้าใจและยืนหยัดในช่วงเวลาที่เลวร้ายให้สมกับความหมายของคำว่า ‘supporters’
อย่างไรก็ดีเรื่องพวกนี้ใช่จะไร้ที่มาที่ไปครับ
สโมสรฟุตบอลอังกฤษ หรือแม้แต่สโมสรดังๆ ในยุโรปในปัจจุบันเองเปลี่ยนแปลงจากในอดีตที่เป็น ‘ธุรกิจ’ ของนายทุนชาวท้องถิ่น หรือเจ้าสัวระดับประเทศ มาสู่กลุ่มทุนต่างชาติ
เป้าหมายและวิธีการจึงแตกต่างออกไป ตรงนี้แล้วแต่ว่าสโมสรใดจะได้เจ้าของแบบไหน – อยู่ที่ดวงล้วนๆ ไม่มีเรื่องอื่นผสม
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือในยุคที่การแข่งขันสูง และ ‘เดิมพัน’ เองก็สูงตามไปด้วย โดยเฉพาะในพรีเมียร์ลีกที่ความสำเร็จและความล้มเหลว โดยเฉพาะเส้นบางๆระหว่างการอยู่รอดและตกชั้นนั้นมีมูลค่าที่แตกต่างกันนับ 100 ล้านปอนด์
เดิมพันนี้ทำให้นักลงทุนไม่สามารถเผชิญกับ ‘ความเสี่ยง’ ได้
การเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมกลางทาง แม้จะมีราคาที่ต้องจ่ายถึง 2 เด้ง ทั้งจ่ายเงินชดเชยให้ผู้จัดการเก่า และค่าเซ็นสัญญาของผู้จัดการใหม่ บรรดาเจ้าของเหล่านั้นก็ต้องยอม เพราะไม่สามารถปล่อยให้สโมสรอยู่ใต้สถานการณ์สุ่มเสี่ยงได้
แม้กระทั่งคนอย่าง The Special One โชเซ มูรินโญ เองถูกปลดจากตำแหน่งในทีมเชลซี ที่ที่เขาเคยมั่นใจว่าปลอดภัยที่สุดถึง 2 ครั้ง 2 ครา เพียงเพราะผลงานตกต่ำรวดเร็วเกินไปโดยที่ยังไม่ทันได้แก้ไขอะไร
หากจะมียกเว้นก็คงเหลือเพียง อาร์แซน เวนเกอร์ ที่น่าจะเป็นกุนซือคนสุดท้ายที่สโมสรไม่กล้าปลดจากตำแหน่ง
ในวงเล็บว่าหากไม่ใช่ด้วยคุณงามความดีและมาตรฐานของผลงานที่ทำตลอด 19 ปีที่ผ่านมา เวนเกอร์ก็น่าจะ ‘ปิ๋ว’ ไปนานแล้วเหมือนกัน
สำหรับแฟนบอลเองถึงจะดูคล้ายนิสัยเสียกันมากขึ้น แต่โดยเนื้อในแล้วผมเชื่อว่าแฟนบอลทุกคนจะหนุ่มหรือแก่เองก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการอยากเห็นทีมรักเล่นดีและมีชัย
ความจริงการตะโกนด่าทอกันเป็นเรื่องปกติวิสัยมาก เพียงแต่การด่าทอนั้นเมื่อออกนอกสนามมาสู่โลกกว้างบนโซเชียลมีเดีย เสียงของมันจึง ‘ดัง’ และ ‘แรง’ ขึ้นครับ
และไม่ใช่แฟนบอลทุกคนที่จะเป็นแบบนั้น – ส่วนใหญ่เองก็ยังคงรักและให้การสนับสนุนทีมเหมือนเดิม
แม้กระทั่งสาวกกูเนอร์สที่แสนเบื่อหน่ายกับเวนเกอร์ แต่พวกเขายัง ‘ขอบคุณ’ กุนซือชาวฝรั่งเศสผู้มาปฏิวัติและวางรากฐานของทีมให้แข็งแกร่งยืนหยัดต่อสู้กับทีมคู่แข่งอื่นๆ ได้ในปัจจุบัน
ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน ในความเห็นผมแล้วจึงเป็นเพียงเรื่องของความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยธรรมดาครับ
มันอาจจะไม่น่ารักเหมือนเก่า แต่มันก็คือเกมฟุตบอลเกมเดิมเหมือนที่เราเคยดูกันเมื่อ 20 ปีก่อน
จะต่างกันตรงที่มัน ‘เร็ว’ ขึ้นตามจังหวะของโลกที่เปลี่ยนไป
และเราอาจแค่ไม่คุ้นชินกับมันเท่านั้นครับ
Tags: อาร์แซน เวนเกอร์, อาร์เซนอล, พรีเมียร์ลีก, momentum, opinion, Life Score, เมธา พันธุ์วราทร